- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- “หนูเจ็บปวดที่รู้วันตายตัวเอง” เสียงสะท้อนจากพื้นที่ ก่อนลุกฮือต้านเหมืองทองล้านไร่
“หนูเจ็บปวดที่รู้วันตายตัวเอง” เสียงสะท้อนจากพื้นที่ ก่อนลุกฮือต้านเหมืองทองล้านไร่
“เหมืองแร่เป็นอาชีพอันตรายมากที่สุดในโลก เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นพบว่า คนงานมักได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานในเหมือง ส่วนระยะยาวพบว่า มีคนงานจำนวนไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจ...การจะทำให้เหมืองแร่เป็นสถานประกอบการที่ปลอดภัยและชุมชนมีสุขภาวะยังห่างไกลกับความเป็นจริง”
ข้อความข้างต้นได้จากการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพคนงานและสุขภาวะชุมชนจากการทำเหมืองในนานาประเทศ ทบทวนเอกสาร และสังเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ 996 ชิ้น ในประเทศต่าง ๆ เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ.1965-2001 โดย ‘Carolyn Stephens’ และ ‘Mike Ahern’ สองนักวิจัยจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine
อย่างไรก็ตาม บทเรียนในต่างประเทศมีข้อเสนอให้ใช้เทคโนโลยีดีที่สุด ด้วยการลดความเป็นพิษของกากแร่ ยกเลิกกระบวนการแต่งทองคำโดยใช้ไซยาไนด์ ซึ่งมีประเทศออกกฎหมายห้ามใช้แล้ว ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก เยอรมัน ฮังการี คอสตาริกา และอีกหลายประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลมลพิษที่เกิดจากการผลิต แต่สำหรับไทยการก้าวไปสู่จุดนั้นยังถือว่าห่างไกลมาก
ปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนจะเปิดเหมืองทองคำใน 12 จังหวัด โดยเตรียมให้ภาคเอกชนเข้าสำรวจเพื่อขออนุมัติใบอาชญาบัตร ได้แก่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลพบุรี เลย นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และสตูล
แต่เมื่อมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก กพร.จึงมีคำสั่งเลื่อนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ วันที่ 15 กันยายน 2558 จ.พิจิตร และวันที่ 18 กันยายน 2558 จ.ลพบุรี ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากทั้งหมด 12 จังหวัด
โดยให้เหตุผลว่า การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูล และเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ชาวบ้านปฏิเสธการทำเหมืองแร่ทองคำนั้น เนื่องจากต่างหวั่นเกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเหมือน จ.พิจิตร ในขณะนี้
“คนไทยโชคดีที่มีพิจิตรโมเดล...”
วันเพ็ญ พรมรังสรรค์ ตัวแทนชาวบ้าน จ.สระบุรี เอ่ยขึ้น เพื่อบอกเล่าถึงความน่ากลัวของคำว่า ‘เหมืองแร่ทองคำ’ ภายหลังได้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่กับคนในพื้นที่ จ.พิจิตร ยาวนานถึง 2 ปี เธอให้ข้อมูลว่า จ.แห่งนี้มีพื้นที่ขออาชญาบัตร 1.9 แสนไร่ จ.พิษณุโลก 4 แสนไร่ จ.เพชรบูรณ์ 5 แสนไร่ จ.ลพบุรี 1.6 แสนไร่ จ.สระบุรี 6.5 หมื่นไร่ จ.จันทบุรี 2.4 หมื่นไร่ จ.ระยอง 7 พันไร่ รวม 7 จังหวัด มีพื้นที่ประมาณ 1.3 ล้านไร่ ซึ่งกำลังจะได้รับการอนุมัติภายใต้การผลักดันนโยบาย
ตกใจที่สุด! เมื่อ กพร.มีหนังสือผลักดันใน 12 จังหวัด นั่นแสดงว่า อาจกินพื้นที่รวมกว่า 3 ล้านไร่ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ไทยมีเส้นทางของทองคำครอบคลุมพื้นที่ 31 จังหวัด ซึ่งคนไทยหลายคนยังไม่ทราบ ยกเว้นต่างประเทศ ซึ่งน่ากังวล เพราะ จ.พิจิตร พื้นที่เดียว ยังส่งผลกระทบถึง จ.พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ดังนั้นหากปล่อยให้ไทยมีเหมืองแร่ทองคำเกิดขึ้นทั้งหมดจะกระทบไปอีกกี่จังหวัด
“จ.พิจิตรจุดเดียวมีการขนถ่ายไซยาไนด์เข้ามากลางชุมชน 10 ตัน/วัน เฉลี่ยเกือบ 3 พันตัน/ปี ขณะที่พืช ผัก ปลา น้ำ และสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานภาครัฐยังคงวนเวียนอยู่ในอ่าง ไม่สามารถดำเนินการอะไรกับผู้ประกอบการได้”
เธอจึงชวนหลับตานึกภาพอนาคต กรณีนโยบายได้รับการอนุมัติและดำเนินกิจการต่อไป 31 จังหวัด ที่มีทองคำ บ่อกักเก็บกากแร่จะถูกทิ้งไว้กลางประเทศ พื้นที่การเกษตรสูญหาย และต่างประเทศจะปฏิเสธพืชผลทางการเกษตรของไทย แม้กลุ่มทุนจะยืนยันว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ช่วยพัฒนาประเทศ โดยชุมชนจะได้รับการส่งเสริมก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น
“วันก่อนลงพื้นที่ จ.พิจิตร แล้ว พบเครื่องสนามเด็กเล่น ซึ่งบริษัทฯ เหมืองแร่ ติดตั้งให้ในวัดเขาหม้อสามัคคีถูกทิ้งร้าง เพราะเด็กโยกย้ายไปอาศัยอยู่นอกพื้นที่แล้ว ขณะที่ถนนใช้สัญจรมานานถูกระเบิดเสียหาย” วันเพ็ญ กล่าว และว่า พี่น้องชาวพิจิตรที่ต่อสู้กันมา กอดคอกันมา ค่อย ๆ ล้มลงทีละคน ดุจใบไม้ร่วง ล่าสุด ‘ลุงสมคิด ธรรมเวช’อดีตคนงานเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา ไมนิ่ง รีสอร์สเซส
เธอจึงวอนขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ประสบปัญหาสักครั้ง อย่าปล่อยให้ใครทำร้ายประเทศไทยอีกเลย เพราะเหมืองแร่เปรียบได้กับนโยบายปล้นสิทธิประชาชน
(ชนัญธิดา ลิ้มนนทกุล ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำพิจิตร)
ด้าน ชนัญธิดา ลิ้มนนทกุล กล่าวว่า จ.พิจิตรได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำมาก ป่าไม้ ภูเขา แหล่งอาหาร หายไปหมด ที่สำคัญ เครื่องจักรขนาดใหญ่ส่งเสียงดังรบกวน และเกิดฝุ่นละอองจากการระเบิด ไม่ทราบวิธีการจัดเก็บกากแร่ และดำเนินกิจการไร้ขอบเขต ทำให้เราไม่กล้ากินอะไรเลย
ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก สัตว์น้ำ แม้กระทั่งไก่เลี้ยง หรือข้าวปลูกเอง เพราะไม่ทราบว่าจะมีสารโลหะหนักหรือไม่ ที่กล้ายืนยันเช่นนี้ เพราะบ้านของเธอตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามบ่อเก็บกักกากแร่นั่นเอง
หญิงสาวผู้นี้ ยังบอกเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ เมื่อเอ่ยถึงพ่อ ซึ่งจากเธอไปเมื่อปี 2551 โดยเชื่อว่า มีผลจากสารโลหะหนักเข้าไปในร่างกาย ซึ่งมาจากห่วงโซ่อาหาร
“พ่อกลับมาบ้านพร้อมปลาจับได้ในกระสอบปุ๋ย 3 ใบ พ่อบอกว่า ปลาตาย จับได้เยอะมาก เดี๋ยวจะให้แม่ทำปลาร้าไว้กินถึงปีหน้า 3 วัน พ่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก่อนจะเสียชีวิต โดยแพทย์ระบุว่า ติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งที่พ่อเป็นคนแข็งแรงมาก ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่เกิด ตอนนั้นไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น คิดเพียงว่า พ่อเสียชีวิตตามที่แพทย์ยืนยัน”
แต่เมื่อมีผลการตรวจหาสารโลหะหนักออกมา เธอสะท้อนใจด้วยน้ำตาว่า ถ้าวันนั้นทราบสารโลหะหนักเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร และในร่างกายของมนุษย์ได้ เธอจะนำศพพ่อไปตรวจ เพื่อไม่ให้มีศพต่อไปอีก
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ลูกสาววัย 6 ขวบ มีแผลพุพองขาทั้งสองข้าง โดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่แม่ของเธอก็ป่วย ตัวเธอก็ป่วย มากไปกว่านั้นมีอาการคล้ายคลึงกัน คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทุพพลภาพ ต้องแบ่งเงินที่เก็บไว้สำหรับซื้อข้าวสาร ผัก น้ำ ซึ่งต้องซื้อทุกอย่าง เพราะกลัวความตาย เพื่อไปพบแพทย์
ชนัญธิดา ตั้งคำถามว่า เมื่อชาวบ้านทราบผลการตรวจหาค่าสารปนเปื้อนในร่างกายแล้ว จะให้ระวังอะไร เพราะจำเป็นต้องอาศัยในพื้นที่ แม้หน่วยงานภาครัฐจะแจกคูปองซื้อผัก 40 บาท/สัปดาห์ ก็ไม่เพียงพอ หรือแจกน้ำก็ไม่เพียงพอ และหากบริสุทธิ์ใจจริง การทำเหมืองไม่ส่งผลกระทบจะแจกให้ชาวบ้านทำไม
นอกจากนี้การทำเหมืองแร่ยังสร้างความขัดแย้งในชุมชน เธอบอกว่า เมื่อเดินออกจากบ้าน พูดกับใครก็ทะเลาะกัน ประชุมหมู่บ้านต่างฝ่ายต่างนั่งคนละฝั่ง และการประชุมดังกล่าวถือเป็นการบอกกล่าวความเดือดร้อนของลูกบ้าน แต่กลับมีผู้แทนบริษัทเข้ามาประชุมด้วย ถามว่า ชาวบ้านจะพูดอะไรได้ นอกจากรอวันตาย!
“หนูเจ็บปวด คือ หนูรู้วันตายว่า ลูกหนูจะตายเมื่อไหร่ แม่และหนูจะตายเมื่อไหร่ แม้ไม่มีใครตรัสรู้วันตายได้ แต่พวกเรารู้”
ทั้งนี้ กลอนร้องขอชีวิต คือ สารที่สื่อความหมายลึกซึ้งของชนัญธิดาที่ฝากถึงผู้นำของประเทศว่า “หนูขอชีวิตที่เหลือได้ไหม ช่วยต่อลมหายใจที่มี อย่าให้เราเป็นเหมือนทุกวันนี้ ขอความเมตตาปราณีเห็นใจ ขอคืนความสุขให้เราได้ไหม ดินฟ้าอากาศที่หายใจ ทรัพย์ในดินให้เก็บไว้ พวกเราคนไทยช่วยกัน”
นอกจากการคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านแล้ว ระบบห่วงโซ่อาหารก็นับเป็นเรื่องสำคัญ ณัฐพงษ์ แก้วนวล เกษตรกรชาว อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ยืนยันว่า การสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่สร้างวันสองวัน กว่าจะปลูกทุเรียน เงาะ ทำไร่นาสวนผสม หรือจับหอย ปู ปลา ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขาต้องใช้ระยะเวลาร่วม 10 ปี
ปัจจุบันสร้างรูปแบบเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการเก็บเกี่ยวผลผลิตและใช้ชีวิตเดินรอยตามแนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ แต่วันนี้รัฐบาลกำลังคิดอะไรอยู่ ท่านให้โอวาทต้องพัฒนาประเทศให้เป็นเกษตรพอเพียง วนเกษตร และผลักดันไทยต้องเป็นครัวของโลก แต่กลับส่งเสริมให้ทำเหมืองแร่ใน 12 จังหวัด พื้นที่ราว 3 ล้านไร่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่าจะสร้างครัวของโลกได้อย่างไร
“เนินมะปรางมีพื้นที่ 6.4 แสนไร่ มีเป้าหมายทำเหมืองแร่ 4 แสนไร่ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าว 1.4 แสนไร่ ให้ผลผลิต 1.2 แสนเกวียน หรือประมาณ 1 พันล้านบาท/ปี เมื่อเทียบกับค่าภาคหลวง จ.พิจิตร กลับได้ประมาณ 300 ล้านบาท เท่านั้น” เกษตรกรรายนี้มองไม่คุ้มค่ากัน
ส่วนมะม่วงนั้น ณัฐพงษ์ พูดคุยว่า มีประมาณ 3 หมื่นไร่ โดยเป็นมะม่วงส่งออก 8.5 แสนตัน สร้างมูลค่าประมาณ 400-500 ล้านบาท/ปี ซึ่งอีก 12 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายทำแร่ก็มีลักษณะไม่แตกต่างกัน ไปจังหวัดไหนก็เจอผลไม้ เกิดการท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคตะวันออก สิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หากยังขืนประกาศนโยบายและนำพื้นที่เศรษฐกิจทั้งหมดไปทำเหมืองแร่ เปรียบได้กับยกแผ่นดินให้ชาวต่างชาติ ซึ่งชาวนาอย่างเขายังคิดได้ แปลกใจ! เหตุใดคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองคิดไม่ได้ว่า การดำเนินนโยบายเช่นนี้คือการเสียดินแดนยิ่งใหญ่ สมัยก่อนเสียดินแดนไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังกอบกู้ได้ แต่กรณีนี้จะกอบกู้ด้วยวิธีใด ?
“ปัจจุบันเจอข้าวสารปลอมวางจำหน่าย ถ้าพบเจอก็สั่งปิดโรงงานได้ การแก้ปัญหาไม่ยาก แต่พื้นที่ปลูกข้าวเจือปนด้วยสารปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่รอบเหมืองแร่ 12 จังหวัด รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะปล่อยให้เหมือนกรณีคลิตี้” เขากล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดคือเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ ซึ่งปฏิเสธการทำเหมืองแร่ทองคำ ตราบใดที่ยังไม่มีเครื่องการันตีว่าไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เวลานี้จึงต้องวัดใจ ‘บิ๊กตู่’ ในฐานะผู้นำประเทศ จะทุบโต๊ะ ‘เดินหน้า’ หรือ ‘ยกเลิก’ ควรชั่งน้ำหนักให้ดี .
อ่านประกอบ:‘ดร.อาทิตย์’ หนุนนายกฯ ใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่ว ปท.
เปิดตัวองค์กรปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ-เตรียมส่ง 2 หมื่นชื่อค้านเหมืองถึงนายกฯ