- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- กสม.ร้องนายกฯ เปิดโอกาสเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เข้าพบนำเสนอข้อห่วงใย
กสม.ร้องนายกฯ เปิดโอกาสเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เข้าพบนำเสนอข้อห่วงใย
"เตือนใจ ดีเทศน์-อังคณา นีละไพจิตร" แถลงข่าว จี้นายกฯ สั่งการให้ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการดำเนินการทางกฎหมายอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมเปิดโอกาสให้เครือข่ายฯ เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอในการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อรัฐบาลโดยสงบและปราศจากการขัดขวาง
วันที่ 28 พฤศจิกายน นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยออกแถลงการณ์กรณีการสลายชุมนุมและจับกุมกลุ่มแกนนำคัดค้านโรงฟ้าเทพา
ในแถลงการณ์ ระบุว่า กสม. ขอแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำ “เครือข่ายประชาชนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ระหว่างจัดกิจกรรมเดินเท้ารณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา เพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน โครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อเย็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างสันติวิธี โดยเคารพและยึดมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชน
โครงการโรงไฟฟ้าเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งมีข้อท้วงติงว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ซึ่ง กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบและอยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน เบื้องต้นพบปัญหาการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การจัดกระบวนการการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบกระทบโดยตรง อันเป็นเหตุของการเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี
ในชั้นนี้ กสม. เห็นว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
กสม. จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหา แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และดำเนินการทางกฎหมายอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้เครือข่ายฯ ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอในการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อรัฐบาลโดยสงบและปราศจากการขัดขวาง
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานเจ้าของโครงการยึดมั่นในแนวปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักการ เคารพ คุ้มครอง และเยียวยา รวมทั้งคำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการด้วย โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (UCL) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ก็ได้ออกแถลงการณ์ ให้ปล่อยตัวประชาชนจากการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน
ตามที่ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มเดิน เครือข่ายฯได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพา และวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13.30 น. ได้ยื่นหนังสือขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเนื่องจากพึงทราบว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุม
อย่างไรก็ดี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้ออกประกาศฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในเวลา 18.00 น.ของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯเดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีตำรวจประมาณ 1 กองร้อยตั้งจุดสกัดขบวนเดินเท้าของเครือข่าย และเวลาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุม มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวไป
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และขอยืนยันหลักการสิทธิเสรีภาพที่รัฐต้องให้การเคารพและคุ้มครอง ดังต่อไปนี้
1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่รับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้อเป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย สาธารณะ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่จากข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของ "เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เห็นได้ชัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติ เดินตามริมขอบถนน และมีวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมเพื่อบอกกล่าวถึงความกังวลต่อโครงการการพัฒนาที่อาจจะก่อผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้ง เครือข่ายได้มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณธและขอผ่อนผันตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2560 แล้ว การที่เจ้าหน้าที่ปิดกั้น สลายการชุมนุมและจับกุมชาวบ้านจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรม และเป็นการกระทำที่ไม่ขอบด้วยกฎหมาย
2. สิทธิชุมชนและการเสนอเรื่องร้องทุกข์ เป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยในมาตรา 41 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว” และมาตรา 43 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” ซึ่งการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก็อยู่ภายใต้หลักการสิทธิดังกล่าว เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์ การให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นและความกังวลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจ ดังนั้น การกีดกันหรือไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อย่างชัดเจน
3. สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial) เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 โดยสิทธิประการดังกล่าวกำหนดห้ามมิให้มีการจับกุมหรือควบคุมบุคคลโดยอำเภอใจ เว้นแต่โดยเหตุและเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้การจับโดยทั่วไปต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาลและมีเหตุแห่งการออกหมายจับ หรือเป็นความผิดซึ่งหน้า แม้กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะกล่าวอ้างว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถจะจับกุมบุคคลได้ เพราะหากพิจารณาตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว จะเห็นได้ว่าความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ยังไม่ถือเป็นความผิดซึ่งหน้าที่เจ้าหน้าที่จะจับกุมตัวได้ จนกว่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและต้องมีคำสั่งจากศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้น รวมทั้งได้มีการประกาศพื้นที่ควบคุมเสียก่อน ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการสลายการชุมนุม และได้จับกุมควบคุมตัวบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการมีส่วนร่วมและการชุมนุมโดยสงบไป โดยที่ยังไม่มีคำสั่งศาลและประกาศพื้นที่ควบคุมเสียก่อน จึงถือเป็นการจับกุมควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่มีเหตุผลอันสมควร และเป็นไปโดยอำเภอใจ
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้โดยทันที
1. ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากกรณี “เดิน....เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน....หานายก หยุดทำลายชุมชน” โดยทันที
2. รัฐต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติไปเมื่อไม่นานมานี้ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะได้เต็มที่
3. ยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนพร้อมทั้งต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น
ด้านความคืบหน้าการควบคุมแกนนำทั้ง 16 คนนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น.ตำรวจย้ายแกนนำออกจากสภอ.เมืองสงขลา แล้ว ขณะที่ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาบางส่วน มารวมตัวที่ศาลจังหวัดสงขลา ให้กำลังใจแกนนำทั้ง 16 คน ที่ถูกนำตัวมาฝากขัง