ทบทวน 3 ปี! รมว.พลังงาน เผยแผนเพิ่มระยะเวลาศึกษา-ตัดสินใจ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา
แค่ทบทวน รมว.พลังงาน เผยแผนเพิ่่มระยะเวลาศึกษา-ตัดสินใจ โรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่-เทพา ออกไปอีก 3 ปี ยันช่วง 5 ปี ข้างหน้ายังสามารถรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ได้
วันที่ 2 ก.พ. 2561 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างพบปะสื่อมวลชน ถึงกระบวนการตัดสินใจพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ (กระบี่และเทพา) ว่า ตามที่ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ที่ในปัจจุบันยังจำเป็นต้องส่งไฟฟ้าจากส่วนกลาง ผ่านสายส่งระยะทางกว่า 600 ก.ม. ในอัตราสูงถึง 17% (460MW) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลานานได้ โดยที่ กฟผ. ได้เริ่มโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา ตามกำหนดการในแผน PDP2015 นั้น
กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง "ทบทวน" แผนงานดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าให้เป็นปัจจุบันแทนแผน PDP2015 และได้ผลสรุปเบื้องต้นว่า สำหรับช่วงเวลา 5 ปี ข้างหน้า ยังจะสามารถรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ได้ ด้วยการดำเนินการ ดังนี้
1.เพิ่มจำนวนและขนาดของสายส่งแรงดันสูง (high voltage transmission line) เชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ขนอมและจะนะ) ตรงสู่เมืองที่มีการใช้ไฟฟ้ามากในบริเวณฝั่งอันดามัน และเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางที่สถานีจังหวัดสุราษฎร์ธานี
2. พัฒนาระบบสายส่งและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอกับความต้องการในพื้นที่
"เมื่อมีแผนดำเนินการดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะสามารถมีเวลาเพิ่มขึ้นในการศึกษาและตัดสินใจในการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองโครงการอีกประมาณ 3 ปี โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะใช้เวลาดังกล่าวดำเนินการศึกษา EHIA ให้แล้วเสร็จ และสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะเป็นการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ปัจจุบันและทางเลือกพื้นที่อื่นควบคู่ไปด้วย"
ทั้งนี้ ดร.ศิริ กล่าวด้วยว่า เมื่อครบ 3 ปีแล้ว กระทรวงพลังงานจะร่วมกับทุกฝ่าย ตัดสินใจอีกครั้งว่า ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยังมีความจำเป็นที่ต้องสร้างอยู่หรือไม่ โดยหากพบว่าการสร้างโรงไฟฟ้าจากLNG ในเวลานั้นทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศถูกลงเพราะราคาเชื้อเพลิงถูกลง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา อาจจะไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างก็ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม กรณีกลุ่มชาวบ้านคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาว่า ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งเท่าที่ทราบเบื้องต้นอาจจะต้องชะลอโครงการออกไปก่อน โดยจะมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ขณะเดียวกันต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่จะเข้าไปทดแทนในพื้นที่ภาคใต้
อ่านประกอบ:
ชะลอเท่ากับยื้อ รฟฟ.ถ่านหินเทพา ชาวสงขลายันทางออกต้อง ‘ยกเลิก’ เท่านั้น
สลายกลุ่มต้านถ่านหินเทพา รวบ16 แกนนำ หลังเดินเท้าขอยื่นหนังสือถึงนายกฯ ครม.สัญจร
เครือข่ายคนเทพา ร้องนายกฯ สอบที่มารายงาน EHIA รฟฟ.ถ่านหิน หวั่นมีผลประโยชน์ทับซ้อน
จากกระบี่ถึงเทพา...กระแสต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินลามทั่วใต้!