ผู้ใหญ่สั่งให้รับ-หลังทหารเลิกทำงาน!อดีตผอ.ศูนย์ฯลำปางแจงปมสร้างส.กีฬานราธิวาส
เปิดตัว 'อดีตผอ.ศูนย์สร้างทางลำปาง' ไขปริศนา กกท. จ้าง กรมทางหลวง สร้างส.กีฬาจว. เจ้าตัวยันผู้ใหญ่สั่งให้รับ-หลังทหารเลิกทำงาน แถมหาตัวผู้รับเหมาไม่ได้-ปัจจุบันลาออกราชการทำธุรกิจก่อสร้าง
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรรวมวงเงินจำนวน 22,407 ล้านบาท รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2554-2559) ซึ่งพบว่ามีการก่อสร้าง 8 จังหวัด คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส และลำปาง รวมวงเงินกว่า 1.3 พันล้านบาท ที่ กกท. ไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ตัวผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินงาน ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่ กรมทางหลวง มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง ทั้งที่ มูลค่าจ้างงานแต่ละแห่งเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท อาจเป็นเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง. และอาจทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และประชาชนเสียโอกาสเสียประโยชน์
ขณะที่ในกระบวนการทำงานของกรมทางหลวง มีการมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เช่น ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ศูนย์สร้างทางลำปาง ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือ แต่ต้องก่อสร้างสนามกีฬา โดยสถานที่ก่อสร้างไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส และศูนย์สร้างทางลำปาง อาจมีบุคลากรไม่เพียงพอ ที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากปริมาณงานที่ต้องทำการก่อสร้างในแต่ละแห่งจำนวนมาก ทำให้การก่อสร้างทุกแห่งล่าช้า ไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
โดยเบื้องต้น จากการตรวจสอบความคืบหน้าของการก่อสร้างสนามกีฬา พบว่า การก่อสร้างในแต่ละจังหวัดล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วมีความคืบหน้าเพียง 8.96% ล่าช้า 264 วัน และในส่วนการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 กรมทางหลวงยังไม่ได้เสนอแผนการดำเนินการให้กกท.แต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ขมวดปม!หนังสือ สตง.3ฉบับ ลุยสอบ กกท. จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬา 8จว.พันล.)
ล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 23 ธ.ค.2559 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ติดต่อไปยัง ศูนย์สร้างทางลำปาง กรมทางหลวง เพื่อขอสัมภาษณ์ นายประจักษ์ ปัญญาเลย ผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างทางลำปาง คนปัจจุบัน ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับงานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ กกท.
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่หน้าห้องทำงานของ นายประจักษ์ แจ้งว่า นายประจักษ์ เดินทางเข้ามาราชการที่กรุงเทพ ไม่ได้อยู่ที่สำนักงาน เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวของนายประจักษ์ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่ทราบ เพราะเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นานนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ของ ศูนย์สร้างทางลำปาง http://www.lprcc.com/index.php?op=director&module=index พบว่า นายประจักษ์ ปัญญาเลย เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างทางลำปาง ในช่วงปี 2559 ส่วนผู้อำนวยการคนก่อนหน้านั้น คือ นายสถาพร เชื้อผู้ดี โดยเริ่มเข้ามารับงานตั้งแต่ 17 ธ.ค. 2553 – 2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรมทางหลวงทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเข้าไปรับงานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท.
ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลในโลกออนไลน์ พบว่า นายสถาพร เชื้อผู้ดี ปรากฎชื่อเป็นผู้บริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างแห่งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อไปยัง เบอร์โทรศัพท์ หจก.แห่งนี้ เพื่อขอสัมภาษณ์ นายสถาพร เชื้อผู้ดี อดีตผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างทางลำปาง
นายสถาพร เชื้อผู้ดี ให้ข้อมูลยืนยันผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า "เท่าที่ทราบสาเหตุที่กรมทางหลวง เข้าไปรับงานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของกกท.เป็นเพราะว่า ผู้รับจ้างก่อนหน้านี้ คือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้ามาทำงานได้เพียงแค่ปีเดียวก็เลิกไม่ทำงานต่อ และกกท.ไม่สามารถหาตัวผู้รับเหมาเข้ามาทำงานได้ จึงเอางานมาให้กรมทางหลวงทำ"
"ส่วนเหตุผลจริงๆ จะเป็นอะไรนั้น ผมไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เข้ามาทำงานนี้ เราก็เข้าไปทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย"
เมื่อถามว่า ทำไมศูนย์สร้างทางลำปาง ถึงไปรับงานที่นราธิวาสได้ ทั้งที่มีพื้นที่ที่ห่างไกลกันมาก นายสถาพร ตอบว่า "เป็นเพราะว่าศูนย์สร้างทางอื่น เขาปฏิเสธไม่รับงานนี้กันหมด ไปคุยกับผู้บริหารเป็นการส่วนตัวว่าไม่ขอทำ ผู้ใหญ่ก็เลยเอางานมาให้ศูนย์สร้างทางลำปางเป็นผู้รับผิดชอบ"
"จริงๆ ผมก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราจะต้องไปรับงานนี้ มีอยู่วันหนึ่งผู้ใหญ่โทรมาบอกว่าให้ทำงานนี้ ให้แต่งตัวดีๆ ไปร่วมประชุมกับกกท.เลย เราก็เลยเข้ามาทำงานนี้ ซึ่งในส่วนของงานที่นราธิวาส ได้ข่าวว่ามีคนไปบอกผู้ใหญ่ว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงทำงานลำบากไม่ขอรับทำ แต่ตอนที่ผมลงพื้นที่ไปดูงาน ก็เห็นเป็นถนนสี่เลนเดินทางไปสะดวก ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ก็ไม่รู้เราถูกหลอกให้ไปทำงานแทนหรือเปล่า "
เมื่อถามว่า การก่อสร้างงานในจังหวัดนราธิวาส ทำอย่างไร นายสถาพร ตอบว่า "ก็มีการว่าจ้างแรงงานในพื้นที่ และจัดซื้ออุปกรณ์ในพื้นที่มาทำ แรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานก็เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งงานมันก็เดินหน้าไปได้พอสมควร แต่พอมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้น แรงงานส่วนนี้ก็หายไปหมด งานที่ทำก็เลยมีความล่าช้าเกิดขึ้นทั้งที่มันใกล้จะเสร็จแล้ว"
นายสถาพร ยังระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับงานราชการแล้ว เพราะลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ตามที่ตั้งใจไว้นานแล้ว
เมื่อถามว่า หากสตง.จะเชิญมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ พร้อมหรือไม่ นายสถาพร ตอบว่า "พร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สตง.ระบุว่า ภายหลังจากที่กรมทางหลวง เข้ามารับงานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ให้กับ กกท. ได้มอบหมายให้ศูนย์ก่อสร้างทางเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนี้
-ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดลำปาง
-ศูนย์สร้างทางขอนแก่น รับผิดชอบ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดอำนาจเจริญ
-ศูนย์สร้างทางหล่มสัก รับผิดชอบ จังหวัดเพชรบูรณ์
ขณะที่ จากการตรวจสอบความคืบหน้าของการก่อสร้างสนา่มกีฬา พบว่า การก่อสร้างในแต่ละจังหวัดล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด
อ่านประกอบ :
ไม่จัดประกวดราคา ให้กรมทางหลวงรับงานตรง! สตง.พบพิรุธสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
เปิดปม!สตง.จับพิรุธ กกท. ประเคนงานกรมทางหลวง สร้างสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
ข้องใจให้ศูนย์ฯลำปางรับงานนราธิวาส!สตง.จี้กรมทางหลวงส่งหลักฐานสนามกีฬาจว.
ขมวดปม!หนังสือ สตง.3ฉบับ ลุยสอบ กกท. จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬา 8จว.พันล.