- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
"ผู้ต้องขังล้นคุกเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทุกวันนี้คนเสพยา ติดคุก คนมียาบ้า 1 เม็ด 2 เม็ด ก็ติดคุก ใช้ข้อหาเดียวกันหมด"
‘เมทแอมเฟตามีน’ (Methamphetamine) หรือที่เคยถูกเรียนขาน ยาบ้า ยาม้า ยาขยัน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ถือเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ด้วย เพื่อหวังที่จะให้การแพร่ระบาดของยาบ้าลดลง
แต่ทว่า ในทางตรงกันข้าม ยาม้า หรือยาบ้ากลับมีราคาพุ่งสูงขึ้น กอรปกับการประกาศสงครามกับยาเสพติดทำให้กว่า 90% ของผู้ถูกจับกุมและคุมขัง เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยานี้แทบทั้งสิ้น
“ผมบอกเลยว่า นโยบาย 'ประกาศสงครามยาเสพติด' เท่านั้นที่ทำให้ผู้ต้องขังล้นคุก ถ้านโยบายไม่เลิกก็ไม่จบ ถ้าจะประกาศก็ไปประกาศกับคนผลิตจะดีกว่า” รศดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ หัวหน้าโครงการการวิจัย เรื่องวาทกรรมยาเสพติดอิสระภาพของผู้ต้องขังหญิง มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นระหว่างการประชุมในโครงการ “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ...สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” ณ จังหวัดอุดรธานี จัดโดยกระทรวงยุติธรรม โดยสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมและปัญหายาเสพติดรุนแรงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546
ะเมื่อความรุนแรงของยาเสพติดชนิดนี้เกิดขึ้น รัฐบาลยุคหนึ่งเริ่มประกาศสงครามยาเสพติด การประกาศสงครามนี้จึงมีคำถามว่า คุณจะรบกับใคร ?
รศ.ดร.สังศิต ให้ข้อมูลซึ่งเป็นสถิติ "ผู้หญิง" ที่ถูกจับกุมจากยาเสพติดตั้งแต่ปี 2546-2557 ประมาณ 8.7% และประณามว่าเป็นยาบ้า
วลีเหล่านี้เป็น "วาทกรรม" ของนักการเมืองที่ต้องการคะแนนทางการเมืองเท่านั้นเพื่อให้ประชาชนได้จำว่า ตนเองได้ตั้งสมญานามอันนี้ว่า เป็นยาบ้า
"อันที่จริงการทำแบบนี้ไม่ควรเลย เพราะเป็นการทำให้คนเข้าไปอยู่ในคุกโดยไม่สมควร รวมทั้งคนเหล่านั้นก็เป็นคนที่มีรายได้น้อยทั้งสิ้น คนโดนจับก็คนเสพ คือเหยื่อ ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนนโยบายความรุนแรงจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น"
หัวหน้าโครงการการวิจัย เรื่องวาทกรรมยาเสพติดฯ เสนอแนะรัฐบาลใดๆ ก็ตามที่คิดจะประกาศสงครามยาเสพติด ก็ควรประกาศสงครามกับคนที่ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่มากกว่า เนื่องจากพบว่า คนที่เป็นผู้จำหน่ายจริงๆ มีอยู่ทั้งหมด 16.6% หรือประมาณ 21,000 คน ผู้ผลิต 1,092 คน หรือ 0.8%
"ถ้าจะให้เชื่อว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 เป็นผู้ผลิต ผมเชื่อ แต่เวลาจับได้แล้ว ตั้งข้อหาคนเหล่านั้นว่า เป็นกระบวนค้ายาข้ามชาติ ผมว่าท่านตีความผิดไป”
ทั้งนี้ หากจะทำลายยาเสพติดให้ได้อยู่หมัด หัวหน้าโครงการการวิจัย เรื่องวาทกรรมยาเสพติดอิสระภาพของผู้ต้องขังหญิง ม.รังสิต เห็นว่า ก็ต้องทำให้มันหมดเสน่ห์ เพราะสำหรับเด็กหนุ่มสาวแล้วยาเสพติดชนิดนี้มันมีเสน่ห์
ส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาเห็นว่า มีส่วนสำคัญในกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะหน่วยงานสอบสวนยังถูกบังคับบัญชาเหมือนทหาร ซึ่งที่จริงทำไม่ได้ ฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาต้องแยกหน่วยงานสอบสวนออกไปจากตำรวจ ให้มีความอิสระ และไม่ถูกแทรกแซงทางเมือง
“บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจควรจะพิจารณาว่าการจับให้ติดคุกโดยเฉพาะผู้เสพหรือผู้ค้าที่มียาเสพติด 1-2 เม็ด ในข้อหาค้ายาเสพติด เป็นเรื่องที่เหลวไหล เพราะนั่นไม่ใช่ผู้ค้า แต่เป็นเพียงการขายเพื่อที่จะเอาเงินมาซื้อต่อให้ตัวเองเสพ หรือให้ตัวเองมีโอกาสบริโภคเท่านั้น” รศ.ดร.สังศิต กล่าว และย้ำทิ้งท้าย "ถ้าทำให้คนในคุกออกไปได้สัก 70% พื้นที่ (ในคุก) ก็คงเหลือ"
ขณะที่นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า ยาเสพติดที่หายากและแพงจะถูกจำกัดด้วยตัวของมันเอง ไม่มีใครเอามาทำโปรโมชั่น ลดแลก แจกแถม ที่ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเฮโรอีนแพงคนติดยาเสพติดประเภทนั้นจะถูกจำกัดโดยธรรมชาติ เพราะต้นทุนสูง
แต่สำหรับเมทแอมเฟตามีนต้นทุนไม่ถึง 50 สตางค์ กำไรจึงมหาศาลขายกัน 300-350 บาท !!!
ในมุมมองทางการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ว่า นักวิจัยส่วนมากมักจะต้องหาจุดด้อยของยา และผลการวิจัยบอกว่า ยานี้จะทำลายสมองทำให้คนเป็นบ้า จริงๆ แล้วเมทแอมเฟตามีน ทำให้สมองดีขึ้นด้วยซ้ำไม่อันตรายขนาดนั้น แต่ที่กินแล้วบ้านั่นเพราะกินเกินขนาด
"นักวิจัยเองไม่เคยกิน ฉะนั้นความจริงจากปากผู้เสพ กับความจริงจากปากผู้วิจัยคนละอย่างกัน ผู้ไม่เคยกิน ไม่เคยเสพจึงไม่เชื่อ ว่าจริงๆแล้วไม่ได้อันตราย" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยัน เมทแอมเฟตามีนไม่ได้อันตรายร้ายแรง แต่ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการจะปราบปรามยาเสพติด จึงทำให้น่ากลัว
อีกผลสำรวจที่ได้ตอกย้ำถึงปัญหาคนล้นคุกในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน จากการสำรวจจำนวนประชากรทั่วโลก ปี 2556 พบว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีอัตราเฉลี่ยของ "ผู้ต้องขัง" สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ ในประชากร 100,000 คน มีผู้ต้องขังอยู่ 398 คน รองลงมือคือสิงคโปร์ 230 คน และเวียดนาม 145 คน (ต่อประชากร 100,000 คน)
สรุปรวม ประเทศไทยมีนักโทษ 296,577 คน แบ่งเป็นนักโทษชาย 254,116 คน และเป็นนักโทษหญิง 42,461 คน
เรียกได้ว่า จำนวนผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย มีมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังหญิงในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน
ขณะที่ผู้ต้องขังมาก ความแออัดในสถานที่คุมขังอีกหลายๆ แห่ง และที่เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานีก็มากตามไปด้วย แม้จะมีการขยับขยายด้วยการสร้างเรือนจำเพิ่ม ขยายเรือนนอนบางส่วนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบปัญหาความแออัดยัดเยียดจากจำนวนผู้ต้องขังดังกล่าวอยู่ดี
นอนตะแคงภาวะผู้ต้องขังล้นคุก
แน่นอนว่า ที่เรือนจำกลางอุดรธานี เป็นอีกหนึ่งเรือนจำที่มีผู้ต้องขังหญิงมากถึง 600 คน ที่นี่จัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการจัดเรือนนอนจำนวน 2 ที่ แต่ละเรือนนอนจะรับผู้ต้องขังได้เพียง 200 คน ปัจจุบันมีผู้ต้องขังนอนเรือนละเกือบที่ละ 300 คน
สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ มีทั้งความแออัด ไม่สะดวกสบาย โดยเรือนนอนชั้นแรกมีลักษณะเป็นพื้นปูน ผู้ต้องขังหญิงแต่ละคนจะต้องนอนตะแคงบนกระเบื้อง 1 แผ่นครึ่ง หรือไม่ถึง 1 ตารางเมตรเท่านั้น ก่อนเรือนจำกลางอุดรฯ จะมีการต่อเติมเตียงนอนขึ้นไปเป็นชั้นที่ 2 หลังรับผู้ต้องเพิ่มจำนวนมาก รวมแล้วสภาพการนอนก็ไม่แตกจากต่างชั้นล่าง
"ฟ้า" สาวน้อยวัย 19 ปี ผู้ถูกควบคุม อยู่ระหว่างรอการพิจารณาประกันตัว เล่าว่า เธอถูกจับข้อหาร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดกับแฟนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยเธอยอมรับอย่างเต็มปากว่าเสพยาไอซ์จริง แต่ไม่ได้จำหน่าย แต่ที่ต้องยอมจำนนต่อหลักฐาน เพราะแฟนหนุ่มของเธอทิ้ง ยาไอซ์ปริมาณ 0.2 กรัม ไว้ในกางเกงขาสั้นของเธอ
หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันแฟนหนุ่มได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 50,000 บาท แต่สาวน้อยวัย 19 ปี ยังถูกฝากขังและรอการพิจารณาคดีอยู่ภายในเรือนจำกลางอุดรธานีแห่งนี้
“หนูไม่รู้เหมือนกันว่าจะโดนโทษแบบไหน หลังจากที่แฟนประกันตัวไป ตำรวจก็มาพบและเปลี่ยนสำนวนคดีฟ้องใหม่จากร่วมจำหน่ายเป็นมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ”
เช่นเดียวกับป้าแป วัย 57 ปี ที่ถูกจับกุมในข้อหามียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 2 เม็ด ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี เหลืออีกเวลาไม่ถึงปีก็จะพ้นโทษ
ป้าแป บอกว่า ที่ต้องติดคุกเพราะไปซื้อยาบ้ามาให้สามีเสพ 2 เม็ด แต่สามีเอาไปขายต่อให้เพื่อน กระทั่งถูกตำรวจจับกุม เพราะมีหลักฐานเป็นเงิน 400 บาท ในกระเป๋า
ไม่ต่างจาก วาทินี อายุ 26 ปี เป็นผู้ต้องขังอีกรายในคดียาเสพติด ซึ่งเป็นทั้งผู้เสพและผู้ค้า
เธอเล่าว่า ฐานะทางบ้านของเธอลำบากและต้องการเงินมาใช้ในชีวิตประจำวัน เธอไม่มีทางเลือกอื่นที่จะทำให้ได้เงินมาโดยเร็ว จึงเลือกขายยาบ้าร่วมกับแฟนหนุ่ม ซึ่งมีอายุน้อยกว่าเธอหลายปี ทั้งๆ ที่รู้ว่า ทำแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ และรู้ดีว่าจะต้องถูกจับมาลงโทษ
สุดท้ายเธอก็ถูกจับจริงๆ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ด้วยหลักฐาน ยาบ้าจำนวน 3 เม็ด ขณะนั้นเธอตั้งท้องได้ 2 เดือนแล้ว
ปัจจุบัน วาทินี ตั้งท้องได้ 6 เดือน บอกเล่าถึงความแออัด เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ โดยเฉพาะตอนเข้านอน
"เราเป็นคนตัวใหญ่ แทบจะนอนหงายไม่ได้เลย เวลาเข้าห้องน้ำก็ลำบาก จะเข้าทีก็รู้อายคนอื่น เพราะไม่มีอะไรกั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คิดตอนอยู่บ้านสะดวกสบายทุกอย่าง แต่พอมาอยู่ที่นี่อึดอัด แม้แต่ที่จะเดินยังไม่มี แต่ก็ต้องจำใจ ยังดีที่ทางผู้คุมเห็นใจ และให้คนที่ตั้งท้องและคนที่มีลูก แยกมาอยู่ในห้องแม่และเด็ก ไม่ต้องทำกิจกรรมใดๆ แต่ก็อยากกลับใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมมากกว่า"
หากย้อนเวลากลับไปได้ เธอยืนยันว่า จะไม่ทำแบบนี้แน่นอน พร้อมกับแสดงความกังวล อีกไม่นานเมื่อเธอคลอด แล้วลูกที่ออกมาต้องลืมตามาดูโลกในคุกนั้น อนาคตจะมีปมหรือไม่
ยิ่่งเมื่อเธอรู้ว่า ตามกฎเกณฑ์ของเรือนจำเมื่อเด็กอายุได้ 1 ขวบจะต้องนำเด็กออกไปอยู่กับญาติ ขณะที่แม่ยังต้องอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ต่อไป แล้วลูกจะเป็นอย่างไรถ้าในวันหนึ่งที่เขาโตขึ้นแล้วรู้ว่าแม่อยู่ในคุก
สุดท้าย นายประมูล ประเสริฐสุข ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี ระบุถึงปัญหาจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้น เพราะสังคมไทยนิยมใช้โทษจำคุกจัดการกับคนผิด ทำให้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่จำคุก เช่น ชะลอการฟ้อง ปล่อยตัวชั่วคราว คุมประพฤติหรือคุมขังในสถานที่อื่นกลายเป็นการลงโทษที่เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมไม่ติดคุก
ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี บอกว่า ผู้ต้องขังล้นคุกเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทุกวันนี้คนเสพยาก็ติดคุก คนมียาบ้า 1 เม็ด 2 เม็ด ก็ติดคุก ใช้ข้อหาเดียวกันหมด คือ โทษฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครอง โดยไม่แยกออกจากคนขายรายย่อยและรายใหญ่ที่ขายจำนวนมากต่อครั้ง ซึ่งเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จะมีการกำหนดเลยว่า พกยาเสพติดเท่าไรจึงผิด บางครั้งคนเสพอาจไม่จำเป็นต้องลงโทษถึงขนาดเข้าคุก แต่ถือว่า เป็นผู้ป่วยที่ต้องการการบำบัด ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นแก๊งค้ายาแต่อย่างใด แค่จะปรับเงินจำนวนมากให้หลาบจำ หรือตรวจยึดทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดจำนวนนักโทษคดียาเสพติดล้นคุกได้
"กว่า 80%ของนักโทษหญิงในคุกล้วนมาจากคดียาบ้า ค้ายาบ้า โดยไม่ตั้งใจ ไม่มีทางเลือก เพราะความจน ซึ่งกรมราชทัณฑ์ควรคัดกรองกลุ่มนี้ออกจากการคุมขังในระยะหนึ่ง แล้วส่งตัวไปอบรมขัดเกลาจิตใจคืนชีวิตสู่ชุมชนช่วยดูแลไม่ให้กลับมาทำผิดอีก"
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:เอกสารประกอบการสร้างความเข้าใจ ปัญหาผู้ต้องขังหญิงล้นคุก