- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ปปท.ยื่น 2.7 หมื่นชื่อ ค้านเหมืองทองคำ-รอฟังนายกฯ แจงผ่านรายการคืนความสุขฯ
ปปท.ยื่น 2.7 หมื่นชื่อ ค้านเหมืองทองคำ-รอฟังนายกฯ แจงผ่านรายการคืนความสุขฯ
ปปท.ยื่น 27,522 รายชื่อ ค้านเปิดเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด ถึงนายกฯ แกนนำยันรัฐบาลต้องยุตินโยบายเกี่ยวข้องทันที เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตรวจรักษาสุขภาพ ปชช. รอฟังคำชี้แจงในรายการคืนความสุขฯ ย้ำอีก 15 วันไม่คืบหน้า เตรียมเคลื่อนอีกรอบ
วันที่ 22 กันยายน 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) องค์กรประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) กว่า 500 คน นำโดย น.ส.อารมณ์ คำจริง เข้ายื่นรายชื่อ 27,522 ชื่อ ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อคัดค้านการเปิดเหมืองแร่ทองคำใน 12 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลพบุรี เลย นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และสตูล โดยมีนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
น.ส.อารมณ์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องว่า ขอให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองทองคำทุกแห่ง ยกเลิกประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษ และคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำโดยทันที นอกจากนี้ต้องตรวจและรักษาสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกด้านอย่างละเอียดในทันทีและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง
“จะต้องพิจารณาต้นทุนที่ผลักภาระให้กับสังคมทั้งหมดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ (Externalities)โดยให้เป็นภาระต้นทุน ค่าใช้จ่าย และความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการทำเหมืองแร่ทั้งหมด โดยปราศจากมลพิษ และต้องให้มีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน”
แกนนำ ปปท. กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ.2510 และยกเลิกร่างแก้ พ.ร.บ.แร่ที่อยู่ระหว่างหรือผ่านความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกฉบับ เพราะนอกจากจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่สร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนแล้ว ยังจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผลกระทบต่อดิน น้ำ ป่า สุขภาวะของชุมชน รวมถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนต่อผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ
(นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับมอบรายชื่อ 27,522 ชื่อ เสนอนายกฯ)
จากนั้นให้จัดทำร่างกฎหมายแร่ขึ้นใหม่ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชาติและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และในระหว่างที่กำลังจะมีการปิดเหมืองแร่ทองคำ หรือปิดเหมืองแร่ทองคำแล้ว หากมีประชาชนผลกระทบในทางสุขภาพและวิถีชีวิตจะต้องได้รับการเยียวยาโดยทันที ส่วนกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพต้องมีการอพยพ เพื่อให้มีหลักประกันว่าประชาชนจะไม่ถูกหลอกจากกลุ่มทุนเหมืองทองคำ และป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตันบนความเดือดร้อนของประชาชน และทำให้ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิความเป็นธรรม
“ปปท.ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบายให้ดำเนินการบริหารจัดการและจัดงบประมาณให้มีการอพยพในเงื่อนไขที่ประชาชนมีความพึงพอใจและเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยรัฐบาลต้องรับประกันเป็นลายลักษณ์อักษรและต้อลงมือปฏิบัติจริงว่า พื้นที่ซึ่งประชาชนได้อพยพออกไปนั้นจะยังคงสงวนสิทธิในการครอบครองให้เป็นของประชาชนต่อไปในพื้นที่เดิมและห้ามมิให้กลุ่มทุนเหมืองทองคำ หน่วยงานของรัฐ และผู้อื่นเข้าดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ที่ประชาชนได้เคยอยู่อาศัยเคยใช้ประโยชน์ และได้ครอบครองในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงกำหนดแผนฟื้นฟูทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าไม้ รอบ ๆ เหมืองทองคำ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
น.ส.อารมณ์ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะรอฟังพล.อ.ประยุทธ์ พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติในวันศุกร์ ถึงกรณีนโยบายเหมืองแร่ทองคำ เพราะตั้งแต่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมา ยังไม่เคยพูดเรื่องทรัพยากรเหมืองแร่เลย ดังนั้นขอให้ประกาศผ่านสื่อจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไร และชาวบ้านจะเข้ามาทวงถามความคืบหน้าในอีก 15 วัน
ด้านนายกมล กล่าวว่า รัฐบาลทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และจะทำเรื่องเสนอถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใน 2 วันนี้ ยืนยันไม่มีการเก็บหรือซุกเรื่องไว้ใด ๆ
ขณะที่นายอิทธิบูรณ์ อ้นวงษา ภาคประชาสังคม กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ที่มีการแก้ไขว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเรากังวลเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะยังไม่มีใครเห็นรายละเอียดของเนื้อหาดังกล่าวเลย จึงยังวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เเต่ทุกคนก็ไม่ไว้วางใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ตอนหนึ่ง ระบุว่าได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเรื่องที่ดินเหมืองทองคำทั้งที่ดินแปลงเก่าและที่ดินแปลงใหม่ ซึ่งต้องดูกฎหมายการทำเหมืองทองคำว่ามีรายละเอียดอย่างไรในเรื่องการต่อสัญญาและไม่ต่อสัญญา และต้องดูผลกระทบที่ผ่านมาว่าเกิดผลกระทบอะไรบ้างเพื่อประกอบการพิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาให้เปิดทำเหมืองทองคำเพิ่ม
อ่านประกอบ:“หนูเจ็บปวดที่รู้วันตายตัวเอง” เสียงสะท้อนจากพื้นที่ ก่อนลุกฮือต้านเหมืองทองล้านไร่
เปิดตัวองค์กรปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ-เตรียมส่ง 2 หมื่นชื่อค้านเหมืองถึงนายกฯ
‘ดร.อาทิตย์’ หนุนนายกฯ ใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่ว ปท.