- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- จุฬาฯ เสวนา วิเคราะห์ปม ‘สัตว์โลกถูกคุกคาม’ จากเสือดำ สู่ วาระรอการแก้ไข
จุฬาฯ เสวนา วิเคราะห์ปม ‘สัตว์โลกถูกคุกคาม’ จากเสือดำ สู่ วาระรอการแก้ไข
เวทีจุฬาฯ เสวนา วิเคราะห์ปม ‘สัตว์โลกถูกคุกคาม’ จากเสือดำ สู่ วาระรอการแก้ไข นักสวล. เผยทั่วโลกกำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เหลือเพียง 1 ใน 3 ขณะที่นักจิตวิทยา ยันพฤติกรรมล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง เหตุเพื่อความตื่นเต้น เชื่อเลี้ยงดูด้วยความรักช่วยเเก้ได้
กรณีนักธุรกิจใหญ่ลักลอบยิงสัตว์ป่า หนึ่งในนั้น คือ เสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคม ทำให้ปัจจุบันหลายภาคส่วนต่างออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเร่งดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยวันพฤหัสบดี ที่ 15 ก.พ. 2561 เวลา 08.30 น. คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เชิญนายวิเชียร ชินวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตกและน.ส.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าพบเพื่อให้กำลังใจและสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขบทลงโทษให้หนักขึ้น
ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนิสิตจากชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม จะจัดกิจกรรม ‘สัตว์ในทุ่งใหญ่ต้องไม่ตายฟรี’ โดยมีไฮไลท์ให้ทุกคนสวมหน้ากากเสือดำ ไปเมื่อวันก่อนแล้ว (อ่านประกอบ:ครบรอบสัปดาห์ ชมรมอนุรักษ์ จุฬาฯ ตามติด ลั่น ‘เสือดำต้องไม่ตายฟรี’)
ล่าสุด วันที่ 14 ก.พ. 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 11 เรื่อง สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม:วาระที่รอการแก้ไข ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว เปิดเผยให้เห็นถึงสถานการณ์ศักยภาพการรับมือของโลก (ข้อมูล ปี 2015) พบปัญหารุนแรงที่สุด คือ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำลังคุกคามทุกชีวิตในโลกใบนี้ และมลภาวะจากปุ๋ยไนเตรท ซึ่งสองเรื่องดังกล่าว ไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบได้เลย และถือเป็นปัญหาที่รุนแรงกว่าภาวะโลกร้อนด้วย
ทั้งนี้ หากเจาะจงเฉพาะประเด็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว บอกว่า โลกกำลังเข้าสู่ ‘ยุคมนุษย์ครองโลก’ เพราะทุกตารางนิ้วบนโลกใบนี้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้ปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพ (สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง) เหลือเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด เท่านั้น
ดร.สรณรัชฎ์ ยังได้ชวนเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด เช่น หากวันหนึ่งมนุษย์ขาดนิ้วก้อยไป แม้จะยังดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่อาจจะเล่นเปียโนได้ไม่ดี และหากขาดแขนหรือหัวใจไป ถามว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องรับรู้ คือ ความพิการ เช่นเดียวกันกับความหลากหลายทางชีวภาพที่เหลืออยู่ 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ หยุดทำลายทุกอย่าง และเร่งฟื้นฟู ตั้งแต่วันนี้
เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องสัตว์น่ารัก ที่ฟู ๆ นุ่ม ๆ ของคนที่อยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ เท่านั้น
‘ตื่นเต้น’ สาเหตุคน ‘ล่า’ สัตว์ เพื่อความบันเทิง
“ความจริงเราพบว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่ง ‘ล่า’ เพื่อความอยู่รอด นั่นคือ นายพราน” รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ระบุ
ก่อนจะขยายความถึงสาเหตุนายพรานต้องล่าสัตว์ เพื่อความอยู่รอด นำไปขาย และนำวัตถุมาใช้ ซึ่งตามหลักจิตวิทยา อธิบายไว้ว่า คนเรามีสันชาตญาณการดำรงชีวิตอยู่ และสันชาตญาณหนึ่งที่แฝงอยู่ คือ การทำลายล้าง ซึ่งอยู่ในกมลสันดานของมนุษย์
“มนุษย์เกิดขึ้นมาพร้อมกับสันชาตญาณ ทำให้คนกลุ่มนี้คิดว่า การฆ่าสัตว์ไม่ผิด แต่ยืนยันว่า แก้ไขปัญหานายพรานฆ่าสัตว์ไม่ยาก”
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง รศ.ดร.สมโภชน์ กล่าวว่า หลักจิตวิทยายังไม่มีข้อมูลที่ศึกษาได้ถึงปัจจัยให้มีพฤติกรรมดังกล่าว แต่ข้อมูลที่มีอยู่อ้างอิงมาจากข้อมูลของอาชญากรฆ่า ‘คน’ นำมาเปรียบเทียบกับการฆ่า ‘สัตว์’ ซึ่งไม่มีข้อมูล เพราะคนกลุ่มล่าสัตว์ไม่ยินยอมให้ข้อมูลเพื่อการวิจัย
เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจทางการเงินสูง เพราะต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ใครจะฆ่าสัตว์ในป่าได้ง่าย ๆ หากไม่มีเงินซื้ออาวุธระดับดี
นักวิชาการจิตวิทยา วิเคราะห์สาเหตุล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการ ‘ความตื่นเต้น’ ในชีวิต จากการมีพร้อมทุกอย่าง แต่เมื่อมีความเบื่อหน่าย เซ็ง ชีวิตไม่มีอะไร จึงต้องการความตื่นเต้น
นอกจากนี้คนที่ชอบล่าสัตว์ยังเป็นคนหลงตัวเอง ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น แต่ที่มีผลต่อพฤติกรรมดังกล่าวมากที่สุด คือ จิตผิดปกติ ซึ่งมักแฝงอยู่ในคนฉลาด เนี้ยบ เก่ง มีฐานะดี ชอบควบคุมผู้อื่น
“จากการศึกษาพบว่า มักมีความสามารถในการดูแลตนเองได้ดี เข้าสังคมได้ดี แต่เบื้องหลังค่อนข้างโหด มีความรู้สึกว่า การฆ่าไม่ใช่ความผิด ยิ่งเป็นสัตว์หายาก ดุร้าย ยิ่งทำให้กลายเป็นคนที่มีอำนาจสูง”
รศ.ดร.สมโภชน์ ยังบอกมีข้อมูลจากนักจิตวิทยาระบุว่า คนล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง เคยมีพฤติกรรมชอบทำร้ายสัตว์ตั้งแต่เป็นเด็ก ดังนั้น วิธีการป้องกันจำเป็นต้องฝึกให้ลูกหลานเป็นคนรักสัตว์
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน เพราะเป็นข้อมูลที่ศึกษาจากพฤติกรรมของอาชญากรฆ่าคน ไม่ใช่ ‘คนล่าสัตว์’
ทั้งนี้ วิธีการแก้ไข คน ‘ล่า’ สัตว์ เพื่อความบันเทิง ยังไม่มีวิธีแก้ไข อาจจะบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรง แต่สิ่งที่ทำได้มากกว่า เชื่อว่า คือ การเลี้ยงดูด้วยความรัก ใช้บทบาทครอบครัวที่อบอุ่นเป็นตัวนำ
ความเชื่อผิด ๆ ‘ล่า’ เพื่อ ‘กิน’
ขณะที่ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นักวิชาการภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งคำถามว่า ทำไมยังมีการล่าสัตว์ในศตวรรษที่ 21
ข้อเท็จจริง คือ มนุษย์ยังมีความเชื่อว่า เมื่อกินเนื้อเสือจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อสมัยโบราณ แต่เมื่อเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันสะท้อนให้เห็นสิ่งปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม
ทั้งนี้ พฤติกรรมการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงเกิดขึ้นทุกแห่งในโลก ยกตัวอย่าง อังกฤษ จะมีคนร่ำรวย รวมกลุ่มล่า ‘สุนัขจิ้งจอก’ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลใด ๆ ต้องล่าแล้ว แตกต่างจากสมัยก่อนจำเป็นต้องล่า เพราะสุนัขจิ้งจอกกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน
“ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการกินเนื้อเสือ เชื่อว่าจะมีกำลังแข็งแรง สมรรถภาพทางเพศสูง ยืนยันด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ดังนั้นสัตว์หลายชนิดที่ถูกล่า เพียงเพราะความเชื่อผิด ๆ สิ่งเหล่านี้จึงควรตระหนักไว้” นักวิชาการด้านปรัชญา กล่าว
สุดท้าย ผศ.ดร.วิเชฎฐ์ คนซื่อ นักวิชาการภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยในมุมมองนักชีววิทยาว่า การปล่อยให้สัตว์โลกถูกคุกคามจะก่อให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มนุษย์ยังไม่ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่ แต่ปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
ยกตัวอย่าง ตัดไม้สร้างบ้าน กินเนื้อสัตว์ ทำยาสมุนไพร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นหากสัตว์และพืชได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ย่อมเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร บางสถาบันจึงเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในธนาคาร
ผศ.ดร.วิเชฎฐ์ กล่าวถึงการล้มสลายในระบบนิเวศเป็นอีกเรื่องหนึ่งต้องให้ความสำคัญ โดยยอมรับว่า รอบตัวเรามีความสัมพันธ์กันเกิดขึ้นเป็นวัฎจักร เราตื่นเช้ามา ทานอาหารมื้อกลางวัน เย็น ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเครือข่ายที่ซับซ้อน ทั้งนี้การถ่ายทอดพลังงาน สารอาหาร อยู่ในรูปของเครือข่าย จะมีบางชนิดเป็นชุมทาง ทางผ่านให้เกิดการขับเคลื่อนไปได้ เรียกกลุ่มนี้เป็น Keystone สปีชีส์
โดยหากสะดุดขึ้นมา หมายถึง หายไปจากระบบนิเวศ จะทำให้เสียสมดุลและพังทลายลงได้ ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งระดับพันธุกรรม หรือระบบนิเวศ เช่น กรณี เสือดำ เสือดาว หรือเสือโคร่ง จัดเป็น Keystone สปีชีส์ เป็นผู้ล่าตำแหน่งสูงสุดของปิรามิดอาหาร หากหายไปจากระบบนิเวศ เหยื่อที่ถูกควบคุมโดยสัตว์ชนิดนี้ จะมีมากขึ้น .