คุยกับ “โดม ประทุมทอง”นักธรรมชาติวิทยา เล่าพฤติกรรมสัตว์ป่า จนถึงเรื่องลับๆ หลังเลนส์
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ยังไม่ถูกเปิดเผย และยังไม่ได้รับการวิจัยอย่างเข้มข้น ทำไมป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก จึงมี "ช้าง" น้อยกว่า ป่าทุ่งใหญ่ ตะวันออก ต้องมีอะไรสักอย่าง เช่นเดียวกันกับ "เสือดำ" ทำไมถึงเจอเสือดำในเส้นป่าทุ่งใหญ่ตะวันตกเยอะ มากกว่าฝั่งตะวันออก
6 กุมภาพันธ์ 2561 สถานการณ์ไม่ปกติของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ในวันนั้นช่างแตกต่างกับทุกๆ ครั้งที่ “โดม ประทุมทอง” นักธรรมชาติวิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เข้าไปสำรวจสัตว์ป่า ตามภารกิจของงานศึกษาวิจัยเหมือนเช่นเคยมา
“คืนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผมอยู่ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่บอกให้ทราบข่าว การจับแขกวีไอพี”
พอมาถึงสถานีตำรวจทองผาภูมิ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า แขกวีไอพีคนนั้นชื่อเปรมชัย กรรณสูต รู้แต่อิตาเลี่ยนไทย “โดม ประทุมทอง” เล่าย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เขาวางแผนเข้าป่าทุ่งใหญ่ฯ เพื่อทำวิจัย แต่บังเอิญประจวบเหมาะต้องมาร่วมพบเห็นเหตุการณ์การจับกุมคดีฆ่าเสือดำ
“ผมเห็นซากสัตว์ป่าแช่อยู่ในลังน้ำแข็ง หลังรถกระบะของเจ้าหน้าที่ที่จอดอยู่หน้าสถานีตำรวจ ผมยังช่วยเอารถตัวเองจอดขวางรถแขกวีไอพี กลัวเขาจะหลบหนีเลย เพราะการทำบันทึการจับกุมใช้เวลานานมาก”
และเมื่อเราถามถึงความรู้สึก หรือภาพความทรงจำ จากผู้อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้น นักธรรมชาติวิทยาฯ บอกว่า สิ่งที่เขาสะเทือนใจมาก คือการเห็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เขาคุ้นเคยอดหลับอดนอนมา 2 วันแล้ว เข้าสู่เช้าวันที่ 3
"ผมเคือง เนื่องจาก ไม่คิดว่า เรื่องการล่าสัตว์จะเกิดขึ้นอีกในยุคนี้"
"เฮ้ย!คุณไปล่าได้ไงว่ะ” !!!
ช่วงเวลาที่มีคดีที่ทุ่งใหญ่ฯ เกิดขึ้น ทางฝั่งห้วยขาแข้ง ก็มีการจับกุมชาวบ้านล่าสัตว์เช่นกัน แต่ไม่เป็นข่าวใหญ่ “โดม ประทุมทอง” มองว่า คดีแบบนี้โทษสูงสุดจำคุก 4 ปี ปรับ 4 หมื่นบาทไม่ต่างกัน ฉะนั้น จึงเชื่อว่า นี่ไม่ใช่คดีสุดท้าย
หลังจากวันนั้น เขาได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปยังจุดหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช จุดที่แขกวีไอพีแอบไปตั้งแคมป์ล่าเสือดำ
"เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าขับรถตามเส้นทางนั้น ก็ยังเจอะเจอเสือดำอีกตัวหนึ่ง หมายความว่า มีประชากรสัตว์พวกนี้อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างชุกชุม ถ้าตอบโจทย์มุมของผม ทำไมถึงสัตว์ผู้ล่า (เสือดำ) อยู่แถวนั้น ตอนผมเข้าไปก็เจอฝูงหมาในตามเส้นทางที่เปิดให้ท่องเที่ยว 30 กิโลเมตร ไม่ต่างจากที่เรามักจะเจอฝูงช้างที่เขาใหญ่ แต่ป่าทุ่งใหญ่ฯ คือการเจอสัตว์ผู้ล่านะ ที่สำคัญ เส้นทางนี้จุดที่เป็นลำห้วยประชิ ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง สัตว์จะลงมาที่ลำห้วยอยู่แล้ว สัตว์ผู้ล่าก็ตามเหยื่อลงมา เช่น กวางลงมากินอาหารจุดนี้ ดังนั้น การที่แขกวีไอพีไปตั้งแคมป์อยู่ตรงลำห้วย คือโอกาสสูงที่เขาจะพบกับสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือดำ”
“โดม ประทุมทอง” เดินทางออกจากป่าทุ่งใหญ่ฯ มาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เขายอมรับว่า ไม่เคยคิดคดีป่าทุ่งใหญ่ฯ ต่อมาจะกลายเป็นข่าวใหญ่โตและดังมากขนาดนี้ "ผมว่า ข่าวก็คือข่าว กระแสหมดไป ผมว่าเราต้องทำอะไรหลังจากนี้ เพื่อส่งผลต่อการอนุรักษ์ระยะยาว"
มุมมองเขา คดีล่าเสือดำป่าทุ่งใหญ่ฯ เปรมชัยน่าจะเป็นควันหลงท้ายๆ จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สมัยนั้นยังมีพรานบรรดาศักดิ์เข้าป่าล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง
ศาสตร์การบริหารจัดการสัตว์ป่า
และเมื่อถามถึงมุมมองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าโดยตรง ศึกษาด้านนิเวศป่าไม้ และการจัดการสัตว์ป่า “โดม ประทุมทอง” เล่าว่า ตอนเรียนเรื่องสัตว์ป่ายุคนั้นถือเป็นยุคที่จำนวนประชากรสัตว์ป่าลดน้อยลงมาก มาถึงปัจจุบันจำนวนประชากรสัตว์ป่าไม่ได้อยู่ในยุคหดหู่แต่อย่างใด
เขามองว่า เริ่มสดใสแล้ว ก่อนวิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักที่สัตว์ป่าในบ้านเราสูญพันธุ์ไปมาจาก 2 สาเหตุหลัก 1.พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายไป ซึ่งเกิดขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ประเทศไทยส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และพื้นที่ป่าสงวนยังไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ ในรูปแบบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยาน 2.การล่าสัตว์ เทียบกับปัจจุบันถือว่า การล่าสัตว์ ลดน้อยกว่าอดีตมาก
“วันนี้เราพบสัตว์บางชนิด จำนวนประชากรสัตว์จะล้น (overpopulation) เช่น กระทิงเขาแผงม้า หมายความว่า มันต้องการพื้นที่รองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น หรือที่กุยบุรี หรือแม้แต่ช้างที่เขาใหญ่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น จัดการยากมาก เพราะพื้นที่ป่า กลายเป็นชุมชนไปหมดแล้ว ซึ่งตามศาสตร์การบริหารจัดการสัตว์ป่าในต่างประเทศจะมีวิธีบริหารจัดการสัตว์ป่าแต่ละชนิดแตกต่างกัน เฉพาะกรณีที่เพิ่มจำนวนเยอะ ฤดูกาลหนึ่งจะมีการศึกษาโครงสร้างประชากรสัตว์ชนิดนั้นๆ ว่า สัดส่วนตัวผู้ ตัวเมีย ตัวเต็มวัยเท่าไหร่ และควรมีประชากรสัตว์เท่าไหร่ ส่วนที่เกินมาจะเปิดสัมปทานให้คนเข้าไปล่าสัตว์ เช่น เป็ด หมู หรือกวาง เป็นต้น ถือเป็นการจัดการพื้นที่เพื่อให้สัตว์ป่าอยู่ได้"
นักธรรมชาติวิทยาฯ ให้ข้อมูลต่อว่า การมีประชากรสัตว์กินพืชเยอะ ใช่ว่าจะดี เพราะถิ่นอาศัยจะเสื่อมโทรมมาก
ยกตัวอย่าง ช้างที่แอฟริกา บางอุทยานมีการยิงทิ้ง แต่วิธีการนี้มาทำกับบ้านเราไม่ได้เด็ดขาด
หลายพื้นที่อนุรักษ์ที่มีพื้นที่กว้างๆ ช้างสามารถอยู่ได้ก็ไม่มีช้างอยู่ แต่ตรงไหนช้างเยอะอย่างเขาใหญ่ ก็กลายเป็นปัญหา ซึ่งสาเหตุที่จำนวนประชากรสัตว์ล้นแบบที่เกิดขึ้นบางพื้นที่ในประเทศไทยนั้น เขาวิเคราะห์ว่า ที่เขาใหญ่เมื่อธรรมชาติเสียสมดุล สัตว์ผู้ล่า (เสือ) ไม่มี สัตว์กินพืช (ช้าง กระทิง) ก็ขยายพันธุ์
ที่ผ่านมาเราจะเห็นธรรมชาติจัดการกันเอง กรณีการตายของกระทิงกว่า 30 ตัวที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี สุดท้ายเมื่อประชากรสัตว์ชนิดใดก็ตามหนาแน่น และไม่มีสัตว์ผู้ล่า ก็จะเกิดโรคระบาด
นี่เองที่ทำให้กระทิงที่กุยบุรีตายยกฝูง
ทางกลับกัน หากพื้นที่นั้นๆ มีสัตว์ผู้ล่าอยู่ ธรรมชาติจะมีความสมดุล ควบคุมกันได้ สัตว์ตัวใดอ่อนแอก็จะถูกสัตว์ผู้ล่ากำจัดออก
"อย่างซากสัตว์ในป่า ก็จะมีแร้งคอยกินซาก ทำหน้าที่เหมือนเทศบาลคอยทำความสะอาด โรคระบาดจะไม่มีปัญหา” นักธรรมชาติวิทยาฯ อธิบาย และชี้ไปที่จำนวนเหยื่อ ที่ลดลงในธรรมชาติเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สัตว์ผู้ล่าลดจำนวนลงด้วย ถามว่า ชาวบ้านที่ทำมาหากินกับป่า เขาจะล่าเสือกินหรือไม่ เปล่า เขาก็ล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อ เช่น เก้ง กวาง พอสัตว์พวกนี้ลดลงเยอะ สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ ก็อยู่ไม่ได้
เสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่า เหยื่อหลักคือสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ กระทิง วัวแดง กวาง
เสือดาว เหยื่อจะเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กลงหน่อย พวกลูกเก้ง เม่น ลิง ค่าง
“โดม ประทุมทอง” เจาะลึกให้เห็นเพื่อตอบโจทย์ ทำไมเสือโคร่งในประเทศไทยจึงเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง และเจอมากสุดในเขตผืนป่าตะวันตก ทำไมผืนป่าแห่งอื่นๆ ในบ้านเราถึงไม่เจอเสือโคร่ง ซึ่งหากไปดูจริงๆ จะพบว่า สัตว์ที่เป็นเหยื่อแทบไม่มีเลย เสือโคร่งชอบกินกวางมาก แต่กวางแทบจะไม่มีเลย ไม่มีกวาง ไม่มีเหยื่อให้เสือโคร่งกินจะอยู่ได้ยังไง นี่คือ คำตอบง่ายๆ
“ป่าห้วยขาแข้ง หรือโซนป่าตะวันตก ระบบการอนุรักษ์มีการจัดการที่ดีมากทำให้จำนวนประชากรเสือเพิ่มสูงขึ้น แต่เสือต้องการอาณาเขตกว้างมากเช่นกัน โดยเฉพาะเสือตัวผู้ ต้องการอาณาเขตกว้างกว่าเสือตัวเมีย แม้พื้นที่อนุรักษ์บ้านเรามีจริง แต่ปรากฏว่า ไม่ใช่พื้นที่ที่มีคุณภาพพอให้สัตว์ผู้ล่าได้ขยายพันธุ์ หรือกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ”
camera trap
สำหรับการศึกษาวิจัยสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพพืชและสัตว์พื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก และโครงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในพื้นที่ป่ามรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่นเรศวร -ห้วยขาแข้ง ซึ่งการตั้งกล้องดักจับพฤติกรรมสัตว์ป่า เขาบอกว่า ได้เห็นฤดูกาลของสัตว์ป่า เห็นการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่าผ่านช่องเขาที่ไปติดตั้งกล้อง ( camera trap) เอาไว้ ซึ่งจะมีการไปเก็บข้อมูลจากกล้องดังกล่าวทุกๆ 2 เดือน
“ผมได้เห็นพฤติกรรม หมีควายเดินผ่านช่องเขาที่เราไปติดตั้งกล้อง ซึ่งพบว่าในช่วงฝนแรก มีความชื้นบริเวณนั้นจะมีรังผึ้งร่วงอยู่เสมอ นี่แหละทำให้หมีควายมากินรังผึ้ง และเรายังจับภาพเลียงผา สมเสร็จ ชะมด กระทิง มีคลิปภาพ เสือดำตะกรุยดินพฤติกรรมเหมือนแมวที่กำลังจะอึ แม้แต่เสือลายเมฆก็มีพฤติกรรมคล้ายกัน ได้เห็นเสือโคร่งมาฉี่เพื่อหมายอาณาเขต หรือแม้แต่ช้าง ใช้งวงหักกิ่งไม้ จากนั้นใช้งวงถือกิ่งไม้สะบัดเหมือนไม้ปัดยุง ผมได้เห็นพฤติกรรมช้างแบบนี้ถึง 3 คลิป ถือเป็นการพฤติกรรมสัตว์ที่ไม่เคยมีในตำรา” นักธรรมชาติวิทยาฯ ซึ่งทำวิจัยพฤติกรรมสัตว์ป่าทุ่งใหญ่มาหลายปี เล่าให้ฟังโดยไม่ต้องใช้ภาพถ่าย หรือต้องเปิดคลิปวีดิโอมาประกอบแต่อย่างใด
ส่วนการดักจับพฤติกรรมสัตว์ป่า เขาบอกว่า ทำให้เราเห็นช่วงหากินของสัตว์ ช้างหากินตอนไหนในรอบวัน กระทิงทำไมเจอช่วงนี้ นี่คือการทำวิจัยแบบย่อย ขณะที่เสือดำ พบว่า มีกิจกรรมทั้งวันทั้งคืน กล้องสามารถจับพฤติกรรมเสือดำได้หลายช่วงเวลามาก
“โดม ประทุมทอง” อัพเดท ข้อมูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สำรวจ ณ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ ทั้งตะวันออกและตะวันตก จากฐานข้อมูลเดิม 69 ชนิด ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเกินกว่า 100 ชนิด ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก พวกกลุ่มค้างคาว กระรอก หนูผี ยังไม่ถูกพูดถึงมากเท่าไหร่ ซึ่งสัตว์พวกนี้บ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นดัชนีชี้วัดความสมดุลของผืนป่า
สุดท้ายเมื่อถามถึงการทำวิจัย ณ ผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ ให้เปรียบเทียบกับที่ป่าห้วยขาแข้ง นักธรรมชาติวิทยาฯ เน้นด้วยน้ำเสียง น้อยกว่ามากมาก เป็นสิบเท่าเลย และงานวิจัยที่เขาใหญ่ ก็มีงานวิจัยมากกว่าที่ห้วยขาแข้งมากมากเป็นสิบเท่า เช่นกัน
ที่ไม่ค่อยมีใครมาทำวิจัยที่ผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ เขาชี้ว่า ด้วยข้อจำกัดด้านการคมนาคม ความยากลำบากการเดินทาง อีกทั้งยังไม่มีสถานีวิจัยในพื้นที่ เหตุนี้เอง ที่ทำให้งานวิจัยผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ ทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออก มีข้อมูลงานวิจัยน้อยมาก ๆ แต่ข่าวดีทราบมาว่า อนาคตกำลังจะมีการสร้างสถานีวิจัยสัตว์ป่าย่อย อยู่ที่ทุ่งใหญ่ตะวันตก 1 แห่ง และที่ป่าทุ่งใหญ่ตะวันออกอีก 1 แห่ง "
สุดท้ายนักธรรมชาติวิทยาฯ เชื่อว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ยังไม่ถูกเปิดเผย และยังไม่ได้รับการวิจัยอย่างเข้มข้น ยิ่งสภาพของพื้นที่นี้เอง ที่มีความพิเศษกว่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก รวมถึงที่ห้วยขาแข้ง เขาก็ยังค้นหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก จึงมี "ช้าง" น้อยกว่า ป่าทุ่งใหญ่ ตะวันออก ? ถิ่นที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมือนกัน ต้องมีอะไรสักอย่างที่ไม่ได้ตอบสนองทางนิเวศ ? ทำไมช้างจึงไม่ไปอยู้่ตรงนั้น เช่นเดียวกันกับ "เสือดำ" ทำไมถึงเจอเสือดำในเส้นป่าทุ่งใหญ่ตะวันตกเยอะ มากกว่าฝั่งตะวันออก ?
คำตอบของคำถามที่เขาตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ ยังรอมนุษย์มาถอดรหัสความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ณ ผืนป่าแห่งนี้...