- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ลงโทษภาคทัณฑ์ พนักงานสอบสวน ตั้งข้อหาเปรมชัย ทารุณกรรมสัตว์
ลงโทษภาคทัณฑ์ พนักงานสอบสวน ตั้งข้อหาเปรมชัย ทารุณกรรมสัตว์
ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ มีคำสั่ง ลงโทษภาคทัณฑ์พนักงานสอบสวน ตั้งข้อหาเปรมชัย ทารุณกรรมสัตว์ ชี้การบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และรับคำร้องทุกข์ไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 พันตำรวจเอก วุฒิพงษ์ เย็นจิตต์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ มีคำสั่งเรื่องลงโทษภาคทัณฑ์
ตามที่นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ได้มาแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ให้ดำเนินคดีกับนายเปรมชัย กรรณสูต กับพวกในความผิดฐานกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้วนั้น แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 นายณรงค์ชัยฯ ได้เดินทางมาพบร้อยตำรวจเอกสุมิตร บุญยะกิจ พนักงานสอบสวน พร้อมกับให้ปากคำเพิ่มเติมว่า หลังจากตนได้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษฯ ปรากฎว่า ได้มีการตรวจสอบกับคำนิยามของคำว่า สัตว์ ตามมาตรา 3 ให้หมายรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีกำหนด และได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฎว่า รัฐมนตรียังมิได้ประกาศกำหนดสัตว์ตามธรรมชาติว่า ต้องเป็นสัตว์ชนิดใด จึงได้ขอถอนคำร้องทุกข์ไปตามระเบียบแล้วนั้น
การประทำของร้อยตำรวจเอกสุมิตร บุญยะนิจ พนักงานสอบสวนเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และรับคำร้องทุกข์ไว้
ฉะนั้น อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตติตำรวจแห่งชาติพ.ศ.2547 มาตรา 89 ประกอบกับกฎ ก.ตร.ว่าด้วยอำนาจการลงโทษข้าราชการตำรวจ อัตราโทษและการลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ.2547 จึงให้ลงโทษภาคทัณฑ์ ร้อยเอกสุมิตร บุญยะนิจ
อนึ่ง ผู้ถูกลงโทษตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ก.ตร.แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก 'เสือดำ-เปรมชัย' หรือเราจะหยุดคุยกันแค่นี้ แล้วลืมไป
เปิดตำนาน คดีดัง “เก็บเห็ด เสือดำ” มูลเหตุหนุนเพิ่มโทษล่าสัตว์ ไม่ต่ำกว่า 4 ปี
จุฬาฯ เสวนา วิเคราะห์ปม ‘สัตว์โลกถูกคุกคาม’ จากเสือดำ สู่ วาระรอการแก้ไข
คุยกับ “โดม ประทุมทอง”นักธรรมชาติวิทยา เล่าพฤติกรรมสัตว์ป่า จนถึงเรื่องลับๆ หลังเลนส์