- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- เปิดตัวองค์กรปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ-เตรียมส่ง 2 หมื่นชื่อค้านเหมืองถึงนายกฯ
เปิดตัวองค์กรปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ-เตรียมส่ง 2 หมื่นชื่อค้านเหมืองถึงนายกฯ
เปิดตัวองค์กรประชาสังคม ปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เคลื่อนไหวปฏิรูปให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและสิ่งแวดล้อม เตรียมเคลื่อนพลสู่ทำเนียบรัฐบาล มอบ 2 หมื่นรายชื่อ ต่อนายกฯ ด้านนักวิชาการ ม.รังสิต เผยผลศึกษาสารปนเปื้อนเปรียบเทียบ จ.พิจิตร-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย ‘ดร.นพ สัตยาศัย’ ยันเปิดเหมืองแร่ได้ ต่อเมื่อ ปชช.ไม่รับผลกระทบ มีส่วนร่วมตัดสินใจ
วันที่ 20 กันยายน 2558 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดแถลงข่าว ‘ผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ และเปิดตัวองค์กร ประชาสังคม ปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.)’ ณ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต อาคาร TST Tower
โดยองค์กร ปปท. จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวปฏิรูปทรัพยากรและทองคำให้มีความปลอดภัยกับชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นศูนย์ประสานงานของผู้ได้รับผลกระทบและสิ่งแวดล้อมจากการใช้ทรัพยากรจากการทำเหมืองแร่และเหมืองทองคำไทย ตลอดจนเป็นศูนย์ให้ความรู้ประชาสัมพันธ์ประชาชนทั่วประเทศในด้านผลกระทบ
นอกจากนี้ยังเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปกฎหมายทรัพยากรและทองคำให้เป็นของประเทศไทยและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งดำเนินการทางกฎหมายเพื่อป้องกันและขจัดการฉ้อราชย์บังหลวงในการจัดการทรัพยากรและทองคำของไทยด้วย นำโดยนางสาวอารมณ์ คำจริง ประชาชน จ.พิษณุโลก
ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยผลการตรวจปริมาณสารหนูในตัวอย่างดินและตะกอนดิน บริเวณเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยรังสิตว่า จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก พบสารหนูปริมาณสูงมากในพื้นที่เหมืองแร่ บ่อกักเก็บกากแร่ 204.9-387.5 มก./กก. ขณะที่กองดิน กองหินทิ้ง และดินขอบบ่อกักเก็บกากแร่ 35.7-99.5 มก./กก. เกินค่ามาตรฐาน 47 จาก 56 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 84
ขณะที่ จ.เลย มีสารหนูปริมาณสูงมากใกล้กับบ่อกักเก็บกากแร่ โดยพื้นที่ห้วยเหล็กสูง 113-368.6 มก./กก. พื้นที่เหมืองเก่า ภูซำ ปาบอน สูง 78.0-81.2 มก./กก. เกินค่ามาตรฐาน 27 จาก 31 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 87 และยังพบสารหนูในตะกอนดินปริมาณสูงในพื้นที่ห้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ใกล้บ่อกักเก็บกากด้วย
สำหรับสารหนูและแมงกานีสปนเปื้อนในเลือดและปัสสาวะนั้น นักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก พบความผิดปกติของไมโครนิวเคลียส 483 ราย จากทั้งหมด 731 ราย หรือร้อยละ 66 ซึ่งเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยรังสิตและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับ จ.เลยพบปรอทและสารหนูในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐานในเลือด แต่ข้อมูลกลับไม่เปิดเผย เนื่องจากได้รับการตรวจหาค่าโดยหน่วยงานราชการ
ส่วนพืช ผัก และสัตว์น้ำ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จ.พิจิตร ตรวจพบตะกั่ว แคดเมียม แมงกานีส สารหนู ปริมาณสูงในพืชหลายชนิด โดยเฉพาะพืชเลื้อย ไม่แตกต่างกับ จ.เลย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารเพื่อความปลอดภัย (สคอ.) และมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย พบสารหนูและโลหะหนักบางชนิดสูงในพืชผักและสัตว์น้ำในห้วย
ดร.อาภา ยังกล่าวถึงความเสี่ยงเรื่องสุขภาพและการป่วยของชาวบ้าน ตามเวชระเบียน ทั้งสองกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบพบประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเป็นโรคเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ตาพร่ามัว ไตวาย นั่นชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองทองคำประสบปัญหาเช่นเดียวกัน หากสังเกตผู้ป่วย จ.พิจิตร และเลย ซึ่งเสียชีวิต มีลักษณะทางกายภาพ กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ชัด ผอม แต่ข้อเท็จจริงต้องพิสูจน์ต่อไปว่าเกิดจากสาเหตุดังกล่าวหรือไม่
สุดท้าย ความเสี่ยงเรื่องการรั่วไหลของไซยาไนด์จากบ่อกักเก็บกากแร่ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ลงพื้นที่ จ.พิจิตร เมื่อกุมภาพันธ์ 2558 ตรวจพบค่าไซยาไนด์สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานของน้ำในนาข้าวข้างคันบ่อกักเก็บกากแร่ ขณะนี้คณะกรรมการ 5 ฝ่าย อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานตรวจสอบและพิสูจน์ที่มาของสารชนิดดังกล่าว
ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษา จ.เลย เมื่อปี 2555 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสากรรม พบปริมาณสารไซยาไนด์สูงเกินค่ามาตรฐานในบ่อติดตามคุณภาพน้ำที่อยู่ในพื้นที่เหมืองแร่ พร้อมเสนอแนะให้ศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากมีโอกาสปนเปื้อนจากการรั่วไหลต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก
ด้าน ดร.นพ สัตยาศัย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลายเป็นผู้เสียหาย ทั้งนี้ รัฐบาลไม่เคยดูแลหรือพูดถึงค่าใช้จ่ายภายนอกเลย แต่ผลักภาระเป็นของประชาชน ชุมชนอยู่ไม่ได้ ต้องย้ายหาที่อยู่ใหม่ เปลี่ยนอาชีพ จากเดิมทำเกษตรกรรม หรือถูกไล่ออกจากสิทธิในสัมปทาน ฉะนั้นต้องทำให้เกิดต้นทุนภายนอกน้อยที่สุด
“เราไม่ต้องการขวางการพัฒนาประเทศ แต่จะเปิดเหมืองแร่ได้ต้องเกิดความคุ้มค่าและประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับการชดเชยที่พอเพียง ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก” กรรมาธิการการทรัพยากรฯ สนช. กล่าว และว่าสิ่งสำคัญที่สุด ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงอนุญาตให้เปิดกิจการดังกล่าวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทีได้มีตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่งมอบรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการเปิดเหมืองแร่ทองคำให้แก่องค์กร ปปท.ด้วย เพื่อรวบรวมนำรายชื่อทั้งหมด 20,000 ชื่อ พร้อมแผนการเคลื่อนย้ายและแก้ปัญหา ยื่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ณ ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 22 กันยายน 2558 เวลา 09.00 น.
น.ส.อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ได้คลุกคลีกับปัญหาความไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่จำความได้ และรู้สึกไม่ดีหากวันหนึ่งแผ่นดินไทยต้องสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งเห็นมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล แม่น้ำ ทำให้เราเกิดความสนใจ และร่วมตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อ เพราะรู้สึกว่า ในฐานะนักศึกษามีพลังและกำลังมากพอลุกขึ้นมาเรียกร้องกับสังคม เราเป็นพลังบริสุทธิ์ เยาวชนคนรุ่นใหม่ เชื่อจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมและสื่อสารไปสู่สังคมได้
“เราไม่คาดหวังว่าผลสำเร็จจะเกิดขึ้น แต่ตั้งเป้าผู้ลงชื่อคัดค้าน 100 คน อาจไม่เข้าใจปัญหาทั้งหมด แต่ขอเพียงหนึ่งคนที่เข้าใจและสื่อสารขยายผลต่อได้ ทั้งนี้ มองว่า จำนวนมิได้วัดประสิทธิภาพของคนและความเข้าใจของคนจริง ๆ” นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุ .
อ่านประกอบ:‘ดร.อาทิตย์’ หนุนนายกฯ ใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่ว ปท.
ภาพประกอบจาก transbordernews.in.th