ชะลอเท่ากับยื้อ รฟฟ.ถ่านหินเทพา ชาวสงขลายันทางออกต้อง ‘ยกเลิก’ เท่านั้น
ชาวบ้านเทพายันปักหลักหน้าทำเนียบ จนกว่ารัฐบาลจะมีคำสั่งยกเลิกโรงไฟฟ้าเทพา พร้อมถอนฟ้องนักปกป้องชุมชน 17 รายคดี เดินเทใจให้เทพา ชี้โครงการหมดความชอบธรรมไปนานแล้ว นายกฯสั่งชะลอเพื่อยื้อเวลาเท่านั้น
สืบเนื่องจากกรณีนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีกลุ่มชาวบ้านคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาว่า ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งเท่าที่ทราบเบื้องต้นอาจจะต้องชะลอโครงการออกไปก่อน โดยจะมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ขณะเดียวกันต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่จะเข้าไปทดแทนในพื้นที่ภาคใต้ (อ่านประกอบ นายกรัฐมนตรีเผยอาจชะลอสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาออกไปก่อน )
ด้านเครือข่ายประชาชนคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันปักหลักอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล กล่าวภายหลังจากท่าทีของนายกฯว่า เรามีความซาบซึ้งที่ท่านมองเห็นถึงความทุกข์ร้อนของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และท่ามกลางกระแสของสังคมที่ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่อยากตัดสินใจที่จะดำเนินการใดๆภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ นายกฯจึงออกแถลงด้วยวาจาว่าจะมีคำสั่งให้ชะลอโครงการเอาไว้ก่อน และหลังจากนี้จะให้รัฐมนตรีพลังงานออกมาชี้แจงอีกครั้ง ส่วนเรื่องการให้ความเป็นธรรมในคดีเดินเทใจให้เทพาแก่นักปกป้องชุมชนทั้ง 17 คนนั้น นายกฯได้กล่าวว่าพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรม และให้ความช่วยเหลือพวกเรา หากแต่ในกระบวนการยุติธรรมก็จะต้องดำเนินการต่อไป
เครือข่ายฯ กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวนั้นจึงเสมือนเป็นการสนใจรับฟังปัญหาที่เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เสนอไว้ตามข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ หากแต่ถ้อยแถลงดังกล่าวยังมีความคลุมเครือ และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวจะได้รับการดำเนินการได้ตามนั้นพวกข้าพเจ้าจึงขอให้ท่าน หรือรัฐมนตรีพลังงานได้โปรดออกมาชี้แจงรายละเอียดและแสดงรูปธรรมการดำเนินการตามถ้อยแถลงนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ยังกล่าวด้วยว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหมดความชอบธรรมที่จะดำเนินการได้อีกต่อไป ด้วย3 เหตุผล ดังนี้1)โครงการนี้มีกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน 2)มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีการเอื้อประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินของคนบางกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชนอย่างหนัก และ3) การเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่เหมาะสม ด้วยเป็นที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีวัฒนธรรมและประชากรกว่า200ครัวเรือน (อ่านประกอบ ความไม่ชอบมาพากล 5 ประการ ในรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ชาวบ้านต้องการสื่อสาร )
“ฉะนั้นการสั่ง “ชะลอ” โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหา หากเป็นเพียงการยื้อเวลาไว้ระยะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในที่สุดแล้วก็อาจจะมีการสั่งเดินหน้าโครงการต่อไป โดยไม่ได้มีการแก้ไขตรวจสอบ หรือกระทำการใดๆ เพื่อจะสร้างทางออกของปัญหาได้อย่างแท้จริง ซึ่งบทเรียนในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลได้สั่งเดินหน้าโครงการโดยที่ไม่ได้สนใจสิ่งใดทั้งสิ้น ดังนั้นการสั่ง “ชะลอ” โครงการไว้ก่อนหน้านี้นั้นจึงเป็นเพียงการหลบเลี่ยงปัญหาไว้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น”
ส่วนเรื่องคดีความของผู้ปกป้องชุมชนทั้ง 17 คน จากกรณีการเดินเทใจให้เทพา ที่ท่านนายกฯ กล่าวว่าจะให้ความเป็นธรรมและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือนั้น ทางเครือข่ายฯ กล่าวว่า ในทางกฎหมายนั้น มีช่องทางให้ว่า “หากคดีความที่ไม่เป็นประโยชน์ในทางสาธารณะแล้ว รัฐสามารถถอนฟ้องได้” จึงเป็นเรื่องที่ท่านสามารถตัดสินใจได้ทันที เราจึงขอให้ท่านแสดงความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตามที่เราได้เรียกร้องไป ทั้งนี้เราจึงยืนยันที่จะรอคำตอบที่เป็นทางการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านตัวแทนเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เดินทางมาปักหลักบริเวณหน้าสำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและขอเป็นธรรมแก่ปกป้องชุมชนทั้ง 17 คน ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.61 โดยยืนยันจะยังคงปักหลักจนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า วันที่ 31 ม.ค. 2561 เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน นำโดย นายมัธยม ชายเต็ม ออกแถลงการณ์ถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง การให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้และสนับสนุนแนวคิดการทบทวนแผน PDP
ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะถือว่าได้หมดความชอบธรรมที่จะดำเนินการต่อไป ด้วย 3 เหตุผล คือโครงการนี้มีกระบวนการจัดทำรายงานที่ไม่ได้มาตรฐาน มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีการเอื้อประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินของคนบางกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชนอย่างหนัก และเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่เหมาะสม ด้วยเป็นที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีวัฒนธรรมและประชากรกว่า 200 ครัวเรือน และยังเป็นแหล่งอาหารและทรัพยากรที่สำคัญต่อวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนที่นี่ รวมถึงในจังหวัดใกล้เคียง
โดยขอสนับสนุนแนวคิดของท่านรัฐมนตรี ที่ต้องการทบทวนแผนบริหารจัดการพลังงาน หรือ แผน PDP เสียใหม่ หากแต่แนวทางดังกล่าวนั้นจะต้องคำนึงถึงรูปแบบการผลิตพลังงานที่สะอาดปลอดภัยอย่างแท้จริง และต้องส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงแนวคิดที่ต้องการยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด
ทั้งนี้ ขอให้ท่านได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเราเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ และจะนำไปสู่ทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้ประชาชนไทยได้ยอมรับแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกัน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
สุดท้าย เสนอให้รัฐบาลจะต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี อุปกรณ์ เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตได้เองในประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้จริง อีกทั้งจะต้องสร้างมาตรการจูงใจให้ประชาชน หน่วยงาน องค์กรทั้งของรัฐ และเอกชน เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในอนาคต .
อ่านประกอบ
สลายกลุ่มต้านถ่านหินเทพา รวบ16 แกนนำ หลังเดินเท้าขอยื่นหนังสือถึงนายกฯ ครม.สัญจร
เครือข่ายคนเทพา ร้องนายกฯ สอบที่มารายงาน EHIA รฟฟ.ถ่านหิน หวั่นมีผลประโยชน์ทับซ้อน
จากกระบี่ถึงเทพา...กระแสต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินลามทั่วใต้!