- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- ชาวบ้านจี้เลิกสัญญาโครงการมัสยิด 300 ปี ชมรมอิหม่ามฯบาเจาะบอยคอตซ้ำ
ชาวบ้านจี้เลิกสัญญาโครงการมัสยิด 300 ปี ชมรมอิหม่ามฯบาเจาะบอยคอตซ้ำ
ปัญหาในโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตะโลมาเนาะ หรือ มัสยิด 300 ปี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางออกได้หากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไม่ยกเลิกสัญญาว่าจ้างเอกชนรายเดิมเข้าดำเนินโครงการ หลังมีข้อมูลนิติบุคคล 1 ใน 2 รายที่รวมตัวกันเป็นกิจการร่วมค้าฯ เป็นบริษัทล้มละลาย
โครงการนี้ตั้งงบประมาณเอาไว้ทั้งสิ้น 200 ล้านบาท เป็นงบผูกพันหลายปีงบประมาณ และ ศอ.บต.ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างเอกชนเข้าดำเนินการ เมื่อเดือน ก.พ.59 สิ้นสุดสัญญาปี 2562 งบประมาณเฉพาะในส่วนนี้ 149,830,000 บาท ที่ผ่านมามีกระแสคัดค้านมาตลอด โดยเฉพาะจากชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ เพราะมองว่าการดำเนินโครงการของ ศอ.บต.ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้นำศาสนาและภาคประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ผู้บริหาร ศอ.บต.ยืนยันว่าได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมมากพอแล้ว
แต่โครงการนี้มาสะดุด เมื่อ "ทีมข่าวอิศรา" เปิดเผยข้อมูลว่า เอกชนผู้รับงานเป็น "กิจการร่วมค้า" ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 2 ราย รายหนึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) อีกรายเป็นบริษัทจำกัด แต่ภายหลังทำสัญญาจ้างได้ไม่นาน กลับมีข้อมูลว่าผู้ประกอบการ 1 ใน 2 รายถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งหมายถึงถูกฟ้องล้มละลาย ทำให้โครงการนี้เป็น 1 ใน 4 โครงการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และอิหม่ามมัสยิดวาดิลฮุลเซ็น (มัสยิด 300 ปี) ได้ทำหนังสือถึง ศอ.บต. ชี้แจงท่าทีการไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อเดินหน้าโครงการ และขอถอนตัวออกจากเป็นกรรมการการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการฯ ภายหลังจากที่ทาง ศอ.บต.มีหนังสือเชิญให้เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการการมีส่วนร่วมฯ ที่ทาง ศอ.บต.แต่งตั้งขึ้น ตามคำสั่ง ศอ.บต.ที่ 453/2560
ในหนังสือชี้แจงของชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ ให้เหตุผลว่า โครงการนี้มีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ยังคงเป็นประเด็นสงสัยจากสื่อมวลชนและประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของความไม่โปร่งใสของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และขอให้ ศอ.บต.แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยก่อน จึงทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ทั้งนี้ทางชมรมอิหม่ามฯ ประธานคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และอิหม่ามมัสยิดวาดิลฮุลเซ็น ยังได้ขอถอนตัวออกจากเป็นกรรมการการมีส่วนร่วมในการดำเนินการโครงการฯด้วย จนกว่าทาง ศอ.บต.จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งสามารถพิสูจน์ความโปร่งใส่ในประเด็นข้อสงสัยที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อน
ทางชมรมอิหม่ามฯ ยังมีข้อเสนอ 2 ข้อ คือ 1.ยกเลิกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเดิม และเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ โดยพิจารณาให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง และยกร่าง TOR (Terms of Reference หมายถึงเอกสารกำหนดขอบเขตและรายละเอียดการจ้างงาน) ตลอดจนข้อกำหนดของโครงการใหม่ให้มีความละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบและบริบทของพื้นที่
2.ให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.57 ที่ให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เป็นองค์กรนิติบุคคลในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแทนชมรมอิหม่ามฯ
นายมูฮำหมัดซุลฮัน ลามะทา รองประธานชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ กล่าวว่า หนังสือที่ยื่นไปไม่ได้มีผลอะไรกับทาง ศอ.บต. เพราะถึงอย่างไรทาง ศอ.บต.ก็เดินหน้าโครงการต่อตามแนวของ ศอ.บต.อยู่แล้ว ซึ่งทางชมรมอิหม่ามฯก็ปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นกรรมการการมีส่่วนร่วมฯมาตลอดตั้งแต่แรกด้วย
"ส่วนข้อเสนอทั้ง 2 ข้อในหนังสือที่ทางชมรมฯทำถึง ศอ.บต.นั้น เป็นเพราะเราทราบว่าคณะกรรมการการมีส่วนร่วมฯได้ประชุมกันไปแล้ว ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะยกเลิกสัญญากับเอกชนรายเก่าที่มีปัญหา ซึ่งตรงนี้เราคิดว่า ศอ.บต.ต้องยกเลิกอยู่แล้ว เพราะมีปัญหาจริง ส่วนประเด็นเรื่องการจัดจ้าง ทาง ศอ.บต.คงเดินหน้าต่อ คือไม่เอาตามข้อเสนอที่จะให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้ดำเนินการในฐานะองค์กรนิติบุคคล"
นายมูฮำหมัดซุลฮัน บอกอีกว่า ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากการประชุมที่ได้รับฟังมา คือการหาทางแก้ไขกรณีเอกชนรายเดิมทำงานไปแล้ว 2-3 งวดงาน ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ 1.ศอ.บต.อาจเยียวยาให้บริษัทเดิม ซึ่งมีปัญหาล้มละลาย คือจ่ายชดเชยในส่วนที่ได้ทำงานไปแล้ว ตรงนี้ต้องไปดูในข้อกฎหมายว่าจะเยียวยาได้หรือไม่ ส่วนแนวทางที่ 2 คือ จะเขียน TOR ระบุไปเลยว่า ผู้ที่มารับงานใหม่จะต้องจ่ายค่างวดงานให้บริษัทเก่าก่อน
"ทั้ง 2 แนวทางถือว่าแปลกมาก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของ ศอ.บต. จริงๆ เป็นปัญหาของบริษัทที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์และล้มละลาย การจะให้ผู้รับงานรายใหม่จ่ายค่างวดงานให้คงไม่ถูกต้อง อาจจะเกิดปัญหาได้ แนวทางของ ศอ.บต.เองยังไม่ชัดเจนแบบนี้ ทางเรา (ชมรมอิหม่ามฯ) ก็ยังไม่คิดที่จะร่วมทำอะไรกับ ศอ.บต."
รองประธานชมรมอิหม่ามฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่า แนวทางการดำเนินการของ ศอ.บต.ในตอนนี้ คงพยายามบีบชมรมอิหม่ามฯ โดยใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชน ร่วมกันกดดันชมรมอิหม่ามฯ และคณะกรรมการมัสยิด ให้ยอมตาม ศอ.บต. แต่ตรงนี้ทางชมรมฯเองก็ได้คุยกันแล้ว และได้ทำมาตลอด คือเราจะไม่ส่งมอบพื้นที่ให้
"ผมมองว่าการแก้ปัญหาในตอนนี้ เราต้องมาคุยกันก่อน หากทาง ศอ.บต.จะทำให้มันชัดเจนเลยก็คือ อย่างแรกต้องยกเลิกสัญญากับบริษัทเก่าก่อน อย่างที่สองเรื่องแนวทางการเยียวยาให้บริษัทเก่า ต้องดำเนินการให้จบไปก่อน แต่ตอนนี้เราดูแนวทางการแก้ปัญหาของ ศอ.บต. เหมือนเขากำลังสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ แล้วจะมาชุมชนมาช่วยแก้ปัญหาให้เขา แบบนี้เรามองว่า ศอ.บต.กำลังเดินทางผิด ฉะนั้นเขาต้องดำเนินการให้เรียบร้อยถูกต้องก่อน แล้วค่อยมาคุยกับชมรมอิหม่ามฯว่าจะเดินหน้าอย่างไร" นายมูฮำหมัดซุลฮัน ระบุ และว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ชมรมอิหม่ามฯอยากให้มีการดูแล คือเรื่องคุณภาพงานให้เป็นไปตามที่ชุมชนต้องการจริงๆ
"การมาพูดคุยกัน เราไม่อยากให้เหมือนการประชุมที่ผ่านๆ มา ซึ่ง ศอ.บต.พยายามแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาเป็นกรรมการให้มากที่สุด และสุดท้ายก็ไม่ฟังเหตุผล แล้วจะเอามติโดยการยกมือ นับคะแนนกัน ประเภทนี้เราไม่เอาแล้ว ถ้าอยากจะประชุมกับเราจริง ขอเป็นการมาคุยกัน เอาเรื่องประโยชน์ของชาวบ้านให้ดีที่สุดจนตกผลึก แล้วค่อยมาตัดสินใจกัน แต่ถ้าจะใช้แนวเดิมๆ ด้วยการแต่งตั้งเราเป็นคนส่วนน้อย คนของ ศอ.บต.มาเป็นส่วนใหญ่ของกรรมการ แล้วมาขอมติที่ประชุม เราไม่เอาแบบนี้ เราไม่เชื่อแล้ว เรายอมที่จะไม่ทำดีกว่า คืออย่าลืมว่าทาง ศอ.บต.มาทำเสร็จเขาก็หายตัวไป แต่เราต้องอยู่กับชุมชน ต้องตอบชุมชนจนเราตาย" รองประธานชมรมอิหม่ามฯ กล่าว
มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ย.60 ทางอำเภอบาเจาะได้เข้าไปจัดประชุมทำประชาคมกับชาวบ้านตะโละมาเนาะ โดยไม่แจ้งผู้นำศาสนาในพื้นที่ ปรากฏว่ามีชาวบ้านเข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่ง มติที่ประชุมประชาคมสรุปว่า ให้ยกเลิกสัญญากับบริษัทที่ล้มละลายก่อน แล้วมีมติให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
บริษัทรับงานปรับปรุงมัสยิด300ปีอยู่ปทุมฯ ที่ตั้งคล้ายบ้านร้าง แถมถูกฟ้องล้มละลาย
ภาณุ รับ บริษัทปรับปรุงมัสยิด 300 ปีล้มละลาย หารืออัยการตรวจสัญญา
เปิดเกณฑ์ "จ้างวิธีพิเศษ" เทียบมัสยิด 300 ปีหลังนายกฯสั่งฟันบริษัทล้มละลายรับงาน
ชมรมอิหม่ามบาเจาะจี้นายกฯยุติโครงการมัสยิด 300 ปี
3 บริษัทรับช่วงงานแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี ลุยก่อสร้างด้านนอก 4 อาคาร
ทางวิบากโครงการ "มัสยิด 300 ปี" เดินหน้าต่อ สั่งชะลอ หรือเลิกสัญญา?
เปิดตัวแล้ว "หจก.สนธิเศรษฐ" รับงานมัสยิด 300 ปี 149 ล้าน!
เปิดกฎหมายตอบทุกคำถาม "ล้มละลาย-จ้างช่วง" โครงการมัสยิด 300 ปี