- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- ขมวดปม!หนังสือ สตง.3ฉบับ ลุยสอบ กกท. จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬา 8จว.พันล.
ขมวดปม!หนังสือ สตง.3ฉบับ ลุยสอบ กกท. จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬา 8จว.พันล.
โชว์ครบชุด! หนังสือ สตง. 3 ฉบับ จี้สอบ กกท. -ก.ท่องเที่ยว-กรมทางหลวง ปมทำเอ็มโอยูสร้างสนามกีฬา 8 จว. พันล้าน พิรุธปัญหาเพียบ
นับจึงถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรรวมวงเงินจำนวน 22,407 ล้านบาท รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2554-2559) ซึ่งพบว่ามีการก่อสร้าง 8 จังหวัด คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส และลำปาง ที่ กกท. ไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ตัวผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินงาน ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่ กรมทางหลวง มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง
โดยกรณีนี้ มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 แห่ง คือ กกท., กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมทางหลวง เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือจำนวน 3 ฉบับ ถึงผู้มีอำนาจของหน่วยงาน 3 แห่ง เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูล ส่งมอบเอกสารหลักฐานมาให้ประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อมูลประเด็นการตรวจสอบในหนังสือ สตง. ถึง 3 ฉบับ ที่ส่งถึงผู้มีอำนาจของ 3 หน่วยงาน มานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
@ หนังสือ สตง. ถึง ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย
สตง. ระบุว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลเท็จจริงโครงการนี้ พบว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2553 อนุมัติในหลักการให้ก่อสร้างสนามกีฬาระดับจังหวัด 7 จังหวัด คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส ซึ่งสำนักงบประมาณ เห็นชอบให้กกท.ดำเนินการก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้าง สนามกีฬาทั้ง 7 แห่ง ในวงเงิน 1,147,905,800 บาท
ต่อมา มีการตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2555, 2556 กกท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ กรมทางหลวง จำนวน 3 ฉบับ เพื่อให้เข้ามารับงานก่อสร้างสนามกีฬา ทั้ง 7 จังหวัด รวมศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจังหวัดสระบุรี วงเงิน 1,243,697,900 บาท (หลังจากปรับลดงบประมาณ 2 ครั้ง) โดยให้เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 288,918,700 บาท ผูกพันในปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 228,594,700 บาท ผูกพันในปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 255,316,000 บาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2558 วเงิน 470,868,500 บาท
หลังจากนั้น ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2554 อนุมัติในหลักการให้ก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดจำนวน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ศรีสะเกษ อุดรธานี บึงกาฬ กระบี่ ยะลา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และสุโขทัย งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,300 ล้านบาท ดำเนินการในระยะเวลา 2 ปี คือ ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 2,150 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2,150 ล้านบาท โดย กกท.ดำเนินการจัดหาโดยวิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 8 แห่ง
ยกเว้นการก่อสร้างสนามกีฬาจว.ลำปาง ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.2557 ให้กรมทางหลวงดำเนินการวงเงินค่าจ้างก่อสร้างจำนวน 115,000,000 บาท โดยให้เบิกจ่ายจากปีงบประมาณ 2556 และผูกพันถึงปีงบประมาณ 2558 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2558 และต่อมาจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 5 ม.ค.2558 โดยปรับลดวงเงินคงเหลือ 107,944,000 บาท ผูกพันงบประมาณปี 2556-2559 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2559
เท่ากับว่า กรมทางหลวง ได้รับงานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดจากกกท. ไปทั้งหมด 8 จังหวัด คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส ลำปาง และ รวมศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจังหวัดสระบุรี รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,351,641,900 บาท
(ส่วนการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 8 จังหวัด ที่ใช้วิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ ชลบุรี ศรีสะเกษ อุดรธานี บึงกาฬ กระบี่ ยะลา แม่ฮ่องสอน และสุโขทัย วงเงินงบประมาณอยู่ที่ 4,100 กว่าล้านบาท)
ขณะที่ สตง. ระบุว่า กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง พ.ศ.2552 ลงวันที่ 31 มี.ค. 2552 ระบุว่า "ข้อ 2 กำหนดให้กรมทางหลวงมีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง วิจัยและพัฒนางานก่อสร้าง บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน.."
ดังนั้น การที่ กกท.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาต่างๆ เอง โดยไม่ได้นำงบประมาณที่ได่รับจากการจัดสรรไปดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่ทางราชการกำหนด ทั้งที่ งานก่อสร้างสนามกีฬาเป็นภารกิจหลักของกกท. อันมิใช่ภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง หรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งที่ มูลค่าจ้างงานแต่ละแห่งเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท อาจเป็นเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง. และอาจทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และประชาชนเสียโอกาสเสียประโยชน์
ขณะที่ในกระบวนการทำงานของกรมทางหลวง มีการมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เช่น ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ศูนย์สร้างทางลำปาง ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือ แต่ต้องก่อสร้างสนามกีฬา โดยสถานที่ก่อสร้างไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส และศูนย์สร้างทางลำปาง อาจมีบุคลากรไม่เพียงพอ ที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากปริมาณงานที่ต้องทำการก่อสร้างในแต่ละแห่งจำนวนมาก ทำให้การก่อสร้างทุกแห่งล่าช้า ไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
โดยเบื้องต้น จากการตรวจสอบความคืบหน้าของการก่อสร้างสนามกีฬา พบว่า การก่อสร้างในแต่ละจังหวัดล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วมีความคืบหน้าเพียง 8.96% ล่าช้า 264 วัน และในส่วนการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 กรมทางหลวงยังไม่ได้เสนอแผนการดำเนินการให้กกท.แต่อย่างใด
สตง.จึงได้ขอให้กกท. ทบทวนการดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และมติครม. พร้อมขอให้แจ้งผล สำเนาหลักฐานต่างๆ ให้รับทราบภายใน 30 วัน (ดูรายละเอียดในหนังสือประกอบ)
@ หนังสือสตง.ถึง รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สตง. ได้ทำหนังสือถึง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแจ้งให้รับทราบการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรจำนวน 22,407 ล้านบาท รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2554-2559) พบว่า กกท. ไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างและจัดทำสัญญาว่าจ้างให้เป็นไปด้วยชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่ กรมทางหลวง มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า กรมทางหลวงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เช่น ศูนย์ทางหลวงลำปาง รับผิดชอบการก่อสร้างสนามกีฬาที่ ลำปาง สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส แต่กรมทางหลวงมีบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้งานก่อสร้างทุกแห่งล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด ซึ่งในบันทึกข้อตกลงไม่มีการเรียกค่าปรับจากการดำเนินการที่มีความล่าช้าไว้ด้วย
เบื้องต้น สตง.เห็นว่าการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ทั้งที่ มูลค่างานจ้างแต่ละแห่งเกิน 100 ล้านบาท อาจเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง. และอาจทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และประชาชนเสียโอกาสเสียประโยชน์ จึงขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำชับหรือสั่งการตลอดจนกำกับดูแลให้ กกท.ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และแจ้งผลการดำเนินการพร้อมทั้งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและรับรองสำเนาถูกต้องให้ สตง. รับทราบภายใน 30 วัน (ดูหนังสือประกอบ)
@ หนังสือ สตง. ถึง อธิบดีกรมทางหลวง
สตง. ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวง เพื่อแจ้งถึงผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ด้วย พร้อมขอเอกสารหลักฐานประกอบไปด้วย
1. การก่อสร้างสนามกีฬา เป็นภารกิจของกรมทางหลวงหรือไม่ อย่างไร ในการดำเนินการจัดหาแต่ละแห่งดำเนินการโดยวิธีใด เหตุใดจึงไม่ดำเนินการโดยวิธีประกวดราคา
2. เหตุใดกรมทางหลวง จึงมอบหมายให้ศูนย์สร้างทางลำปาง เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด จำนวน 5 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกลกันมาก
3. เหตุใดการก่อสร้างในแต่ละแห่งมีความคืบหน้าเพียง 8.96-78.98% ล่าช้ากว่ากำหนด 264-931 วัน มีแนวทางในการเร่งรัดให้งานแล้วเสร็จอย่างไร
4. ปัจจุบันการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 8 จังหวัด มีความคืบหน้าอย่างไร แต่ละจังหวัดมีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วจำนวนเท่าไร
5. ขอให้จัดส่งรายละเอียดประมาณราคา (ปร.4,ปร.5,ปร.6) ของสนามกีฬาแต่ละแห่งพร้อมทั้งแบบรูปรายการที่ใช้ในการก่อสร้าง
ทั้งนี้ สตง.ได้ระบุขอให้กรมทางหลวง ชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ให้ สตง. ภายใน วันที่ 23 ธ.ค.2559 นี้
ในหนังสือฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า โครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของกกท. มีการจัดทำบันทึกข้อคกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กกท.กับกรมทางหลวง เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2555 โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 270 วัน เว้นแต่สนามกีฬาจังหวัดนราธิวาสจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 360 วัน ซึ่งกรมทางหลวงยินดีให้ความร่วมมือกับกกท.ในการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด โดยมอบหมายให้ศูนย์ก่อสร้างทางเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนี้
-ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดลำปาง
-ศูนย์สร้างทางขอนแก่น รับผิดชอบ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดอำนาจเจริญ
-ศูนย์สร้างทางหล่มสัก รับผิดชอบ จังหวัดเพชรบูรณ์
ขณะที่ จากการตรวจสอบความคืบหน้าของการก่อสร้างสนา่มกีฬา พบว่า การก่อสร้างในแต่ละจังหวัดล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัญหาเรื่องความล่าช้า ในการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ กกท.ทั้ง 7 แห่ง เคยมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการกีฬา ของวุฒิสภา ซึ่งมีการระบุข้อมูลว่า ก่อนที่ กกท. จะทำบัญทึกข้อตกลงกับ กรมทางหลวง นั้น เคยทำบันทึกข้อตกลงให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้ามาทำงาน แต่ติดขัดปัญหาทำให้ไม่สามารถทำงานได้แล้วเสร็จ ทาง กกท. จึงต้องหาตัวผู้รับจ้างเข้ามารับงานใหม่ ซึ่งก็คือ กรมทางหลวงนั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาของคณะอุนกรรมการธิการฯ ระบุว่า มีบางจังหวัดมีบริษัทรับช่วงทําต่ออีก นอกจากนี้ยังพบว่าทางจังหวัดไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับทราบข้อมูลการก่อสร้าง หรือเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่จะมีกกท. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเพียงผู้เดียว เช่น จังหวัดมหาสารคาม
ขณะที่การดำเนินงานโครงการนี้ เกิดขึ้นในยุค นายชุมพล ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งเป็นรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายสมบัติ คุรุพันธ์ เป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นายกนกพันธุ์ จุลเกษม เป็นผู้ว่าการฯ กกท.
อ่านประกอบ :
ข้องใจให้ศูนย์ฯลำปางรับงานนราธิวาส!สตง.จี้กรมทางหลวงส่งหลักฐานสนามกีฬาจว.
ไม่จัดประกวดราคา ให้กรมทางหลวงรับงานตรง! สตง.พบพิรุธสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
เปิดปม!สตง.จับพิรุธ กกท. ประเคนงานกรมทางหลวง สร้างสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.