- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ชาวบ้านเตรียมทวงถาม กพร.เร่งยุติเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ
ชาวบ้านเตรียมทวงถาม กพร.เร่งยุติเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ
นักวิชาการ ม.รังสิต ยันทำเหมืองทองคำได้ไม่คุ้มเสีย ควรเก็บไว้ให้ลูกหลาน ชงรัฐทบทวนเหมืองแร่เก่าไม่ใช้สารไซยาไนด์ ขณะที่ชาวบ้านพื้นที่รับผลกระทบเตรียมทวงถามคืบหน้านโยบายจาก กพร. 29 กันยายน 58
วันที่ 27 กันยายน 2558 กลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์รามคำแหง และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา ‘มีเงินเรียกน้อง มี (เหมือง) ทองเรียกหายนะ’ ณ ห้องประชุมโสตทัศนศึกษา อาคาร 2 คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า การทำเหมืองแร่ทองคำส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ดังเช่นพื้นที่ภูทับฟ้า จ.เลย ชาวบ้านไม่มีสิทธิขึ้นไปบนภูแห่งนี้เหมือนในอดีต นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิในการพัฒนา ซึ่งชาวบ้านสมควรมีสิทธิเลือกให้พื้นที่ในชุมชนเป็นเกษตรกรรมหรือเหมืองแร่ทองคำ แต่กฎหมายไทยกลับให้อำนาจรัฐเป็นเจ้าของทองในแผ่นดิน และให้ภาคเอกชนผูกขาดสัมปทานระยะเวลานาน
สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นอีกหนึ่งผลกระทบ ทั้งที่ทุกคนต้องได้รับลมหายใจ ดิน พืช น้ำ ที่สะอาด และชุมชนต้องมีความอบอุ่น สมานสามัคคี แต่ที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมกับกิจกรรมเหมืองแร่ทองคำไม่มีพื้นที่เขตกันชน อย่างไรก็ตาม ปัญหาขณะนี้คือกฎหมายระบุให้แหล่งอุตสาหกรรมห้ามตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดเท่านั้น แต่ไม่ระบุห้ามตั้งใกล้ชุมชน จึงเป็นสาเหตุของการไม่มีเขตกันชนดังกล่าว
“การทำทองคำได้ไม่คุ้มเสีย ควรเก็บทองคำไว้ให้ลูกหลาน พร้อมต้องหยุดนโยบายทองคำและร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แร่ ฉบับใหม่ และเรียกร้องต่อเหมืองเก่า โดยรัฐทบทวนกระบวนการสกัดแร่ไม่ควรใช้สารไซยาไนด์ เนื่องจากพื้นที่มีสารปนเปื้อน ไม่ว่าจะพิสูจน์ได้หรือไม่ได้ แต่การใช้สารชนิดนี้ต้นทุนต่ำในการดึงทองคำออกมาจากสินแร่สูงสุด ขณะที่ต่างประเทศใช้วิธีอื่นอย่างการใช้ไฟฟ้า แต่ราคาสูงและประสิทธิภาพต่ำกว่า”
นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าวอีกว่า กรณีไทยกลับเลือกกำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)จะทำเหมืองระบบเปิด 100% ไม่ได้ แต่ต้องคลุมกองหินทิ้ง มีบ่อดักน้ำชักจากพื้นที่กิจกรรมทำเหมือง และมีการรวบรวมน้ำใต้ดิน ส่วนเสถียรภาพของคันบ่อเป็นอีกหนึ่งปัญหาน่าห่วง จำเป็นต้องตรวจสอบการรั่วซึม เพราะหากแตกขึ้นเหมือนแคนาดาหรือสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายได้
ด้าน นายณัฐพงษ์ แก้วนวล เกษตรกร อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า รัฐต้องคิดให้มากขึ้น ไม่ได้คิดเฉพาะเม็ดเงินไม่กี่ล้านบาท และฟังเสียงประชาชน วันนี้ไม่มั่นใจว่า ผู้คัดค้าน 2.7 หมื่นรายชื่อ ที่ยื่นถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำให้นโยบายเปิดเหมืองแร่ทองคำหยุดลงหรือไม่ หรือต้องให้มีการล่ารายชื่ออีกเป็นล้าน ๆ ชื่อ แต่คิดว่าผลการตรวจเลือดของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบน่าจะเพียงพอแล้ว โดยรัฐไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ชาวบ้านล่ารายชื่ออีก อย่างไรก็ตาม วันที่ 29 กันยายน 2558 ชาวบ้านจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบายจากอธิบดี กพร. ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ด้วย
ขณะที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ...ฉบับใหม่ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ร่างกฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ยอมเปิดเผยให้ประชาชนทราบ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนส่งต่อให้หน่วยงานของรัฐเกี่ยวข้องให้ความเห็น ก่อนจะส่งไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่อไป ซึ่งเราเห็นว่าการพิจารณากฎหมายลักษณะนี้เป็นกระบวนการปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน แทบจะหาช่องทางเข้าไปรับรู้เนื้อหาไม่ได้เลย .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ปปท.ยื่น 2.7 หมื่นชื่อ ค้านเหมืองทองคำ-รอฟังนายกฯ แจงผ่านรายการคืนความสุขฯ
“หนูเจ็บปวดที่รู้วันตายตัวเอง” เสียงสะท้อนจากพื้นที่ ก่อนลุกฮือต้านเหมืองทองล้านไร่
เปิดตัวองค์กรปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ-เตรียมส่ง 2 หมื่นชื่อค้านเหมืองถึงนายกฯ
‘ดร.อาทิตย์’ หนุนนายกฯ ใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่ว ปท.