- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ตัวเลขสูงขนาดไหน ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ-สังคม จากนโยบายยาเสพติด 17 ปี
ตัวเลขสูงขนาดไหน ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ-สังคม จากนโยบายยาเสพติด 17 ปี
เปิดงบฯ รายจ่ายรัฐบาลด้านยาเสพติด 17 ปี พุ่งกว่า 9.1 หมื่นล้าน งานวิจัยตั้งคำถาม นโยบายด้านยาเสพติดในช่วงที่ผ่านมามีความถูกต้อง-เหมาะสม กับสถานการณ์ที่เป็นจริงหรือไม่ เหตุใดรัฐจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จํานวนผู้ต้องหายาเสพติดกลับยังเพิ่มมากขึ้น
ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดปัญหาหนึ่งของสังคมจํานวนมากในโลกปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาปัญหานี้ในระดับนานาชาติแล้ว ปัญหานี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาที่มีระดับความรุนแรงเทียบเท่ากับปัญหาความยากจนและปัญหาควบคุมการคอร์รัปชัน
ถึงแม้ว่าในประเทศแถบตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน โปรตุเกส อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ยังคงนโยบายให้ยาเสพติดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ประเทศเหล่านี้ได้หันมาใช้นโยบายผ่อนปรนมากขึ้น โดยการใช้นโยบายลดทอนความผิดคดียาเสพติด (decriminization) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเยอรมัน ที่เน้นกระบวนการลดอันตรายจากการเสพยาเสพติด(harm reduction) มากเป็นพิเศษ
นโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศตะวันตกในปัจจุบันได้ให้ความสําคัญกับตัวแบบทางการแพทย์ (medical model) ในเรื่องของยาเสพติด โดยถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่สมควรได้รับการบําบัด มากกว่าที่จะมองว่าเป็นอาชญากรเหมือนในอดีต (ศักดิ์ชัย เลิศพานิชพันธ์. 2557)
ผลการศึกษาของศักดิ์ชัย เลิศพานิชพันธ์ แสดงให้เห็นว่า ในระยะเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น ทุกประเทศต่างใช้การควบคุมและการลงโทษผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างรุนแรง แต่ผลลัพธ์ที่ประเทศจํานวนมากสรุปผลออกมาตรงกันก็คือ ยิ่งใช้นโยบายการปราบปรามมากขึ้นเพียงไร ก็ยิ่งพบว่ามีผู้กระทําความผิดมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นนโยบายการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาอย่างเข้มงวดก็ดี หรือการเพิ่มโทษคดียาเสพติดให้สูงขึ้นก็ดี จึงเป็นทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในเชิงปฏิบัติอย่างน้อยจาก 7 ประเทศข้างต้น คือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน โปรตุเกส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ว่า มิใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนแต่ประการใดเลย
ข้างต้น เป็นบทแรกๆ ใน รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง วาทกรรมยาเสพติด: อิสรภาพของผู้ต้องขังหญิงโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ดร.ฉัตรวรัญ องคสิงห์ นิดาวรรณ เพราะสุนทร วณี กอสุวรรณศิริ ดร.ชุลีรัตน์ เจริญพรมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม (ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล) ที่นำเสนอต่อสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อเดือนมีนาคม 2559
ความน่าสนใจ ในงานวิจัยฉบับนี้ ได้มีการนำเสนอผลกระทบของนโยบายปราบปรามยาเสพติดทางด้านเศรษฐกิจและสังคม :มุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวใหม่ โดยเฉพาะต้นทุนนโยบายด้านยาเสพติดของภาครัฐ พบว่า
ต้นทุนนโยบายด้านยาเสพติดของภาครัฐ ในระหว่างปี 2542 – 2559 เท่ากับ 91,819.60 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยความสูญเสียทางด้านงบประมาณแผ่นดินเท่ากับ 5,101.01 ล้านบาทต่อปี
สําหรับงบประมาณด้านยาเสพติดของรัฐบาลระหว่างปี 2542 – 2559 แสดงให้เห็นในตารางที่ 1.6 กล่าวคือในระหว่างปี 2542 – 2544 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลด้านยาเสพติดแบ่งออกเป็น 3 ด้านคือ (1) มาตรการผสมผสาน (2) บริหารจัดการ และ (3) ควบคุมพืชเสพติด
จากตารางที่ 1.6 พบว่า งบประมาณด้านยาเสพติดของรัฐบาลยังค่อนข้างต่ำกล่าวคือในระหว่างปี 2542 – 2544 งบประมาณรายจ่ายเท่ากับ 217.39 ล้านบาท 318.95 ล้านบาท และ 343.30 ล้านบาทตามลําดับ
ในระหว่างปี 2545 – 2552 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจําแนกงบประมาณยาเสพติดเสียใหม่โดยแบ่งออกเป็น (1) งบประมาณเพื่อการป้องกัน (2) งบประมาณเพื่อการปราบปราม และ (3) งบประมาณเพื่อการบําบัด
สัดสัวนการใช้จ่ายงบประมาณทั้งสามประเภทเป็นดังนี้คือ ในปี 2545 งบประมาณด้านยาเสพติดรวมเท่ากับ 3,528.41 ล้านบาท แบ่งเป็นงบในการบําบัด 1,391.53 ล้านบาท หรือเท่ากับ 39.43 ของงบประมาณทั้งหมด งบในการป้องกัน 1,142.46 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 32.37 และงบในการปราบปรามเท่ากับ 994.42 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 28.12
แต่ในระหว่างปี 2548 – 2557
งบประมาณด้านการป้องกันไดรับการจัดสรรมากที่สุด
งบด้านปราบปรามเพิ่มมากขึ้นเป็นลําดับที่สอง
ส่วนงบด้านการบําบัดได้รับน้อยที่สุด
ตัวอย่างเช่นในปี 2548 งบประมาณรวมเท่ากับ 879.63 ล้านบาท งบประมาณด้านการป้องกันเป็น 434.33 ล้านบาท หรือเท่ากับรอยละ 49.37 ของงบประมาณทั้งหมด งบประมาณด้านการปราบปรามเพิ่มขึ้นเป็น 414.43 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 47.11 ส่วนงบประมาณด้านการบําบัดลดลงเหลือ 30.87 ล้านบาท คิดเป็นรอยละ 3.50
ในช่วงระหว่างปี 2558 – 2559 งบประมาณทั้งสามด้านมีแนวโน้มที่ได้รับการจัดสรรให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น แต่งบประมาณด้านการบําบัดได้รับการจัดสรรมากที่สุด งบป้องกันเป็นลําดับถัดมาและงบด้านการปราบปรามได้รับน้อยที่สุด
ตัวอย่างเช่นในปี 2559 งบประมาณรวมเท่ากับ 10,685.24 ล้านบาท แบ่งเป็นงบด้านการฟื้นฟู 3,766.77 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35.25 ของงบประมาณทั้งหมด งบป้องกันเท่ากับ 3,584.92 ลานบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33.55 และงบด้านการปราบปราม 3,333.55 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 31.19
จากตารางที่ 1.6 อาจสรุปได้ว่า งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลด้านยาเสพติดระหว่างปี 2542 – 2559 รวมกันเท่ากับ 91,819.60 ล้านบาท หรือเฉลี่ยงบประมาณการปราบปรามยาเสพติดในช่วง ระหว่างปี 2542 – 2559 เท่ากับ 5,101.01 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายด้านยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด กล่าวคือในปี 2542 งบด้านยาเสพติดมีเพียง 217.39 ล้านบาท แต่ในปี 2559 หรือภายในเวลาเพียง 18 ปี งบประมาณด้านนี้ได้สูงขึ้นถึง 10,685.24 ล้านบาท หรืองบประมาณดานยาเสพติดในช่วงเวลาดังกล่าวสูงขึ้นถึงร้อยละ 4,815.23 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2542
สําหรับงบประมาณด้านยาเสพติดของรัฐบาล มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ
ประการแรก งบประมาณด้านยาเสพติดได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสําคัญตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา กล่าวคือช่วงปี 2545 – 2554 งบประมาณด้านยาเสพติดมีจํานวนที่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปีโดยตลอด แต่ในช่วงปี 2555 – 2559 งบประมาณได้เพิ่มสูงขึ้นราว 2 เท่าของช่วงก่อนหน้าปี 2555 เฉพาะช่วงปี 2555 – 2559 งบประมาณด้านยาเสพติด 5 ปี รวมกันเท่ากับ 50,817 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 55.34 ของงบประมาณด้านยาเสพติดทั้งหมดของปี 2542 – 2559 หรือ 18 ปีรวมกัน
ประการที่สอง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะงบประมาณที่ใช้ในการปราบปรามยาเสพติด ในระหว่างปี 2542 – 2559 นั้นเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกันจํานวนนักโทษยาเสพติดก็เพิ่มสูงขึ้นโดยตลอดเช่นเดียวกัน กล่าวคือในปี 2551 จํานวนนักโทษยาเสพติดมีจํานวน 100,105 คน ได้เพิ่มเป็น 230,074 คน ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
ดังนั้นจึงเกิดคําถามว่า นโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมามีความถูกต้องและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นจริงหรือไม่ เพราะเหตุใดการที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินด้านยาเสพติดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จํานวนผู้ต้องหายาเสพติดกลับยังเพิ่มมากขึ้น
ในตอนท้าย ผลการศึกษาได้สรุปว่า จากต้นทุนค่าใช้จ่ายของนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลในระหว่างปี 2542 – 2559 เป็นเงินงบประมาณ 91,819.60 ล้านบาท หรืออาจเรียกว่าเป็นต้นทุนทางตรง (direct cost) ของรัฐบาล แต่นโยบายดังกล่าวได้ทําให้สังคมและครอบครัวของผู้ต้องหายาเสพติดสูญเสียผลิตภาพการผลิตก่อให้เกิดต้นทุนการก่ออาชญากรรมในภาคเอกชนและภาครัฐ เกิดต้นทุนของสังคมและต้นทุนของนักโทษในเรือนจําคิดเป็นมูลค่าราว 1,061,287 – 1,467,108 ล้านบาท หรืออาจเรียกว่าเป็นต้นทุนทางอ้อม (indirectcost) ของภาคสังคมและภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นจากต้นทุนทางตรงของรัฐบาล
"ต้นทุนทางตรงของรัฐบาลในการดําเนินนโยบายด้านยาเสพติด ได้ทําให้เกิดต้นทุนทางอ้อมที่เป็นภาระของสังคมและครัวเรือนที่เกี่ยวข้องที่ต้องแบกรับภาระของต้นทุนที่เกิดขึ้นนี้คิดเป็นมูลค้าแล้วมากกว่าภาครัฐระหว่าง 11 - 15 เท่าทีเดียว หรือกล่าวโดยสรุปต้นทุนของนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลในช่วงระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นระหว่าง 1,153,107 – 1,558,928 ล้านบาท"
ที่มาภาพเว็บไซต์ ป.ป.ส.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ