ชายแดนใต้เผชิญวิกฤติ "โควิด-ปิดด่าน-ยางถูกเท"
ท่ามกลางกระแสตื่นกลัวของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีข่าวร้ายคนไทยเสียชีวิตเป็นรายที่ 2 ที่สถาบันบำราศนราดูร ปรากฏว่าที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สถานการณ์ก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน ทั้งเรื่องโรคร้าย ผลพวงจากการปิดด่านพรมแดน และพืชเศรษฐกิจที่ราคาตกต่ำและมีกระแสพ่อค้าหยุดรับซื้อ
ศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรคโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ณ เวลา 18.00 น.ของวันจันทร์ที่ 23 มี.ค.63 ว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 38 ราย และรอยืนยันผลตรวจอีก 101 ราย
ในจำนวนนี้แยกเป็น จ.ปัตตานี ผู้ติดเชื้อ 16 ราย รอยืนยันผลตรวจ 16 ราย จ.ยะลา ผู้ติดเชื้อ 6 ราย รอยืนยันผลตรวจ 24 ราย จ.นราธิวาส ผู้ติดเชื้อ 6 ราย รอยืนยันผลตรวจ 8 ราย จ.สงขลา ผู้ติดเชื้อ 9 ราย รอยืนยันผลตรวจ 53 ราย และ จ.สตูล พบผู้ติดเชื้อรายแรก
ยะลารายงานยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง 17 ราย
อย่างไรก็ดี ล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นิยามการติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ จากการตรวจยืนยันเพียงแล็บเดียว ทำให้ในส่วนของ จ.ยะลา มีรายงานจากทางจังหวัดว่า มียอดผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 17 ราย อาการรุนแรง 1 ราย แยกเป็นผู้ป่วยจาก อ.บันนังสตา 9 ราย อ.เมืองยะลา 4 ราย อ.รามัน 3 ราย อ.ธารโต 1 ราย
สำหรับมาตรการของทางจังหวัดที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ให้สถานศึกษาทุกประเภทปิดการเรียนการสอนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เว้นแต่โรงเรียนปอเนาะที่มีนักศึกษาต่างชาติอยู่ประจำ ให้มีการป้องกันตนเองตามมาตรการป้องกันโรค
ขณะที่เทศบาลนครยะลาได้จัดให้มีการทำความสะอาดและตั้งจุดคัดกรองเพิ่ม 2 แห่ง คือที่ตลาดใหม่ และตลาดผังเมือง 4 รวมทั้งตั้งจุดคัดกรองที่ด่านตรวจครอบคลุมทางเข้าทั้ง 4 มุมเมือง (มลายูบางกอก, ท่าสาป, ขุนไว, เมืองทอง) พร้อมเปิดสายด่วน COVID-19 ยะลา 1881 บริการโทรฟรี 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้นยังมีประชาชนบางส่วนเดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะ กทม. หลังจากที่มีการประกาศปิดสถานที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทางจังหวัดจึงประชาสัมพันธ์ให้คนกลุ่มนี้เข้ารายงานตัวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ทันที พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ให้กักกันตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 14 วัน ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้อื่น เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร งดและลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่แออัด และแยกสำรับอาหาร สังเกตอาการหากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์ทันที
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวย้ำว่า "ขอให้ทุกคนคิดว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวท่าน อาจมีความเสี่ยงเป็นพาหะ ฉะนั้นควรป้องกันตัวเองเสมอ เพื่อลดความเสี่ยง"
ฮือหาตัวผู้ป่วยโควิดหนี รพ.ยะลา ที่แท้เป็นไข้
ที่ยะลายังมีเรื่องวุ่นๆ จากสถานการณ์โควิด-19 เพราะมีการแชร์ข้อมูลกันทางไลน์ว่าทางโรงพยาบาลยะลาฝากประกาศประชาสัมพันธ์ให้ชายคนหนึ่งซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ใน ต.สะเตงนอก จ.ยะลา กลับมาที่โรงพยาบาลด่วน ให้รีบติดต่อ "หมอมะ" ซึ่งรับผิดชอบฝ่ายโควิด พร้อมทิ้งเบอร์โทรศัพท์เอาไว้
หลังจากข้อความนี้ถูกส่งต่อกันทางไลน์ในวงกว้าง ทำให้เกิดกระแสแตกตื่นในพื้นที่ โดยบอกต่อๆ กันทำนองว่า มีคนไข้โควิด-19 หลบหนีออกจากโรงพยาบาลยะลา หรือเดิมชื่อโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ซึ่งข้อความทางไลน์มีการระบุชื่อภรรยาของชายคนนี้เพื่อให้ช่วยกันตามตัวด้วย โดยย้ำว่ามีอาการไข้
"ทีมข่าวอิศรา" ได้ตรวจสอบไปยังโรงพยาบาล ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนไข้ชายรายนี้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเพราะเป็นไข้ แพทย์สั่งให้นอนดูอาการที่โรงพยาบาล แต่ชายคนนี้ไม่ยอมนอน และหนีกลับบ้าน โดยยังไม่มีการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ล่าสุดทางโรงพยาบาลได้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่งคนไปตามถึงบ้าน และพบตัวแล้ว ขณะนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยยืนยันเบื้องต้นว่ายังไม่ติดโควิด
รือเสาะผวาชาวบ้านไปเยี่ยมญาติเสี่ยงติดโควิด
ส่วนใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ก็มีเรื่องวุ่นๆ เช่นกัน โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ไปเยี่ยมญาติที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลปัตตานี จากนั้นได้เดินทางกลับเข้าพื้นที่ อ.รือเสาะ และได้ทำกิจกรรม พบปะผู้คน โดยใช้ชีวิตตามปกติ โดยเฉพาะการไปประชุมกับคณะครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง
ต่อมาชาวบ้านรายนี้มีอาการป่วย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก จนต้องเข้าโรงพยาบาล และแพทย์ให้ตรวจหาเชื้อโควิด ทำให้บรรดาครู และคนใกล้ชิดที่สัมผัสแวดล้อมหรือพูดคุยกับชาวบ้านที่ป่วย มีอาการเครียด เพราะตนเองอาจตกเป็นกลุ่มเสี่ยง ล่าสุดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้าไปในพื้นที่และเตรียมพิจารณากักตัวคนที่สัมผัสใกล้ชิดเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วันแล้ว โดยหากใครมีอาการป่วย ก็จะส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทันที
ปิดด่านทางบกไทย-มาเลย์ สำนักงานพาสปอร์ตงดทำงาน
ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 22 มี.ค.63 ด่านพรมแดนทางบก ไทย-มาเลเซีย ทุกแห่งได้ปิดทำการเป็นการชั่วคราว ผู้เดินทางไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติจะไม่สามารถผ่านเข้า-ออกได้ ทั้งช่องทางปกติและจุดผ่อนปรนทุกจุด
สำหรับคนไทยในมาเลเซีย ซึ่งมีคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานจำนวนมากนั้น หากยังต้องการเดินทางกลับไทย ยังสามารถเดินทางกลับโดยเครื่องบินได้
แต่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนดให้ผู้โดยสารเครื่องบินที่มีสัญชาติไทยต้องแสดงเอกสารก่อนขึ้นเครื่องบิน ดังนี้
1. ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly)
2. หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศ ออกให้
โดยคนไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับไทยทางเครื่องบิน หลังจากได้รับใบรับรองแพทย์แล้ว สามารถขอหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ตามรายละเอียดลิงค์ที่แปะไว้ในหน้าเฟซบุ๊คของสถานทูต ซึ่งจะมีรายชื่อคลินิกที่ออกใบรับรองแพทย์เพื่อใช้ขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับไทย ที่สถานทูตรวบรวมได้จากคนไทยที่ไปใช้บริการมา และ สถานพยาบาลเอกชนในมาเลเซียที่รับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย
ขณะที่ นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ลงนามในคำสั่งปิดสำนักงานหนังสือเดินทาง หรือสำนักงานพาสปอร์ต ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมือง จ.ยะลาด้วย เพราะขณะนี้ด่านพรมแดนทุกด่านห้ามเดินทางเข้า-ออกทั้งหมดแล้ว รวมทั้งปิดให้บริการทำใบขับขี่ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดยะลาด้วย
เบตงตั้งจุดคัดกรองเพิ่มสกัดโควิดแพร่ใต้สุดแดนสยาม
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรองที่ช่องทางด่านเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการปิดด่านเช่นกันนั้น ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ด่านเบตงทำงานในเวลา 08.30 – 16.30 น. โดยรถขนส่งสินค้ายังสามารถเข้าออกด่านได้ จึงมีการคัดกรองพนักงานขับรถ
ขณะที่ พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง ได้สั่งเพิ่มจุดคัดกรองที่ด่านตรวจ กม. 23 ต.ตาเนาะแมเราะ พร้อมนำเจ้าพนักงานควบคุมโรค อ.เบตง ร่วมกันคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้า–ออกเมืองเบตงทุกคน โดยการใช้เครื่องวัดไข้ดิจิทัล พร้อมให้บริการเจลล้างมือ และจัดให้มีสถานที่ลงทะเบียนชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน และเบอร์โทรของผู้โดยสารขาเข้าทุกราย พร้อมฉีดพ่นยารถโดยสาร เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส ป้องกันการแพร่ระบาดเข้าสู่เมืองเบตง
ส่งทหาร-เรือเร็วคุมเข้มแนวชายแดน
การคุมเข้มตลอดแนวชายแดน โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางธรรมชาติ หลังจากทั้งมาเลเซียและไทยประกาศปิดด่านพรมแดนทางบกทุกด่าน รวมถึงท่าข้ามทุกจุดนั้น มีการใช้กำลังทหารและตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด. เฝ้าระวังตลอดแนว โดยเฉพาะที่ อ.สุไหงโกลก ตากใบ แว้ง จ.นราธิวาส และอำเภออื่นๆ ที่มีพรมแดนต่อเนื่องกับมาเลเซีย
ขณะเดียวกันยังมีเรือเร็วทหารแล่นลาดตระเวนขึ้น-ล่องตลอดแนวยาวของแม่น้ำโกลก ซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-มาเลเซียตลอดทั้งวันอีกด้วย
คนหาเช้ากินค่ำครวญเดือดร้อนวอนรัฐช่วย
การปิดด่านและมาตรการคุมเข้มต่างๆ แม้ด้านหนึ่งจะช่วยสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบกับคนหาเช้ากินค่ำเช่นกัน
นายอนันต์ ตาเหย๊บ วัย 62 ปี ซึ่งประกอบอาชีพขับรถรับจ้างบริเวณด่านพรมแดนสุไหงโกลกมานานกว่า 30 ปี บอกว่า ตอนนี้เดือดร้อนหนักมาก อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ เพราะเมื่อปิดด่าน ไม่มีคนเข้าออก พวกตนก็ไม่มีงานทำ
นางอิลมี สาแม ชาวอำเภอสุไหงโกลก เล่าว่า ได้ไปทำเรื่องกู้เงินกับทางธนาคาร เพื่อซื้อสินค้าจากมาเลเซียมาขาย โดยได้ทำสัญญาซื้อสินค้าไว้แล้ว และได้ติดต่อลูกค้าที่จะมารับของจากตนไว้ทั้งหมดแล้วด้วย แต่ปรากฏว่าธนาคารไม่ยอมปล่อยกู้ อ้างเหตุผลว่ามาเลเซียปิดด่าน จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
"พี่ฟังแล้วร้องไห้เลย ลูกค้าเรารอของอยู่ แต่เราไม่มีเงิน หวังเอาเงินที่กู้มา จะไปเอาของเพิ่ม จริงๆ แล้วราคาสินค้าฝั่งมาเลย์ก็บวกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปิดด่าน แต่เราก็ยอม เพราะต้องค้าขายเพื่อความอยู่รอด แต่พอธนาคารไม่ปล่อยกู้ ก็ต้องทำเท่าที่ได้ บอกลูกค้าตรงๆ เขาคงเข้าใจ"
นางอิลมี บอกด้วยว่า ทุกวันนี้เดือดร้อนมาก เพราะต้องดูแลทั้งลูกและหลานหลายคน เมื่อไม่มีรายได้เข้ามาจึงได้แต่หุงข้าว ทอดไข่ให้เด็กๆ รับประทาน
นายอิสมาน ฮาดี ชาวสุไหงโกลกอีกคนหนึร่ง บอกว่า มีอาชีพขนสินค้าจากฝั่งมาเลเซียข้ามแดนมาส่งฝั่งไทย มีรายได้วันละ 300-500 บาท แต่เมื่อทั้งมาเลเซียและไทยปิดด่าน ทุกอย่างหยุดหมด ไม่มีรายได้เข้ามาหลายวันแล้ว
"ลูกๆ และครอบครัวเราต้องใช้จ่าย ต้องกินข้าว ไม่รู้จะทำอย่างไร งานก็ไม่มี ไปไหนก๋ไม่ได้ ก็ได้แต่ภาวนาให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดีโดยเร็ว" นายอิสมาน กล่าว
ผวางดรับซื้อยาง ซ้ำเติมเศรษฐกิจทรุดหนัก
อีกหนึ่งปัญหาที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจชายแดนใต้ ก็คือราคายางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่ มีราคาตกต่ำมานาน และล่าสุดมีประกาศจากบริษัทผู้รับซื้อยางรายใหญ่จากจีน ว่างดรับซื้อยางตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.เป็นต้นไป โดยอ้างเหตุผลเรื่องสถานการณ์โควิด-19
แม้ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า บริษัทจีนยักษ์ใหญ่แห่งนี้มีฐานอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก็ตาม แต่เมื่อความต้องการยางพาราลดลง ย่อมส่งผลกดราคาให้ต่ำลงไปอีก โดยเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นิยมขายยางถ้วย หรือขี้ยาง เพราะไม่สามารถขายน้ำยางได้มากเหมือนพื้นที่อื่นเนื่องจากปัญหาความไม่สงบ
นางไซนับ อูแบ ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกเล่าสถานการณ์ชีวิตของตนเองทุกวันนี้ เหมือนเป็นภาพสะท้อนของอีกหลายๆ ชีวิตในดินแดนปลายด้ามขวาน
"บางคนอาจจะมองว่าโชคดีที่ลูกๆ ทั้งหมดไม่ต้องไปโรงเรียน จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินให้ลูกไปโรงเรียน แต่พอลูกอยู่บ้านก็ต้องกินข้าวทุกวัน ถ้าวิกฤติยาวกว่านี้ก็ไม่รู้จะกินอะไร อยากให้รัฐช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่มีกินจริงๆ เจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจเลย จะได้ข้อมูลว่าชาวบ้านเดือดร้อนจริงขนาดไหน ถ้าไม่เดือดร้อนไม่หวังพึ่งรัฐให้มาช่วยหรอก เพราะทราบดีว่ารัฐเองก็เอาตัวไม่รอดอยู่ในตอนนี้"
ถือเป็นสถานการณ์ที่ซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนชายแดนใต้จริงๆ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
132 คนไทยจากมาเลย์เสี่ยงโควิด ไม่ได้อยู่แค่สามจังหวัดชายแดนใต้
พบ"กลุ่ม 132 คนไทย"ป่วยที่ปัตตานี-ยะลา!
เช็คชื่อ 132 คนไทย สธ.ยันติดเชื้อแล้ว 2 - ทัพ 4 ยังไม่ปิดจุดผ่อนปรน
งดละหมาดศุกร์ในกทม. - คุมเข้มแรงงานต้มยำ - ปัตตานีมีติดโควิด
ปัตตานียอดติดโควิดพุ่ง 7 ราย - สงขลาลุ้นอีก 12
พบโควิดครบ 3 จังหวัดใต้ - ตลาดยังแน่น - จี้ ศอ.บต.รวมศูนย์ให้ข้อมูล
สรุปยอดผู้ป่วยโควิดชายแดนใต้ ศอ.บต.เร่งรับมือ นศ.-แรงงานแห่กลับเพิ่ม