logo isranews

logo small 2

คำพิพากษาศาลฎีกาฯมัด! เส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยงถึง“พานทองแท้”

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 16 กันยายน 2558 เวลา 15:16 น.
เขียนโดย
isranews

“…ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้น ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า มีการโอนเงินให้แก่ “บุตร-คนใกล้ชิด” นายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ภริยานายทักษิณ จริง ! เพียงแต่ไม่มีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า “บิ๊กบอส” ที่สั่งการให้อนุมัติปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร เป็นใครเท่านั้น ?…”

PIC oakoakkkk 16 9 58 11

ในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองคดีหนึ่ง คือ คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร 2 ครั้ง ครั้งแรก 500 ล้านบาท ครั้งที่สอง 9.9 พันล้านบาท รวมมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทโดยมิชอบ ส่งผลให้มีจำเลยถูกจำคุกหลายสิบราย และให้ชดใช้ค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาทนั้น

(อ่านประกอบ : พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.)

มีประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างชัด ?

นั่นคือ กรณีเส้นทางการเงินของในคดีดังกล่าว โยงไปถึงนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยานายทักษิณ นายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนาภา และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จริงหรือไม่ ?

เนื่องจากฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) ออกมายืนยันว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ (คตส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีอำนาจไต่สวนกรณีดังกล่าว เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ไปแล้ว

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า มีการสอบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาฟอกเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังไม่มีหลักฐานโยงไปถึงนายพานทองแท้กับพวก ส่วนข้อกล่าวหารับของโจรนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูล

สวนทางกับ “แก้วสรร อติโพธิ” อดีตเลขาธิการ คตส. ที่ออกมายืนยันว่า กรณีนี้พบเส้นทางการเงินอย่างชัดเจนว่า มีการโอนไปถึง “เครือข่ายบริวารตระกูลชินวัตร”

เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ในส่วนของเส้นทางการเงิน และส่วนที่มีการระบุถึงความเชื่อมโยงไปยังนายพานทองแท้ มาให้เห็นกัน ดังนี้

หนึ่ง เส้นทางการเงิน

“ภายหลังธนาคารผู้เสียหายดำเนินการปล่อยสินเชื่อแก่จำเลยที่ 18 (บริษัท อาร์เคฯ เครือกฤษดามหานคร ผู้ขออนุมัติสินเชื่อ 500 ล้านบาท) และจำเลยที่ 19 (บริษัท โกลเด้นฯ เครือกฤษดามหานคร ผู้ขออนุมัติสินเชื่อ 9.9 พันล้านบาท) ขายหุ้นบุริมสิทธิให้แก่จำเลยที่ 22 (บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ฯ เครือกฤษดามหานคร) แล้ว

ปรากฏว่าในวันที่ 26 ก.พ. 2547 นายธวัชชัย บังเกิดสิงห์ และนายเวชยันต์ ประสาทเสรี กับพวก ในฐานะผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของธนาคารพาณิชย์ ได้เข้าตรวจสอบธนาคารผู้เสียหาย

พบว่า กรณีให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 19 จำนวน 9.9 พันล้านบาท มีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้น จึงมีคำสั่งให้ธนาคารผู้เสียหายตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระจากการให้สินเชื่อดังกล่าว เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 19 และดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการให้สินเชื่อ ทั้งให้ผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางเดินเงิน กรณีธนาคารผู้เสียหายให้สินเชื่อแก่กลุ่มบริษัทจำเลยที่ 20 (บริษัท กฤษดามหานครฯ) ต่อไปด้วย

จากการตรวจสอบกระแสเงินกู้ที่จำเลยที่ 19 ได้รับจากธนาคารผู้เสียหาย สาขาพระปิ่นเกล้า เป็นแคชเชียร์เช็ค 11 ฉบับ รวม 7,985,762,000 บาท นั้น แคชเชียร์เช็คจำนวน 6 ฉบับ รวม 2,540,096,000 บาท มีการนำฝากเข้าบัญชีจำเลยที่ 19 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาศรีย่าน

และปรากฏพฤติกรรมในการทำธุรกรรมเบิกถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวระหว่างบุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มจำเลยที่ 20 หลายขั้นตอน และยังนำไปให้จำเลยที่ 21 (บริษัท โบนัสบอร์นฯ เครือข่ายกฤษดามหานคร) ซื้อหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของจำเลยที่ 20 ทั้งหมด เป็นเงิน 369,685,200 บาท ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 197,622,555 บาท โอนให้บุคคลต่าง ๆ ในกลุ่มบริษัทจำเลยที่ 20

ส่วนที่เหลืออีก 5 ฉบับ ถูกนำไปชำระหนี้รีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงเทพฯ จำนวน 3 ฉบับ เป็นเงิน 4,445,130,000 บาท และนำไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิชนิดแปลงสภาพของจำเลยที่ 20 คืนจากธนาคารกรุงเทพฯ ในนามของจำเลยที่ 21 จำนวน 2 ฉบับ เป็นเงิน 1,000,536,000 บาท

นอกจากนี้ยังพบว่า เงินกู้จำนวน 500 ล้านบาท ที่จำเลยที่ 18 ได้รับจากธนาคารผู้เสียหายนั้น มีจำนวน 20 ล้านบาท ได้ถูกนำไปชำระค่าธรรมเนียมเงินกู้ที่จำเลยที่ 19 กู้ไปจากธนาคารผู้เสียหาย และจำนวน 45 ล้านบาท ถูกนำไปชำระค่ามัดจำรีไฟแนนซ์ที่จำเลยที่ 19 มีต่อธนาคารกรุงเทพฯ ด้วย

ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้ถ้อยคำ โดยธนาคารผู้เสียหายได้ชี้แจงเป็นหนังสือและส่งรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 19 และการขายหุ้นบุริมสิทธิให้แก่จำเลยที่ 22 ประกอบการพิจารณา”

หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายพร้อมเอกสารหลักฐานเสนอต่อคณะกรรมการประสานงานการดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายการเงิน การคลัง และได้ลงนามในหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินตามกฎหมายแก่ผู้บริหารธนาคารผู้เสียหายกับพวกว่า ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต กรณีการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 19 จำนวน 9.9 พันล้านบาท และกรณีขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของจำเลยที่ 20 ให้แก่จำเลยที่ 22 โดยไม่ได้รับชำระราคาทันที

ส่วนกรณีธนาคารผู้เสียหายอนุมัติสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาเงินจำนวน 500 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 18 โดยมิชอบนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยทราบว่ากรณีดังกล่าวอาจมีความผิดตามกฎหมาย โดยเป็นอำนาจหน้าที่ของ คตส. และ ป.ป.ช. ในการไต่สวน ก่อนที่ ป.ป.ช. จะชี้มูลความผิดและส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ทว่า อสส. เห็นว่าข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะกรรมการร่วมฯเพื่อพิจารณา ก่อนที่ ป.ป.ช. จะดำเนินการฟ้องคดีเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สอง ประเด็นที่มีการโอนเงินถึง “บุตร-บุคคลใกล้ชิด” นายทักษิณ-ภริยา

“… สำหรับข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า จำเลยที่ 25 (นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร) มีการโอนเงินให้แก่บุตรและบุคคลใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 (นายทักษิณ) นั้น เห็นว่า บุคคลดังกล่าวก็เป็นบุตรและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับภริยาของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่ส่อแสดงหรือบ่งชี้ว่าจำเลยต่าง ๆ ดังกล่าวได้ร่วมกันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิดส่วนนี้ พยานหลักฐานที่ปรากฏจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2-5 (อดีตผู้บริหารธนาคารฯ) และที่ 8-27 (คณะกรรมการสินเชื่อ-เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ-เอกชนเครือกฤษดามหานคร) ร่วมกระทำผิดหรือสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157”

PIC คำพพากษามด 1

จากคำพิพากษาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เส้นทางการเงินของเครือกฤษดามหานครภายหลังได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย ได้ออกเป็นแคชเชียร์เช็ค 11 ฉบับ รวมมูลค่ากว่า 7.9 พันล้านบาท โดยมีการโอนไปยัง “เครือข่าย” บริษัทต่าง ๆ ของเครือกฤษดามหานคร แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่า มีการโอนถึง “ใคร” บ้าง นอกเหนือจากบริษัทในเครือข่ายกฤษดามหานคร

และข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้น ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า มีการโอนเงินให้แก่ “บุตร-คนใกล้ชิด” นายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ภริยานายทักษิณ จริง !

เพียงแต่ไม่มีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า “บิ๊กบอส” ที่สั่งการให้อนุมัติปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร เป็นใครเท่านั้น ?

ขณะที่ดีเอสไอ ออกมายืนยันว่า ได้คัดสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปประกอบในสำนวนการสอบสวนด้วย

ดังนั้นต้องจับตาว่า ท้ายสุดแล้วชื่อของ “พานทองแท้-พวก” จะติดโผเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในกรณีนี้หรือไม่ ?

อ่านประกอบ :
นำเสนอ 15 นาที ก่อนปล่อยกู้ 9.9 พันล.!คำพิพากษามัด 'วิโรจน์-พวก' คดีกรุงไทย
เหตุผลศาลฎีกาฯคดีกรุงไทย ไม่รู้ใคร“บิ๊กบอส”-สาวไม่ถึง“พานทองแท้”ฟอกเงิน?
ดีเอสไอยันคตส.ไม่กล่าวหา'พานทองแท้' ฟอกเงินคดีกรุงไทย-รับของโจรไม่มีมูล“แก้วสรร”สวนดีเอสไอ ยัน คตส.ให้เอาผิด “พานทองแท้-พวก”ฟอกเงินคดีกรุงไทย
แก้วสรร อติโพธิ : คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ภาค 2
ขยายปม อสส.ไม่ฟ้อง“พานทองแท้-พวก”รับของโจรคดีกรุงไทย ใครรับผิดชอบ? 
อัยการยัน“พานทองแท้-พวก”ไม่ใช่ จนท.รัฐ ชนวนไม่ฟ้องปมรับของโจรคดีกรุงไทย
จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”
ข้อมูลลับความเชื่อผู้บริหาร "เอคิว" ก่อนศาลฯ พิพากษาชดใช้กรุงไทยหมื่นล.! 
คำให้การมัดคดีกรุงไทยโผล่เว็บศาลฯ ชื่อ 2 กก.บริหาร "อุตตม-รมว.ไอซีที" รอด!
พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.