- Home
- Thaireform
- หลากมิติ
- ค้นงานวิจัย รื้อมุมมอง ‘ยาเสพติด’ ด้วยความหมายใหม่
ค้นงานวิจัย รื้อมุมมอง ‘ยาเสพติด’ ด้วยความหมายใหม่
เมื่อผู้มีอํานาจให้ความหมายกับยาบ้าในฐานะที่มี “ความเป็นอื่น” ศาสตร์ต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นมาด้วยอํานาจของชุดความรู้ เช่น การบัญญัติของกฎหมายที่มีลักษณะแข็งกร้าวและมีบทบังคับโทษที่รุนแรง การบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการก็จะมีความแข็งกระด้างไม่คํานึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี และไม่คํานึงถึงความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้กระทําความผิดที่ด้อยโอกาส
การประกาศสงครามกับยาเสพติด ณ วันนี้ นับได้ว่า ไม่ใช่แนวทางที่เดินไปกับกระแสโลกแล้ว ด้วยขณะนี้การแก้ไขปัญหายาเสพติดได้หันไปให้ความสำคัญกับการป้องกัน การบำบัดฟื้้นฟู มองยาเสพติดเป็นเรื่องของสาธารณสุข สุขภาพ การเข้าถึงยา และมองคนเสพเป็นคนป่วย เป็นโรคหนึ่งที่ต้องได้รับการบำบัด ดังที่พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาให้สังคมไทยได้ร่วมคิดร่วมตัดสินใจ “เราจะอยู่กับยาเสพติดได้อย่างไร โดยที่สังคมต้องปลอดภัย ไม่เสียหายกับยาเสพติด”
มีโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง วาทกรรมยาเสพติด: อิสรภาพของผู้ต้องขังหญิง โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ดร.ฉัตรวรัญ องคสิงห์ นิดาวรรณ เพราะสุนทร วณี กอสุวรรณศิริ ดร.ชุลีรัตน์ เจริญพรมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม (ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล) ที่นำเสนอต่อสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อเดือนมีนาคม 2559
งานวิจัยชิ้นนี้ถือได้ว่า เป็นการศึกษาเรื่องยาเสพติดกับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมครบทุกมิติ (อ่านประกอบ:ตัวเลขสูงขนาดไหน ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ-สังคม จากนโยบายยาเสพติด 17 ปี) และยังสร้างองค์ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยต่อเรื่องยาเสพติด สร้างความหมายใหม่ให้กับยาเสพติดและทางออกของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมไทย และสังคมโลก
ความหมายยาเสพติดคือเป็นผู้ร้ายของสังคม
สำนักข่าวอิศรา หยิบบางช่วงของงานวิจัยมานำเสนอ โดยเฉพาะบท “วาทกรรมยาเสพติด อํานาจในการสร้างความหมายใหม่” เพื่อให้สังคมไทย เข้าใจ และมีมุมมองเปลี่ยนแปลงไปจากมุมมองเดิมๆ ในอดีต ….
…ในสังคม รัฐเป็นผู้ให้ความหมายของยาเสพติดตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 ระบุคํานิยามของยาเสพติดหมายถึงสารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทําให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสําคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลําดับ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง
นอกจากนั้น แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ให้ความหมายกับคําว่ายาเสพติดว่า ในระยะแรก ยาบ้ามีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า ยาขยัน เป็นที่นิยมในกลุ่มนักเรียนที่ต้องดูหนังสือสอบดึกๆ ต่อมาเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนขับรถบรรทุก มีชื่อเรียกว่า ยาม้า
เหตุที่ได้ ชื่อนี้มาจากเครื่องหมายการค้าของบริษัท Wellcome ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ส่งยาชนิดนี้มาขายในประเทศไทย
ปัจจุบัน มีชื่อเรียกว่า ยาบ้า ตามข้อเสนอของนายเสนาะ เทียนทอง ขณะดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งให้นโยบายว่า ชื่อยาม้า ทําให้ผู้ เสพเข้าใจว่า เป็นยาที่กินแล้วให้ กําลังวังชา มีเรี่ยวแรง คึกคักเหมือนม้า ควรจะเปลี่ยนไปเรียกว่า ยาบ้า เพื่อให้ผู้เสพตระหนักถึงโทษของยาที่ทําให้ ผู้เสพไม่สามารถควบคุมสติได้ เกิดความรังเกียจ ทําให้ไม่อยากเสพ และจะช่วยลดจํานวนผู้เสพยาได้
คํานิยามดังกล่าวทําให้ ความหมายของยาเสพติดคือการเป็นผู้ร้ายของสังคม และเป็นสิ่งที่ต้องปราบให้สิ้นซาก
ผู้มีอํานาจให้ความหมายกับยาบ้าในฐานะที่มี “ความเป็นอื่น”
เมื่อทัศนะของคนในสังคมมองยาเสพติดในความหมายนี้ จึงไม่เปิดโอกาสให้ความหมายอื่นๆ ขึ้นมามีพื้นที่ยืน เช่นความหมายว่า ยาเสพติดสามารถดํารงอยู่ร่วมกับมนุษยได้ โดยมีตําแหน่งแห่งที่ที่ถูกต้อง ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามบริบทของสังคม
การให้ความหมายกับคําว่า “ยาเสพติด” ซึ่งเป็นวัตถุ (object) ของการศึกษา ตามแนวคิดของฟูโกต สามารถพิจารณาได้ จาก 1) พื้นที่ที่มันถูกกําเนิดขึ้น (surface of emergence) และ 2) ดูการกระจายตัวของอํานาจที่จํากัดหรือส่งเสริมการเกิดประเด็นการศึกษา (authorities of delimitation)
“พื้นที่” ที่สร้างหรือก่อรูปทําให้เมทแอมเฟตามีนเกิดขึ้นจึงสะท้อนถึงการแสวงหาผลประโยชน์ โดยมีร่างกายมนุษย์เป็นเดิมพัน เป็นการใช้อํานาจกับชุดความรู้ที่จัดกระทํากับร่างกายของมนุษย์
พื้นที่ของเมทแอมเฟตามีนที่ถูกจัดให้กําเนิดขึ้น จึงไม่ได้มีความหมายถึงสถานที่ หรือตําแหน่งแห่งที่ที่มีความตายตัว หากแต่รวมความถึงปริมณฑลของความคิดของทัศนะที่มีต่อเมทแอมเฟตามีน เช่น “ทัศนคติที่มองผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นภัยร้ายแรงอันจะต้องกําจัดให้ สิ้นซาก” อันเป็นแผนที่แห่งการก่อตัวของยาบ้า จึงอยู่ในมือของผู้มีอํานาจ นายทุน และรัฐซึ่งเป็นผู้ใช้อํานาจรัฐและให้ความหมายที่ใช้กับเมทแอมเฟตามีน ซึ่งทําให้ถูกผันแปรอย่างไม่คํานึงถึงบริบททางสังคม แต่ยืนอยู่บนฐานการสร้างทัศนคติเชิงลบให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวมถึงประชาชนทั้งประเทศว่า ยาบ้าเป็นภัยร้ายแรงที่ต้องกําจัดให้สิ้นซาก เป็นการสร้างวาทกรรมที่ร้ายแรงและเป็นต้นเหตุของปัญหาเรือนจําหนาแน่น
เมื่อผู้มีอํานาจให้ความหมายกับยาบ้าในฐานะที่มี “ความเป็นอื่น” ศาสตร์ต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นมาด้วยอํานาจของชุดความรู้ เช่น การบัญญัติของกฎหมายที่มีลักษณะแข็งกร้าวและมีบทบังคับโทษที่รุนแรง การบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการก็จะมีความแข็งกระด้างไม่คํานึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี และไม่คํานึงถึงความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้กระทําความผิดที่ด้อยโอกาส เช่น ผู้กระทําความผิดที่ยากจน หรือผู้กระทําความผิดที่เป็นสตรี เป็นต้น
พื้นที่ที่ทําให้ยาบ้าถูกจัดให้กําเนิดขึ้น ต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ปัญหาที่มาจากความยากจน ความด้อยโอกาส ปัญหาทางสังคมจําเป็นต้องได้รับการพิจารณาในเชิงพื้นที่ด้วยเช่นกัน อันเป็นปริมณฑลที่มีเจ้าภาพหลายราย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม
การพิจารณาเชิงพื้นที่จึงไม่ได้มีความหมายว่า เมื่อผู้กระทําผิดถูกตัดสินและปล่อยให้เดินเข้าสู่ห้องขังอย่างโดดเดี่ยว แต่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบในพื้นที่ทางสังคมร่วมกัน
บุหรี่-เหล้า ไม่ได้ถูกตีตราเหมือนเมทแอมเฟตามีน
การกระจายตัวของอํานาจที่จํากัดหรือส่งเสริมการเกิดประเด็นการศึกษาอํานาจอันชอบธรรมนี้จะเป็นตัวกําหนดว่าใครพูดอะไรได้บ้าง ใครพูดไม่ได้ พูดแล้วมีคนรับฟัง เชื่อถือและนําไปปฏิบัติหรือไม่ และยังมีความเงียบ อํานาจที่ชัดเจนในการควบคุมวาทกรรมจะมีทั้งบุคคล องค์กร สถาบันสื่อต่างๆ เช่น รัฐ สื่อมวลชน มีบทบาทในการควบคุมคัดสรรวาทกรรมในประเด็นนั้นๆ เช่น พระควบคุมวาทกรรมด้านศีลธรรม นักวิจารณ์ นักเขียน นักวิชาการระดับนํามีหน้าที่ควบคุมวาทกรรมเกี่ยวกับนิยาย วรรณกรรม เป็นต้น
อํานาจอันชอบธรรมที่ทําให้เมทแอมเฟตามีนถูกตราว่า เป็นยาเสพติดร้ายแรงต้องถูกกําจัดให้สิ้นซาก เกิดจากอํานาจหลายประการด้วยกันทั้งองค์ความรู้ อย่างเป็นหลักวิชาการ สถาบันการสอบสวนและการลงโทษ ตลอดจนมุมมองของประชาชนทั่วไปในสังคม
ในขณะที่สิ่งเสพติดอื่นๆ ที่แฝงตัวเงียบๆ อยู่ในสังคม เช่น บุหรี่และแอลกอฮอล์ ไม่ได้ถูกตีตราเหมือนเมทแอมเฟตามีน
เหล้าและบุหรี่มีลักษณะเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเสพเหล่าแล้วทําให้ขาดสติ หากขับรถมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่อํานาจของทุนทั้งในระดับชาติและทุนในระดับข้ามชาติที่อยู่ในสังคมทําให้เหล้าและบุหรี่มิได้ถูกตีตราว่า เป็นสิ่งต้องห้ามทางสังคม นอกจากมีการเตือนถึงผลเสียที่เกิดจากการดื่มเหล้า เช่น โครงการเมาไม่ ขับ โดยที่ภาครัฐให้ความสนใจและทุ่มเทงบประมาณจํานวนมากทั้งบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และเงินในการรับมือกับอุบัติเหตุที่เกิดจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์จนเกินขนาด การรับมือและการจัดการเช่นนี้ทําให้ เหล้าและบุหรี่ถูกจัดให้มีพื้นที่ทางสังคม
อันสะท้อนถึงอํานาจที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเสพติดทั้งสองประเภท
การสร้างความหมายใหม่ให้กับยาเสพติด โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีน ซึ่งหากเสพในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่มีผลต่อการเสพติด การมอบความหมายใหม่ ในเชิงพื้นที่คือการยกให้เป็นสารที่ถูกต้องตามกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการควบคุม กระบวนการผลิต การจําหน่าย การเสียภาษีและกระบวนการตรวจสอบในลักษณะการควบคุมอาหารและยา การมอบพื้นที่ใหม่ ให้กับยาเสพติด เป็นการให้พื้นที่คนทางด้านอาชีพ การศึกษา การสร้างรายได้ การเข้าถึงการรักษาพยาบาล เพราะคนที่ติดยาเสพติดจะไม่ต้องถูกตีตรา ( la beling) จากสังคม
นอกจากพื้นที่ใหม่ แล้วการให้ความหมายใหม่ ยังสามารถดําเนินการได้ โดยปริมณฑลของฐานอํานาจอันชอบธรรม ซึ่งแต่เดิมสังคมได้มอบอํานาจนี้แก่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่า จะเป็นพนักงานสอบสวน ตํารวจ ศาล อัยการ ทนาย แต่ข้อเท็จจริงคือผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาเพราะไม่มีอํานาจในการต่อรองหรือมีอํานาจในการต่อรองน้อย การย้ายฐานอํานาจอันชอบธรรมคือการเบี่ยงเบนจากความยุติธรรมไปสู่กระบวนการสาธารณสุข โดยมองว่าผู้เสพยาเป็น “ผู้ป่วย” ไม่ ใช่ “ผู้ทําผิดกฎหมาย ”
ในการย้ายฐานอํานาจอันชอบธรรมนี้ภาครัฐต้องทํางานร่วมกับชุมชน และการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการควบคุมและตรวจสอบการใช้ยาเสพติดในชุมชน
จะเห็นชัดว่า วาทกรรมยาเสพติดที่รัฐบาลเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้อธิบายว่า ยาเสพติดเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นภัยต่อสังคม เป็นอาชญากร เป็นภัยอันตรายต่อเยาวชน และความมั่นคงของประเทศ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้ครอบงำจนวันนี้น้อยคนจะไม่มีใครกล้าลุกขึ้นท้าทาย หรือมีมุมมองที่ต่างออกไปจากวาทกรรมดังกล่าวได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ