เกิดยุค 'กนกพันธุ์' ลงนาม! ผู้ว่าฯกกท.ตั้งกก.สอบปมจ้างก.ทางหลวงสร้างส.กีฬาจว.
‘สกล วรรณพงษ์’ ผู้ว่าการ กกท. แจงปมจ้าง ‘กรมทางหลวง’ ก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 1.3 พันล. ไม่ทราบเหตุผลชัดเจน ช่วงดังกล่าวเป็นรองผู้ว่าฯ ฝ่ายกีฬาอาชีพ เผยผู้ว่าฯ คนก่อนเป็นผู้ลงนาม MOU ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ มีคำสั่งแต่งตั้ง คกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ลงพื้นที่ คาดสรุปผลเดือนม.ค.60 นี้
กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรรวมวงเงินจำนวน 22,407 ล้านบาท รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2554-2559) ซึ่งพบว่า มีการก่อสร้าง 8 จังหวัด คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส และลำปาง รวมวงเงินกว่า 1.3 พันล้านบาท โดย กกท. ไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ตัวผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินงาน ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งที่ ภารกิจหลักของ กรมทางหลวง คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง ทั้งนี้ มูลค่าจ้างงานแต่ละแห่งเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง. และอาจทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และประชาชนเสียโอกาสเสียประโยชน์ (อ่านประกอบ : ไม่จัดประกวดราคา ให้กรมทางหลวงรับงานตรง! สตง.พบพิรุธสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.)
ล่าสุด วันที่ 23 ธ.ค. 2559 นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีข้างต้นว่า โครงการดังกล่าวเริ่มทำสัญญาตั้งแต่ปี 2555 สัญญาแรกเป็นการก่อสร้างสนามกีฬา 7 แห่ง วงเงินงบประมาณ 1.2 พันล้าน สัญญาที่ 2 เป็นสนามกอล์ฟที่มวกเหล็ก วงเงิน 100 กว่าล้านบาท และสัญญาที่ 3 สนามกีฬา จ.ลำปาง ซึ่งศูนย์สร้างทางลำปาง กรมทางหลวง เป็นผู้ประสานทั้งหมด และการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากเป็นการทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ไม่มีข้อกำหนดค่าปรับ เป็นการเบิกจ่ายงบประมาณรอบเดียวต่อปี และไม่มีกรรมการตรวจการจ้าง
“ผมตามเรื่องดังกล่าวมาตลอด ตั้งแต่ปี 2558 ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เรียกเข้ามาคุยตลอด เดือนพ.ย.ที่แล้วก็ไปปรึกษาทางอธิบดีกรมทางหลวง ช่วยกันคิดหาทางออก ส่วนทำไมถึงให้กรมทางหลวงเข้ามาทำงานก่อสร้างดังกล่าว ตอนนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรจริง ๆ หรืออาจจะเป็นการเร่งรัดเพิ่มทุน ไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ ตอนนั้น ผมเป็นรองผู้ว่าฯ ฝ่ายกีฬาอาชีพ ผู้ว่าฯ คนก่อนเป็นผู้ลงนามใน MOU” นายสกลกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าว สตง. ได้ขอให้ กกท. ทบทวนการดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และมติ ครม. พร้อมขอให้แจ้งผลและสำเนาหลักฐานต่าง ๆ ให้ ทาง กกท. รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วหรือไม่ และมีการดำเนินการอย่างไร นายสกลกล่าวว่า “ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แล้ว ซึ่งผมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยคณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบ และให้ส่งผลสรุปเดือนม.ค.นี้”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สตง. ระบุว่า ภายหลังจากที่ กรมทางหลวง เข้ามารับงานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดให้กับ กกท. ได้มอบหมายให้ศูนย์สร้างทางเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ดังนี้
ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบ จ.สกลนคร จ.สระแก้ว จ.สมุทรปราการ จ.นราธิวาส และ จ.ลำปาง
ศูนย์สร้างทางขอนแก่น รับผิดชอบ จ.มหาสารคาม และ จ.อำนาจเจริญ และ
ศูนย์สร้างทางหล่มสัก รับผิดชอบ จ.เพชรบูรณ์
อนึ่ง สำหรับผู้ว่าฯ กกท. คนก่อนหน้า นายสกล วรรณพงษ์ คือ นายกนกพันธุ์ จุลเกษม
อ่านประกอบ :
ไม่จัดประกวดราคา ให้กรมทางหลวงรับงานตรง! สตง.พบพิรุธสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
เปิดปม!สตง.จับพิรุธ กกท. ประเคนงานกรมทางหลวง สร้างสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
ข้องใจให้ศูนย์ฯลำปางรับงานนราธิวาส!สตง.จี้กรมทางหลวงส่งหลักฐานสนามกีฬาจว.
ขมวดปม!หนังสือ สตง.3ฉบับ ลุยสอบ กกท. จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬา 8จว.พันล.