ข้องใจให้ศูนย์ฯลำปางรับงานนราธิวาส!สตง.จี้กรมทางหลวงส่งหลักฐานสนามกีฬาจว.
สตง.ร่อนหนังสืออีกฉบับใหม่ จี้ 'กรมทางหลวง' ส่งเอกสารหลักฐานก่อสร้างสนามกีฬา กกท. 7 จังหวัด 23 ธ.ค.นี้ -ข้องใจให้ศูนย์ฯลำปาง รับงานนราธิวาส ทั้งที่พื้นที่ห่างไกลกันมาก-คืบหน้างานล่าช้าเพียบ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา สตง. ได้ทำหนังสือถึง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแจ้งให้รับทราบถึงผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรรวมวงเงินจำนวน 22,407 ล้านบาท รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2554-2559) ซึ่งพบว่า กกท. ไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ตัวผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินงาน ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่ กรมทางหลวง มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง
โดยสนามกีฬาจังหวัด ที่มีการให้ กรมทางหลวง เข้ามารับงานก่อสร้าง ได้แก่ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส และลำปาง
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลของสตง.พบว่า กรมทางหลวง ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เช่น ศูนย์ทางหลวงลำปาง รับผิดชอบการก่อสร้างสนามกีฬาที่ ลำปาง สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส แต่กรมทางหลวงมีบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้งานก่อสร้างทุกแห่งล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด ซึ่งในบันทึกข้อตกลงไม่มีการเรียกค่าปรับจากการดำเนินการที่มีความล่าช้าไว้ด้วย
(อ่านประกอบ : ไม่จัดประกวดราคา ให้กรมทางหลวงรับงานตรง! สตง.พบพิรุธสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล., เปิดปม!สตง.จับพิรุธ กกท. ประเคนงานกรมทางหลวง สร้างสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นอกเหนือจากการทำหนังสือแจ้งถึง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ แล้ว สตง.ยังทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวง เพื่อแจ้งถึงผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ด้วย พร้อมขอเอกสารหลักฐานประกอบไปด้วย
1. การก่อสร้างสนามกีฬา เป็นภารกิจของกรมทางหลวงหรือไม่ อย่างไร ในการดำเนินการจัดหาแต่ละแห่งดำเนินการโดยวิธีใด เหตุใดจึงไม่ดำเนินการโดยวิธีประกวดราคา
2. เหตุใดกรมทางหลวง จึงมอบหมายให้ศูนย์สร้างทางลำปาง เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด จำนวน 5 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกลกันมาก
3. เหตุใดการก่อสร้างในแต่ละแห่งมีความคืบหน้าเพียง 8.96-78.98% ล่าช้ากว่ากำหนด 264-931 วัน มีแนวทางในการเร่งรัดให้งานแล้วเสร็จอย่างไร
4. ปัจจุบันการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 8 จังหวัด มีความคืบหน้าอย่างไร แต่ละจังหวัดมีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วจำนวนเท่าไร
5. ขอให้จัดส่งรายละเอียดประมาณราคา (ปร.4,ปร.5,ปร.6) ของสนามกีฬาแต่ละแห่งพร้อมทั้งแบบรูปรายการที่ใช้ในการก่อสร้าง
ทั้งนี้ สตง.ได้ระบุขอให้กรมทางหลวง ชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ให้ สตง. ภายใน วันที่ 23 ธ.ค.2559 นี้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในหนังสือที่สตง.ที่ทำถึงอธิบดีกรมทางหลวง ยังระบุด้วยว่า โครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของกกท. มีการจัดทำบันทึกข้อคกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กกท.กับกรมทางหลวง เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2555 โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 270 วัน เว้นแต่สนามกีฬาจังหวัดนราธิวาสจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 360 วัน ซึ่งกรมทางหลวงยินดีให้ความร่วมมือกับกกท.ในการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด โดยมอบหมายให้ศูนย์ก่อสร้างทางเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนี้
-ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดลำปาง
-ศูนย์สร้างทางขอนแก่น รับผิดชอบ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดอำนาจเจริญ
-ศูนย์สร้างทางหล่มสัก รับผิดชอบ จังหวัดเพชรบูรณ์
ขณะที่ จากการตรวจสอบความคืบหน้าของการก่อสร้างสนา่มกีฬา พบว่า การก่อสร้างในแต่ละจังหวัดล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วมีความคืบหน้าเพียง 8.96% ล่าช้า 264 วัน และในส่วนการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 กรมทางหลวงยังไม่ได้เสนอแผนการดำเนินการให้กกท.แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อไปยัง นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง คนปัจจุบัน เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ผ่านเบอร์โทรศัพท์กรมทางหลวง คือ หมายเลข 02-644- 5335 แต่ไม่สามารถติดต่อได้