- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดตำนาน คดีดัง “เก็บเห็ด เสือดำ” มูลเหตุหนุนเพิ่มโทษล่าสัตว์ ไม่ต่ำกว่า 4 ปี
เปิดตำนาน คดีดัง “เก็บเห็ด เสือดำ” มูลเหตุหนุนเพิ่มโทษล่าสัตว์ ไม่ต่ำกว่า 4 ปี
คดีตายายเก็บเห็ด จริงๆ ไม่ใช่ตายาย ขณะเกิดเหตุอายุ 48 ปี เท่านั้นเอง อัยการฟ้องสองคนนี้ เป็นจำเลยข้อหาบุกรุกครอบครองและทำไม้ อยู่ในแนวเขตป่าสงวนฯ จำนวน 700 ต้น ซึ่งไม่ใช่การเก็บเห็ด เรียกว่า มืออาชีพ สำคัญจำเลยให้การรับสารภาพ ถามว่า กระบวนการยุติธรรมจะทำอย่างไร ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 30 ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง 15 ปี มีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาลดโทษให้เหลือ 15 ปี
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "คนกับป่า : ตำนานคดีดัง" ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ก่อนถึงคดีดังเสือดำที่โด่งดังปัจจุบัน ในอดีตก็มีตำนานมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีวันนี้ โดยเฉพาะปัญหาการให้คำจำกัดความ คนกับป่า การนิยามการนิยามคำว่า "ป่า" ก็เป็นประเด็นล่อฟ้าด้วยเช่นเดียวกัน
ป่าในความหมายของกฎหมายหนึ่ง ไม่เหมือนกับคำว่าป่า กับอีกกฎหมายหนึ่ง ผศ.ดร.คนึงนิจ มองว่า หลายครั้งที่มีข้อขัดแย้งเกี่ยวข้องกับเรื่องป่าจะมีประเด็นเรื่องนิยามของป่ามาเกี่ยวข้องเสมอ เช่น บางคดีนิยามของป่านำไปสู่รูปคดี และการตีความอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้น ในภาพรวมเราคงโยนภาระหนักหน่วงทั้งหมดให้ปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรม คือ ศาล หรืออัยการไม่ได้ เพราะต้นทางของกระบวนการทั้งบทบัญญัติของกฎหมายเองก็มีปัญหา มีหลายเรื่อง หลายฉบับ มีหลายหน่วยงานรักษาการ รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับแตกต่างกัน บางเรื่องคล้องจองกัน บางเรื่องไม่สอดคล้องกัน
“ ถ้ากฎหมายสารบัญญัติเองไม่มีเนื้อหาอยู่กับร่องกับรอย ต่างคนต่างแก้ ต่างคนต่างปฏิบัติ เราจะพบความจริง ทำไมบางเรื่องเป็นแบบนี้ แล้วทำไมอีกคดีจึงแตกต่างกัน”
ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวถึงคดีเสือดำ อย่าหยุดแค่เสือดำ เพราะเรากำลังพูดว่า คนไปล่าสัตว์ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไปทำให้สัตว์ป่าลดน้อยลง ดังนั้น หยุดคิดแค่นั้นไม่พอ เราต้องขยายขอบความคิดไปไกลกว่าแค่สัตว์ป่าหนึ่งตัวตาย
"ระบบนิเวศเรื่องของการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสรรพสิ่งทั้งหลาย ผ่านระบบห่วงโซ่อาหาร การที่สัตว์ป่าไม่มีป่าอยู่ ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่แหล่งอาหาร จึงเป็นประเด็นที่ยกตัวอย่างชัดมาก เวลาพิจารณากฎหมายไม่สามารถพิจารณาเพียงฉบับใดฉบับหนึ่งเพียงฉบับเดียว" นักวิชาการด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม กล่าว และชีี้ว่า เวลาพูดถึงคดีดัง เสือดำ หรือตายายเก็บเห็ด คดีต่างๆ เหล่านี้ "ป่าไม้" ถูกทำลาย แปลว่า แหล่งอาหารสัตว์ป่าถูกทำลาย ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ขอให้มองไม่มีใครเลี้ยงสัตว์ป่าได้ดีเท่ากับป่าเลี้ยงเอง นั่นคือโจทย์ใหญ่ กฎหมายจึงต้องไปรองรับโจทย์ใหญ่นี้ด้วย
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งคำถามถึงกฎหมายไทย มีองค์รวมหรือไม่ เราแก้กฎหมายหลายรอบ มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีศาสตร์พระราชา บูรณาการทำงานร่วมกัน เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญทุกเรื่องไม่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในระบบคนกับป่าก็เช่นกัน การดูแต่คดีดังๆ บางเสี้ยวก็จะได้เฉพาะบริบทการทำงาบางที่เท่านั้น
ฉะนั้น การแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม กฎหมายต้องปฏิรูป อาจสร้างประมวลกฎหมายที่ดินและป่าไม้ ผนวกกฎหมายอุทยานฯ เพราะเวลานี้คนแยกไม่ออก การบริหารจัดการป่าไม้ที่ไม่ใช่รัฐอย่างเดียว แต่ต้องใช้ผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐด้วย ชุมชน องค์กรเอกชน ร่วมมือกันทำงาน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองใหม่ ที่นักวิชาการด้านกฎหมาย เห็นว่า หากเราไม่สามารถก้าวพ้นกระบวนทัศน์เก่า มาสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ทางออกคนกับป่า ก็จะมีตำนานแบบนี้เรื่อยๆ
ขณะที่ดร.ชัชชม อรรฆภิญญ์ รองอธิบดีอัยการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวถึงคดีเสือดำ เชื่อมั่นว่า ผลของคดีจะพิสูจน์ตัวของมันเอง ว่า ความยุติธรรมมีจริงหรือไม่
สำหรับสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่า เขามองว่า เป็นหลักสากล เป็นสิทธิ และเป็นหลักการพื้นฐานทุกคน ทุกคดีที่จะมีสิทธิได้รับการประกันตัว ส่วนเงินค่าการประกันตัว กฎหมายก็มีความเสมอภาคไม่ว่าฐานะใด การเรียกเงินประกันจะเท่าเทียมกัน แต่เรื่องการหนีคดีก็ว่ากันต่อไป
“วันนี้ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าโทษน้อยไป ในหลายๆ มาตรา โทษนิดเดียว เมื่อเทียบกับคดีป่าไม้ โทษฐานตัดไม้ยังสูงกว่าการล่าสัตว์ ขณะที่ปัจจุบันมีกระบวนการล่าสัตว์ข้ามชาติ ฉะนั้นโทษการล่าสัตว์ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข อย่างต่ำต้องจำคุก 4 ปีขึ้นไปในทุกๆ คดี”
ดร.ชัชชม กล่าวถึง อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (Cites) ซึ่งเก่าแล้ว ปัจจุบันมีกฎหมายอีกฉบับขึ้นมา เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ลอนดอนเดคเคอเรชั่น เสริมอนุสัญญาไซเตส เช่น การให้เพิ่มโทษกฎหมายสัตว์ป่า พืชป่า ของประเทศภาคีสมาชิก ให้โทษอย่างสูง 4 ปีขึ้นไป เพราะการตัดไม้ หรือล่าสัตว์ ทำเป็นกระบวนการข้ามชาติ แต่เมื่อหันมามองกฎหมายไทยพบว่า โทษยังต่ำอยู่ และลอนดอนเดคเคอเรชั่น ขอให้ประเทศภาคี เมื่อพบว่า มีการทุจริต หรือเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมด้วยขอให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
“บ้านเรามีกฎหมายมากมายหลายฉบับ ทั้งเกี่ยวกับป่า สัตว์ป่า และกฎหมายศุลกากร กฎหมายฟอกเงิน กฎหมายอาวุธปืน (ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่) กฎหมายคนเข้าเมือง (การนำมืออาชีพจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตัดป่าล่าสัตว์)”
ดร.ชัชชม ชี้ชัดว่า ข้อเท็จจริงที่ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ แบ่งได้เป็น 1.การบริโภค 2.ความเพลิดเพลิน และความภูมิใจ 3.มีใบสั่ง(order) จากต่างประเทศ เพื่อจำหน่าย วันนี้ขยายตัวเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ไม่จำกัดค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ การลักลอบค้าสัตว์ป่า ด้วย
พร้อมกันนี้ ดร.ชัชชม ได้ยกคดีตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปธรรม
- การล่าเพื่อการบริโภค ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีผู้รักษากฎหมายแต่กลับร่วมกระทำความผิดเสียเอง เมื่อมีการจับได้พร้อมอาวุธ ผู้ต้องหาจึงไม่ได้ผิดกฎหมายป่าไม้เท่านั้น แต่ผิดตามกฎหมายอาวุธปืนด้วย คดีนี้เบื้องหลังมีการพยายามช่วยเหลือกัน แต่ไม่สำเร็จ จนในที่สุดศาลฎีกายืนจำคุกจำเลยหลายๆ คน โดยเฉพาะนายตำรวจคนนั้น ศาลพิพากษาโดยไม่รอการลงโทษ
- คดีเสือดำ เจ้าพนักงานเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ พื้นที่มีความอ่อนไหว เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจับกุมผู้ต้องหาได้พร้อมซากสัตว์ อาวุธปืนหลายชนิด ฉะนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องชัดๆ ในสายตานักกฎหมายกับคดีเปรมชัย คือ กฎหมายป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ กฎหมายอาวุธปืน ฐานพกพาอาวุธปืน และกระทำผิดกฎหมายอาญา
- คดีตายายเก็บเห็ด จริงๆ ไม่ใช่ตายาย ขณะเกิดเหตุอายุ 48 ปี เท่านั้นเอง อัยการฟ้องสองคนนี้ เป็นจำเลยข้อหาบุกรุกครอบครองและทำไม้ ทั้งตัด ฟัน ลาก แปรรูป เรียกว่า ทำไม้ อยู่ในแนวเขตป่าสงวนฯ จำนวน 700 ต้น
รองอธิบดีอัยการฯ ยืนยันว่า ไม่ใช่การเก็บเห็ด แบบที่สื่อมวลชนตั้งให้ เรียกว่า มืออาชีพ สำคัญจำเลยคดีเก็บเห็ดให้การรับสารภาพ ถามว่า กระบวนการยุติธรรมจะทำอย่างไร ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 30 ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง 15 ปี มีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาลดโทษให้เหลือ 15 ปี บางครั้งการสร้างกระแส การอ้างคนจน หรืออายุมาก สร้างกระแสว่า ภาครัฐรังแกเขา จึงขอให้สังคมแยกแยะประเด็น
นอกจากนี้ ดร.ชัชชม ยังให้มุมมองต่อคดีเกี่ยวกับป่าไม้ว่า "มีคู่เมืองไทยเป็นร้อยปี มีให้ฟ้องทุกวัน เรียกว่า คำฟ้องคดีป่าไม้โรเนียวไว้เลย แค่รอเติมคำในช่องว่าง "ไม้อะไร ปริมาตรเท่าไหร่ ทำจำนวนไม้กี่ท่อน" เวลาจับกุมพบมอดไม้ ที่ดูเหมือนเป็นชาวบ้านธรรมดา ชาวบ้านน่าสงสาร ถามว่า รู้หรือไม่ ขนไม้วันละท่อนออกมาจากป่า หลายวันก็หลายท่อนนะ”
- คดีค้าไม้พยุงข้ามชาติ มีใบสั่งเข้ามา ส่งคนเข้ามาด้วย เกิดที่จังหวัดขอนแก่น ชุดปฏิบัติกรมป่าไม้เข้าไปจับตามหมายจับ เพราะเดิมจับผู้ต้องหากลุ่มหนึ่ง ยิงต่อสู้ และหนีไปได้ ตำรวจสืบจนทราบและออกหมายจับ ผู้ต้องหาเป็นตัวการใหญ่ค้าไม้พยุงข้ามชาติ และเคยมีคดีรถดัดแปลงสภาพลักลอบนำไม้พยุงออกไป พบกระบวนการคอยคุ้มครอง และพร้อมยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่”
หรือและคดีสุดท้ายที่รองอธิบดีอัยการ ยกมาเป็นตัวอย่าง คือ คดีงาช้าง ลักลอบนำเข้างาช้างจากแอฟริกา ข่าวอธิบดีกรมศุลากรแถลงข่าวจับได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 39 ท่อน คดีนี้เวลาสำแดงขนของผ่านจะระบุเป็นกระเพาะปลา 3 หีบ แต่เจ้าหน้าที่พบข้างในเป็นงาช้าง เมื่อเข้าจับกุมปรากฏว่า ผู้ต้องหาไหวตัวทันคาดว่า มีคนข้างในกระซิบบอก เลยไม่ได้ตัวคนร้าย
จะเห็นได้ว่า คดีป่าไม้ ล่าสัตว์ พัฒนาไปไกล ขณะที่กฎหมายเอาผิดบ้านเรายังตามแทบไม่ทัน...