- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- โครงการปรับภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี ระวังมี "ค่าโง่"
โครงการปรับภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี ระวังมี "ค่าโง่"
สถานการณ์รวมๆ ที่ชายแดนใต้ ช่วงนี้ข่าวความรุนแรงก็ยังมีเป็นระยะๆ เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง ก็ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับช่วง 12-13 ปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจาก 2 อย่าง
หนึ่ง คือ ความสำเร็จส่วนหนึ่งของงานพูดคุยเพื่อสันติสุข อันนี้ต้องยอมรับ การพูดคุยวันนี้คืบหน้าไปพอสมควร เราคุยกับ "มารา ปาตานี" ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มย่อยมารวมตัวกัน แม้จะไม่ใช่กลุ่มที่มีผลกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ แต่การพูดคุยก็ไม่ได้ผิด เพราะเขาก็เป็นผู้เห็นต่างจริงๆ แต่อาจจะไม่ได้มีศักยภาพในการก่อเหตุรุนแรง การพูดคุยส่วนนี้เดินหน้าไปถึงเรื่องการเห็นตรงกันที่จะ "สร้างพื้นที่ปลอดภัย" ร่วมกัน ซึ่งทางคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลบอกว่าปีหน้าได้เห็นแน่
อีกส่วนหนึ่งคือการพยายามต่อสายพูดคุยกับผู้เห็นต่างอีกพวกหนึ่งที่มีศักยภาพในการก่อเหตุรุนแรงตัวจริง เราเชื่อว่าคือ "บีอาร์เอ็น" ที่นำโดย ดูนเลาะ แวมะนอ ตอนนี้ทราบว่าทางคณะพูดคุยฯ ประสานกับทางการมาเลเซีย ขอคุยลับกับคนนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ชัดเจน
ข่าวล่าสุดที่ได้จากฝ่ายบีอาร์เอ็นเอง คือการต่อรองเงื่อนไขให้จัดทีมพูดคุยใหม่ทั้งหมด การต่อรองแบบนี้ทำให้ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ้าง ประกอบกับกลุ่มผู้ก่อเหตุในพื้นที่ บางส่วนมีศักยภาพสร้างเหตุการณ์ได้เอง ไม่ต้องรอคำสั่ง เมื่อสบโอกาสก็ทำ ทำให้สถานการณ์รวมๆ ยังมีเหตุรุนแรงเป็นระยะ และคงทรงๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ
จุดเปลี่ยนคือบทสรุปการพูดคุย ถ้าเป็นไปในแง่ดี ก็จะพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นกว่านี้อีก แต่ถ้าคุยแล้วไม่ลงตัว ก็อาจกลับมาแรงอีก ถือว่าเป็นความท้าทายของคณะพูดคุย ซึ่งทุกฝ่ายต้องให้กำลังใจ
สาเหตุสำคัญประการที่ 2 ที่มีผลต่อสถานการณ์ ก็คือการทุ่มเงินพัฒนาลงไปในพื้นที่ ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีชาวบ้านได้ประโยชน์ ก็ลดเงื่อนไขความรุนแรงลงได้บ้าง ก็ถือว่ายังดี แต่การใช้จ่ายงบประมาณ ถ้าทำไม่โปร่งใส จะเกิดปัญหาตามมา แทนที่จะส่งผลดีต่อสถานการณ์ อาจไปสร้างความขัดแย้งในมุมอื่นๆ แทน โดยเฉพาะการสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนซึ่งกำลังเบื่อหน่ายความรุนแรง
รัฐบาลทุกชุดก็ทำกันมาต่อเนื่อง ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ความรุนแรงไม่มีใครต้องการ แต่จุดเปลี่ยนนอกจากการพูดคุยเจรจาก็คือ รัฐบาลเทงบพัฒนาลงไป ต้องโปร่งใสจริงๆ ไม่โกง ไม่คอร์รัปชั่น ไม่มีหัวคิว และตัวโครงการต้องเป็นที่ยอมของประชาชน จุดนี้จะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
จากประเด็นนี้ก็จะโยงมาที่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่หลายฝ่ายจับตา คือ การดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี มัสยิดเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งมีความงดงามทางศิลปะมาก มัสยิดนี้จริงๆ ชื่อมัสยิด 300 ปี แต่อายุอานามจริงๆ เกินไปมากแล้วนะครับ น่าจะร่วมๆ 400 ปีแล้ว มัสยิดนี้ตั้งอยู่ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
ที่ผ่านมา ศอ.บต.มีโครงการปรับภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปีให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับสากลเลย เพราะมัสยิดนี้ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะจริงๆ แม้แต่ชาติมุสลิมในองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ก็ยังทึ่งและชื่นชม จึงทำให้เกิดโครงการพัฒนามัสยิดให้สมบูรณ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
โครงการนี้ตั้งงบไว้ประมาณ 200 ล้านบาทครับ เฉพาะส่วนของการปรับภูมิทัศน์ ซึ่งเป็นงานก่อสร้างและสถาปัตยกรรม ใช้งบ 149 ล้านบาท แต่ปัญหามันมาเกิด เพราะศอ.บต.ไปทำสัญญาจ้างผู้รับเหมาจากนอกพื้นที่ ในขณะที่ชุมชนรอบมัสยิด และผู้นำศาสนาในนราธิวาส อยากทำโครงการกันเอง
การที่ชุมชนหรือผู้นำศาสนาจะทำโครงการเอง ก็ติดปัญหาเรื่องความเป็นนิติบุคคล แต่ทางชุมชนก็พยายามหาทางแก้ไข ขณะที่อีกด้าน ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาตใต้) กลับไปจัดจ้างบริษัทจากกรุงเทพฯมาทำงาน ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน และยืดเยื้อมาเรื่อย
จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ ก็คือ "ทีมข่าวอิศรา" ไปตรวจพบว่า เอกชนที่มารับงานก่อสร้างโครงการนี้เป็น "กิจการร่วมค้า" ที่ร่วมกัน 2 บริษัท หนึ่งในสองถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์และล้มละลาย เมื่อข่าวเสนอออกไป จึงยิ่งเกิดแรงต้านจากชาวบ้าน และมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญา
โครงการนี้เป็น 1 ใน 4 โครงการสำคัญที่ใช้งบประมาณสูง และถูกรัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบสวน ที่มี คุณจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกฯเป็นประธาน ผลการสอบสวนออกมา ก็สรุปให้ยกเลิกสัญญา เพราะไปต่อไม่ได้ คือ คณะกรรมการสอบสวนฯขอคำชี้แจงจาก ศอ.บต. ฝ่าย ศอ.บต.ก็อ้างว่ากิจการร่วมค้าที่ล้มละลาย เป็นแค่ 1 ใน 2 บริษัท ฉะนั้นบริษัทที่เหลือยังทำงานได้ ทางคณะกรรมการสอบสวนจึงทำหนังสือถามไปยังกรมบัญชีกลางว่าเรื่องนี้มีหลักปฏิบัติอย่างไร แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ
ทีนี้คณะกรรมการสอบสวนฯ เขาก็พิจารณาตามหลักฐาน มีการลงพื้นที่มัสยิด 300 ปีด้วย ก็รับฟังทุกฝ่าย จึงสรุปว่าโครงการเดินต่อไปไม่ได้ เพราะชาวบ้านก็ไม่เอา ผู้นำศาสนาก็ไม่เอา ต้องยกเลิกสัญญาเท่านั้น และเหตุในการยกเลิกสัญญาก็มี เพราะกิจการร่วมค้าที่ประกอบกันขึ้นมาล้มละลายไป 1 ก็น่าจะยกเลิกได้ จึงเสนอให้ยกเลิกสัญญา
แต่หลังจากส่งรายงานไปยังรัฐบาล ปราฏว่า ศอ.บต.ก็ยังไม่ยกเลิกสัญญา โดยอ้างเหตุผลว่า 1.กลัวบริษัทผู้รับจ้างฟ้องกลับว่า ศอ.บต.ผิดสัญญา และ 2.ต้องจ่ายเยียวยาให้บริษัท เพราะมีการทำงานตามงวดงานไปแล้ว 2-3 งวดงาน
ตรงนี้ก็เลยเป็นปัญหาของศอ.บต. ประกอบปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่มีใครชี้ชัด จึงทำให้สัญญายังคงอยู่ และเลิกไม่ได้ ส่วนใครจะจริงใจแก้ปัญหาหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง
อีกด้านหนึ่ง ศอ.บต.เขาก็ไปจัดเวทีประชาคม รับฟังความเห็นจากคนใน อ.บาเจาะ พื้นที่ตั้งมัสยิด 300 ปี ก็จัดหลายครั้ง หลายวง วงล่าสุดก็เมื่อปลายเดือน พ.ย.60 บทสรุปเกือบทุกวงประชาคม ก็คือให้ ศอ.บต.ยกเลิกสัญญา ขณะทีผูู้นำศาสนา ชมรมอิหม่ามต่างๆ ในพื้นที่ก็บอยคอต ไม่เข้าร่วมกับ ศอ.บต. กลายเป็นความขัดแย้งเผชิญหน้า และยื่นเงื่อนไขเดียวว่า ศอ.บต.ต้องยกเลิกสัญญาก่อน ค่อยมาคุยหาความร่วมมือจากผู้นำศาสนาและชมรมอิหม่าม
ตอนนี้ทุกอย่างก็ยังค้างเติ่งอยู่แบบนี้ โครงการพัฒนาก็ไม่ได้เริ่ม ความเสียหายหรือ "ค่าโง่" ก็อาจจะเกิดขึ้น ถ้าสุดท้ายฝ่ายรัฐผิดสัญญา หรือแก้ปัญหาไม่ดี ชาวบ้านก็คัดค้าน ผู้นำศาสนาก็ไม่สนับสนุน
นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างการดำเนินโครงการที่ไม่โปร่งใส ไม่รอบคอบ ไปจัดจ้างบริษัทนอกพื้นที่ที่ไม่มีประสบการณ์ และยังอยู่ในสถานะล้มละลาย ผลก็คือแทนที่รัฐเสียเงินเสียงบประมาณ แต่ไม่ได้ใจชาวบ้าน ไม่ได้ใจมวลชน แล้วไฟใต้จะสงบได้อย่างไร นี่คือคำถามที่ทิ้งท้ายเอาไว้
--------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
บริษัทรับงานปรับปรุงมัสยิด300ปีอยู่ปทุมฯ ที่ตั้งคล้ายบ้านร้าง แถมถูกฟ้องล้มละลาย
ภาณุ รับ บริษัทปรับปรุงมัสยิด 300 ปีล้มละลาย หารืออัยการตรวจสัญญา
เปิดเกณฑ์ "จ้างวิธีพิเศษ" เทียบมัสยิด 300 ปีหลังนายกฯสั่งฟันบริษัทล้มละลายรับงาน
ชมรมอิหม่ามบาเจาะจี้นายกฯยุติโครงการมัสยิด 300 ปี
3 บริษัทรับช่วงงานแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี ลุยก่อสร้างด้านนอก 4 อาคาร
ทางวิบากโครงการ "มัสยิด 300 ปี" เดินหน้าต่อ สั่งชะลอ หรือเลิกสัญญา?
เปิดตัวแล้ว "หจก.สนธิเศรษฐ" รับงานมัสยิด 300 ปี 149 ล้าน!
เปิดกฎหมายตอบทุกคำถาม "ล้มละลาย-จ้างช่วง" โครงการมัสยิด 300 ปี
ชาวบ้านจี้เลิกสัญญาโครงการมัสยิด 300 ปี ชมรมอิหม่ามฯบาเจาะบอยคอตซ้ำ
ชาวบ้าน-ผู้นำศาสนาโหวตเอกฉันท์ยกเลิกสัญญาโครงการมัสยิด 300 ปี