ความขัดแย้งที่เทพา...เมื่อโรงไฟฟ้า (ถูก) โยงความมั่นคง
มีเสียงไถ่ถามกันมากมาย ว่าเหตุใดการชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา จึงมีความตึงเครียด จริงจัง และหน่วยงานรัฐไม่ยอมอ่อนข้อให้ แม้แต่การรวมตัวเดินเท้าไปพบนายกรัฐมนตรีก็ถูกสกัดกั้นด้วยมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง
ท่าทีของผู้ใหญ่ในรัฐบาลเองก็สะท้อนชัดว่า งานนี้ไม่มียอม ทั้งยังมอง “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ในแง่ลบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกทำนองว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงก่อน และไม่ยอมให้ความร่วมมือในการพูดคุยหาทางออก ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ถึงกับบอกว่า 16 แกนนำที่ถูกจับ จริงๆ ไม่ใช่แกนนำ แต่เป็นกลุ่ม "ฮาร์ดคอร์"
นี่ยังไม่นับ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ "เสธ.ไก่อู" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตอกย้ำว่ากลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ซ้ำยังตั้งข้อสังเกตเรื่องข่าวแกนนำบางคนหายตัว โดยนำไปเปรียบเทียบกับกรณีอื่นที่มีผู้ชายหนีเที่ยว จนกลายเป็นเรื่องราวบานปลาย
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า กระแสคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และร้อนระอุขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงขั้นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากชาวบ้านในท้องถิ่น
เมื่อสืบค้นรายละเอียดของโครงการ ก็จะพบสาเหตุว่าทำไมชาวบ้านจึงต้องหวั่นกลัว...
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และอาจจะใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 2,200 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2,960 ไร่ ริมทะเล ต.ปากบาง อ.เทพา
ข้อมูลจากฝ่ายคัดค้านโครงการระบุว่า ตามแผนจะสั่งเข้าถ่านหินสะอาดจากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาผลิตไฟฟ้า โดยต้องเผาถ่านหินวันละ 1,000 รถบรรทุกเป็นอย่างน้อย และเมื่อมีการก่อสร้าง จะต้องย้ายชุมชนออกจากพื้นที่กว่า 100 ครัวเรือน ย้ายมัสยิด 2 แห่ง กุโบร์หรือสุสาน 2 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง
ประชาชนบางส่วนในพื้นที่เชื่อว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่ทำประมงชายฝั่ง ขณะที่ชาวบ้านมองว่าพวกตนไม่ได้รับรู้ข้อมูลของโครงการอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA รวมทั้งข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน โดยเฉพาะปัญหามลพิษในระยะยาวจากกระบวนการขจัดกากของถ่านหิน เฉพาะบ่อขี้เถ้าก็มีขนาดใหญ่ถึง 750 ไร่
ความขัดแย้งปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะมีชาวเทพาอีกบางส่วนที่สนับสนุนโรงไฟฟ้า เนื่องจากมองว่าจะนำพาความเจริญเข้ามา มีการจ้างงาน และค้าขายได้คล่องขึ้น กลุ่มผู้สนับสนุนมีทั้งชาวบ้านทั่วๆ ไปใน ต.ปากบาง จุดที่เตรียมการก่อสร้าง และกลุ่มธุรกิจค้าขาย ตลอดจนกลุ่มที่ทำบ้านพักตากอากาศในพื้นที่ใกล้เคียง
“ทีมข่าวอิศรา” เคยส่งทีมข่าวลงไปในพื้นที่ และพบว่าแม้ในหมู่บ้านเดียวกัน ก็ยังมีการปักธง ติดป้ายเชิงสัญลักษณ์ ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน จนมีร่องรอยความขัดแย้งคุกรุ่นเรื่อยมา
หลายครั้งมีการแสดงพลังแบบเผชิญหน้า จนเกือบปะทะกันมาหลายรอบแล้ว
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งส่อเค้าบานปลาย ก็คือโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา มีมิติเชื่อมโยงทางความมั่นคงด้วย ไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางพลังงาน แต่เป็นความมั่นคงที่ทับซ้อนอยู่กับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ฝ่ายทหารแสดงท่าทีสนับสนุนโครงการอย่างไม่ปิดบัง และยังอำนวยความสะดวกให้กับการแสดงพลังของกลุ่มหนุนโรงไฟฟ้าด้วย
การเปิดทางให้มวลชนฝ่ายสนับสนุนเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีได้ ถึงในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระหว่างนายกฯปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ เป็นตัวอย่างอันดีของท่าทีฝ่ายทหาร
ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคง อำเภอเทพาเป็น 1 ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลาที่เป็นพื้นที่รอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ติดกับ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ชายทะเลแถบนี้ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกบดาน ซ่อนตัว และฐานฝึกของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งที่มีสภาพเป็นเกาะ หลายจุดเป็นเกาะร้าง
ปลายปี 2554 มีคนร้ายบุกโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกาะแลหนัง ทำให้กำลังพลเสียชีวิต 2 นาย เจ้าหน้าที่ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินไล่ล่าคนร้าย
10 ก.พ.2559 เจ้าหน้าที่บุกทลายฐานฝึกและฐานประกอบระเบิดในป่าโกงกางริมทะเล บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก พื้นที่รอยต่อกับเกาะแลหนังและชายฝั่งเทพา ยึดอุปกรณ์ที่สามารถนำไปผลิตระเบิดได้ถึง 30 ลูก และจากนั้นก็มีคาร์บอมบ์ในอำเภอเมืองปัตตานีเป็นการตอบโต้
ที่ผ่านมาฝ่ายทหารรุกคืบเข้าไปจัดระเบียบพื้นที่ และก่อตั้งปอเนาะญาลันนันบารู ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปอเนาะที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบจากภาครัฐ แห่งแรกและแห่งเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง บนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลจัดคณะทำงานไปพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม “มารา ปาตานี” ฝ่ายผู้เห็นต่างฯก็หยิบยกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา มาเป็นประเด็นหนึ่งของการพูดคุยด้วย โดยฝ่าย “มารา ปาตานี” แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการโครงการนี้ หากจะเดินหน้าต่อต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และพยายามใช้พื้นที่สื่อแสดงความกังวลทุกครั้งที่มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าเทพา เหตุการณ์สลายม็อบล่าสุดนี้ก็เช่นกัน
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จึงมีเดิมพันทางความมั่นคงแฝงอยู่ด้วย และจุดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลทหารอย่าง คสช.ไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว โดยที่ประเด็นสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ตลอดจนผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพ ถูกมองข้ามไป...
---------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : "ประมง-ยาง-โรงไฟฟ้าเทพา" กลุ่มหนุนเชิญมา กลุ่มต้านโดนสกัด