- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
"แก้ปัญหายาบ้ามากี่ปี ที่ใช้วิธีเดิม กลับมีคนค้า คนติดมากขึ้น เพราะยิ่งจับราคายิ่งขึ้น ยิ่งสร้างแรงจูงใจ ผมเห็นด้วยกับการประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม"
เป็นเวลาหลายสิบปีที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับยาเสพติด ใช้วิธีปราบปรามจับคนมาติดคุก และกว่า 90% ของผู้ถูกจับกุมและคุมขัง เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาบ้าแทบทั้งสิ้น
ทันทีที่พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โยนแนวคิดแก้ปัญหายาเสพติด โดยการยกเลิกเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) (ยาบ้า) ออกจากบัญชียาเสพติด พร้อมระบุชัดว่า ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเป็นการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบแล้ว
สำหรับบุคคลที่ 'กล้า' สนับสนุนแนวคิดนี้ ศาตราจารย์นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ นักวิชาการอิสระ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า เราแก้ปัญหายาบ้ามากี่ปี ใช้วิธีเดิมๆ กลับมีคนค้า คนติดมากขึ้น เพราะยิ่งจับราคายิ่งขึ้น ทำให้ยิ่งสร้างแรงจูงใจในการค้าขาย ที่แม้เสี่ยงคนก็ยิ่งกล้าทำ และใช้วิธีการทำให้ลูกหลาน หรือลูกคนมีเงินติดยามากขึ้น
"ผมเห็นด้วยกับการประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผมคิดและพูดมานานแล้วว่า เราแก้ปัญหายาบ้ามากี่สิบปีแล้ว ทำไม่สำเร็จก็ยังทำอยู่ ขณะที่จำนวนผู้ค้ายาจับได้ทุกวัน ทันทีที่ถูกจับราคายาขึ้นหรือไม่ ฉะนั้นทำให้บางคนที่ต้องการธุรกิจประเภทนี้ กล้าทำ กล้าเสี่ยง เขาก็พยายามหาเหยื่อที่เป็นเด็ก เยาวชน เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ "
ศ.นพ.วันชัย กล่าวว่า ผู้เสพยารัฐต้องดูแล เช่น ให้ลงทะเบียน เพื่อป้องกันไม่ต้องไปซื้อ แจกเลย ซึ่งบางประเทศแจกด้วยซ้ำไป เชื่อราคายาบ้าจะลดลงทันที และสามารถตัดวงจรขบวนการค้ายาเสพติดได้
"ผมชื่นชมที่รมว.ยุติธรรมที่กล้า หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อว่าไม่กล้าแบบนี้หรอก เรื่องนี้มีคนมองเห็นต่าง สุดท้ายก็ไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้เกิดขึ้นได้"
เมื่อถามว่า หากมีการเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีนจากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาประเภท 2 หรือยาปกติ และปัญหายาเสพติดยังไม่ดีขึ้น นักวิชาการอิสระ ตั้่งคำถามว่า ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการไล่จับ ติดคุก และเมื่อออกมาจากคุกสำนึกหรือไม่ หรือกลับเนื้อกลับตัวหรือไม่ สุดท้ายกลับมาทำอย่างเดิมหรือไม่ ปัญหายาเสพติดต้องการการคิดนอกกรอบถึงจะแก้ไขได้
และเมื่อถามถึงการแก้ไขกฎหมาย หรือปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด โดยเฉพาะบทบัญญัติอัตราโทษที่เหมาะสมนั้น ศ.นพ.วันชัย กล่าวว่า ในรายละเอียดผู้บริหารหรือผู้อำนาจต้องไปคิด จะปรับแก้อะไรได้บ้าง อย่างน้อยการโยนหินถามทางนี้ คนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องมองให้ครบทุกมุม
"ทำไมเราไม่ลองทำในหลายๆ ประเทศทำ แน่นอน ยังมีคนเสพยาอยู่ อาจไม่ได้ผลทันที แต่ผมว่า คนกล้าเท่านั้นที่ทำเรื่องเหล่านี้ได้"
พร้อมกันนี้ ศ.นพ.วันชัย กล่าวทิ้งท้ายถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด ควรมีมาตรการสร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัว เด็ก เยาวชน หรือลูกคนมีเงินจะได้ไม่ต้องไปแสวงหาความอบอุ่นนอกบ้าน ซึ่งมีกระบวนการนี้แม้รัฐทำอยู่แล้ว แต่ควรเน้นไปที่โรงเรียน รวมถึงสื่อสารให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจ คุยกับลูก กอดลูก เพราะเด็กวัยที่เข้าสู่วัยการเปลี่ยนแปลงเขาต้องการผู้มารับฟัง ทั้งความทุกข์ ความสุุข ขอแค่พ่อแม่มีเวลาให้ ไม่ใช่ใช้เงินเลี้ยงลูกอย่างเดียว การสร้างครอบครัวอบอุ่นให้เกิดขึ้นได้เชื่อว่า จะเป็นวิธีการหนึ่งป้องกันเด็กและเยาวชนไทยห่างไกลยาเสพติด
ขณะที่นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธารณสุข อีกผู้หนึ่งที่โพสต์ข้อความสนับสนุนในเฟชบุคส่วนตัว ทันทีที่ได้ยินข่าวว่า พลเอกไพบูลย์ จะเปลี่ยนยาบ้าให้เป็นยาปกติที่ต้องควบคุม
พร้อมเสนอว่า “ถ้าให้ดีสั่งให้องค์การเภสัชกรรมผลิตขาย ต้นทุนไม่เกิน 1 บาท จะสามารถตัดโซ่การตลาด การขาย การผลิต เพราะไม่มีกำไรอีกต่อไป รับรองไม่เกิน 6 เดือนจะเห็นผลชัดเจน อยากให้พิจารณา กัญชา ใบกระท่อมด้วย ขอแสดงความชื่นชมการตัดสินใจออกนโยบายที่ดีมีประโยชน์”
ส่วนนางสาวสุภัทรา นาคะผิว อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดใหม่ มาตรการใหม่ ในการแก้ปัญหายาเสพติด
1.เริ่มจากยอมรับความจริงก่อนว่า เราไม่สามารถทำให้ยาเสพติดหมดไปจากโลกใบนี้ได้
2.ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง เด็ดขาดกับผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ จับมาดำเนินคดีให้ได้ (ที่ผ่านมาจับได้น้อยมากๆ อย่างดีก็จับคนขน ส่วนใหญ่จับคนเสพ)
3.ใช้มาตรการทางสาธารณสุขในส่วนของผู้เสพ ผู้ติด ต้องไม่มองว่าเขาเป็นอาชญากร ไม่ต้องลงโทษทางอาญา ไม่ซ้ำเติม นำเขาเข้าสู่การบำบัด ฟื้นฟู รักษา นำมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดมาใช้อย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพ
4.ยกเลิกอำนาจการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดของตำรวจ ให้เป็นหน้าที่ของสาธารณสุข
5.ยกเลิกการบังคับบำบัด พัฒนาระบบ กระบวนการ บำบัดฟื้นฟูที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละกลุ่ม โดยให้ชุมชน ภาคประชาสังคม ผู้ใช้ยา มีบทบาท มีส่วนร่วมให้มากที่สุด
6. สนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอให้ชุมชน ภาคประชาสังคม กลุ่ม/เครือข่ายผู้ใช้ยา ทำงานเชิงป้องกันไม่ให้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ