เปิดปม!สตง.จับพิรุธ กกท. ประเคนงานกรมทางหลวง สร้างสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
เผยผลสอบสตง.! เปิดปมจับพิรุธ 'กกท.' ได้รับจัดสรรงบสร้างสนามกีฬาจว. มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล. แต่ไม่จ้างเอกชนดำเนินการ ทำเอ็นโอยูให้กรมทางหลวงสร้าง 7 แห่ง ทั้งที่ไม่มีภารกิจเกี่ยวข้อง - เรื่องถึง'กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร แล้ว สั่งชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรทันที
ทำไมการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ถึงไม่นำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาใช้ในการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ไปดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างมาทำงานให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบราชการที่กำหนด แต่เลือกที่จะไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดแทน ทั้งที่ กรมทางหลวง มีภารกิจหลัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงแทน ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสนามกีฬาแต่อย่างใด
คือ คำถามสำคัญที่ กกท. และ กรมทางหลวง จะต้องตอบคำถามกับสังคม เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา สตง. ได้ทำหนังสือถึง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแจ้งให้รับทราบถึงผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรรวมวงเงินจำนวน 22,407 ล้านบาท รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2554-2559) ซึ่งพบว่า กกท. ไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ตัวผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินงาน ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่ กรมทางหลวง มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงหรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลของสตง.พบว่า กรมทางหลวง ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เช่น ศูนย์ทางหลวงลำปาง รับผิดชอบการก่อสร้างสนามกีฬาที่ ลำปาง สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส แต่กรมทางหลวงมีบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้งานก่อสร้างทุกแห่งล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด ซึ่งในบันทึกข้อตกลงไม่มีการเรียกค่าปรับจากการดำเนินการที่มีความล่าช้าไว้ด้วย
(อ่านประกอบ : ไม่จัดประกวดราคา ให้กรมทางหลวงรับงานตรง! สตง.พบพิรุธสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ กกท. ตามผลการตรวจสอบของ สตง. พบข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2553 อนุมัติในหลักการให้ก่อสร้างสนามกีฬาระดับจังหวัด 7 จังหวัด คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส ซึ่งสำนักงบประมาณ เห็นชอบให้กกท.ดำเนินการก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้าง สนามกีฬาทั้ง 7 แห่ง ในวงเงิน 1,147,905,800 บาท
ต่อมา กกท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กกท. กับ กรมทางหลวง ดังนี้
- บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 10 พ.ค.2555 โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาทั้ง 7 จังหวัด และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจังหวัดสระบุรี โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน เว้นแต่สนามกีฬาจังหวัดนราธิวาส จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน และ กกท.ตกลงจ่ายเงินค่าดำเนินการให้กรมทางหลวงเพื่อเป็นค่าดำเนินการก่อสร้าง เป็นเงินทั้งสิ้น 1,270,449,300 บาท โดยเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 288,918,700 บาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 981,530,600 บาท ทั้งนี้ ให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ โดย กกท. จะโอนงบประมาณให้กรมทางหลวงดำเนินการเบิกจ่ายแทนกันตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง
-บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 26 พ.ย.2555 เนื่องจากได้รับความเห็นชอบในรายการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 7 จังหวัด และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจังหวัดสระบุรี จากสำนักงบประมาณใหม่ ในวงเงิน 1,270,445,300 บาท โดยให้เบิกจ่ายในปี 2555 วงเงิน 288,918700 บาท ผูกพันในปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 228,594,700 บาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 752,935,900 บาท
-บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 15 ต.ค.2556 เนื่องจากได้รับความเห็นชอบในรายการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 7 จังหวัด และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจังหวัดสระบุรี จากสำนักงบประมาณใหม่ในวงเงิน 1,243,697,900 บาท วงเงินลดลงจากเดิม 26,751,400 บาท โดยให้เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 288,918,700 บาท ผูกพันในปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 228,594,700 บาท ผูกพันในปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 255,316,000 บาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2558 วเงิน 470,868,500 บาท
ขณะที่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง พ.ศ.2552 ลงวันที่ 31 มี.ค. 2552 ระบุว่า "ข้อ 2 กำหนดให้กรมทางหลวงมีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง วิจัยและพัฒนางานก่อสร้าง บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน.."
ดังนั้น การที่ กกท.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ กรมทางหลวง ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาต่างๆ เอง โดยไม่ได้นำงบประมาณที่ได่รับจากการจัดสรรไปดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่ทางราชการกำหนด ทั้งที่ งานก่อสร้างสนามกีฬาเป็นภารกิจหลักของกกท. อันมิใช่ภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง หรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว
ขณะที่ การดำเนินการของกรมทางหลวง นั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ เช่น ศูนย์สร้างทางลำปาง รับผิดชอบก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ศูนย์สร้างทางลำปาง ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือ แต่ต้องก่อสร้างสนามกีฬา โดยสถานที่ก่อสร้างไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น สกลนคร สระแก้ว สมุทรปราการ นราธิวาส และศูนย์สร้างทางลำปาง อาจมีบุคลากรไม่เพียงพอ ที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากปริมาณงานที่ต้องทำการก่อสร้างในแต่ละแห่งจำนวนมาก ทำให้การก่อสร้างทุกแห่งล่าช้า ไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซึ่งจาการตรวจสอบข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค.2559 พบว่า มีความล่าช้าตามตารางต่อไปนี้
ต่อมา ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2554 อนุมัติในหลักการให้ก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดจำนวน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ศรีสะเกษ อุดรธานี บึงกาฬ กระบี่ ยะลา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และสุโขทัย งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,300 ล้านบาท ดำเนินการในระยะเวลา 2 ปี คือ ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 2,150 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2,150 ล้านบาท โดย กกท.ดำเนินการจัดหาโดยวิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 8 แห่ง ยกเว้นการก่อสร้างสนามกีฬาจว.ลำปาง ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.2557 ให้กรมทางหลวงดำเนินการวงเงินค่าจ้างก่อสร้างจำนวน 115,000,000 บาท โดยให้เบิกจ่ายจากปีงบประมาณ 2556 และผูกพันถึงปีงบประมาณ 2558 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2558 และต่อมาจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 5 ม.ค.2558 โดยปรับลดวงเงินคงเหลือ 107,944,000 บาท ผูกพันงบประมาณปี 2556-2559 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2559
เบื้องต้น จากพฤติการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา สตง.เห็นว่า การก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด เป็นภารกิจหลักของ กกท. การที่ กกท.ทำบันทึกข้อตกลงให้กรมทางหลวง ก่อสร้างสนามกีฬาจำนวน 7 จังหวัด ในปี 2555 ซึ่งมิใช่ภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง หรือการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงของกรมทางหลวง และการก่อสร้างล่าช้าทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งการดำนินการไม่บรรลุเป้าหมายและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง และเนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีการจัดทำสัญญาระหว่างกันทำให้ไม่มีการเรียกค่าปรับจากการดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระะยเวลาที่กำหนดในบันทึกข้อตกลง
นอกจากนั้น ในปี งบประมาณ 2557 ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมทางหลวงให้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปางอีก โดยกำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2559 แต่ปรากฎว่าปัจจุบันกรมทางหลวงเพิ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างและยังไม่ได้ส่งแผนดำเนินการก่อสร้างให้ กกท.
ขณะที่ กกท.ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมทางหลวง โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในลักษณะงานทำเองโดยไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างและจัดทำสัญญาให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ มูลค่าจ้างงานแต่ละแห่งเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท อาจเป็นเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง. และอาจทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และประชาชนเสียโอกาสเสียประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 21 ธ.ค.2559 ได้ติดต่อไปยัง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีกครั้ง
โดย นางกอบกาญจน์ ระบุว่า ได้รับหนังสือจาก สตง.ในเรื่องนี้แล้ว และได้สั่งการ กกท.ชี้แจงข้อเท็จจริงมาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ซึ่งเท่าที่ทราบเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดเก่า แต่ยังไม่รู้ว่าชุดไหน