- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- จนท.พาณิชย์เล่าหมดเปลือก!คำพิพากษาฉบับเต็มพฤติการณ์‘บิ๊ก ขรก.’คดีข้าวจีทูจีเก๊
จนท.พาณิชย์เล่าหมดเปลือก!คำพิพากษาฉบับเต็มพฤติการณ์‘บิ๊ก ขรก.’คดีข้าวจีทูจีเก๊
“…จำเลยที่ 4-6 เป็นข้าราชการมีความรู้และประสบการณ์การเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีมาแล้วทั้งสิ้น ย่อมต้องทราบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีเป็นอย่างดี แต่การขายข้าวตามฟ้องปรากฏข้อพิรุธผิดปกติหลายประการ บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 4-6 ทราบดีอยู่แล้วว่า การซื้อขายข้าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้พยายามปกปิด มิให้แพร่งพรายออกไปสู่ภายนอก…”
หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ‘จำคุกหนัก’ เป็นเวลา 36 ปี และ 42 ปี ตามลำดับ กรณีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) พ่วงด้วยจำเลยคดีนี้รวมทั้งสิ้น 15 ราย ยกฟ้อง 8 ราย และหลบหนี 3 ราย (อ่านประกอบ : รูดม่านคดีจีทูจีเก๊ชาติเจ๊งหมื่นล.!คำพิพากษาชำแหละ‘ภูมิ-บุญทรง-บิ๊ก ขรก.-ก๊วนเปี๋ยง’, INFO:จำแนกครบ17จำเลย-โทษเรียงคนคดีทุจริตข้าวจีทูจีเจ๊งหมื่นล.ยกฟ้อง 8-ออกหมายจับ3)
ในคราวที่แล้วสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาฉบับเต็ม เปลือยพฤติการณ์ของนายภูมิ และนายบุญทรง ให้ทราบกันไปแล้วว่า ดำเนินการอย่างไร ทำไมศาลฎีกาฯจึงต้องพิพากษาจำคุกรุนแรงขนาดนี้ (อ่านประกอบ : ชัดๆคำพิพากษาศาลฉบับเต็ม!ชำแหละพฤติการณ์‘ภูมิ-บุญทรง’คดีจีทูจีเก๊)
คราวนี้มาดูในส่วนอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้กันบ้าง ?
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯฉบับเต็มดังกล่าว อธิบายถึงพฤติการณ์ของนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 4) นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว (จำเลยที่ 5) และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 6) สรุปได้ ดังนี้
@สัญญาฉบับที่ 1-2
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4-6 เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาขายข้าวแบบจีทูจีให้บริษัท กวางตุ้งฯ และบริษัท ไห่หนานฯ (2 รัฐวิสาหกิจจีน ที่ถูกอ้างว่าเข้ามาซื้อข้าวจีทูจี) โดยข้อตกลงตามสัญญาส่อความผิดปกติหลายประการ ดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว (อ่านข้อมูลดังกล่าวได้จาก : ชัดๆคำพิพากษาศาลฉบับเต็ม!ชำแหละพฤติการณ์‘ภูมิ-บุญทรง’คดีจีทูจีเก๊)
จำเลยที่ 4-6 เป็นข้าราชการมีอำนาจหน้าที่โดยตรงและเคยมีประสบการณ์ขายข้าวแบบจีทูจีมาก่อน ย่อมทราบดีว่าประเทศจีนมอบหมายให้ COFCO เป็นหน่วยงานำเข้าข้าวแบบจีทูจี และโควตาการนำเข้าข้าวของจีนได้มีการประกาศไว้ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) รวมถึงสถิติที่มีการนำเข้าจริง
ทั้งนี้จำเลยที่ 5 (นายทิฆัมพร) ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการระบายข้าว ครั้งที่ 1/2554 ว่า ปี 2554 และปี 2555 คาดการณ์ว่าจีนจะนำเข้าข้าวเพียง 6 แสนตัน และ 4 แสนตันตามลำดับ ส่วนจำเลยที่ 6 (นายอัครพงศ์) ได้แนบเอกสารบริษัท กวางตุ้งฯ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับค้าข้าวของจีนในเรื่องการนำเข้า การส่งออก และสถิติการนำเข้าข้าวจากไทยปี 2552-2553 ว่า จีนนำเข้าข้าวไทยเพียง 333,000 ตัน และ 2.6 แสนตัน ตามลำดับ ส่วนปี 2554 ตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค. จีนนำเข้าข้าวไทยเพียง 2 แสนตันเศษเท่านั้น
การที่บริษัท กวางตุ้งฯ ขอซื้อข้าวจากไทยหลายล้านตันในคราวเดียว จำเลยที่ 4-6 ย่อมต้องทราบถึงข้อผิดปกติ และยังปรากฏข้อพิรุธเกี่ยวกับเงื่อนไขการขายที่ระบุให้บริษัท กวางตุ้งฯ นำข้าวที่ซื้อส่งไปขายต่อยังประเทศที่สามในลักษณะเชิงพาณิชย์ได้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่า มีผลกระทบต่อการแข่งขันราคาในตลาดข้าวอันเป็นการเสียหายต่อประเทศไทย ข้อตกลงดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และขัดต่อแนวปฏิบัติของกรมการค้าต่างประเทศในเรื่องการทำสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจี
แม้จำเลยที่ 5 จำเบิกความอ้างว่า ในอดีตกรมการค้าต่างประเทศเคยทำสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีกับ COFCO มีข้อตกลงว่าให้ re-export คือส่งออกไปยังประเทศที่สามได้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 5 เบิกความตอบข้อซักถามโจทก์ (พนักงานอัยการ) ว่า คำว่า re-export ไม่ได้มีความหมายชัดเจน แต่หลังจากผู้ซื้อรับมอบข้าวไปแล้ว ได้ส่งต่อไปยังคิวบา แต่ไม่ทราบว่า เป็นการส่งไปขายหรือบริจาค และไม่ได้ยืนยันว่า เป็นการขายในลักษณะเพื่อการพาณิชย์
ส่วนที่จำเลยที่ 4 มีความเห็นว่า การระบุเงื่อนไขในสัญญายินยอมให้คู่สัญญาฝ่ายผู้ซื้อสามารถส่งข้าวที่ซื้อขายต่อไปยังประเทศที่สามในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากมีข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการรับจำนำจำนวนมาก และไทยไม่มีศักยภาพเอื้อมไปถึงตลาดข้าวบางแห่งในต่างประเทศ เช่น แอฟริกา เป็นต้น แต่จีนกำลังมีพัฒนาการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ หากเปิดโอกาสให้คู่สัญญาฝ่ายผู้ซื้อซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน สามารถส่งข้าวที่ซื้อขายไปยังประเทศที่สามได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องการแย่งตลาด เพราะมีข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวจำนวนมาก เปรียบเสมือนน้ำท่วมจึงต้องรีบสูบออกหรือระบายออกไปโดยเร็วนั้น
เห็นว่า การให้บริษัท กวางตุ้งฯ มีสิทธิส่งข้าวทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ไปยังประเทศที่สามเพื่อการค้านั้น เป็นการขัดต่อแนวปฏิบัติและยังมีผลเท่ากับกรมการค้าต่างประเทศขายข้าวให้บริษัท กวางตุ้งฯ ในราคาต่ำกว่าปกติอย่างมาก แล้วให้บริษัท กวางตุ้งฯ นำไปขายต่อในประเทศที่สามเพื่อทำกำไร ย่อมไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่อาจถือว่าเป็นสัญญาจีทูจีตั้งแต่แรก
นอกจากนี้กระบวนการจัดทำและการนำเสนอยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการก็ส่อว่ามีการวางแผนเพื่อรองรับรัฐวิสาหกิจของมณฑลให้สามารถทำสัญญาแบบจีทูจีได้โดยไม่ต้องได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ในขั้นตอนก่อนการเจรจากับบริษัท กวางตุ้งฯ จำเลยที่ 4 ได้ทำบันทึกถึง ผอ.สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยตรวจสอบว่า บริษัท กวางตุ้งฯ เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนหรือไม่ แทนที่จะขอให้ตรวจสอบว่า บริษัท กวางตุ้งฯ ได้รับมอบหมายจากจีนหรือไม่ และขณะเจรจากับบริษัท กวางตุ้งฯ ยังไม่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวแต่อย่างใด
สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเจรจาซื้อขายข้าวจีทูจี พยานฝ่ายโจทก์ ระบุว่า หลังทำสัญญา เคยถามจำเลยที่ 5 ว่า หากภายหลังผลการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัท กวางตุ้งฯ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจจะดำเนินการอย่างไร จำเลยที่ 4 ตอบว่า ฝ่ายไทยสามารถยกเลิกสัญญาได้
แม้ว่าพยานรายนี้จะเบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 4-6 ว่า ขณะเจรจามีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามผลการตรวจสอบจากสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ได้รับแจ้งว่า บริษัท กวางตุ้งฯ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 100% ก็ไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ผู้โทรศัพท์สอบถามเป็นใคร
พยานรายนี้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ในขณะที่ยังไม่มีการชี้มูลความผิด จึงน่าเชื่อว่าเป็นการให้ถ้อยคำตามความเป็นจริงยิ่งกว่าที่เบิกความต่อศาล
ในเรื่องการตรวจสอบสถานะของบริษัท กวางตุ้งฯ ยังได้ความอีกว่า จำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ให้ช่วยตรวจสอบว่า บริษัท กวางตุ้งฯ เป็นรัฐวิสาหกิจจีนหรือไม่ กรมเอเชียตะวันออกมีหนังสือแจ้งว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ติดต่อประสานงานเป็นการภายในกับกรมการค้าต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำไทยแล้ว โดยสถานเอกอัครราชทูตพร้อมให้ความร่วมมือ แต่จำเลยที่ 4 เกษียน สั่งเพียงว่า ส่งสำนักบริหารการค้าข้าวพิจารณา ในที่สุดกรมการค้าต่างประเทศเพิกเฉยไม่ได้ตอบหนังสือของกรมเอเชียตะวันออก ทั้งที่ขณะนั้นหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบของ ผอ.สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ยังส่งไม่ถึงกรมการค้าต่างประเทศ แต่จำเลยที่ 4 ระบุในบันทึกขอความเห็นชอบการเจรจาว่า บริษัท กวางตุ้งฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ซึ่งฝ่าฝืนต่อความจริง
ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่-6 มีเจตนาให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายข้าว โดยไม่คำนึงถึงสถานะของบริษัท กวางตุ้งฯ
ส่วนที่พยานจากกระทรวงพาณิชย์ เบิกความว่า ก่อนเจรจา จำเลยที่ 6 ได้ขอหลักฐานการมอบหมายจากรัฐบาลจีน แต่บริษัท กวางตุ้งฯ ไม่มีเอกสารมอบอำนาจ ทั้งได้ยินจากจำเลยที่ 6 แจ้งจำเลยที่ 4 ว่า บริษัท กวางตุ้งฯ ไม่มีหลักฐานการได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน และจำเลยที่ 6 ยังแจ้งว่า รัฐบาลไทยไม่เคยทำสัญญาแบบจีทูจีที่กำหนดราคาขายแบบหน้าคลังสินค้า (Ex-warehouse) มาก่อน แต่จำเลยที่ 4 ตอบว่า ให้เจรจาไปก่อนแล้วนำเสนอจำเลยที่ 1 (นายภูมิ) เป็นผู้พิจารณานั้น
เห็นว่า พยานรายนี้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. 2 ครั้ง ในการให้ถ้อยคำครั้งที่ 2 คณะอนุกรรมการไต่สวน ถามว่า ในการเจรจามีการพูดเรื่องสถานะของหน่วยงาน และการได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนหรือไม่ อย่างไร พยานรายนี้ตอบว่า ไม่ได้ยินการพูดคุยในเรื่องสถานะของหน่วยงาน หรือเรื่องการได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน ส่วนจำเลยที่ 6 เองให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนหลายครั้ง แต่ไม่เคยให้การถึงเรื่องดังกล่าว คำเบิกความในส่วนนี้ของพยานรายนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
นอกจากนี้จำเลยที่ 5 ยังให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า โดยทั่วไปการเจรจาซื้อขายแบบจีทูจีทุกครั้ง เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่รัฐบาลต่างประเทศ มักมีเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์เดินทางไปต้อนรับ แต่กรณีของบริษัท กวางตุ้งฯ และบริษัท ไห่หนานฯ จำเลยที่ 4 แจ้งว่า ผู้แทนของบริษัททั้งสองจะเดินทางเข้าไทยด้วยตนเอง ขัดต่อเหตุผลที่ผู้แทนรัฐวิสาหกิจต่างประเทศเดินทางมาเจรจาซื้อขายแบบจีทูจีจะหาที่พักแรมเอง
ยิ่งกว่านั้นหลักการและวิธีปฏิบัติในการเจรจาแบบจีทูจี ข้าราชการผู้มีอำนาจจะต้องขอความเห็นชอบกรอบการเจรจาจากรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเห็นชอบผลการเจรจาในเงื่อนไขต่าง ๆ แต่ตามสัญญาฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ไม่ปรากฏว่า มีการขออนุมัติกรอบการเจรจา
หลังจากทำสัญญา 2 ฉบับแรกกับบริษัท กวางตุ้งฯ จำเลยที่ 4 ได้เสนอบันทึกขอความเห็นชอบในการแก้ไขสัญญาฉบับที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง และเสนอบันทึกขอความเห็นชอบในการแก้ไขสัญญาฉบับที่ 2 จำนวน 5 ครั้ง การแก้ไขแต่ละครั้ง ไม่ปรากฏว่า มีการเจรจากับใคร ที่ไหน แม้แต่จำเลยที่ 5 ในฐานะ ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว มีอำนาจหน้าที่เตรียมข้อมูลการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ไม่เคยเข้าร่วมเจรจาในการแก้ไขสัญญา และไม่เคยเห็นตัวแทนของบริษัท กวางตุ้งฯ หรือบริษัท ไห่หนานฯ เดินทางเข้ามาเจรจา ทราบเพียงว่า อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 4) อนุมัติให้แก้ไขสัญญาตามบัญชาของ รมว.พาณิชย์ (จำเลยที่ 2) ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่เคยชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนหรือให้การในชั้นการพิจารณาว่า ในการแก้ไขสัญญาแต่ละครั้ง ได้มีการเจรจากับตัวแทนของผู้ซื้อ ที่ไหน อย่างไร
ข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดเจนว่า วิธีปฏิบัติในการแก้ไขสัญญาเริ่มจากฝ่ายข้าราชการของกรมการค้าต่างประเทศ จัดทำเอกสารการแก้ไขกันเอง โดยไม่มีการเจรจาใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ในเรื่องเพิ่มวิธีชำระค่าข้าวด้วยการโอนเงินผ่านธนาคาร และวิธีชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็ค เป็นการขอแก้ไขหลังจากทำสัญญาไปเพียง 5 วัน นับเป็นข้อพิรุธยิ่ง เพราะหากผู้ซื้อประสงค์เพิ่มวิธีชำระเงินดังกล่าว ก็น่าจะเจรจากันให้ได้ข้อยุติตั้งแต่ขณะทำสัญญาแล้ว
อีกทั้งวิธีชำระเงิน 2 วิธีที่เพิ่มมาก็ไม่สอดคล้องกับแนวทางการซื้อขายแบบจีทูจีซึ่งเงินที่ชำระต้องมาจากผู้ซื้อที่เป็นรัฐต่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศไม่เคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน การชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คหรือโอนเงินผ่านธนาคาร ย่อมทำให้ตรวจสอบและควบคุมการส่งออกข้าวเป็นไปด้วยความยุ่งยาก และเปิดช่องให้นำข้าวไปเวียนขายภายในประเทศ หรือนำกลับไปจำนำในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะซื้อมาในราคาถูกกว่าท้องตลาดตามที่ปรากฏตามข่าวว่า ภายหลังการทำสัญญามีการใช้แคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 หลายร้อยฉบับ เช็คบางฉบับสั่งจ่ายเพียง 2,400-20,460 บาท และเงินที่ใช้ซื้อแคชเชียร์เช็คล้วนแต่มาจากบุคคลหรือนิติบุคคลภายในประเทศทั้งสิ้น โดยไม่มีการชำระค่าข้าวด้วยเงินของรัฐวิสาหกิจผู้ซื้อทั้ง 2 รายเลย
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการนำข้าวตามสัญญามาเวียนขายภายในประเทศโดยไม่มีการส่งไปยังต่างประเทศ ที่จำเลยที่ 4-6 ต่อสู้ว่า กรมการค้าต่างประเทศไม่มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้าวตามสัญญาได้ส่งออกไปต่างประเทศหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าวนั้น เห็นว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะเป็นคู่สัญญาย่อมต้องมีอำนาจและหน้าที่ต้องตรวจสอบว่า ผู้ซื้อได้มีการนำข้าวที่ซื้อออกนอกไทยอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาหรือไม่ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศเองมีหน้าที่ออกใบอนุญาตส่งออก ย่อมสามารถตรวจสอบข้อมูลการส่งออกได้โดยง่าย ส่วนคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว มีหน้าที่ติดตามและตรวจสอบในกระบวนการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภาพรวม ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบการปฏิบัติตามสัญญาโดยที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 4-6 ฟังไม่ขึ้น
@สัญญาฉบับที่ 3
สำหรับสัญญาฉบับที่ 3 ลงบันทึกเมื่อปี 2555 ว่า บริษัท กวางตุ้งฯ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนมีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 4) ขอทำสัญญาซื้อขายข้าวฉบับใหม่ โดยขอซื้อข้าว 2 ชนิด รวม 5 แสนตัน ตันละ 11,500 บาท และ 9,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 4 มีการเจรจากับผู้แทนของบริษัท กวางตุ้งฯ เมื่อใด สถานที่ใด
อีกทั้งพยานฝ่ายโจทก์ ผู้มีหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลการเจรจา ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า กรมการค้าต่างประเทศเคยมีการเจรจากับบริษัท กวางตุ้งฯ เพียงครั้งเดียวในวันที่ 5 ต.ค. 2554 ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์ ผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 ให้ทำหน้าที่ดูแลด้านซื้อขายข้าวกับต่างประเทศ การรับแคชเชียร์เช็ค และเบิกจ่ายข้าวให้บริษัท กวางตุ้งฯ เบิกความว่า กลางเดือน มิ.ย. 2555 ได้เสนอบันทึกขอความเห็นชอบเพื่อทำสัญญาฉบับที่ 3 ให้จำเลยที่ 4 และ 6 พิจารณา จนจำเลยที่ 2 (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์) ได้ให้ความเห็นชอบ นำไปสู่การลงนามในสัญญาที่ 3 แต่พยานไม่เคยพบตัวแทนของบริษัท กวางตุ้งฯ เลย ส่วนจำเลยที่ 4-6 ไม่เคยชี้แจงหรือแสดงหลักฐานไม่ว่าในชั้น ป.ป.ช. หรือชั้นการพิจารณาว่า มีการเจรจากับบริษัท กวางตุ้งฯ เมื่อใด ที่ใด
อีกทั้งปรากฏว่า ข้าวที่บริษัท กวางตุ้งฯ ขอซื้อเพิ่มนั้น เป็นข้าวที่รวมอยู่ในสัญญาฉบับที่ 2 อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 4-6 กลับเสนอขอความเห็นชอบให้ขายข้าวต่ำกว่าราคาตามสัญญาเดิม ทำให้บริษัท กวางตุ้งฯ ได้ประโยชน์จากการซื้อขายข้าวชนิดเดียวกันในราคาที่ต่ำลง ข้ออ้างของจำเลยที่ 4-5 ว่า ข้าวชนิดดังกล่าวตามสัญญาฉบับที่ 2 เป็นข้าวนาปี ส่วนข้าวในฉบับที่ 3 เป็นข้าวนาปรังที่มีราคาถูกนั้น จำเลยที่ 4 ไม่ระบุเหตุผลตามที่อ้างไว้ในบันทึกขอความเห็นชอบผลการเจรจา แต่กลับปรากฏว่า ในเดือน มิ.ย. 2556 จำเลยที่ 5-6 เป็นคณะเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีให้บริษัท ไห่หนานฯ เป็นข้าวนาปี และนาปรัง ในราคาเท่ากันคือ 9,000 บาท/ตัน
นอกจากนี้การขายข้าวแบบจีทูจีให้ COFCO เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2556 ขณะนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็น รมว.พาณิชย์ ก็ตกลงขายข้าวนาปรับ ในราคาแพงกว่าข้าวนาปี ข้าวนาปีจึงหาได้มีราคาสูงกว่าข้าวนาปรังตามที่อ้างไม่
@สัญญาฉบับที่ 4
สำหรับสัญญาฉบับที่ 4 ได้ความตามบันทึกขอความเห็นชอบกรอบแนวทางเจรจาว่า บริษัท ไห่หนานฯ มีหนังสือแจ้งความประสงค์ถึง รมว.พาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2554 แต่จำเลยที่ 4 เพิ่งจะทำบันทึกขอความเห็นชอบกรอบแนวทางเจรจาในวันที่ 23 ส.ค. 2554 อันเป็นวันที่อ้างว่า มีการนัดหมายเจรจากับบริษัท ไห่หนานฯ อีกทั้งตามบันทึกระบุชื่อเรื่องว่า แนวทางการเสนอราคาขายข้าวแบบจีทูจี ระหว่างไทยและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ซึ่งขัดแย้งกับเนื้อความในบันทึกที่ระบุว่า บริษัท ไห่หนานฯ เป็นเพียงรัฐวิสาหกิจของมณฑลไห่หนาน และจำเลยที่ 4 มีบันทึกถึง ผอ.สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยตรวจสอบสถานะความเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของบริษัท ไห่หนานฯ แทนที่จะขอให้ตรวจสอบว่า บริษัท ไห่หนานฯ ได้รับมอบอำนาจหรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนหรือไม่
@ปกปิดชื่อลูกค้าในแคชเชียร์เช็ค
สำหรับขั้นตอนปฏิบัติในการส่งมอบข้าวตามสัญญา ได้ความจากพยานฝ่ายโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงพาณิชย์ว่า จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็น ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าวในขณะนั้น ได้สั่งไว้ว่า ไม่ต้องนำหนังสือเกี่ยวกับการรับมอบข้าวไปลงทะเบียนรับหนังสือตามระเบียบงานสารบรรณ โดยอ้างว่า เป็นความลับของทางราชการ ในระยะแรก ๆ จำเลยที่ 5 จะยกร่างหนังสือให้จำเลยที่ 4 ลงนามแจ้งไปยังองค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ให้จ่ายข้าว โดยระบุชื่อคนไทยที่เป็นผู้รับมอบอำนาจ แต่ไม่ระบุชื่อบริษัท กวางตุ้งฯ หรือบริษัท ไห่หนานฯ และระบุด้วยว่า ขอให้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นทางลับอย่างยิ่ง หากข้อมูลการจำหน่ายข้าวสารแพร่กระจายออกสู่สาธารณชน อาจสร้างความปั่นป่วนต่อระบบตลาดข้าว และอาจก่อให้เกิดปัญหาในประเทศผู้ซื้อ
ในระยะต่อมาพยานโจทก์รายนี้ จะพิมพ์หนังสือตามแนวทางที่จำเลยที่ 5 เคยร่างไว้ จำเลยที่ 5 สั่งพยานผู้ถือหนังสือขอเบิกข้าวไปส่งให้ถึงมือ พ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผอ.อคส. (ขณะนั้น) หากไม่พบ ผอ.อคส. ให้ฝากหนังสือไว้กับเลขานุการ โดย อคส. ไม่มีการลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐาน
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ อคส. จะนำใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี มาส่งให้ ผอสำนักบริหารการค้าข้าว (จำเลยที่ 5) โดยตรง หาก ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าวไม่อยู่ พยานจะเป็นผู้รับหนังสือไว้แทน แต่ไม่มีการลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐานเช่นกัน แล้วพยานจะโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 7-9 (นายสมคิด เอื้อนสุภา นายรัฐนิธ โสจิระกุล และนายลิตร พอใจ) ให้มารับใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ไปใช้เป็นหลักฐานในการเบิกข้าวออกจากคลังสินค้า ทั้งนี้ใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ช่องชื่อลูกค้าจะระบุ กรมการค้าต่างประเทศ และไม่ระบุราคาต่อหน่วย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก สาเหตุที่ปฏิบัติเช่นนั้น เนื่องมาจากตามบันทึกขอให้เบิกจ่ายข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ ระบุให้ออกในนามกรมการค้าต่างประเทศ โดยไม่มีการระบุราคาและมูลค่า
เมื่อพิจารณาจากบันทึกข้อความแจ้งเบิกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 (นายภูมิ) เห็นชอบให้จำหน่ายข้าวสารในปริมาณหนึ่งให้แก่รัฐบาลต่างประเทศ ปกปิดชื่อไม่ระบุชื่อคู่สัญญา และปริมาณที่ขายตามสัญญา และยังได้ความจากพยานฝ่ายโจทก์ ที่เป็นเจ้าหน้ากระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ตรวจสอบการเบิกจ่ายข้าวว่า แคชเชียร์เช็คที่ชำระค่าข้าวที่นำส่งกองคลังนั้น ช่วงแรกเจ้าหน้าที่กองคลังจะลงชื่อในบันทึกการรับแคชเชียร์เช็คไว้เป็นหลักฐาน
แต่ในช่วงหลังเจ้าหน้าที่กองคลังไม่ยอมลงชื่อ โดยจำเลยที่ 5 แจ้งว่า ไม่ต้องทำบันทึกการรับแคชเชียร์เช็ค ทั้งที่หนังสือขอชำระเงินค่าข้าวก็ดี หนังสือแจ้งให้เบิกจ่ายข้าวก็ดี ใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษีก็ดี บันทึกการรับแคชเชียร์เช็คก็ดี ล้วนแต่เป็นเอกสารสำคัญที่เป็นหลักฐานการปฏิบัติตามสัญญา หากเป็นความลับที่อ้างก็ต้องนำไปลงทะเบียนเป็นหนังสือลับตามระเบียบงานสารบรรณ
การที่จำเลยที่ 5 ไม่ให้นำหนังสือทุกขั้นตอนของการรับข้าวไปลงทะเบียนเลขรับส่งหนังสือ ไม่ให้ทำหลักฐานการรับแคชเชียร์เช็ค ไม่ระบุชื่อลูกค้าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เห็นว่า จำเลยที่ 4-6 เป็นข้าราชการมีความรู้และประสบการณ์การเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีมาแล้วทั้งสิ้น ย่อมต้องทราบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีเป็นอย่างดี แต่การขายข้าวตามฟ้องปรากฏข้อพิรุธผิดปกติหลายประการ บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 4-6 ทราบดีอยู่แล้วว่า การซื้อขายข้าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้พยายามปกปิด มิให้แพร่งพรายออกไปสู่ภายนอก
การกระทำของจำเลยที่ 4-6 จึงเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1-2 จัดการทรัพย์โดยมิชอบอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 4 วรรคหนึ่ง 10 และ 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
เป็นการกระทำความผิดตามสัญญา 4 ฉบับ เป็นความผิดรวม 4 กระทง พิพากษาจำคุกนายมนัส กระทงละ 10 ปี รวม 40 ปี นายทิฆัมพร กระทงละ 8 ปี รวม 32 ปี และนายอัครพงศ์ กระทงละ 6 ปี รวม 24 ปี
อ่านประกอบ :
ไม่ขายผ่านCOFCO-หลักฐานศุลกากรมัดจีทูจีเก๊!พลิกคำพิพากษาฉบับเต็มคดี‘ภูมิ-บุญทรง’
ต้นฉบับหาย-ปิดชื่อ‘วีระวุฒิ’ไม่ส่ง ป.ป.ช.สอบ!ความพยายามกรมการค้า ตปท.อุ้มจำเลยจีทูจีเก๊?
กรมการค้า ตปท.ปิดชื่อ‘วีระวุฒิ’!ข้อมูลใหม่คดีจีทูจีเก๊ก่อนศาลคุกหนักบิ๊ก รมต.-เสี่ยเปี๋ยง
ศาลฎีกาฯ จำคุก บุญทรง 42 ปี ภูมิ 36 ปี เสี่ยเปี๋ยงอ่วม 48 ปี ชดใช้ 1.6 หมื่นล.
จำแนกจำเลย-พฤติการณ์! คดีระบายข้าวจีทูจีฉบับอัยการก่อนศาลนัดชี้ชะตา 25 ส.ค.
เจาะพิรุธคดีข้าวจีทูจีฉบับอัยการ!รัฐวิสาหกิจจีนไม่ได้เงิน-เช็คหมื่นล.จากก๊วน‘เสี่ยเปี๋ยง’
เอ็กซ์คลูซีฟ!เปิดครบเช็คเอกชน หมื่นล.ซื้อข้าวตรงกรมการค้าฯหลักฐานอัยการชี้ไม่ทำจีทูจีจีน
อุปโลกน์ทำงานกับคนจีน!พฤติการณ์ ‘สมคิด-ลิตร-ปาล์ม’ถูก ‘บิ๊ก’บงการสู้คดีข้าวจีทูจี
พิพากษาคดีจีทูจีเก๊ 25 ส.ค.-ผู้สอบบัญชี ‘กวางตุ้ง-ไห่หนาน’ไม่รู้เซ็นในนาม รบ.จีนหรือไม่
ครบถ้วน! ไทม์ไลน์ขายข้าวจีทูจี‘มนัส’ ชง‘ภูมิ-บุญทรง’ไฟเขียวก่อนถูกเวียนขายใน ปท.
เปิดขบวนการเวียนข้าวคดีจีทูจีเก๊ในสำนวน ป.ป.ช.-‘สารวัตร’รุ่นเดียว ‘วีระวุฒิ’ร่วมเดินเรื่อง
พบ‘สารวัตร’พันคดีข้าวถุง ร่วมรับเช็ค ‘วีระวุฒิ’เวียนข้าวขายในประเทศคดีจีทูจีเก๊
บ.ค้าข้าวเข้าพบ-โทรคุย-จ่ายเงิน‘วีระวุฒิ’! ข้อมูลใหม่คดีระบายข้าวจีทูจี
เปิดพฤติการณ์เอกชน-โรงสีจ่ายเช็ค‘วีระวุฒิ’ก่อนเวียนข้าวขายใน ปท.คดีจีทูจีเก๊
นึกไม่ถึงว่าจะมีการเวียนข้าว! อดีตรองอธิบดีกรมการค้าฯแจงศาลคดีจีทูจีเก๊
ขายข้าวจีทูจีขรก.พาณิชย์รู้ดีสุด! ‘บุญทรง-ภูมิ’แจงศาล-ลั่นสอบแล้วไร้โกง
'เสี่ยเปี๋ยง'มาศาลแล้ว! เข้าไต่สวนคดีข้าวจีทูจีเก๊ หลังป่วยความดันนอน รพ.
เปิดคำสั่งศาลถอนประกัน‘เสี่ยเปี๋ยง’ เข้าเรือนจำฯ กทม.-ไฟเขียวไต่สวนคดีลับหลัง
ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯยัน‘เสี่ยเปี๋ยง’นอน รพ.ราชทัณฑ์จริง-ป่วยความดัน
เบื้องหลัง!เด้งผบ.เรือนจำปากน้ำเข้ากรุ 'เสี่ยเปี๋ยง' ถูกถอนประกัน-ส่งตัวเข้าลาดยาว
เบื้องหลัง 'อิศรา' ตะลุย ‘รพ.ตำรวจ’ ค้นหาความจริง ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ล้มป่วยจริงหรือ?
เรือนจำปากน้ำอุบเงียบส่งตัว 'เสี่ยเปี๋ยง' นอนรพ.ตร.-ญาติวางเงิน229ล. เจรจาคดียักยอกข้าว
ศาลสั่งเพิ่มเงินประกัน‘บุญทรง-เสี่ยเปี๋ยง’ อีก10ล.กันหนีคดีข้าว-4 ข้อหาใน ป.ป.ช.
อย่าโยนบาปให้ ขรก.! ‘วรงค์’ให้การคดีข้าวจีทูจีเก๊-พบพิรุธใหม่ในสัญญาขาย
ให้เอกชนจำเลยคดีข้าวชดใช้2หมื่นล.!ศาลฯรับคำร้องอสส.-'เสี่ยเปี๋ยง'อยู่รพ.ตร.จริง
ป.ป.ช.เชือดล็อตแรกคดีข้าวจีทูจี"บุญทรง-ภูมิ"ไม่รอด-ฟ้องแพ่ง 6 แสนล้าน
ป.ป.ช.ฟันลอตสอง!15 เอกชนพันคดีข้าวจีทูจี-บ.เจียเม้งตัวละครข้าวถุงโดนด้วย
เบื้องหลัง 'อิศรา' ตะลุย ‘รพ.ตำรวจ’ ค้นหาความจริง ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ล้มป่วยจริงหรือ?
เรือนจำปากน้ำอุบเงียบส่งตัว 'เสี่ยเปี๋ยง' นอนรพ.ตร.-ญาติวางเงิน229ล. เจรจาคดียักยอกข้าว
ชีวิตในเรือนจำปากน้ำแดน 3 'เสี่ยเปี๋ยง' หลังเจอคุก 6 ปี ยักยอกข้าวรัฐ
อยู่แดน 3! จนท.เรือนจำปากน้ำ ยันศาลสั่งจำคุก 'เสี่ยเปี๋ยง' คดีข้าวยุค'เพรสซิเดนท์''
‘ไทยฟ้าฯ’เอกชนราย 5 ป.ป.ช. กันเป็นพยานคดีทูจีเก๊ คู่ค้าข้าว อคส. 285 ล.
ป.ป.ช.ยันเอกชนคดีข้าวจีทูจีบินพบ‘บิ๊กการเมือง’ ถ้ากลับคำไม่กันเป็นพยานแน่!
เอกชน ป.ป.ช.กันเป็นพยานคดีข้าวจีทูจี อ้างบินพบ‘บิ๊กนักการเมือง’ก่อนกลับคำคุย‘ผู้ใหญ่’
เปิดชื่อ 4 บ.ค้าข้าว ป.ป.ช.กันไว้เป็นพยานคดีจีทูจีเก๊-คู่ค้ารัฐ 5.5 พันล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายมนัส และนายทิฆัมพร จาก ผู้จัดการออนไลน์, ภาพนายอัครพงศ์ จาก inn news