- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”
จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”
"...เหตุผลที่ “โอ๊ค” พานทองแท้ ถูก คตส. ตั้งข้อกล่าวหา เป็นเพราะว่ามีเงินบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ครั้งนี้โอนเข้าไปในบัญชีของนายพานทองแท้ด้วย .. อย่างไรก็ดี ในชั้นอัยการได้มีการตัดชื่อของ นายพานทองแท้ นางกาญจนาภา นายวันชัย และนายมานพ ออกไป เนื่องจากเห็นว่าหลักฐานเชื่อมโยงไปไม่ถึง"
หลายคนคงจะทราบกันไปแล้วว่า ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์” อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 18 ปี กรณีอนุมัติสินเชื่อให้เครือ “กฤษดามหานคร” รวมความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท
(อ่านประกอบ : พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล. )
สำหรับคดีนี้ มีจำเลยทั้งหมด 27 คน มีหลากหลายส่วนทั้งกลุ่มการเมือง กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน รวมถึงกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเอกชน
ใครเป็นใคร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จำแนกรายชื่อจำเลยทั้งหมด รวมถึงโทษที่ได้รับ มาให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
หนึ่ง กลุ่มการเมือง มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และมีส่วนได้ส่วนเสีย ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 และ 157 อย่างไรก็ดีคดีนี้ศาลฎีกาฯได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากไม่มาฟังนัดไต่สวนคดี เพราะหลบหนีอยู่ต่างประเทศ ทำให้ศาลฎีกาฯ ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบไว้ชั่วคราว
สอง กลุ่มคณะกรรมการบริหาร คือ ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ์ จำเลยที่ 2 นายวิโรจน์ นวลแข จำเลยที่ 3 และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4 ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2-4 มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ให้จำคุกคนละ 18 ปี
สาม กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อ คือ นายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5 นายนรินทร์ ดรุนัยธร จำเลยที่ 6 นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ จำเลยที่ 7 นายโสมนัส ชุติมา จำเลยที่ 8 นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 9 นายวันชัย ธนิตติราภรณ์จำเลยที่ 10 และนายบุญเลิศ ศรีเจริญ จำเลยที่ 11 ศาลพิพากษาว่า มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้จำคุกคนละ 12 ปี ส่วนจำเลยที่ 6-7 ให้ยกฟ้อง
สี่ กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ คือ นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล จำเลยที่ 13 นางกุลวดี สุวรรณวงศ์ จำเลยที่ 14 นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ จำเลยที่ 15 นายประวิทย์ อดีตโต จำเลยที่ 16 นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ จำเลยที่ 17 นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 12 ศาลพิพากษาว่า มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้จำคุกคนละ 12 ปี ส่วนจำเลยที่ 12 มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ให้จำคุก 18 ปี
ห้า กลุ่มนิติบุคคลทั้งหมด คือ บริษัทอาร์เคฯ โดยนายบัญชา ยินดี และ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18 บริษัทโกลเด้นฯ โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา และนายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 19 บริษัทกฤษดามหานครฯ โดยนางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา และนายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎากฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 20 บริษัทโบนัสบอร์น จำกัด โดยนายชุมพร เกิดไพบูลย์รัตน์ จำเลยที่ 21 บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 22
หก กลุ่มผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัวทั้งหมด คือ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23 นายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24 นายวิชัย กฤษดาธานนท์จำเลยที่ 25 นายรัชฎากฤษดาธานนท์จำเลยที่ 26 นายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27
โดยกลุ่มห้าและหก ศาลพิพากษาว่า มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แบ่งเป็น จำเลยที่ 18-22 เป็นนิติบุคคล ให้ปรับรายละ 26,000 บาท จำเลยที่ 23-27 ให้จำคุกคนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20 ที่ 25 และที่ 26 ร่วมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารที่เสียหาย
โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 22 และที่ 27 ร่วมรับผิด 9,554,467,480 บาท จำเลยที่ 12-17 ที่ 21 ที่ 23 และที่ 24 ร่วมรับผิด 8,818,732100 บาท จำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8-11 และที่ 19 ร่วมรับผิด 8,368,732,100 บาท ซึ่งเงินสส่วนนี้ถ้าธนาคารผู้เสียหายได้รับชำระคืนแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้หักออกจากจำนวนที่สั่งให้ใช้คืนตามส่วน หากจำเลยที่ 18-22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ดูตารางประกอบ)
กลุ่ม |
ความผิด |
กลุ่มการเมือง (พ.ต.ท.ทักษิณ) |
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เนื่องจากหนีคดี |
กลุ่มคณะกรรมการบริหาร |
จำคุกคนละ 18 ปี |
กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อ |
จำคุกคนละ 12 ปี (ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7) |
กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ |
จำคุกคนละ 12 ปี (เว้นจำเลยที่ 12 จำคุก 18 ปี) |
กลุ่มนิติบุคคลทั้งหมด |
ปรับรายละ 26,000 บาท |
กลุ่มผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัวทั้งหมด |
จำคุกคนละ 12 ปี |
กลุ่มนิติบุคคล+ผู้แทนนิติบุคคลฯ |
ชดใช้ค่าเสียหาย 10,004,467,480 บาท |
อย่างไรก็ดีที่น่าสนใจคือ หากย้อนกลับไปดูในสำนวนการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พบว่า มีผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ถึง 31 คน ?
โดยผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มการเมืองที่ถูก คตส. สอบมีทั้งหมด คือกลุ่มการเมือง 5 คน นอกเหนือจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แก่ นายพานทองแท้ ชินวัตร (บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ) นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (สกุลขณะนั้น) นายวันชัย หงส์เหิน (สามีนางกาญจนาภา) และนายมานพ ทิวารี (บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย)
ทั้งที่ในขั้นตอนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการ คตส. ได้รับการยืนยันจากหนึ่งในกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งการให้มีการปล่อยเงินกู้ โดยก่อนหน้าการประชุมกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่อรายนี้
ร.ท.สุชาย ได้แจ้งที่ประชุมว่า ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จาก “บิ๊กบอส” คนหนึ่ง ให้ปล่อยกู้รายนี้ โดย “บิ๊กบอส” ที่ ร.ท.สุชาย เอ่ยถึงนั้น ทุกคนในคณะกรรมการบริหารต่างเข้าใจตรงกันว่าหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นคำที่ ร.ท.สุชาย ใช้เอ่ยถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ตลอดเวลา และที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อวงเงินขนาดใหญ่หลายครั้งที่เกี่ยวพันกับครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทยคนหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดีศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยคนหนึ่งในช่วงเวลานั้น อ้างถึงกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยอีกรายหนึ่ง ระบุว่า “บิ๊กบอส” เป็นคนสั่งการให้ธนาคารดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังไม่ชัดเจนว่า “บิ๊กบอส” หมายถึงใคร รวมถึงเรื่องของเส้นทางการเงินที่อ้างว่า มีการโอนให้บุตรและภรรยา ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน
ศาลจึงเห็นว่าพยานหลักฐานในส่วนนี้ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2-5 และที่ 8-27 ร่วมสนับสนุนจำเลยที่ 1 ฐานเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และมีส่วนได้ส่วนเสีย ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 และ 157 จึงให้ยกคำร้อง
ส่วนเหตุผลที่ “โอ๊ค” พานทองแท้ และคนใกล้ชิด “ทักษิณ-พจมาน” อีก 3 ราย ถูก คตส. ตั้งข้อกล่าวหา เป็นเพราะว่ามีเงินบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ครั้งนี้โอนเข้าไปในบัญชีของนายพานทองแท้ด้วย
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่คตส. ได้สรุปคดีและชี้มูลความผิดบุคคลต่าง ๆ ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ นั้น ในชั้นอัยการได้มีการตัดชื่อของ นายพานทองแท้ นางกาญจนาภา นายวันชัย และนายมานพ ออกไป เนื่องจากเห็นว่าหลักฐานเชื่อมโยงไปไม่ถึง
สอดคล้องกับท่าที่ของ คตส.รายหนึ่ง ที่พยายามแสดงความเห็นมาตลอดว่า ให้ตัดชื่อ ของ นายพานทองแท้ นางกาญจนาภา นายวันชัย และนายมานพ ออกไป เพราะ “หลักฐานโยงไปไม่ถึง” เช่นกัน
ล่าสุด ศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินจำคุกบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ไปแล้วทั้งหมด 21 คน (สั่งปรับเงินนิติบุคคล 4 แห่ง ยกฟ้อง 2 คน) โทษจำคุก 12 และ 18 ปี ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของบรรดาญาติ คนใกล้ชิด ที่มาร่วมฟังคำพิพากษาคดีนี้กันอย่างล้นหลามกว่า 50 คน
ปัญหาที่น่าสนใจ คือ ตกลงแล้ว “บิ๊กบอส” ที่สั่งให้คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร คือ ใคร ?
เพราะท้ายสุดศาลพิพากษาแล้วว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า “บิ๊กบอส” คือ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ซึ่งปัจจุบันหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ
หรือต้องรอให้ถึงวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเข้ามาต่อสู้คดีในชั้นศาลเท่านั้น จึงจะรู้ว่าท้ายสุดแล้ว “บิ๊กบอส” คือใครกันแน่
แม้ว่ามันจะ “ริบหรี่” เต็มทีก็ตาม !
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายพานทองแท้ จาก tnews, ภาพศาลฎีกาฯ จาก naewna