คำถามถึงปธ.ศาลปกครองสูงสุด ทำไม? ไม่นำคดี ‘อู่ตะเภา’เข้าที่ประชุมใหญ่
"...เมื่อพิจารณาระเบียบดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า ‘อู่ตะเภา’ เป็นทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับ ‘ประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ’ และ ‘อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองสูงสุด’ ดังนั้นจึงชอบที่ประธานศาลปกครองสูงสุดจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่ประมาณ 51 คน เพื่อวาง ‘หลักการ’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เป็นแนวทางเดียวกันด้วยความรอบคอบ แม้เรื่องจะช้าไปบ้างและผลออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถนินทาว่าร้ายลับหลังได้ว่า ทำตามใบสั่งใครหรือไม่?..."
แม้ในทางกฎหมาย คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นสุดและคู่กรณีต้องปฏิบัติตาม!
แต่สำหรับคดีที่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก (ประกอบด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited ) ชนะคดีที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ในข้อพิพาท ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติไม่รับซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคาของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด เพราะ ลำเลียงเอกสารมาถึงสถานที่รับซองเกินเวลาที่กำหนด ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากใน 2 ประเด็น
หนึ่ง คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้(หมายเลขแดง อ.1/2563) เป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่?
เพราะที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนมาตลอดถึง 5 คดีว่า การที่เอกชนยื่นซองประมูลไม่ทันเวลาตามหน่วยงานของรัฐกำหนดแม้เพียง 39 วินาทีและด้วยเหตุผลใดก็ตามถือ เป็น “สาระสำคัญ”มีผลให้เอกชนที่เข้ายื่นซองประมูลสามารถถูกตัดสิทธิ์ได้(อ้างอิงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหมายเลขแดง อ.571-572/2556, อ. 92/2559, อ.1054/2559, อ.1205/2560, อ.364/2562 ( อ่านประกอบ:เอกชนแพ้ทั้ง 5 คดี! แนวคำวินิจฉัยศาล ปค.สูงสุด ยื่นประมูลไม่ทันเวลา)
สอง เมื่อเป็นการกลับหรือเปลี่ยนแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองสูงสุด ทำไมนายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด จึงไม่นำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของตุลการศาลปกครองสูงสุด
ประกอบกับในการพิจารณาคดีครั้งแรก พล.ร.ต. เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก แถลงว่า ได้ยื่นคำร้องต่อประธานศาลปกครองสูงสุดขอให้นำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของตุลการศาลปกครองสูงสุดด้วย
ในประเด็นที่หนึ่ง กลุ่มธนโฮลดิ้ง ลำเลียงเอกสารผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.09 น. ซึ่งเกินระยะเวลาในการลงทะเบียน (ตามมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ คือระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย ของกรมอุทธศาสตร์ กองทัพเรือ ของวันที่ 21 มี.ค. 2563) โดยกลุ่มธนโฮลดิ้งอ้างว่า เป็นเพราะการจราจรติดขัด
สาระสำคัญในพิพากษาศาลปกครองสูงสุดซึ่งสำนักงานศาลปกครองสรุปเผยแพร่คือ
“กลุ่มธนโฮลดิ้ง และกลุ่มเอกชนอื่น ๆ มาถึงจุดลงทะเบียนระหว่างเวลาประมาณ 12.00-13.00 น. หลังจากนั้นกลุ่มเอกชนเข้าไปนั่งพักในห้องรับรอง ต่อมาในกระบวนการรับเอกสารและตรวจสอบเอกสารกลุ่มเอกชนแต่ละรายเริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. และเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 18.00 น.
“สำหรับกลุ่มธนโฮลดิ้ง มาลงทะเบียนเมื่อเวลาประมาณ 12.20 น. ซึ่งจากพฤติการณ์เห็นได้โดยประจักษ์ชัดว่า กลุ่มธนโฮลดิ้ง มีความประสงค์ต้องการยื่นข้อเสนอ และได้เข้าร่วมในการยื่นข้อเสนอเนื่องจากลงทะเบียนในกำหนดเวลา ดังนั้นปัญหาของคดีนี้มิใช่ว่า ยื่นข้อเสนอล่าช้า แต่กลุ่มธนโฮลดิ้ง ได้ลงทะเบียน พร้อมกับนำข้อเสนอไม่ปิดผนึก (ซองที่ 0) มาพร้อมกับข้อเสนอปิดผนึกฉบับจริง และฉบับสำเนามาก่อนเวลา 15.00 น.
“ประเด็นต่อมาคือ กลุ่มธนโฮลดิ้ง ขนเอกสารซองที่ 2 กล่องที่ 6/10 และซองที่ 3 กล่องที่ 9/10 ลำเลียงผ่านจุดลงทะเบียนหลังเวลา 15.00 น. เป็นเหตุให้คณะกรรมการคัดเลือกฯมีคำสั่งไม่รับซองของกลุ่มธนโฮลดิ้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
“ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า กระบวนการในวันที่ 21 มี.ค. 2563 (วันลงทะเบียน) การให้เอกชนลงทะเบียนเริ่มตั้งแต่ 09.00-15.00 น. และเข้ายื่นข้อเสนอ เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. ปรากฏว่า เอกชนทุกกลุ่มรวมถึงกลุ่มธนโฮลดิ้ง มีเอกสารหลักฐานรับรอง โดยเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือผู้รับลงทะเบียน และรับซองข้อเสนอ ต่างปฏิบัติเช่นเดียวกันกับเอกชนทุกกลุ่ม
“แม้ว่าตามข้อกำหนดของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาเรื่องระยะเวลาเป็นสำคัญ แต่ต้องกำหนดให้สอดคล้องกับกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงด้วย เพราะเอกสารทั้งหมดที่กลุ่มธนโฮลดิ้งนำมาลงทะเบียน เกิดขึ้นก่อนเวลา 15.00 น. ซองเอกสารต่างอยู่ในการครอบครองของกลุ่มเอกชนตั้งแต่ต้น ดังนั้นการที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ปฏิเสธไม่รับซองที่ 2 กล่องที่ 6/10 และซองที่ 3 กล่องที่ 9/10 ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง หาใช่เอกสารที่จำเป็นต้องเปิดซองในวันที่ 21 มี.ค. 2562 (วันลงทะเบียนยื่นซอง) แต่อย่างใดไม่
“ดังนั้นคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงไม่มีน้ำหนักหรือข้อสงสัยอย่างจริงจังว่า ซองที่ 2 กล่องที่ 6/10 และซองที่ 3 กล่องที่ 9/10 ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง ที่ลำเลียงเข้าห้องเก็บเอกสารหลังเวลา 15.00 น. เกิดจากการที่กลุ่มธนโฮลดิ้ง ล่วงรู้ข้อเสนอของกลุ่มเอกชนอื่น หรือประเมินราคาเอารัดเอาเปรียบเอกชนรายอื่น เพราะการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มเอกชน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯจะนัดวันเวลาที่เหมาะสมต่อไป
“กรณีเอกสารซองที่ 2 กล่องที่ 6/10 และซองที่ 3 กล่องที่ 9/10 ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง ถูกขนผ่านจุดลงทะเบียนเมื่อเวลา 15.09 น. ไม่อาจระบุได้ว่า เป็นข้อบกพร่องถึงขนาดจะกระทบถึงเรื่องการร่วมกันลงทุน รวมถึงไม่ได้ขัดหรือแย้งกับหลักการเปิดเผย โปร่งใส หรือการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ถึงขนาดมีนัยสำคัญแต่อย่างใดไม่”
เมื่ออ่านคำวินิจฉัยหรือเหตุผลของศาลปกครองสูงสุดคณะนี้แล้ว ยอมรับข้อเท็จจริงว่า “เอกสารซองที่ 2 กล่องที่ 6/10 และซองที่ 3 กล่องที่ 9/10 ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง ถูกขนผ่านจุดลงทะเบียนเมื่อเวลา 15.09 น.” เกินเวลาตามที่คณะกรรมการฯกำหนด เพียงแต่ศาลปกครองสูงสุดคณะนี้เห็นว่า
“ไม่อาจระบุได้ว่า เป็นข้อบกพร่องถึงขนาดจะกระทบถึงเรื่องการร่วมกันลงทุน รวมถึงไม่ได้ขัดหรือแย้งกับหลักการเปิดเผย โปร่งใส หรือการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ถึงขนาดมีนัยสำคัญแต่อย่างใดไม่”
หรือสามารถแปลความได้หรือไม่ว่า ศาลปกครองสูงสุดองค์คณะนี้ไม่ยึดถือว่า ‘เวลา’ เป็น ‘สาระสำคัญ’ ในการยื่นซองประมูล แต่เป็น‘ข้อบกพร่อง’เพียงเล็กน้อยซึ่งการใช้ดุลพินิจที่แตกต่างจาก แนวคำวินิจฉัยเดิมศาลปกครองสูงสุดที่ยึดถือ ‘เวลา’เป็น ‘สาระสำคัญ’ ในการยื่นซองประมูล
เช่นเดียวกับคำพิพากษาในคดีนี้ของศาลปกครองกลางที่เห็นว่า เอกสารซองข้อเสนอของบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก จำนวน 2 กล่องดังกล่าว มาถึงยังสถานที่รับซองภายหลังเวลา 15.00 น. อันเป็นกำหนดเวลาปิดการรับซองตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (1) ของเอกสารการคัดเลือกฯ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับกล่องดังกล่าวไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไปตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (3) โดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกเป็นกรณีพิเศษได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 6/2562 วันที่ 10 เม.ย. 2562 ที่ไม่รับซองข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ของบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา จึงชอบด้วยกฎหมาย
ในประเด็นที่สอง เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้เป็นการกลับหรือเปลี่ยนแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเดิมในการไม่ยึดถือถือ ‘เวลา’ เป็น ‘สาระสำคัญ’ ในการยื่นซองประมูล ก็เข้าเงื่อนไขที่ประธานศาลปกครองสูงสุดสามารถนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้ตาม มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ระบุว่า “ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่”
ทั้งนี้ ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 94 (ข้อ 116 ให้ใช้กับศาลปกครองสูงสุดด้วย)ระบุว่า “ในคดีที่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดต่อไปนี้ อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นนั้นก็ได้ ได้แก่
(1) คดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมากหรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ
(2) คดีที่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ
(3) คดีที่อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด
(4) คดีที่มีทุนทรัพย์สูง”
เมื่อพิจารณาระเบียบดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า ‘อู่ตะเภา’ เป็นทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับ ‘ประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ’ และ ‘อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองสูงสุด’ ดังนั้นจึงชอบที่ประธานศาลปกครองสูงสุดจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่ประมาณ 51 คน เพื่อวาง ‘หลักการ’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เป็นแนวทางเดียวกันด้วยความรอบคอบ แม้เรื่องจะช้าไปบ้างและผลออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถนินทาว่าร้ายลับหลังได้ว่า ทำตามใบสั่งใครหรือไม่?
เพราะหากปล่อยให้แต่ละองค์คณะของศาลปกครองสูงสุดที่มีเพียง 5 คน ต่างใช้ดุลพินิจวิฉัยว่า ว่า ‘เวลา’ เป็น ‘สาระสำคัญ’หรือไม่ในการยื่นซองประมูลแข่งขันแตกต่างกันในแต่ละคดี นอกจากจะสร้างความปั่นป่วนในการยื่นประมูลงานในหน่วยงานของรัฐแล้ว จะเกิดการฟ้องร้องกันอุตลุด และจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อต่อศาลปกครองอย่างมากด้วย
การวางหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญเป็นภาระหน้าที่ของศาลปกครองโดยเฉพาะการวินิจฉัยหลักกฎหมายที่อาจกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเครื่องมือที่สำคัญคือที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
การที่ประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ยอมนำคดีนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้สร้างความแปลกใจให้แก่แวดวงนักกฎหมายและตุลาการในศาลปกครองหลายคนเป็นอย่างมาก
อ่านประกอบ :
ไม่ใช่ข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ!ละเอียดคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดให้‘ซีพี’ชนะคดีอู่ตะเภา
ข้อสังเกตใหม่! คดีอู่ตะเภา'คำสั่งทุเลาฯรับซองกลุ่มซีพี-ตุลาการแถลงคดี' ยึดแนววินิจฉัยเดียวกัน
ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที
ตุลาการแถลงคดีศาลปค.สูงสุด เสนอให้กลุ่มซีพีฯ ชนะคดีอู่ตะเภา-ทร.แย้งทำลายระบบจัดซื้อจ้าง
ยกเหตุจราจรติดขัด-อย่ายึดถือเวลาสาย9น.! ศาลปค.สูงสุด นัดพิจารณาคดีอู่ตะเภาฯ 7พ.ย.นี้
กลุ่มซีพีสู้ต่อ! อุทธรณ์ศาลปค.สูงสุด ค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ-ทร.ชิงประกาศผู้ชนะ 24 ก.ย.
กลุ่มซีพีแพ้! ศาลปค.กลาง ยกฟ้องค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.-ยื่นซองเกินเวลา
รู้ผลแพ้ชนะ 21ส.ค.นี้! ศาล ปค.นัดอ่านคำพิพากษากลุ่มซีพี ฟ้องค้านมติอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.
กลุ่มซีพีฯพ่ายยกแรก! ศาลปค.ฯ ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฟ้องมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ
อุบผลไต่สวนมูลฟ้องค้านมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ2แสนล.- รองผบ.ทร. ขอทำข่าวแจก17 พ.ค.นี้
ทร.ยันโครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นธรรม-คาดพิจารณาคุณสมบัติเสร็จก่อนสิ้น พ.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/