นโยบายแก้ปัญหายาเสพติด ต้องมีอะไรผิดสักอย่าง ?
เรานึกว่า ยุคประกาศสงครามกับยาเสพติด ความรุนแรงของปัญหานั้นจะลดลง ความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะเลือดสาด หรือการฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ เท่านั้น ความรุนแรงยังกลับซ่อนตัวปรากฏอยู่ในกฎหมายด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice:TIJ) จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ณ ห้องบอลรูม 2-3 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาเปิดการประชุม มี พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุม
วันนี้ นโยบายยาเสพติดของไทยชัดแล้ว จะแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะกับผู้เสพ เป็นผู้ป่วย ต้องได้รับการรักษา ซึ่งเป็นนโยบายของพลเอกไพบูลย์ ในการดำเนินการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ทั้งผู้ผลิตและผู้เสพให้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรับมุมมอง ปรับทัศนคติของสังคมเกี่ยวกับความรุนแรงของยา และมายาคติเกี่ยวกับความเป็นอาชญากรของผู้เสพยา
ตอนหนึ่งในเวที พลเอกไพบูลย์ ระบุถึงปัญหายาเสพติดที่ถูกมองเหมือนปีศาจร้าย ไม่มีใครกล้าออกมาพูด “แต่ผมกล้าพูด และขอตั้งคำถาม การดำเนินนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะที่ผ่านมาประกาศสงครามกับยาเสพติด ถูกทางหรือไม่ หากถูกทางทำไมยาเสพติดยังเต็มบ้านเต็มเมือง และมีคนติดคุกคดียาเสพติดมากมาย มันต้องมีอะไรผิดสักอย่างถึงเป็นอย่างนี้”
เราต้องผิดพลาดอะไรสักอย่าง ? คำถามนี้ รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลองค้นหาคำตอบ
“นโยบายผิดพลาด คลาดเคลื่อน เราไปกำหนดให้แรงขึ้น และไปประกาศสงคราม ใช้โทษทางอาญาอย่างรุนแรง เรานึกว่า ยุคประกาศสงครามกับยาเสพติด ความรุนแรงของปัญหานั้นจะลดลง ซึ่งความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะเลือดสาด หรือการฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ เท่านั้น ความรุนแรงยังกลับซ่อนตัวปรากฏอยู่ในกฎหมายด้วย”
รศ.ดร.จุฑารัตน์ ชี้ชัดว่า ดังนั้นนโยบายเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนเพื่อให้เหมาะกับกระแสโลก เมื่อกฎหมายรุนแรงยังทำให้เกิดการนำกฎหมายไปบังคับใช้ ผิดที่ผิดทาง เอาคนไปไว้ผิดที่ มีตัวเลขชุดของกรมคุมประพฤติ ค้นพบว่า การนำคนไปคุมประพฤติ จะถูกกว่านำคนไปเข้าคุก ถึง 16 เท่า
“นี่คือ จุดท้าทายนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด หากนำเรื่องสาธารณสุข ชุมชนเข้ามา เรื่องนี้ต้องเปลี่ยนอีกแบบ ถึงเวลาที่เราต้องก้าวข้ามสู่ยุคใหม่ ไม่ต้องวนเวียนอยู่ในวัฎจักรจับกุม เอาคนเหล่านี้ไปไว้ในคุก แทนที่นำไปรักษา”
ขณะที่นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นถึงนโยบายยาเสพติดเปลี่ยน แม้เราจะได้ยินชัด แต่จะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่ แล้วเปลี่ยนได้อย่างไร ปรากฎการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการพูดว่า จะเปลี่ยนนโยบายยาเสพติดนั้น ปัจจุบันอะไรเกิดขึ้นแล้วบ้าง
“ที่เกิดแล้ว คือ มีร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเปลี่ยนได้ด้วยนโยบายของรัฐ แต่ก็พบว่า ตัวหนังสือเปลี่ยนไม่ได้มาก อีกทั้งเปลี่ยนไปจากโครงสร้างของกฎหมายไทยไม่ได้มาก เช่น 1.อะไรคือยาเสพติด อะไรคือวัตถุออกฤทธิ์ จะแบ่งกลุ่มกันอย่างไร อยู่ที่ไหน ใครมาบอก 2.เอาคนป่วยไปหาหมอ ซึ่งเป็นผู้เสพไปหาหมอให้ได้ และหมออยู่ที่ไหน 3.เอาคนค้ายาเสพติดรายใหญ่ และคนผลิตยาเสพติดไปเรือนจำ เป็นประเด็นที่สำคัญ และ 4.หยุดองค์กรค้ายาข้ามชาติให้ได้ เมื่อบ้านเราเป็นเส้นทางเพื่อใช้ลำเลียงยาเสพติดของขบวนการค้ายาเสพติด เรื่องนี้ต้องมองด้วย”
นายชาญเชาวน์ กล่าวถึงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่พยายามรวมกฎหมายยาเสพติดไว้ในฉบับเดียว แต่ก็รวมร่างไว้ไม่เท่าไหร่ มีกรรมการอยู่ 2 ชุดจะชี้นิยามยาเสพติด ซึ่งดูจากองค์ประกอบกรรมการยังเหมือนเดิม โดยเราต้องการข้อมูลมากกว่านี้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อะไรคือยาเสพติดกันแน่ แล้วเราจะคุมกันอย่างไร ประเภทที่เท่าไหร่ โครงสร้างกฎหมายบ้านเรา
“ผมดูแล้วยังเปลี่ยนไม่ได้ มองว่า การนิยามคำว่า ยาเสพติดเรายังมองเป็นประเภทๆ อยู่ เราพูดว่า เอาคนป่วยไปหาหมอ หากยังนิยาม คำว่า คนป่วยไม่เจอ แล้วเอาประสบการณ์ 20 ปี ที่ผ่านมาใช้ คนป่วยก็จะไปหาหมอไม่เจอ วิธีการยังต้องรออยู่ ขณะที่คนค้ายาเสพติดรายใหญ่ และคนผลิตยาเสพติดไปเรือนจำ เครื่องมือกระบวนการยุติธรรมทางอาญายังมีไม่พอให้คนทำงาน คือ ตำรวจ การชะลอการฟ้องหยุดอยู่กับที่ การต่อรอง รับสารภาพยังไปไม่ถึง เรื่องราวของการข้ามชาติก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก ดังนั้น เรื่องนี้ต้องทำให้ชัด เพราะเรื่องของยาเสพติดหากไม่ใช่คนป่วยแล้ว เป็นเรื่องเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม ตรงนี้เครื่องมือยังไม่พอ”
ปลัดกระทรวงยุติธรรม ยืนยันด้วยว่า จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนนโยบายปัญหายาเสพติดต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัด โดยเฉพาะตัวกฎหมายต้องส่งเสริมการใช้วัตถุออกฤทธิ์และยาเสพติดทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจนกว่านี้ และต้องกล้าหาญแบบห้าวหาญ หากทำไม่สำเร็จก็จะเบลอๆ แบบ 20-30 ปี และสังคมก็จะเคลื่อนเปลี่ยนตามไม่ได้ เพราะสับสน ลังเล วัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติดก็ดี ที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์นั่นคืออะไรกันแน่
ขณะที่ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบัน TIJ ให้ความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปการปฏิบัติต่อผู้เสพยาเสพติด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะงบประมาณที่หมดไปกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ปัญหายาเสพติดกลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี
“ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่สำคัญเร่งด่วนต่อการปฏิรูประบบยุติธรรมของไทยด้วย เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ เป็นลูกโซ่ ทั้งปัญหาคดีล้นศาล นักโทษล้นคุก และความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณรัฐจำนวนมหาศาล”
การนำผู้ต้องหาคดียาเสพติดเข้าคุกแบบเหมารวม ดร.กิตติพงษ์ ย้ำชัดว่า ไมใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี และอาจจะทำให้เกิดอาชญากรคดีร้ายแรงเพิ่มขึ้นในสังคมได้อีก ดังนั้น การแยกกลุ่มผู้เสพยาและผู้ค้ารายย่อยออกจากผู้ค้ารายใหญ่ และผู้ผลิตจะช่วยทำให้มีวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยมุ่งบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้เสพยาเสพติดที่ไม่มีความผิดอื่นใดอีก และผู้ครอบครองจำนวนน้อย ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทุ่มทรัยากรไปที่การปราบปรามผู้ค้ารายใหญ่และผู้ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ่านประกอบ:
ยธ.-สธ.จับมือแก้นโยบายยาเสพติด เล็งลดระดับยาบ้า-ยส.ประเภท2
TIJ ชูโปรตุเกสโมเดลแก้ยาเสพติดชะงัด ไม่เอาโทษทางอาญามาใช้กับผู้เสพ
เมื่อสังคมไทยสุดโต่ง 2 ข้าง กับแนวคิดแก้ปัญหา 'ยาเสพติด'
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ