- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- 5 ความเห็นผู้พิพากษาศาลฎีกาฯมัด! เส้นทางเงินคดีกรุงไทยถึง“พานทองแท้”
5 ความเห็นผู้พิพากษาศาลฎีกาฯมัด! เส้นทางเงินคดีกรุงไทยถึง“พานทองแท้”
เปิดความเห็นผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ คดีกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร พบ 5 คนวินิจฉัยชัด มีการโอนเงินถึง “พานทองแท้-พวก” ฟันธง “บิ๊กบอส” คือ “ทักษิณ” แค่คนเดียว มี 4 รายไม่วินิจฉัยประเด็นนี้
ในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครโดยทุจริตกว่า 1 หมื่นล้านบาท กระทั่งถูกคำพิพากษาให้ผู้บริหารระดับสูงในธนาคารกรุงไทย เจ้าหน้าที่ และตัวแทนบริษัทเอกชนต้องติดคุก 12-18 ปี ปรับกว่า 2 หมื่นล้านบาทด้วยนั้น
ตอนหนึ่งของคำพิพากษาดังกล่าว ระบุไว้ ชัดเจนว่า มีการโอนเงินไปถึง “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จริง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ใครคือ “บิ๊กบอส” เท่านั้น
(อ่านประกอบ : คำพิพากษาศาลฎีกาฯมัด! เส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยงถึง“พานทองแท้”)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลฎีกาฯเผยแพร่ความเห็นในการวินิจฉัยคดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) กับพวกรวม 27 ราย เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ขององค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ในประเด็นที่ว่า กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อให้เครือกฤษดามหานครนั้น มีการโอนเงินให้กับ “พานทองแท้” และคนใกล้ชิดตระกูลชินวัตร (นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขาส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยานายทักษิณ นายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนาภา และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) หรือไม่ และท้ายสุดมีใครบ้างที่เห็นว่า “บิ๊กบอส” คือนายทักษิณ
จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้พิพากษา 5 ราย ที่วินิจฉัยว่ามีการโอนเงินให้นายพานทองแท้กับพวก ได้แก่
นายชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
“… ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2-27 ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 (นายทักษิณ) กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและมิชอบ เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 หรือไม่
… จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า จำเลยที่ 25 (นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารของเครือกฤษดามหานคร) มีการโอนเงินให้แก่บุตรและบุคคลใกล้ชิดจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานหรือข้อมูลชี้ชัดว่า มีการโอนเงินให้หรือตอบแทนจำเลยที่ 1 ด้วยผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด โจทก์ไม่มีพยานหรือหลักฐานใดที่สามารถยืนยันหรือบ่งชี้ให้เห็นได้ชัดเจนว่า “บิ๊กบอส” หมายถึงผู้ใด ที่เป็นผู้สั่งการ
… ซึ่ง “บิ๊กบอส” ที่พยาน (นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ขณะนั้น) ว่า อาจเป็นภรรยา บุตร หรือเป็นบุคคลใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 ก็ได้ พยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2-27 ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1”
นายวีระวัฒน์ ปวราจารย์
“… ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2-5 และที่ 8-27 ได้ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและมิชอบ เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 หรือไม่
… ที่พยาน (นายชัยณรงค์) ว่า “บิ๊กบอส” หรือ “ซูเปอร์บอส” หมายถึงจำเลยที่ 1 ได้ความว่า เป็นเพราะพยานจับความเอาจากที่ได้เคยร่วมประชุมกับจำเลยที่ 2 (ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ขณะนั้น) ซึ่งเห็นได้ว่าความที่ได้จากพยานดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยความคิดและความเข้าใจของพยานเองโดยลำพัง และยังแตกต่างกันจนไม่อาจรับฟังไปทางหนึ่งทางใดได้ คำเรียกขานว่า “บิ๊กบอส” หรือ “ซูเปอร์บอส” ของพยานยังไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใครกันแน่
… ทางไต่สวนได้ความจากคำเบิกความของนายสราวุธ ศิริปักมานนท์ ว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของจำเลยที่ 25 พบว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 จำเลยที่ 25 สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) สาขาบางพลัด จำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่บุตรจำเลยที่ 1 และมีการนำเช็คเข้าบัญชีของผู้รับเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกเก็บเงินแล้ว แต่ก็เป็นเหตุการณ์หลังจากมีการอนุมัติสินเชื่อแก่จำเลยที่ 19 (บริษัท โกลเด้นฯ เครือกฤษดามหานคร) นานหลายเดือน
… พยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2-27 ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1”
นายพันวะสา บัวทอง
“…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2-4 ที่ 12-13 ที่ 16-19 ที่ 20-27 ได้ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและมิชอบ เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 หรือไม่
… ทั้งนี้เมื่อพิจารณาคำให้การของพยาน (นายชัยณรงค์) ในชั้นคณะกรรมการไต่สวน โดยคำนึงถึงว่าได้ให้การไว้ในเวลาใกล้ชิดกับเหตุทีเกิด น่าจะคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงน้อยกว่าที่เบิกความในชั้นศาลที่มีขึ้นหลังจากนั้นเป็นเวลานานแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า “บิ๊กบอส” หรือ “ซูเปอร์บอส” ยังไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใครกันแน่
… ข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า จำเลยที่ 25 มีการโอนเงินให้แก่บุตรและบุคคลใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นได้ว่า บุคคลดังกล่าวก็เป็นบุตรและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับภริยาของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้แล้ว ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่ส่อแสดงหรือบ่งชี้ว่า จำเลยต่าง ๆ ได้ร่วมกันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดส่วนนี้”
นายวิรุฬห์ แสงเทียน
“…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2-4 ที่ 12-13 ที่ 16-19 ที่ 20-27 ได้ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและมิชอบ เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 หรือไม่
เห็นว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า มีการโอนเงินให้แก่บุตรและบุคคลใกล้ชิดจำเลยที่ 1 แต่บุคคลดังกล่าวก็เป็นบุตรและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับภรรยาของจำเลยที่ 1 ด้วย
นอกจากนี้แล้วไม่มีพยานหลักฐานใดที่ส่อแสดงหรือบ่งชี้ว่าจำเลยต่าง ๆ ดังกล่าว ได้ร่วมกันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดส่วนนี้”
นายศิริชัย วัฒนโยธิน (รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน)
“…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2-4 ที่ 12-13 ที่ 16-19 ที่ 20-27 ได้ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและมิชอบ เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 หรือไม่
… นายชัยณรงค์ เบิกความว่า “ซูเปอร์บอส” หมายถึงจำเลยที่ 1 ถ้าเป็นคุณหญิงพจมานจะต้องมีนางสว่าง เจริญมั่นคง เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ นายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นเพื่อนกับบุตรของจำเลยที่ 25 ครอบครัวมีความสนิทสนมกัน เพราะจำเลยที่ 25 จะต้องขอรับการช่วยเหลือสนับสนุนด้านธุรกิจจากจำเลยที่ 1 พยานเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้อนุมัติสินเชื่อรายของจำเลยที่ 19
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน (กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ขณะนั้น ปัจจุบันเป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เบิกความว่า ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาสินเชื่อรายของจำเลยที่ 19 นายชัยณรงค์ได้บอกว่า จำเลยที่ 2 ได้ติดต่อนายชัยณรงค์เพื่อขอให้พิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว คิดว่าเป็นสัญญาที่ต้องการให้มีการอนุมัติสินเชื่อให้จำเลยที่ 19 อย่างชัดเจน
เห็นว่า แม้นายชัยณรงค์และนายอุตตมต่างเป็นกรรมการบริหารที่เข้าร่วมประชุมในวันที่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 19 และถูกกันไว้เป็นพยานก็ตาม แต่พยานทั้งสองปากก็ให้ถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ภายหลังเกิดเหตุไม่นานนัก และพยานทั้งสองยังให้การต่อพนักงานสอบสวนยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว
แม้นายชัยณรงค์ให้ถ้อยคำครั้งแรกว่า จำเลยที่ 2 บอกว่า อย่าสอบถามข้อมูลมากนักและขอให้พิจารณาโดยเร็ว ส่วนครั้งที่ 2 ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 2 บอกว่า ขออย่าได้คัดค้าน ก็เป็นถ้อยคำแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่สื่อความหมายไปในทางเดียวกันว่า ขอให้อนุมัติสินเชื่อให้จำเลยที่ 19
ขณะที่พยานให้ถ้อยคำทั้งสองครั้งนั้น จำเลยที่ 1 ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามกลไกของรัฐ หากไม่เป็นความจริง พยานทั้งสองก็คงไม่กล้าที่จะปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเองเพราะอาจเป็นภัยแก่ตน
ส่วนที่นายชัยณรงค์ให้การครั้งแรกต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า “ซูเปอร์บอส” หมายถึง จำเลยที่ 1 หรือคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร ภรรยานายทักษิณ ขณะนั้น) แต่ให้การในครั้งที่ 2 ว่า “ซูเปอร์บอส” หมายถึงจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องข้อบกพร่องในการสอบสวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน คตส. ที่ไม่สอบปากคำนายชัยณรงค์ให้สินกระแสความตั้งแต่การสอบสวนครั้งแรก แม้พยานทั้งสองปากเป็นเพียงพยานบอกเล่า
แต่เมื่อพิจารณาประกอบเส้นทางของเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 19 ได้รับจากธนาคารผู้เสียหาย มีการโอนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 25 จำนวนมาก
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 นายธีรโชติ พรมคุณ พนักงานของจำเลยที่ 20 (บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)) ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท โดยหักจากบัญชีของจำเลยที่ 25 สั่งจ่ายนายพานทองแท้ ชินวัตร และนำเข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารกรุงเทพ (จำกัด) มหาชน เลขที่บัญชี 184-0-47447-0 แต่วันเดียวกันมีการยกเลิกรายการ
ครั้นวันรุ่งขึ้นนายธีรโชติซื้อแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาท สั่งจ่ายบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนภา หงส์เหิน เลขาส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ต่อมานางเกศินีได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 1.8 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
… นอกจากนี้ยังได้ความจากเส้นทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า นายมานพ ทิวารี (บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) ที่มีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าพรรค ได้นำเช็คของบริษัท แกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของจำเลยที่ 20 จำนวน 154,763,025 บาท รวมกับเงินที่มีการโอนเข้าบัญชีของนายมานพก่อนหน้านี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 172,763,025 บาท ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 20
… การที่จำเลยที่ 25 นำเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 19 ได้จากการกู้ยืมธนาคารผู้เสียหาย (ธนาคารกรุงไทย) โอนให้นายพานทองแท้จำนวนมาก โดยนายพานทองแท้ไม่สามารถชี้แจงที่มาของธุรกรรมได้ และยังโอนจำนวนมากให้นายมานพ ทิวารี (บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 20 อย่างผิดปกติ โดยที่จำเลยที่ 25 ไม่เคยชี้แจงถึงที่มาของธุรกรรมดังกล่าว
เมื่อประกอบกับคำของนายชัยณรงค์ กับนายอุตตมประมวลเข้าด้วยแล้ว กรณีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ธุรกรรมของนายพานทองแท้และนายมานพเป็นการรับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่จำเลยที่ 19 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารผู้เสียหาย”
ทั้งหมดคือความเห็นของ 5 ผู้พิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่วินิจฉัยในคดีนี้
มีอยู่เพียง 1 คน ได้แก่ นายมานัส เหลืองประเสริฐ วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ตามที่ปรากฏในสำนวนการไต่สวนเพิ่มเติมในชั้นศาลนี้ ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2-27 เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนการทำผิดของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้ระบุถึง “บิ๊กบอส” หรือเส้นทางการเงินในคดีนี้แต่อย่างใด
ส่วนอีก 3 คน ได้แก่ นายประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูลย์ นายมนูพงศ์ รุจิกัณหะ นายชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้
ขณะเดียวกันหากพิจารณาคำวินิจฉัย จะเห็นว่า มีผู้พิพากษาเพียงรายเดียวที่เชื่อว่า “บิ๊กบอส” คือนายทักษิณ ได้แก่ คำวินิจฉัยของนายศิริชัย วัฒนโยธิน ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน
ส่วนนายวิรุฬห์ แสงเทียน นายมานัส เหลืองประเสริฐ นายพันวะสา บัวทอง นายวีระวัฒน์ ปวราจารย์ นายชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ เห็นว่า ยังไม่ทราบชัดเจนว่า “บิ๊กบอส” หมายถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน หรือบุตรของนายทักษิณ
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ได้ใช้ข้อมูลของ ธปท. ตรวจสอบเส้นทางการเงินในคดีนี้แล้ว พบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 50 ราย ทั้งเอกชน และเครือข่ายนักการเมืองด้วย
ดังนั้นต้องรอดูผลการสอบของดีเอสไอว่า จะสามารถสาวเส้นทางการเงินไปถึงใครได้บ้าง ?
อ่านประกอบ :
ใช้ข้อมูล ธปท.สาวลึกเส้นทางเงินคดีกรุงไทย เอี่ยว 50 ราย-เครือนักการเมืองด้วย
เปิดคำวินิจฉัย คดีทุจริตหมื่น ล.กรุงไทย เฉลย‘บุคคล’ปริศนา!ใครคือ‘บุญคลี’
ดีเอสไอนัดคุย จนท.ธปท. 1 ต.ค.สางคดีกรุงไทย-ทำเส้นทางการเงินแล้ว
ข้อมูลใหม่!คดีทุจริตกรุงไทย แฉ‘เยาวเรศ ชินวัตร’ขอให้ลดหนี้ บ.พวก 1.7 พันล.
ดีเอสไอคัดคำพิพากษาสอบเส้นทางเงินคดีกรุงไทย-ปัดตอบโยง“พานทองแท้”
คำพิพากษาศาลฎีกาฯมัด! เส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยงถึง“พานทองแท้”
นำเสนอ 15 นาที ก่อนปล่อยกู้ 9.9 พันล.!คำพิพากษามัด 'วิโรจน์-พวก' คดีกรุงไทย
เหตุผลศาลฎีกาฯคดีกรุงไทย ไม่รู้ใคร“บิ๊กบอส”-สาวไม่ถึง“พานทองแท้”ฟอกเงิน?
ดีเอสไอยันคตส.ไม่กล่าวหา'พานทองแท้' ฟอกเงินคดีกรุงไทย-รับของโจรไม่มีมูล“แก้วสรร”สวนดีเอสไอ ยัน คตส.ให้เอาผิด “พานทองแท้-พวก”ฟอกเงินคดีกรุงไทย
แก้วสรร อติโพธิ : คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ภาค 2
ขยายปม อสส.ไม่ฟ้อง“พานทองแท้-พวก”รับของโจรคดีกรุงไทย ใครรับผิดชอบ?
อัยการยัน“พานทองแท้-พวก”ไม่ใช่ จนท.รัฐ ชนวนไม่ฟ้องปมรับของโจรคดีกรุงไทย
จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”
ข้อมูลลับความเชื่อผู้บริหาร "เอคิว" ก่อนศาลฯ พิพากษาชดใช้กรุงไทยหมื่นล.!
คำให้การมัดคดีกรุงไทยโผล่เว็บศาลฯ ชื่อ 2 กก.บริหาร "อุตตม-รมว.ไอซีที" รอด!
พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายพานทองแท้-นายทักษิณ จาก innnews