- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- จับตาบทสรุปคดี'กกท.'จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬาเหลวพันล.-บิ๊กตู่ ไฟเขียวเล่นงานคนทำผิด
จับตาบทสรุปคดี'กกท.'จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬาเหลวพันล.-บิ๊กตู่ ไฟเขียวเล่นงานคนทำผิด
"... เบื้องต้นผลการตรวจสอบที่ออกมาน่าจะมีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการต่อ ด้วย เนื่องจากพบหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการนี้ มีพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ส่อไปในเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบด้วย.."
"ได้สั่งการให้กรมทางหลวงชี้แจงเรื่องดังกล่าว และ ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ถ้าพบการกระทำผิดต้องลงโทษ แล้วดำเนินการก่อนสร้างให้แล้วเสร็จ จะปล่อยให้ค้างคาแบบนี้ไม่ได้"
คือ คำยืนยันล่าสุด ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด ถึงปัญหาการก่อสร้างสนามกีฬาตามข้อตกลงของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กับกรมทางหลวง ปีงบประมาณ 2555-2558 วงเงินกว่า 965 ล้านบาท ที่ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทันกำหนด และพบปัญหาความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ย้อนข้อมูลเชิงลึกที่เคยตรวจสอบพบ มาสรุปให้เห็นภาพชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
เริ่มเปิดประเด็น
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 สตง.ได้ทำหนังสือถึง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแจ้งให้รับทราบการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรจำนวน 22,407 ล้านบาท รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2554-2559) พบว่า กกท. ไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างและจัดทำสัญญาว่าจ้างให้เป็นไปด้วยชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดต่างๆ
ทั้งที่ กรมทางหลวง มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า กรมทางหลวงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เช่น ศูนย์ทางหลวงลำปาง รับผิดชอบการก่อสร้างสนามกีฬาที่ ลำปาง สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส แต่กรมทางหลวงมีบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้งานก่อสร้างทุกแห่งล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด ซึ่งในบันทึกข้อตกลงไม่มีการเรียกค่าปรับจากการดำเนินการที่มีความล่าช้าไว้ด้วย
เบื้องต้น สตง.เห็นว่าการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ทั้งที่ มูลค่างานจ้างแต่ละแห่งเกิน 100 ล้านบาท อาจเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง. และอาจทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และประชาชนเสียโอกาสเสียประโยชน์ จึงขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำชับหรือสั่งการตลอดจนกำกับดูแลให้ กกท.ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และแจ้งผลการดำเนินการพร้อมทั้งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและรับรองสำเนาถูกต้องให้ สตง. รับทราบภายใน 30 วัน
ขยายผลการตรวจสอบ
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ กกท. ตามผลการตรวจสอบของ สตง. พบข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2553 อนุมัติในหลักการให้ก่อสร้างสนามกีฬาระดับจังหวัด 7 จังหวัด คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส ซึ่งสำนักงบประมาณ เห็นชอบให้กกท.ดำเนินการก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้าง สนามกีฬาทั้ง 7 แห่ง ในวงเงิน 1,147,905,800 บาท
ต่อมา กกท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กกท. กับ กรมทางหลวง ดังนี้
- บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 10 พ.ค.2555 โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาทั้ง 7 จังหวัด และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจังหวัดสระบุรี โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน เว้นแต่สนามกีฬาจังหวัดนราธิวาส จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน และ กกท.ตกลงจ่ายเงินค่าดำเนินการให้กรมทางหลวงเพื่อเป็นค่าดำเนินการก่อสร้าง เป็นเงินทั้งสิ้น 1,270,449,300 บาท โดยเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 288,918,700 บาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 981,530,600 บาท ทั้งนี้ ให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ โดย กกท. จะโอนงบประมาณให้กรมทางหลวงดำเนินการเบิกจ่ายแทนกันตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง
-บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 26 พ.ย.2555 เนื่องจากได้รับความเห็นชอบในรายการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 7 จังหวัด และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจังหวัดสระบุรี จากสำนักงบประมาณใหม่ ในวงเงิน 1,270,445,300 บาท โดยให้เบิกจ่ายในปี 2555 วงเงิน 288,918700 บาท ผูกพันในปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 228,594,700 บาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 752,935,900 บาท
-บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 15 ต.ค.2556 เนื่องจากได้รับความเห็นชอบในรายการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 7 จังหวัด และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจังหวัดสระบุรี จากสำนักงบประมาณใหม่ในวงเงิน 1,243,697,900 บาท วงเงินลดลงจากเดิม 26,751,400 บาท โดยให้เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 288,918,700 บาท ผูกพันในปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 228,594,700 บาท ผูกพันในปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 255,316,000 บาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2558 วเงิน 470,868,500 บาท
ขณะที่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง พ.ศ.2552 ลงวันที่ 31 มี.ค. 2552 ระบุว่า "ข้อ 2 กำหนดให้กรมทางหลวงมีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง วิจัยและพัฒนางานก่อสร้าง บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน.."
ดังนั้น การที่ กกท.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาต่างๆ เอง โดยไม่ได้นำงบประมาณที่ได่รับจากการจัดสรรไปดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่ทางราชการกำหนด ทั้งที่ งานก่อสร้างสนามกีฬาเป็นภารกิจหลักของกกท. อันมิใช่ภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง หรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว
ขณะที่ การดำเนินการของกรมทางหลวง นั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เช่น ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ศูนย์สร้างทางลำปาง ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือ แต่ต้องก่อสร้างสนามกีฬา โดยสถานที่ก่อสร้างไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส และศูนย์สร้างทางลำปาง อาจมีบุคลากรไม่เพียงพอ ที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากปริมาณงานที่ต้องทำการก่อสร้างในแต่ละแห่งจำนวนมาก ทำให้การก่อสร้างทุกแห่งล่าช้า ไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)
ต่อมา ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2554 อนุมัติในหลักการให้ก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดจำนวน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ศรีสะเกษ อุดรธานี บึงกาฬ กระบี่ ยะลา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และสุโขทัย งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,300 ล้านบาท ดำเนินการในระยะเวลา 2 ปี คือ ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 2,150 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2,150 ล้านบาท โดย กกท.ดำเนินการจัดหาโดยวิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 8 แห่ง ยกเว้นการก่อสร้างสนามกีฬาจว.ลำปาง ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.2557 ให้กรมทางหลวงดำเนินการวงเงินค่าจ้างก่อสร้างจำนวน 115,000,000 บาท โดยให้เบิกจ่ายจากปีงบประมาณ 2556 และผูกพันถึงปีงบประมาณ 2558 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2558 และต่อมาจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 5 ม.ค.2558 โดยปรับลดวงเงินคงเหลือ 107,944,000 บาท ผูกพันงบประมาณปี 2556-2559 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2559
เบื้องต้น จากพฤติการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา สตง.เห็นว่า การก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด เป็นภารกิจหลักของ กกท. การที่ กกท.ทำบันทึกข้อตกลงให้กรมทางหลวง ก่อสร้างสนามกีฬาจำนวน 7 จังหวัด ในปี 2555 ซึ่งมิใช่ภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง หรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงของกรมทางหลวง และการก่อสร้างล่าช้าทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งการดำนินการไม่บรรลุเป้าหมายและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง และเนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีการจัดทำสัญญาระหว่างกันทำให้ไม่มีการเรียกค่าปรับจากการดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระะยเวลาที่กำหนดในบันทึกข้อตกลง
นอกจากนั้น ในปี งบประมาณ 2557 ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมทางหลวงให้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปางอีก โดยกำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2559 แต่ปรากฎว่าปัจจุบันกรมทางหลวงเพิ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างและยังไม่ได้ส่งแผนดำเนินการก่อสร้างให้ กกท.
โดยโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของกกท. มีการจัดทำบันทึกข้อคกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กกท.กับกรมทางหลวง เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2555 โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 270 วัน เว้นแต่สนามกีฬาจังหวัดนราธิวาสจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 360 วัน ซึ่งกรมทางหลวงยินดีให้ความร่วมมือกับกกท.ในการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด โดยมอบหมายให้ศูนย์ก่อสร้างทางเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนี้
-ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดลำปาง
-ศูนย์สร้างทางขอนแก่น รับผิดชอบ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดอำนาจเจริญ
-ศูนย์สร้างทางหล่มสัก รับผิดชอบ จังหวัดเพชรบูรณ์
ขณะที่ จากการตรวจสอบความคืบหน้าของการก่อสร้างสนา่มกีฬา พบว่า การก่อสร้างในแต่ละจังหวัดล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วมีความคืบหน้าเพียง 8.96% ล่าช้า 264 วัน และในส่วนการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 กรมทางหลวงยังไม่ได้เสนอแผนการดำเนินการให้กกท.แต่อย่างใด
ด้าน นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า โครงการดังกล่าวเริ่มทำสัญญาตั้งแต่ปี 2555 สัญญาแรกเป็นการก่อสร้างสนามกีฬา 7 แห่ง วงเงินงบประมาณ 1.2 พันล้าน สัญญาที่ 2 เป็นสนามกอล์ฟที่มวกเหล็ก วงเงิน 100 กว่าล้านบาท และสัญญาที่ 3 สนามกีฬา จ.ลำปาง ซึ่งศูนย์สร้างทางลำปาง กรมทางหลวง เป็นผู้ประสานทั้งหมด และการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากเป็นการทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ไม่มีข้อกำหนดค่าปรับ เป็นการเบิกจ่ายงบประมาณรอบเดียวต่อปี และไม่มีกรรมการตรวจการจ้าง
“ผมตามเรื่องดังกล่าวมาตลอด ตั้งแต่ปี 2558 ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เรียกเข้ามาคุยตลอด เดือนพ.ย.ที่แล้วก็ไปปรึกษาทางอธิบดีกรมทางหลวง ช่วยกันคิดหาทางออก ส่วนทำไมถึงให้กรมทางหลวงเข้ามาทำงานก่อสร้างดังกล่าว ตอนนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรจริง ๆ หรืออาจจะเป็นการเร่งรัดเพิ่มทุน ไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ ตอนนั้น ผมเป็นรองผู้ว่าฯ ฝ่ายกีฬาอาชีพ ผู้ว่าฯ คนก่อนเป็นผู้ลงนามใน MOU” นายสกลกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าว สตง. ได้ขอให้ กกท. ทบทวนการดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และมติ ครม. พร้อมขอให้แจ้งผลและสำเนาหลักฐานต่าง ๆ ให้ ทาง กกท. รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วหรือไม่ และมีการดำเนินการอย่างไร นายสกลกล่าวว่า “ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แล้ว ซึ่งผมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยคณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบ และให้ส่งผลสรุปเดือนม.ค.นี้”
ขณะที่แหล่งข่าวจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ กกท. ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตามเป้าหมายโครงการ ที่มีการบันทึกข้อตกลงให้กรมทางหลวงเข้ามาก่อสร้างสนามกีฬา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีปัญหางานเสร็จล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลา ทั้งที่ืเบิกจ่ายเงินไปจนเกือบครบตามสัญญาว่าจ้างแล้ว ขณะที่คุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ก่อสร้างก็ไม่มีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ตามแบบ นอกจากนี้ ในขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้าง นั้น เนื่องจากโครงการนี้ กำหนดให้กรมทางหลวงเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ซึ่งกรมทางหลวงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอกสารหลักฐานประกอบ จึงเป็นใบเสร็จการจัดซื้ออุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง และค่าจ้างแรงงาน อย่างไรก็ตาม สตง.ได้สอบปากคำร้านขายวัสดุอุปกรณ์ และแรงงาน ที่ปรากฏชื่อเข้ามารับจ้างงานตามเอกสารเบิกจ่ายเงิน ได้รับการยืนยันว่าไม่เคยขายสินค้า หรือ เข้ามารับจ้างก่อสร้างสนามกีฬาจากกรมทางหลวงแต่อย่างใด
“ นอกจากปัญหาการอ้างชื่อแรงงานเข้ามาทำงานให้ หรือการซื้อของจากร้านค้าที่ไม่เคยขายให้แล้ว งานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดในหลายจังหวัด ที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์สร้างทางจังหวัดแห่งหนึ่ง มีการให้ผู้รับเหมารายหนึ่งเข้ามาทำงานให้ โดยผู้รับเหมารายนี้ มีความสัมพันธ์เป็นภรรยา ของผู้บริหารระดับสูงของ ศูนย์สร้างทางแห่งนี้ด้วย” แหล่งข่าวระบุ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ สตง. ได้เข้าตรวจสอบงานก่อสร้างสนามกีฬา ในจังหวัดสกลนคร และพบว่ามีปัญหาการก่อสร้างค่อนข้างมาก เบื้องต้นได้มีการออกคำสั่งอายัดอุปกรณ์ก่อสร้างบางส่วนเพื่อประกอบการตรวจสอบแล้ว
ความคืบหน้าการตรวจสอบ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ที่แต่งตั้งโดยนายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว โดยเสนอเรื่องให้ผู้ว่าฯ กกท. พิจารณาดำเนินการทางแพ่ง อาญา และวินัย แก่อดีตผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 2 กลุ่ม ประกอบไปด้วย
กลุ่มแรก ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการจัดหาสนามกีฬา (จัดซื้อจัดจ้าง) ในขณะนั้น ได้แก่ ผู้ว่าการฯ รองผู้ว่าการที่กำกับดูแลฝ่ายกีฬาสถาน ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาสถาน และผู้เกี่ยวข้อง ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างและจัดทำสัญญาให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งไม่ควบคุม กำกับ และติดตามให้การก่อสร้างแล้วเสร็จและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ กกท.
กลุ่มสอง ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ (ในขณะนั้น) ได้แก่ ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการที่กำหนดดูแลฝ่ายการคลัง ผู้อำนวยการคลัง และผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้เบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างซึ่งรับมาจากกรมบัญชีกลางให้กรมทางหลวงไปก่อนจนหมดสิ้น การเบิกจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการเบิกจ่ายเงินของทางราชการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และของ กกท.
สำหรับรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงาน จากการตรวจสอบพบว่า งบประมาณประจำปี 2555-2558 ที่ กกท. ได้รับการจัดสรรมาเพื่อเป็นค่าก่อสร้าง สนามกีฬาจังหวัด 7 จังหวัด และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ กกท. มิได้นำมาจัดหาพัสดุ (จัดซื้อจัดจ้าง) ตามข้อบังคับกกท. ฉบับที่ 22 ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2542 เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างและจัดทำสัญญาจ้างให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ที่ กกท. ทำกับกรมทางหลวงเป็นเพียงหนังสือแสดงเจตนาว่าทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันดำเนินการโครงการก่อสร้างสนามกีฬาฯ โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็นโอยู) ดังกล่าว ไม่ได้ผ่านการพิจารณาโดยสำนักงานอัยการสูงสุด จึงมีความแตกต่างจากสัญญาการจัดหาพัสดุของทางราชการ
"ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ กกท.และประชาชนที่จะได้ใช้สนามกีฬาจังหวัด เนื่องจาก กกท.ได้เบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้กรมทางหลวงไปแล้วจนหมดสิ้น แต่กรมทางหลวงไม่ก่อสร้างสนามกีฬาให้แล้วเสร็จตามที่กำหนด และกรณีที่ไม่ทำการก่อสร้างในบางรายการตามที่กำหนดไว้เดิมรวมทั้งมีการแก้ไขรูปแบบและเปลี่ยนแปลงเนื้องานและวงเงิน(ลดเพิ่ม) ในบางรายการที่อาจจะมิได้พิจารณาอย่างสมเหตุสมผลหรือเป็นไปตามระเบียบแบบแผนหรือขั้นตอนการปฏิบัติของทางราชการ" แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ทาง กกท. ได้ทำรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ มาให้ตนรับทราบแล้ว แต่หลังจากพิจารณาข้อมูลแล้ว เห็นว่ายังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงได้สั่งการให้ไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม และทำเรื่องกลับมาชี้แจงให้รับทราบใหม่อีกครั้ง
"ทางกกท.ทำรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงมาให้ดูแล้ว แต่เราเห็นว่ายังมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงตีกลับไปให้เขาไปดูรายละเอียดให้เรียบร้อยอีกครั้ง แล้วค่อยนำมาเสนอใหม่ ส่วนรายละเอียดข้อมูลที่นำเสนอมาแล้วว่ามีอะไรบ้าง และประเด็นอะไรที่ยังไม่เรียบร้อย ขอกลับไปตรวจสอบข้อมูลก่อน และจะแจ้งให้อิศรารับทราบอีกครั้ง" รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาระบุ
แต่หลังจากนั้น เรื่องก็เงียบหายไป สำนักข่าวอิศรา ไม่เคยได้รับการติดต่อแจ้งผลการตรวจสอบจาก นางกอบกาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่อย่างใด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2560 แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. ยืนยันข้อมูลสำนักข่าวอิศราว่า ในเร็วๆ นี้ สตง. จะมีการสรุปรายงานผลการตรวจสอบโครงการนี้ เป็นทางการ โดยในช่วงสัปดาห์นี้ การลงพื้นที่ตรวจสอบสนามกีฬา ในจว.สุมทรปราการ เป็นที่แห่งสุดท้าย
เบื้องต้น ผลการตรวจสอบที่ออกมาคาดว่าน่าจะมีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการต่อด้วย เนื่องจากพบหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการนี้ มีพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ส่อไปในเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบด้วย
ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร และใครเข้ามีเกี่ยวข้องบ้างนั้น โปรดจับตามองต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!
อ่านประกอบ :
ไม่จัดประกวดราคา ให้กรมทางหลวงรับงานตรง! สตง.พบพิรุธสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
เปิดปม!สตง.จับพิรุธ กกท. ประเคนงานกรมทางหลวง สร้างสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
ข้องใจให้ศูนย์ฯลำปางรับงานนราธิวาส!สตง.จี้กรมทางหลวงส่งหลักฐานสนามกีฬาจว.
ขมวดปม!หนังสือ สตง.3ฉบับ ลุยสอบ กกท. จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬา 8จว.พันล.
ผู้ใหญ่สั่งให้รับ-หลังทหารเลิกทำงาน!อดีตผอ.ศูนย์ฯลำปางแจงปมสร้างส.กีฬานราธิวาส
เกิดยุค 'กนกพันธุ์' ลงนาม! ผู้ว่าฯกกท.ตั้งกก.สอบปมจ้างก.ทางหลวงสร้างส.กีฬาจว.
ผู้ว่าฯสตง.สั่งปูพรมสอบส.กีฬาจว.ทั่วปท.-ประเดิมอายัดอุปกรณ์ก่อสร้างสกลนคร
เจาะแฟ้มประชุมกมธ.ไขปริศนากรมทางหลวงโผล่รับงานส.กีฬาจว.-ทหารทิ้งงาน?
สรุปชัดๆ แผนภูมิปม 'กกท.' จ้าง 'กรมทางหลวง' สร้างส.กีฬาจว.พันล. ใครเกี่ยวข้องบ้าง?