กสม.ลงพื้นที่เทพา รับทราบปัญหาชาวบ้านถูกคุกคามสิทธิ ปมต้านโรงไฟฟ้า
กสม.ลงพื้นที่เทพา รับทราบปัญหา กรณีชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิ คุกคามจากกลุ่มผู้มีอิทธิผล จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมือง นำโดยนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยนชน ลงพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อรับทราบปัญหาการละเมิดสิทธิตามหนังสือร้องเรียนของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินและเครือข่ายเปอมาตามาส โดยมีประชาชนกว่า 100 คนร่วมพูดคุย ชี้แจงปัญหา
นายดิเรก เหมนคร ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวถึงประเด็นที่มีการร้องเรียน หลักๆ จะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการเปิดเวทีรับความคิดเห็น 3 ครั้ง ที่มีการปิดกั้นกลุ่มผู้เห็นต่างด้วยการใช้กองกำลังทหาร ตำรวจ พลเรือน มีการใช้รถหุ้มเกราะ ลวดหนาม รวมถึงการกำลังของกลุ่มผู้มีอิทธิพล มีการใช้เงินมหาศาลหว่านซื้อชาวบ้าน แจกของ โดยเฉพาะเวที ค.1 เน้นซื้อเสียงด้วยการแจกข้าวสาร เวทีค.2 ไม่รับฟังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง ผู้เห็นต่างไม่ได้เข้าร่วมรับฟัง เวทีค.3 มีการใช้อำนาจของผู้ว่าราชการสงขลาในการขุ่มขู่ โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่คัดค้านหลายรายถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลคุกคามในเคหะสถานยามวิกาล รวมถึงกรณีล่าสุดของ ดร.สมพร ช่วยอารีย์
นายดิเรก กล่าวอีกว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่ได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใดๆ ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจากพื้นที่โครงการฯเพียง 7-8 กิโลเมตร และระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบค่อนข้างสั้นเทียบกับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบมากขนาดนั้น ทั้งนี้การเลือกพื้นที่ตั้งของโครงการฯ ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่อำเภอเทพาประกอบไปด้วยพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่ติดต่อไปจนถึงจ.ปัตตานี เป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าในเขตป่าชายเลน มีท้องทะลเที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีชุมชนอีกกว่า 500 หลังคาเรือน มีศาสนาสถานได้แก่ โรงเรียนปอเนาะ สุสาน(กุโปร์) มัสยิด วัด ซึ่งปัญหาที่ชาวบ้านมีความกังวลอย่างมากคือเรื่องที่ดินวากัฟ โดยเฉพาะตัวมัสยิด และสุสาน ที่จะเป็นฉนวนสร้างความแตกแยก และกระทบต่อความสงบในพื้นที่
“ในเรื่องของข้อมูลที่ชาวบ้านควรมีส่วนร่วมกลับถูกปิดกั้น อย่างรายงาน EHIA ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในสาธารณะ นอกจากนี้ยัง ใช้มาตรการชวนเชื่อมากมาย ทั้งนโยบายให้คนในพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อจะรับซื้อ แต่ในความจริงชาวบ้านที่ลงทุนปลูกไปแล้วกลับถูกลอยแพ” นายดิเรก กล่าว
ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมสิทธิฯ กล่าวว่า การเข้ามารับฟังปัญหาในวันนี้ ทาง กสม.จะทำการรวบรวมเป็นรายงาน และจะมีการเชิญทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ เข้ารับฟังปัญหา รวมถึงทำเรื่องเสนอเเนะไปยัง รัฐบาลและ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ซึ่งคาดว่ารายงานฉบับนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฏาคม นี้ ทั้งนี้จะมีการเชิญชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุย
“ในส่วนประเด็นเรื่องการขอทราบรายงาน EHIA นั้น เป็นเรื่องของสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องของความลับ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้อย่างเท่าเทียม” อังคณากล่าว.