เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
โอกาสข้างหน้า รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อใด กฎหมายยาเสพติดจะต้องเคลื่อนตัวเข้าไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง 'สงครามยาเสพติด: คุกและเหยื่อผู้ต้องขังหญิง" จัดโดย วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพ
ศ.พิเศษจรัญ กล่าวถึงปัญหายาเสพติด ในมิติทางกฎหมาย และความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ ไว้อย่างน่าสนใจ สำนักข่าวอิศรา ถอดความอย่างละเอียดมานำเสนอ...
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นกล่าวถึงเรือนจำประเทศไทยที่มีการนำแม่ของลูก หรือผู้หญิงเข้าไปอยู่ในคุกไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นคน ส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นผู้ต้องขังหญิงคดียาเสพติด ไม่ใช่ผู้ค้ารายใหญ่ หรือผู้ผลิต ขณะที่สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่แออัด ความเป็นอยู่ไม่ได้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้แต่ผู้ต้องขังชายในเรือนจำ เป็นวัยทำงาน เป็นแรงงานสำคัญให้กับประเทศ ก็ตกอยู่ในสภาพที่แย่เช่นเดียวกัน
"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐธรรมนูญบัญญัติ กำกับไว้ และรับรองไว้ว่า จะต้องให้แก่คนไทย ให้กับประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ แต่แล้วเราทำกับเขาแบบนั้น นี่คือสภาพปัญหายาเสพติด มิติที่ 1"
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงมิติที่ 2 โดยหยิบ "พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522" ที่มีบทสันนิษฐานเด็ดขาด ปิดปากไม่ให้ข้อต่อสู้หรือพิสูจน์ความจริงได้เลย โดยสันนิษฐานไว้ว่า
"ผู้ใดมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ไว้ในครอบครอง เป็นปริมาณสารบริสุทธิ์เกินกว่า 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือประมาณ 15 มิลลิกรัมใช้สำหรับยาบ้า ให้ถือว่า มีไว้เพื่อจำหน่าย"
ข้อความดังกล่าว ปิดโอกาสปฏิเสธเด็ดขาด อย่างนี้กฎหมายบทนี้มีแง่มุมของข้อพิจารณา เราได้เรียกความเป็นธรรมกับประชาชนเพียงพอแล้วหรือยัง
ศ.พิเศษจรัญ เห็นว่า กฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานด้านนี้ ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ไม่ต้องเสียเวลาหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ผู้ต้องหา จำเลยคนนี้มีเจตนาซื้อมาเสพเอง หรืออยู่ในกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด
"สมมุติว่า จำเป็นต้องสันนิษฐานว่า ทำไมไม่เปิดข้อยกเว้นให้จำเลยสามารถความบริสุทธิ์ของเขาได้ เหมือนกับว่า ถือกฎหมายเป็นใหญ่โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรม ความชอบธรรมของกฎหมายบทนี้ กฎหมายบทนี้ มีแง่มุมที่ต้องถูกพิจารณาต่อไปว่า ขัดต่อหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญ 2550 และฉบับที่ยกร่างอยู่หรือไม่ เพราะหลักนิติธรรมถูกนำมาบัญญัติยืนยันไว้เหมือนเดิม และมีการขยายความให้กว้างขวางยิ่งไปกว่าเดิม
กฎหมายบทนี้ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพราะทำให้ทำงานง่าย แต่เป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อบรรดาผู้ชายและผู้หญิงที่ถูกจับและดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีโทษหนักกว่าการที่ไปซื้อมาเสพเองด้วยซ้ำ"
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า อย่างน้อยจะต้องมีการทบทวนสถานะของกฎหมายบทนี้ควรเป็นอย่างไรหรือไม่ จะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปลายเหตุที่กำลังเป็นประเด็น ปัญหาคนล้นคุก ผู้หญิงต้องถูกจับไปกักขังในทัณฑสถานที่คับแคบ และไม่มีกระบวนการบำบัดฟื้นฟูอะไรกับคนเหล่านั้นอย่างเพียงพอ
ส่วนมิติที่ 3 ปัญหาการบัญญัติกฎหมายยาเสพติดนั้น ศ.พิเศษจรัญ อธิบายว่า ถ้านำยาเสพติดให้โทษประเภท 1 แม้แต่เพียงเล็กน้อย เช่น เอายาบ้า 1 เม็ดเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่า วัตถุประสงค์อะไรต้องจำคุกตลอดชีวิต หากนำมาจำหน่ายก็ประหารชีวิตสถานเดียว กฎหมายแบบนี้ เป็นผลผลิตมาจากการ "นโยบายสงครามกับยาเสพติด
" วาทกรรมยาเสพติด ที่ทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกหวาดผวา และเกลียดชัง โกรธแค้นยาเสพติด หรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถึงได้เกิดกฎหมายแบบนี้ขึ้นมาได้
"แต่กฎหมายแบบนี้มาตรฐานสากลระหว่างประเทศ เรียกว่า กฎหมายที่ลงโทษคนอย่างทารุณ และไม่เป็นธรรม มาตรฐานสากลที่มองไปทั่วโลก โดยไม่ได้มองว่า คนที่ถูกกฎหมายแบบนี้ลงโทษอย่างรุนแรง เกินเหตุเกินผลแบบนี้เป็นมนุษย์หรือเป็นคนของเขา แต่เรากลับสร้างกฎหมายแบบนี้ลงโทษประชาชนของเรา ลูกหลานของเรา พี่น้องของเราเองอย่างที่ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจอะไรเลย ตรงกันข้ามกับมีความรู้สึกว่า ถูกต้องแล้ว ต้องทำเพราะกฎหมายบัญญัติ
จริงอยู่กฎหมายมีเจตนารมณ์เป็นรากฐานอยู่เสมอ ไม่ใช่เพียงบัญญัติลายลักษณ์อักษร เหมือนร่างกาย ฮาร์ดแวร์ของกฎหมาย แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่มีความประสงค์จะลงโทษจำคุกตลอดชีวิตคนไทยที่ไปซื้อยาบ้าจากประเทศลาวเม็ดสองเม็ด กินไม่หมดก็นำเข้ามาในประเทศด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต มีกรณีผู้หญิงไทยถูกจับดำเนินคดีเป็นอาชญากรร้ายแรงจำคุกสถานเดียว ถูกฟ้องโดยการทำงานของพนักงานอัยการ ถูกศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ในนามของกฎหมาย เธอรับสารภาพว่าซื้อยาเสพติดกินและนำเข้าประเทศจริง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 25 ปี
เราออกกฎหมายแบบนี้ และใช้บังคับ ตีความกฎหมายแบบนี้ เล่นงานประชาชนของเราได้อย่างหน้าเฉยตาเฉย ทั้งๆ ที่บางกรณีชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นผู้ค้ายาเสพติด แต่เป็นเหยื่อของกระบวนการค้ายาเสพติด เราปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นตำตาอยู่โดยไม่รู้สึกรู้สาได้อย่างไร"
ในมิติที่ 4 ยาเสพติดแต่ละประเภท มีความร้ายแรงแตกต่างหนักเบาต่างกัน ศ.พิเศษจรัญ ยืนยันว่า ยาเสพคิดของทุกประเทศจึงจำแนกแจกแจงไว้ ยาเสพติดชนิดใดทำร้ายสุขภาพร่างกายจิตใจของมนุษย์มากก็จัดอยู่ในประเภทร้ายแรง เช่น เฮโรอีน หรือฝิ่น แต่ถ้าเป็นยาเสพติดเบาลงไปตามลำดับ จะจัดลำดับให้อ่อนลงๆ ประเภท 2 3 4 5 เช่น กระท่อม กัญชา และโทษก็จะเบาลงตามลำดับ
"ยาบ้า สมัยโบราณเรียกยาม้า ยาขยัน ไม่เป็นผลดีกับมนุษย์เท่าไหร่ แต่ว่า ก็ไม่ได้ทำร้ายมนุษย์ร้ายแรงเหมือนเฮโรอีน ฉะนั้นกฎหมายยาเสพติดแต่เดิมจัดลำดับ แอมเฟตามีน หรือยาม้า ให้เป็นอยู่ในประเภทที่เบากว่าเฮโรอีน ไม่ได้อยู่ในประเภทหนึ่ง
แต่แล้วความคิดของนักการเมือง ของคนที่กำหนดนโยบายเรื่องนี้ได้ เลื่อนไหลไปตามกระแสวาทกรรมยาเสพติด เปลี่ยนชื่อยาม้า ยาขยัน เป็นยาบ้า และดำเนินการให้เปลี่ยนลำดับชั้น แอมเฟตามีน จากยาเสพติดลำดับรองๆ เป็นประเภทที่ 1 ความผิดและโทษทัณฑ์ต่างๆจึงเท่ากับเฮโรอีน"
และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้กระบวนการปราบปรามยาเสพติดทั้งหมดขนคนไทยเรือนแสนในแต่ละปีเข้าอยู่ในคุก เรือนจำ ผู้หญิงถูกดำเนินคดีข้อหายาบ้า เป็นผู้ขายรายย่อย"
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชัดว่า ถึงเวลาต้องทบทวน และชวนคิดการเขียนกฎหมาย จัดแอมเฟตามีน มาอยู่ลำดับเดียวกับ เฮโรอีน เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษมากกว่ากัน ควรปรับเปลี่ยนกันหรือไม่อย่างไร ? ปัญหานี้ที่ต้องคิดกันด้วยความรู้ สติปัญญา และความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ว่า 4 มิติที่กล่าวมานั้น ตัวประเด็นปัญหายาเสพติดอันเป็นผลผลิตจากวาทกรรมสงครามยาเสพติดเมื่อ 10-20 ปีก่อน ก่อให้เกิดผลอย่างนี้่
"ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ร้ายแรงของมนุษย์จริง เป็นโชคร้ายของมนุษย์ที่มีคนคิดและเอาสารเสพติดพวกนี้มาทำการค้าหากำไรอย่างมหาศาลอยู่บนความเสื่อมวิบัติของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือปัญหาใหญ่ที่คุกคาม "คุณภาพชีวิต" ของคนไทย และสังคมไทย ปัญหานี้จึงต้องแก้"
สำหรับกระบวนการวิธีการแก้ ด้วยวาทกรรมสงครามยาเสพติด โดยไม่จำแนกแยกแยะให้เหมาะให้ควรนั้น ศ.พิเศษจรัญ ระบุว่า การกวาดหมดด้วยความรุนแรงเฉียบขาด ขณะที่ในกระบวนการยุติธรรม ก็หึกเหิมไปกับวาทกรรมสงครามยาเสพติดใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รุนแรง เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่ที่ไม่ไ่ด้หึกเหิมกำเริบกับกฎหมายยาเสพที่ออกมาอย่างรุนแรงก็ตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัว หวาดผวา ไม่กล้าใช้ ตีความกฎหมายให้ถูกต้องเป็นธรรม เพราะเกรงภัยของวาทกรรมสงครามยาเสพติดจะสะท้อนมาสู่ตัว ปล่อยปละละเลย เพิกเฉย ให้ท้ายพ่อค้ายาเสพติด ฉะนั้นผลผลิตวาทกรรมสงครามยาเสพติด ปัญหาเดิมที่เรามุ่งจะแก้ไข เพื่อช่วยเหลือบรรเทาโทษภัยที่เกิดจากยาเสพติดนั้น ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ที่ทำร้ายผู้คนมนุษย์ ประชาชน มากกว่าปัญหายาเสพเดิม
"ปัญหายาเสพติดเดิมไม่ได้ลดน้อยลงเลย มิหนำซ้ำยังขยายตัวกว้างขวางใหญ่โต เหมือนที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันแทนที่จะมีปัญหายาเสพติดระดับหนึ่ง บัดนี้กลายเป็น 2 ปัญหาใหญ่ ซ้อนขึ้นมาทับ ต้นทางและปลายทาง จึงถึงเวลาและจำเป็นจริงๆ ที่เราต้องเสียเวลามาทบทวนหาทางแก้ปัญหาให้กับสังคมไทย คนไทย ให้กับลูกหลานของเราต่อไป"
สุดท้าย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ปัญหาทางมิติกฎหมาย และความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ ต่อไปโอกาสข้างหน้า รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อใด กฎหมายยาเสพติดจะต้องเคลื่อนตัวเข้าไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน