- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชัดๆอีกครั้ง! สัมพันธ์ลึก'พานทองแท้-ศิธา' ก่อนเผชิญหน้า DSI คดีฟอกเงินกรุงไทย
ชัดๆอีกครั้ง! สัมพันธ์ลึก'พานทองแท้-ศิธา' ก่อนเผชิญหน้า DSI คดีฟอกเงินกรุงไทย
"..นายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี (อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) ที่มีจำเลยที่ 1 (นายทักษิณ) เป็นหัวหน้าพรรค ได้นำเช็คของบริษัทแกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของจำเลยที่ 20 จำนวน 154,763,025 บาท รวมกับเงินที่มีการโอนเข้าบัญชีของนายมานพก่อนหน้านี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 172,763,025 บาท ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 20.."
ขณะนี่เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร (บุตรนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) นางกาญจนาภา หงษ์เหิน (เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ อดีตภรรยานายทักษิณ) นายวันชัย หงษ์เหิน (สามีนางกาญจนาภา) และนายมานพ ทิวารี (บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส.เพื่อไทย) ปรากฎชื่ออยู่ในบัญชีชุดสองที่ จะถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เชิญตัวมาให้ปากคำ กรณี การสอบสวนคดีฟอกเงิน กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร
(อ่านประกอบ : ‘พานทองแท้-พวก’มีชื่อถูกสอบคดีฟอกเงินกรุงไทย-ดีเอสไอเริ่มเรียกตัว 3 ธ.ค.)
เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นภาพความสัมพันธ์ของ นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ต.ศิธา ทิวารี มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอย้อนข้อมูลความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ของบุคคลทั้ง 2 และสำนวนคำพิพากษาคดีปล่อยเงินกู้กรุงไทย ที่เกี่ยวข้อง มานำเสนอให้เห็นชัดๆ อีกครั้ง
@ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา พบว่า น.ต.ศิธา เคยร่วมหุ้นธุรกิจกับนายพานทองแท้ ชินวัตร และพวก นำเข้าโทรศัพท์มือถือหรู ในชื่อ บริษัท มาสเตอร์ โฟน จำกัด
ข้อมูลจากการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จดทะเบียนวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ทุน 5 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 414 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร นายไอยคุปต์ กฤตบุญญาลัย (บุตรชายนางดารุณี กฤตบุญญาลัย กลุ่ม นปช.) 199,999 หุ้น (39.99%) น.ต. ศิธา ทิวารี 100,000 หุ้น (20%) นางสาวสิรอักษร กฤษดาธานนท์ ทายาทในเครือกฤษฎามหานคร 100,000 หุ้น (20%) นายพานทองแท้ ชินวัตร 99,999 หุ้น (19.99%)
อย่างไรก็ตามธุรกิจดังกล่าวมีรายได้สูงสุดในปี 2550 จำนวน 25,489,251 บาท แต่ขาดทุนสุทธิ 3,115,515 บาท ปี 2549 จำนวน 20,692,622 บาท แต่ขาดทุนสุทธิ 3,493,613 บาท หลังจากนั้นตัวเลขลดลง และจดทะเบียนเลิกกิจการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554
จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา ยังพบด้วยว่า นายพานทองแท้ กับคนในตระกูล กฤษดาธานนท์ ยังทำธุรกิจร่วมกันอีก 1 แห่ง ใช้ชื่อว่า บริษัท ฮาวคัม สตูดิโอ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 ทุน ปัจจุบัน 30 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ผลิตและรับจ้างผลิตป้ายโฆษณา ที่ตั้งเลขที่ 414 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 นายพานทองแท้ถือหุ้นใหญ่ 1,739,995 หุ้น (57.99%) บริษัท โอคานิท จำกัด (ของนายพานทองแท้) จำนวน 750,000 หุ้น (25%) นางเดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ 210,000 หุ้น (ภรรยานายวิชัย กฤษดาธานนท์ จำเลยในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร ) (7%) นาย มนัสชัย พรโสภากุล จำนวน 150,000 หุ้น (5%) และนายเฉลิม แผลงสร 150,000 หุ้น (5%) รวม 3,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท นายพานทองแท้ ชินวัตร
นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พินทองทา ชินวัตร นายเฉลิมแผลงศร เป็นกรรมการ นายพานทองแท้ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ แจ้งผลประกอบการปี 2557 รายได้ 41,884,042 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,816,626 บาท สินทรัพย์ 32,558,416.20 บาท ขาดทุนสะสม 1,958,261 บาท
(อ่านประกอบ : ไขสัมพันธ์‘พานทองแท้-ลูกสาว‘เสี่ยวิชัย’ นอกคำวินิจฉัยศาลฎีกาฯคดีเงินกู้ กรุงไทย)
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ต.ศิธา รวมถึงคนในครอบครัวกฤษดาธานนท์ อดีตเจ้าของบริษัทในเครือกฤษฎามหานคร มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันอย่างมาก
@ คำวินิจฉัยคดี ที่เกี่ยวกับเส้นทางการเงินของนายพานทองแท้ และนายมานพ บิดา น.ต.ศิธา
ในคำวินิจฉัยของนายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา และเจ้าของสำนวน 1 ใน 9 องค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวกับ นายพานทองแท้ และ นายมานพ พ่อของน.ต.ศิธา ไว้ดังนี้
“…เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 นายธีรโชติ พรมคุณ พนักงานของจำเลยที่ 20 (บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)) ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท โดยหักจากบัญชีของจำเลยที่ 25 (นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร) สั่งจ่ายนายพานทองแท้ ชินวัตร และนำเข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 184-0-47447-0 แต่ในวันเดียวกันมีการยกเลิกรายการ
ครั้นวันรุ่งขึ้นนายธีรโชติซื้อแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาท สั่งจ่ายบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางเกศินี จิปิภาพ มารดาของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขาส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภรรยาของนายทักษิณ ขณะนั้น)
ต่อมานางเกศินี ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 1.8 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
อย่างไรก็ดีนายพานทองแท้ ชี้แจงเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า จำเลยที่ 26 (นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรนายวิชัย กฤษดาธานนท์) ฝากนายวันชัย หงษ์เหิน (สามีนางกาญจนาภา หงษ์เหิน) ซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด ผ่านบัญชีของนางเกศินี ครบกำหนดชำระหุ้นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2546
ซึ่งก่อนครบกำหนดชำระค่าหุ้น เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 จำเลยที่ 26 โทรศัพท์มาแจ้งว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่นำแคชเชียร์เช็คค่าหุ้น 26 ล้านบาท เข้าบัญชีของตนเพื่อฝากโอนให้บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต ตนเกรงว่าอาจล่าช้าชำระไม่ทันกำหนด จึงแนะนำให้จำเลยที่ 26 ชำระเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต โดยตรง จำเลยที่ 26 จึงยกเลิกธุรกรรมที่นำแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีของตน
เห็นว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทางปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์นั้น ผู้จะซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์และจะต้องแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์โอนเงินเข้าบัญชีเมื่อมีการสั่งขายหลักทรัพย์ หรือให้บริษัทหลักทรัพย์หักเงินจากบัญชีเมื่อมีการสั่งซื้อหลักทรัพย์
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทั้งนายพานทองแท้และจำเลยที่ 26 มีความสนิทสนมกัน ต่างก็มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง หากจำเลยที่ 26 ได้ฝากนายวันชัยซื้อหุ้นตามที่อ้าง จำเลยที่ 26 ย่อมสามารถโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีธนาคารของนายวันชัยหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 26 ต้องนำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารของนายพานทองแท้เพื่อฝากชำระค่าหุ้นให้นายวันชัยอีกทอดหนึ่ง
ข้ออ้างของนายพานทองแท้ฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 จำเลยที่ 25 ได้สั่งจ่ายเช็คไทยธนาคารจำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางพลัด
นายพานทองแท้ชี้แจงเป็นหนังสือต่อ คตส. ว่า เป็นเงินที่ตนร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 26 เพื่อทำธุรกิจ แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าเป็นธุรกิจใด หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน จึงได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เป็นการร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 26 ทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศมาขาย แต่ติดขัดเรื่องขั้นตอนการนำเข้าต้องใช้เวลานาน และสีรถยนต์ไม่ถูกใจจึงยกเลิกการทำธุรกิจ
เห็นว่า หากเป็นเงินร่วมลงทุนทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศตามที่อ้าง ก็น่าจะชี้แจงไปตั้งแต่ครั้งแรก และนายพานทองแท้เป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ ข้ออ้างว่าร่วมลงทุนเพียง 10 ล้านบาท ไม่น่าเชื่อถือ
คำชี้แจงทั้งสองกรณีขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ข้อเท็จจริงยังได้ความจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกว่า มีการนำเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 19 (บริษัท โกลเด้นฯ เครือกฤษดามหานคร) ได้รับจากธนาคารผู้เสียหายไปซื้อหุ้นจองของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.2 แสนหุ้น และจำเลยที่ 26 ได้นำหุ้นดังกล่าวมาเสนอขายแก่พนักงานของบริษัท ฮาวคัม จำกัด ที่มีนายพานทองแท้เป็นประธานกรรมการ และเสนอขายให้พนักงานบริษัท มาสเตอร์โฟน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ฮาวคัม จำกัด
เป็นที่ทราบกันดีว่า ราคาหุ้นจองของบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ที่เสนอขายจะต่ำกว่าราคาที่จะนำเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของนักลงทุน ราคาหุ้นจองจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากของนักลงทุน เพราะถือไว้เพียงไม่กี่วันก็สามารถนำไปขายทำกำไรในตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่จำเลยที่ 26 กลับนำหุ้นจองดังกล่าวมาเสนอขายแก่พนักงานของบริษัทของนายพานทองแท้ โดยไม่เก็บไว้ทำกำไรเอง
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 26 ในการเสนอขายหุ้นจองดังกล่าว ส่อไปในทำนองต่างตอบแทนจากการที่ธนาคารผู้เสียหายอนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มของจำเลยที่ 20 ตามฟ้อง
นอกจากนี้ยังได้ความจากเส้นทางการเงินของ ธปท. ว่า นายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี (อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) ที่มีจำเลยที่ 1 (นายทักษิณ) เป็นหัวหน้าพรรค ได้นำเช็คของบริษัทแกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของจำเลยที่ 20 จำนวน 154,763,025 บาท รวมกับเงินที่มีการโอนเข้าบัญชีของนายมานพก่อนหน้านี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 172,763,025 บาท ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 20
อย่างไรก็ดีนายมานพชี้แจงเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการ คตส. ว่า จำเลยที่ 25 ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 20 จำนวน 11.5 ล้านหุ้น เป็นเงิน 172,763,025 บาท แต่ตนมีเงินไม่พอจึงขอยืมเงินจำเลยที่ 25 เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขการกู้ยืมว่า เมื่อครบกำหนดชระเงินกู้ ผู้กู้สามารถเลือกชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยหรือเลือกใช้สิทธิขายคืนหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดเป็นการปลดภาระหนี้
เห็นว่า เงื่อนไขการกู้ยืมที่นายมานพมีแต่ได้โดยไม่ต้องรับภาระความเสี่ยงใด ๆ ผิดปกติวิสัยของการลงทุนโดยทั่วไป ข้ออ้างจึงไม่สมเหตุผล
การที่จำเลยที่ 25 นำเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 19 ได้จากการกู้ยืมธนาคารผู้เสียหายโอนให้นายพานทองแท้จำนวนมาก โดยนายพานทองแท้ไม่สามารถชี้แจงที่มาของธุรกรรมได้ และยังโอนเงินจำนวนมาก ให้นายมานพไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 20 อย่างผิดปกติ โดยจำเลยที่ 25 ไม่เคยชี้แจงที่มาของธุรกรรมดังกล่าว
เมื่อฟังประกอบกับคำของนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน (ทั้งคู่เป็นอดีตกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และเป็นพยานสำคัญในคดีนี้) เข้าด้วยกันแล้ว กรณีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ธุรกรรมของนายพานทองแท้และนายมานพ เป็นการรับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่จำเลยที่ 19 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารผู้เสียหาย”
ทั้งหมด คือ ข้อมูลเกี่ยวกับ นายพานทองแท้ และนายมานพ บิดาของ น.ต.ศิธา ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการให้ปากคำต่อดีเอสไอ ซึ่งจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้
(อ่านประกอบ : คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ')
ดีเอสไอเชิญ ก.ล.ต.ให้ข้อมูล‘ลูกวิชัย’ ซื้อหุ้น ทอท.ขายต่อ พนง.บ.‘พานทองแท้’
ดีเอสไอสอบ‘วิชัย’ที่คุก! คดีฟอกเงินกรุงไทย-โอนให้โดยไม่มีหนี้ผิดเต็มประตู
เฉลยชื่อผู้รับเช็คจาก'เสี่ยวิชัย’คดีกรุงไทย-‘พานทองแท้-มานพ’อยู่ในข่าย?
หลักฐานโอนมัด! ดีเอสไอเชิญ‘วิชัย’ผู้บริหารกฤษดาฯแจงปมฟอกเงินคดีกรุงไทย
คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ'
ไขสัมพันธ์‘พานทองแท้-ลูกสาว‘เสี่ยวิชัย’ นอกคำวินิจฉัยศาลฎีกาฯคดีเงินกู้ กรุงไทย
ใช้ข้อมูล ธปท.สาวลึกเส้นทางเงินคดีกรุงไทย เอี่ยว 50 ราย-เครือนักการเมืองด้วย
คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ'
5 ความเห็นผู้พิพากษาศาลฎีกาฯมัด! เส้นทางเงินคดีกรุงไทยถึง“พานทองแท้”
ดีเอสไอคัดคำพิพากษาสอบเส้นทางเงินคดีกรุงไทย-ปัดตอบโยง“พานทองแท้”
คำพิพากษาศาลฎีกาฯมัด! เส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยงถึง“พานทองแท้”
นำเสนอ 15 นาที ก่อนปล่อยกู้ 9.9 พันล.!คำพิพากษามัด 'วิโรจน์-พวก' คดีกรุงไทย
เหตุผลศาลฎีกาฯคดีกรุงไทย ไม่รู้ใคร“บิ๊กบอส”-สาวไม่ถึง“พานทองแท้”ฟอกเงิน?
ดีเอสไอยันคตส.ไม่กล่าวหา'พานทองแท้' ฟอกเงินคดีกรุงไทย-รับของโจรไม่มีมูล
“แก้วสรร”สวนดีเอสไอ ยัน คตส.ให้เอาผิด “พานทองแท้-พวก”ฟอกเงินคดีกรุงไทย
แก้วสรร อติโพธิ : คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ภาค 2
ขยายปม อสส.ไม่ฟ้อง“พานทองแท้-พวก”รับของโจรคดีกรุงไทย ใครรับผิดชอบ?
อัยการยัน“พานทองแท้-พวก”ไม่ใช่ จนท.รัฐ ชนวนไม่ฟ้องปมรับของโจรคดีกรุงไทย
จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”
ข้อมูลลับความเชื่อผู้บริหาร "เอคิว" ก่อนศาลฯ พิพากษาชดใช้กรุงไทยหมื่นล.!
คำให้การมัดคดีกรุงไทยโผล่เว็บศาลฯ ชื่อ 2 กก.บริหาร "อุตตม-รมว.ไอซีที" รอด!
พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.