ตะลุยพิพิธภัณฑ์ ‘Newseum’ เทียบเสรีภาพสื่อสหรัฐฯ-ไทย ทำไมต่างกันราวฟ้ากับเหว?
“…ที่ผ่านมา เห็นได้ว่ารัฐบาล และ คสช. ไม่ค่อยมีความจริงจัง-จริงใจ ในการแก้ปัญหาสิทธิ-เสรีภาพสื่อเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีบุคคลบางกลุ่มเสนอว่า สื่อควรถูกควบคุมโดยรัฐบาล ทั้งที่ตามหลักการแล้ว การทำเช่นนี้ ย่อมทำให้การรายงานข่าวของสื่อยากลำบากยิ่งขึ้นหลายเท่า และรัฐบาลจะไม่มีใครเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ เหมือนกับประเทศจีน และอีกหลายประเทศที่เป็น ‘เผด็จการ’…”
ก่อนเดินทางออกจากวอชิงตัน ดี.ซี. มุ่งสู่นิวยอร์ค นับเป็นวันที่ 5 ที่ได้ใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ผมมีโอกาสแวะพิพิธภัณฑ์เสรีภาพสื่อ และการต่อสู้เรื่องการแสดงความคิดเห็นของประชาชน หรือ ‘Newseum’ ตั้งอยู่บริเวณถนนอินดีเพนเดนซ์ (ถนนอิสรภาพ) ใกล้กับสภาคองเกรส (United State Congress) ขนาบข้างไปด้วยสารพัดตึกที่มี Federal Government หรือรัฐบาลกลางเป็นเจ้าของ โดยถนนอินดีเพนเดนซ์ คือถนนเดียวกับที่ประชาชนจำนวนมากมักรวมตัวกันเพื่อประท้วงทางการเมืองตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
ด้วยความที่ทำวิชาชีพนี้ ผมไม่รอช้าที่จะตรงดิ่งเข้าไปดูนิทรรศการต่าง ๆ ที่จัดแสดงภายใน Newseum แห่งนี้ โดยวันที่ผมไปคือช่วงบ่ายวันที่ 11 ก.ค. 2018 (ในไทยคือวันที่ 12 ก.ค. 2018) Newseum จัดแสดงภาพถ่ายเทศกาล Picture of the years ครบรอบ 75 ปี โดยนำภาพที่ได้รับรางวัลระดับโลกมาจัดแสดง ส่วนมากภาพที่ได้รางวัลมักเป็นเหตุการณ์รุนแรง หรือสถานการณ์ความขัดแย้งทั้งทางการเมือง เชื้อชาติ และสงคราม
(นิทรรศการ Picture of the years ครบรอบ 75 ปี)
นอกจากนี้ยังจัดนิทรรศการภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล Pulitzer หรือพูลิตเซอร์ รางวัลอันทรงเกียรติที่เป็นความฝันสูงสุดของนักข่าวบางราย (เช่นตัวผมเอง) มอบให้กับข่าว ภาพ และวรรณกรรม ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม บริหารงานโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ค
(นิทรรศการภาพถ่ายรางวัลพูลิตเซอร์ ตรงกลางจะเห็นว่ามีภาพจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ค.ศ.1976 ด้วย)
อย่างไรก็ดีก่อนหน้าที่ผมมาถึงสหรัฐอเมริกาประมาณ 2 สัปดาห์ เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจ โดยเฉพาะคนในแวดวงสื่อ เนื่องจากสำนักข่าว Capital Gazette หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเมืองแอนนาโพลิส รัฐแมรี่แลนด์ ถูกชายวัย 28 ปี บุกเข้าไปในสำนักข่าว และใช้ปืนพกยิงนักข่าว-บุคลากรฝ่ายข่าวเสียชีวิตทั้งหมด 5 ราย เนื่องจากโมโหที่สำนักข่าวแห่งนี้รายงานข่าวของเขาในเชิงลบ แต่ไม่มีการบอกรายละเอียดว่ารายงานข่าวเชิงลบแบบไหน
(บอร์ดรายงานข่าว นักข่าว Capital Gazette เสียชีวิต 5 ราย)
ประเด็นนี้ค่อนข้างน่าสนใจ และกลายเป็นข่าวโด่งดังในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากในปี 2015 เคยเกิดเหตุการณ์ยิงนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ดับเบิลยูดีบีเจ 7 ของสหรัฐฯเสียชีวิตมาแล้ว 2 ราย ด้วย ทำให้อเมริกันชน ‘สั่นคลอน’ ถึงความปลอดภัยในชีวิตของตัวเองมากขึ้น
Newseum ในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ จึงจัดทำ Poll เพื่อโหวตว่า เหตุการณ์ยิงนักข่าวเสียชีวิต 5 ราย ของสำนักข่าว Capital Gazette เปลี่ยนความคิดของประชาชนสหรัฐฯหรือไม่ว่า การเป็นนักข่าวในสหรัฐฯอาจตกอยู่ในอันตรายได้ เบื้องต้นมีคนมาโหวตแล้วหลายร้อยราย โดยส่วนมากเห็นไปว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้อาชีพนักข่าว ที่มีเสรีภาพสูงสุดในสหรัฐฯตกอยู่ในภาวะอันตรายจากการรายงานข่าว
นอกจากนี้ Newseum ยังรวบรวมรายชื่อนักข่าวที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าว ทั้งถูกลอบทำร้าย การเปิดโปงทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงในสงครามไว้ด้วย (ผมบังเอิญพลาด กดลบภาพนั้นไป เลยไม่มีมาให้ดู เสียดายมาก)
(บอร์ดให้ประชาชนแสดงความเห็นว่า การยิงนักข่าวเสียชีวิต 5 รายดังกล่าว ทำให้อาชีพสื่อในสหรัฐฯตกอยู่ในอันตรายขนาดไหน)
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงนักข่าวประจำสำนักข่าวชื่อดังในสหรัฐฯหลายราย ให้เหตุผลตรงกันว่า เหตุการณ์นี้สร้างความขวัญผวาให้กับประชาชน และส่งผลกระทบต่อคนทำอาชีพข่าวไม่น้อย แม้ว่าสหรัฐฯจะให้เสรีภาพกับสื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ก็ตาม แต่ปัจจุบันการใช้เสรีภาพดังกล่าว อาจเกิดความอันตราย จนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการรายงานข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้
อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ในอดีตเคยมีนักข่าวรายใดที่เสียชีวิตเพราะถูกลอบทำร้าย หรือถูกอุ้มฆ่า เนื่องจากสาเหตุของความโกรธแค้นส่วนตัว หรือเหตุการณ์ทางการเมืองบ้าง เท่าที่นึกออกตอนนี้มีกรณีนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดัง เจ้าของเว็บไซต์ ‘ไทยอินไซเดอร์’ เมื่อปี 2013 ถูกชายลึกลับอุ้มหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย กระทั่งมีชาวบ้านไปพบว่าเสียชีวิตแล้ว โดยไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่มีการคาดการณ์กันว่า เบื้องหลังคือการปิดปากทางการเมือง เพราะ ‘ไทยอินไซเดอร์’ รายงานข่าวเชิงการเมืองโจมตีนักการเมืองบางรายอย่างถึงพริกถึงขิงในขณะนั้น
แต่ผมเชื่อว่า น่าจะมีนักข่าวที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมือง หรือการเปิดโปงการทุจริตของนักการเมือง ข้าราชการ และผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นอีกจำนวนมาก ที่อาจไม่มีการพูดถึง
สิ่งที่น่าสนใจคือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่เป็นองค์กรหลักที่กำกับดูแล และปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ มักถูกตั้งคำถามอยู่เป็นประจำถึง ‘มาตรฐาน’ ในการทำงาน กลับไม่มีการรวบรวมรายชื่อนักข่าวที่เสียชีวิตจากการทำข่าวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันแต่อย่างใด ?
ปัจจุบันประเด็นเสรีภาพสื่อกำลังกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ โดยเฉพาะกรณีรายงานข่าวเด็ก-โค้ชทีมฟุตบอลหมูป่า ติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย ที่พบว่า มีบางสื่อค่อนข้าง ‘ล้ำเส้น’ เจ้าหน้าที่รัฐ แต่อ้างว่าเป็นเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ผมขอไม่พูดถึง แต่ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินกันเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อปี 2014 เป็นต้นมา เสรีภาพสื่อถูกลิดรอนลงอย่างมาก โดยเฉพาะคำสั่งหลายฉบับของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ควบคุมการทำงานสื่ออย่างเข้มงวด ว่ากันว่าก่อนที่สถานีโทรทัศน์บางแห่งจะ ‘On air’ ข่าวภาคค่ำ จะมีทหารเข้าไปตรวจดูเทป และยืนเฝ้าการรายงานของผู้ประกาศข่าวด้วย
หลายเหตุผลเหล่านี้เอง ทำให้ 4 ปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ไทย ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ ‘ไม่มีเสรีภาพสื่อ’ เห็นได้จากองค์กรอย่าง Freedom House ที่จัดดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลกเมื่อปี 2017 พบว่า ไทย ‘ไม่มีเสรีภาพสื่อ’ ร่วมกับจีน เกาหลีเหนือ พม่า กัมพูชา โดยมีคะแนนถึง 77 คะแนน (ยิ่งคะแนนมาก ยิ่งไม่มีเสรีภาพ) หรือแม้แต่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) จัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับที่ 142 จาก 180 ประเทศ (ยิ่งอันดับสูง ยิ่งมีเสรีภาพมาก) โดยอยู่ในโซน ‘สถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับรายงานข่าว (Difficult Situation)’
(แผนผังดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2017 จัดทำโดย Freedom House)
ที่ผ่านมา เห็นได้ว่ารัฐบาล และ คสช. ไม่ค่อยมีความจริงจัง-จริงใจ ในการแก้ปัญหาสิทธิ-เสรีภาพสื่อเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีบุคคลบางกลุ่มเสนอว่า สื่อควรถูกควบคุมโดยรัฐบาล ทั้งที่ตามหลักการแล้ว การทำเช่นนี้ ย่อมทำให้การรายงานข่าวของสื่อยากลำบากยิ่งขึ้นหลายเท่า และรัฐบาลจะไม่มีใครเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ เหมือนกับประเทศจีน และอีกหลายประเทศที่เป็น ‘เผด็จการ’
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งที่ผ่านมา มีสื่อบางแห่ง รายงานข่าวโดยไม่ยึดโยงจริยธรรม และละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รวมถึงไม่คำนึงกาลเทศะ แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมสื่อ แต่องค์กรสื่อจำเป็นต้อง ‘ยกเครื่อง’ ออกมาตรการกำกับดูแลกันเองให้ได้ เบื้องต้นสิ่งที่ควรแก้ก่อนเลยคือ ‘การเมืองในแวดวงสื่อ’ ที่เป็นปัญหาสำคัญทำให้สื่อบางแห่งไม่เชื่อมือบางองค์กรที่กำกับดูแลสื่ออยู่ในขณะนี้
ท้ายสุดผมขอยกคำกล่าวของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน นักปรัชญา นักคิดนักเขียนชื่อดัง และเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 3 ที่ระบุว่า “หากให้เลือกระหว่างมีรัฐบาล และไม่มีหนังสือพิมพ์ หรือมีหนังสือพิมพ์ แต่ไม่มีรัฐบาล ข้าพเจ้าเลือกอย่างหลัง”
ยิ่งขับเน้นให้เห็นว่าผู้นำ หรือรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง แตกต่างกับนักการเมือง-ผู้มีอำนาจในไทยอย่างเห็นได้ชัด
แม้ว่าพอเจฟเฟอร์สัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สื่อมายุ่มย่ามกับเขา หรือรัฐบาลเขา สวนทางกับคำกล่าวของเขาก่อนหน้านี้ แต่ก็อย่างคำพูดคลาสสิคที่ว่า ไม่มีนักการเมือง-ผู้มีอำนาจคนไหนชอบสื่อ (ฮา)
อ่านประกอบ :
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์