- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- ทางวิบากโครงการ "มัสยิด 300 ปี" เดินหน้าต่อ สั่งชะลอ หรือเลิกสัญญา?
ทางวิบากโครงการ "มัสยิด 300 ปี" เดินหน้าต่อ สั่งชะลอ หรือเลิกสัญญา?
ปัญหาการเดินหน้าโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส หรือที่รู้จักกันในนาม "มัสยิด 300 ปี" นั้น ยังคงคาใจคนในพื้นที่จำนวนมาก
เพราะที่ผ่านมา ชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ รวมถึง คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส แสดงท่าทีผ่านสื่อมวลชนมาหลายครั้ง เรียกร้องให้ยุติโครงการ
ความหมายไม่ใช่ว่าไม่สนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ แต่เนื่องจากการจัดจ้างผู้รับเหมามีปัญหา และมีประเด็นการไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องที่น่าจับตาดังว่านี้
การจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ภายใต้งบประมาณ 149 ล้านบาทเศษ ถูกตั้งคำถาม เพราะหนึ่งในสองบริษัทที่รวมตัวกันเป็น "กิจการร่วมค้า" ที่เข้ามาเป็น "คู่สัญญา" ถูกเปิดเผยหลักฐานว่าเป็นบริษัทที่น่าจะเข้าข่ายล้มละลายแล้ว เพราะมีคำสั่งศาลให้ "พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด"
คำสั่ง "พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด" ทำให้เจ้าของหรือผู้บริหารชุดเดิมในบริษัท ไม่สามารถทำการใดๆ ได้ อำนาจการบริหารจัดการกิจการเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดคำถามว่า แล้วโครงการจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หรือจะให้ "ห้างหุ้นส่วนจำกัด" อีกแห่งหนึ่งที่รวมตัวเป็น "กิจการร่วมค้า" รับงานต่อไป แต่ก็มีปัญหาว่าจะผิดสัญญาหรือไม่
คำถามมีมากกว่านั้น เพราะเมื่อ "ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการฯ กลับพบว่ามีการปรับพื้นที่และตอกเสาเข็มบางส่วนแล้วโดยบริษัทรับเหมา 3 แห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หาใช่ "กิจการร่วมค้า" ที่เป็นคู่สัญญากับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ท่ามกลางกระแสข่าวว่า บริษัทที่รับงานไว้เดิม ขายงานต่อให้ หรือไม่ก็ "จ้างช่วง" (subcontract) ให้บริษัทในพื้นที่ 3 แห่งนี้ทำงานแทน
คำถามก็คือ การขายงานต่อ หรือ จ้างช่วง สามารถทำได้หรือไม่ ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 หรือเปล่า?
ยิ่งไปกว่านั้น งานในส่วนที่เดินหน้าต่อ และ ศอ.บต.ไปปักป้ายว่ากำลังมีการก่อสร้าง เป็นงานเพียง 4 ส่วนจาก 6 ส่วนที่จะดำเนินการภายใต้งบประมาณ 149 ล้านบาทเศษ คือ อาคารบริหารจัดการ, ศูนย์อาหาร, ห้องประชุมและศูนย์เรียนรู้ และบ้านพัก 5 หลัง 2 ห้องนอน ใช้งบประมาณ 104 ล้านบาทเศษ ทั้งหมดก่อสร้างด้านนอกบริเวณมัสยิด 300 ปี
ขณะที่อีก 2 ส่วนที่ยังไม่เริ่มลงมือเลย คือ อาคารศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และปรับปรุงภูมิทัศน์รอบมัสยิด เพราะผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากชาวบ้านและชมรมอิหม่ามฯไม่ยินยอม
นี่คือสภาพปัญหาทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน...
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ทีมข่าวอิศรา" ชี้แจงข้อข้องใจทุกข้อ และแนวทางที่ ศอ.บต.ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการและงบประมาณว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
"ตอนนี้ไม่ได้มีการก่อสร้าง ชะลอไว้ก่อน 2 เดือนแล้ว" เป็นคำตอบแรกของคำถามที่ว่าเหตุใดการก่อสร้างจึงยังคงเดินหน้าอยู่
เมื่อถามต่อถึงข่าวบริษัทคู่สัญญาอยู่ในภาวะล้มละลาย รองฯไกรศร อธิบายเอาไว้แบบนี้...
"คู่สัญญาเป็นกิจการร่วมค้า จดทะเบียนเมื่อปี 2556 และยื่นเสนอราคามาที่ ศอ.บต.ในปี 2558 ลงนามในสัญญาวันที่ 20 ม.ค.2559 จากนั้นหนึ่งในสองบริษัทที่เป็นกิจการร่วมค้า ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ วันที่ 8 ก.พ. เราก็ไปตรวจสอบสัญญา ในสัญญาบอกว่าถ้าบริษัทล้มละลายต้องยกเลิกสัญญาอย่างเดียว แต่พอเราไปตรวจสอบคำสั่งศาล ปรากฏว่าไม่ใช่ล้มละลาย แต่เป็นคำสั่งพิทักษณ์ทรัพย์ เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่งหนังสือไปยัง 2 หน่วยงาน เพราะท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ให้สัมภาษณ์ให้เราไปตรวจสอบ เราก็ไปเช็ค ส่งหนังสือไปที่กรมบัญชีกลาง กับกรมบังคับคดี ถามว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น บริษัทจะทำต่อได้ไหม สิ่งที่ทำไปแล้วเป็นโมฆียะหรืออะไรกันแน่ ตอนนี้ก็รอคำตอบอยู่"
ประเด็นจึงย้อนกลับไปที่คำถามแรกว่า แล้วเหตุใดจึงยังมีการก่อสร้างในพื้นที่อยู่อีก...
"มีการให้ซับฯในพื้นที่ไปดำเนินการ (หมายถึงบริษัทรับจ้างช่วง หรือซับคอนแทรค) น่าจะเป็นการถมที่ ตอกเสาเข็ม ผมกำลังตรวจสอบเรื่องการจ้างงาน การตรวจงาน รู้สึกว่าไม่ถูกต้องที่มีมีซับฯมาทำงาน ก็ได้ส่งหนังสือไปยังบริษัทคู่สัญญาให้ไปตรวจสอบมา เพราะในเอกสารที่มีอยู่ไม่ได้บอกว่าบริษัทคู่สัญญาไปจ้างซับฯเพื่อทำการก่อสร้างได้ ต่อมาบริษัทคู่สัญญาตอบว่าไม่ใช่ซับฯ เขาไปทำเอง เป็นงานของเขา แต่ตัวซับฯ เข้าใจว่าได้รับมอบอำนาจให้ทำ มีชื่อระบุไว้ให้ซับฯมาทำงานธุรการ แต่ไม่ได้ให้มาทำงานก่อสร้าง"
รองฯไกรศร ย้ำว่า ไม่ว่างานก่อสร้างจะเป็นการดำเนินการของบริษัทคู่สัญญาเอง หรือบริษัทรับจ้างช่วง แต่รัฐก็ยังไม่เสียหายอะไร
"ที่ทำๆ กันอยู่นี้ ยังไม่ได้เบิกเงินให้เลย เบิกงวดงานไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่ได้เรียกว่ามีการก่อสร้าง"
ส่วนที่ ศอ.บต.ไปขึ้นป้ายโครงการบริเวณไซต์งานก่อสร้างที่มีรถแบ็คโฮ และการปรับพื้นที่ รองฯไกรศร มีคำอธิบาย...
"เรื่องการสั่งให้ขึ้นป้าย ทำให้เข้าใจว่า ศอ.บต.ไม่หยุด จริงๆ อยากให้รู้ว่าโครงการนี้ยังอยู่ ไม่ได้จะทำต่อ ณ ตอนนี้ เพราะถูกสั่งชะลอมานานแล้ว ที่มาก่อสร้างก็ต้องตรวจสอบ และยังไม่เคยให้เงิน ยังไม่เคยเห็นเลยว่ามีการจ้างซับคอนแทรคจริงหรือไม่ ศอ.บต.กำลังทำเรื่องค้างเก่าที่ผ่านมาให้ถูกต้อง"
"เท่าที่ตรวจสอบในสัญญาเบื้องต้น ระบุว่าจ้างซับคอนแทรคได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมจาก ศอ.บต.ก่อน การจัดจ้างวิธีพิเศษ ศอ.บต.ก็ต้องดูความเชี่ยวชาญ ดูคุณสมบัติ ฉะนั้นต้องดูว่าคู่สัญญามีการซิกแซกหรือเปล่า เช่น จ้างแล้วไม่บอกเรา หรืออ้างว่าเป็นตัวเองทำ หรือจ้างงานหนึ่ง แต่ทำมากกว่าที่จ้าง เพราะงบประมาณเยอะ แต่ทั้งหมดมีสเปคระบุไว้อยู่แล้ว การจะให้ใครทำแค่ไหน ศอ.บต.ต้องรับทราบ ตอนนี้งานที่ทำแค่ถมที่ ยังไม่ได้ใช้ความชำนาญพิเศษ แต่ถึงอย่างนั้น ศอ.บต.ก็ต้องรู้ก่อนอยู่ดี ฉะนั้นเราก็ไม่จ่ายเงิน ไม่ยินยอม"
"เบื้องต้นทราบว่ามีบริษัทรับเหมาในพื้นที่มาทำงานแทน ก็จะกลับไปดูสัญญาว่าจ้างซับฯหรือไม่ ศอ.บต.เคยยินยอมหรือไม่ จ้างซับฯมาทำอะไร ส่วนไหนบ้าง ที่ผ่านมาถ้ามีการทำงานโดยบริษัทที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญา ก็จะเป็นเหตุให้ยกเลิกสัญญาได้ ฉะนั้นขอเวลาตรวจสอบก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ตอนนี้ตั้งแต่เริ่มทำมา บริษัทคู่สัญญาขอถอนเรื่องการส่งงวดงานทั้งหมดก่อน ตั้งแต่เริ่มมีปัญหาถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และไม่ได้เบิกเงินค่างวดงานเลย"
รองฯไกรศร บอกด้วยว่า โครงการนี้มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งรองเลขาธิการ ศอ.บต. โครงการเคยถูกสั่งชะลอมาครั้งหนึ่งแล้วจากปัญหา 3 ประการ หนึ่งในนั้นคือการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เมื่อตนเข้ามาก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ มีการตั้งคณะกรรมการสร้างการมีส่วนร่วมขึ้นมา ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน แต่ชมรมอิหม่ามฯก็ไปแถลงแยก และเรียกร้องให้ยุติโครงการ
"เรื่องนี้มีปัญหามาตลอด งบประมาณตอนแรก 200 กวาล้าน มีการจ้างออกแบบ ชมรมอิหม่ามฯ ออกแบบมาแล้ว ไปจ้างออกแบบ แต่ปรากฏว่าวงเงินไม่ได้ แพงไปหรือเปล่า เพราะมีคณะกรรมการกำหนดราคากลางอยู่ สุดท้ายออกมาได้ในราคา 149 ล้านบาท แต่บริษัทในพื้นที่ทำไม่ได้ ก็ได้บริษัทที่เป้นคู่สัญญามาแทน โปรไฟล์เขาเคยทำงานที่ จ.นราธิวาส มาก่อน"
"โครงการนี้แต่เดิมเคยมีคำสั่งให้ชะลอมาแล้วโดยท่านรองนายกรัฐมนตรี เพราะมีปัญหา 3 อย่าง คือ 1.รูปแบบการสร้าง ประชาชนยังไม่เข้าใจ 2.การมีส่วนร่วมของชาวบ้านไม่มี และมีหนังสือของชมรมอิหม่ามฯออกมาต่อต้าน 3.สร้างแล้วไม่รู้จะให้ใครดูแล หลังจากมีคำสั่งชะลอ ก็มีหนังสือจาก 3 ฝ่ายที่รวมตัวกัน คือ ชมรมอิหม่ามฯ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และ อบต.บาเจาะ ร่วมกันทำหนังสือเร่งรัดการสร้าง ทำให้ ศอ.บต.ต้องกลับไปเร่งงานให้เกิดขึ้น ก็เลยต้องเซ็นสัญญากับบริษัทคู่สัญญา ซึ่งจริงๆ ก็อยากตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน"
"หลังจากนั้นก็มีการประชุมกันเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหา 3 เรื่องนี้ ก็มีการชี้แจงกัน รายละเอียดการก่อสร้าง 6 รายการ ก็เข้าใจตรงกัน แต่มาติดปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วม เราก็ตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมขึ้นมา ตอนนั้นไม่มีใครค้าน ชมรมอิหม่ามฯก็ไปด้วย แต่ล่าสุดชมรมอิหม่ามฯออกมาแถลงข่าวว่าค้านมานานแล้ว ต่อมาผมมารับตำแหน่ง (รองเลขาฯศอ.บต.) พบว่ามีการตั้งคณะกรรมการสร้างการมีส่วนร่วมจริง แต่ไม่มีใครมาประชุมพร้อมเพรียงกันเลย พอเรียกประชุมก็มาต่อว่า ศอ.บต.ว่าจะเดินหน้าได้อย่างไร"
"วันนี้เราไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เอาตัวแทนทุกภาคส่วนเข้ามา เช่น กรมบัญชีกลางที่รู้เรื่องสัญญา แต่ชมรมอิหม่ามฯก็แยกตัวไปแถลงเอง บอกว่าขอให้ยุติโครงการ จริงๆ แล้วควรมาคุยกัน จะได้เข้าใจกัน โครงการนี้เกิดขึ้นมานาน ผ่านเลขาธิการ ศอ.บต.มา 2 คนแล้ว จะยุติคงไม่ได้ ต้องเดินต่อ ขอให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน เพราะมัสยิด 300 ปีเป็นมัสยิดที่ทุกคนภาคภูมิใจ"
รองฯไกรศร กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุดในขณะนี้คือการที่ชมรมอิหม่ามฯขอยุติโครงการ จึงอยากให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจกัน เพราะเรื่องนี้ยืนยันว่ายุติไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อไป
---------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : นลิน สิงหพุทธางกูร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26
ภาพ : ศอ.บต.
อ่านประกอบ :
บริษัทรับงานปรับปรุงมัสยิด300ปีอยู่ปทุมฯ ที่ตั้งคล้ายบ้านร้าง แถมถูกฟ้องล้มละลาย
ภาณุ รับ บริษัทปรับปรุงมัสยิด 300 ปีล้มละลาย หารืออัยการตรวจสัญญา
เปิดเกณฑ์ "จ้างวิธีพิเศษ" เทียบมัสยิด 300 ปีหลังนายกฯสั่งฟันบริษัทล้มละลายรับงาน
ชมรมอิหม่ามบาเจาะจี้นายกฯยุติโครงการมัสยิด 300 ปี
3 บริษัทรับช่วงงานแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี ลุยก่อสร้างด้านนอก 4 อาคาร