ปชช.ภาคใต้ ขีดเส้นตาย13 ก.พ. รัฐต้องยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้านถ่านหินกระบี่-เทพา
เครือข่ายประชาชนภาคใต้ ขีดเส้นตายรัฐบาล 13 ก.พ.นี้ ต้องยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่-เทพา ย้ำคำประกาศเลื่อนไม่มีความหมาย เพราะยังมีความเคลื่อนไหว ผลักดันโครงการในพื้นที่ เตรียมยกระดับชุมนุมหากไม่มีคำตอบชัดเจน
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.61 ในเวทีเสวนาเรื่อง “หยุดถ่านหินภาคใต้ เราจะช่วยกันอย่างไร?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยเครือข่ายโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)และภาคีเครือข่าย
ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอ.ปัตตานี กล่าวถึงความไม่ชอบธรรมทางวิชาการในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้ิอมและสุขภาพหรือ EHIA ของโรงไฟฟ้าเทพาที่กำลังจะเข้าสู่การพิจาณาของกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่า เรื่องของฐานทรัพยากร ทั้งป่าไม้ ระบบนิเวศ ทั้งหมดไม่ได้รับการแก้ไขในรายงานที่กำลังจะเข้าพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องป่าชายเลน ที่ระบุในรายงานว่ามีเพียงจอดแหน ปอทะเล และพืชน้ำไม่กี่ชนิดเท่านั้น ทั้งที่ความจริงป่าชายเลนในพื้นที่สมบูรณ์มากกว่านั้น
"เท่าที่ไปสำรวจกันมา พบว่ามีพืชน้ำมากถึง30 ชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่รายงานระบุว่าไม่มีพื้นที่ป่าในโครงการ แต่หากเอาแผนที่โครงการ ลงทาบกับแผนที่ในพื้นที่จริงพบว่า มีป่าชายเลนในพื้นที่มากถึง 200ไร่ที่จะถูกทับไป"
ดร.เกื้อ กล่าวอีกว่า ส่วนอื่นๆ ไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม เช่น ป่าชายหาด ที่รายงานระบุว่ามีไม้เพียง 7 ชนิด แต่การสำรวจพบของกลุ่มนักวิชาการกลับพบว่ามีพันธุ์ไม้ถึง 40 ชนิด นอกจากนี้รายงาน EHIA ยังไม่ระบุถึงพื้นที่เกษตรอย่างการปลูกแตงโม สะท้อนว่าพื้นทีได้รับการศึกษาของรัฐ กับการตรวจสอบในส่วนที่ภาคประชาชนได้ลงในพื้นที่ มีความแตกต่างอย่างแท้จริง แม้ว่าแพลงตอน ในรายงานเราพบว่ามีมากถึง 75 ชนิด แต่ในรายงานบอกว่ามีเพียง 25 ชนิด
“สิ่งที่ปรากฏที่ไม่บ่งบอกความเป็นจริงของพื้นที่ การนำข้อมูลนี้ไปประเมินถือว่าเป็นการประเมินที่หยาบทั้งวิธีคิด และการกระทำ ในพื้นที่ป่าชายเลน รัฐใช้วิธีการประเมินจากพืชที่วัดในขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง แล้วไปคิดมูลค่าว่าต้นกี่บาทต่อไร่ ซึ่งตกแค่ว่าราคาต้นไม้อยู่หลักพันบาท ถึงหมื่นบาทต่อไร่เท่านั้น การใช้วิธีคิดแบบนี้ในการหาผลกระทบไม่สามารถใช้วิธีการแบบนี้ได้ เพราะไม้ไม่ได้มีค่าแค่เรื่องไม้ซุง ทรัพยากรป่าไม้เป็นฐานระบบนิเวศ เป็นแหล่งของมูลค่าเชิงนิเวศที่มีความเชื่อมโยง ไม่สามารถแยกวิเคราะห์ ประเมินได้ อย่างที่อาจารย์ประสาท มีแต้มกล่าวไว้ว่าถ้าเราจะทำให้ชาติล่มสลาย ทำได้โดยการลดคุณภาพการศึกษา และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศล่มสลายก็คือการยอมรับ EHIAแบบนี้” เกื้อ กล่าว (อ่านประกอบ ความไม่ชอบมาพากล 5 ประการ ในรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ชาวบ้านต้องการสื่อสาร)
ด้าน นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวถึงรายงาน EHIA มีกระบวนการไม่ชอบธรมไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื้อหามีความเป็นเท็จที่ไม่สามรถให้อภัยได้ ในเนื้อหารายงานชัดเจนว่าในด้านสังคมว่า ส่งผลกระทบและไม่สามารถเยียวยาได้ สรุปแบบตรงไปตรงมา การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพามีผลกระทบรุนแรงทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพอย่างแน่นอน
นายดิเรก กล่าวอีกว่า ด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม และไม่สอดคล้องการชะลอ 3ปีตามที่รัฐมนตรีพลังงานออกมาประกาศจึงถือเป็นความไม่ชัดเจน ไม่สามารถที่จะเยียวยาแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องถอนรายงานจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ประการที่สอง ถอนการดำเนินคดีกับคนที่มาคัดค้าน เพราะถือว่าใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ประการที่สามแผนพลังงานแห่งชาติ PDP ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่ชัดเจน
“ในการเลื่อนออกไป วันนี้เราไม่ได้รับความชัดเจนที่เพียงพอ เครือข่ายฯจะผนึกกำลัง จะนั่งชุมนุมต่อไปที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล” นายดิเรกกล่าว (อ่านประกอบ ทบทวน 3 ปี! รมว.พลังงาน เผยแผนเพิ่มระยะเวลาศึกษา-ตัดสินใจ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา )
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายอันดามันไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า คำประกาศของรัฐมนตรีพลังงานเรื่องเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปอีก 3 ปีไม่มีความหมายอะไร เพราะว่า ตอนนี้ มีกระบวนการรับฟังความเห็น ค.1 ใหม่แล้วในพื้นที่ ซึ่งหมายความว่ากว่าจะเสร็จกระบวนการรับฟังความเห็น ก็จะราว3 ปีพอดี ดังนั้นการประกาศดังกล่าวจังไม่มีอะไรเปลี่ยน สิ่งที่ประชาชนจะมีปฏิกิริยาจากคำลวงเหล่านี้ เราให้เวลารัฐ 4-5 วันในการมีสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ประกาศการยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคใต้เลือกเอาว่ารัฐบาลอยากให้อันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผลิตอาหาร หรือเป็นแหล่งผลิตมลพิษ
ด้านนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวว่า การประกาศเลื่อนนี้คือการเลื่อนแบบสอดไส้ ไร้ความหมาย เพราะเป็นการเลื่อนที่อนุญาตให้พื้นที่อย่างกระบี่ทำรายงาน EHIA ต่อให้เสร็จ การเลื่อนของพื้นที่เทพา ไม่ได้ทำให้คนพื้นที่รู้สึกสบายใจ เพราะ EHIA เทพา กำลังจะเข้ากรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เร็วๆ นี้
"สิ่งที่เกิดขึ้นในเทพาตามในช่วงสามปีต่อจากนี้คือ กระบวนการหว่านเงินมโหฬารเพื่อกว้านซื้อที่ดิน 1,600 แปลง กระบวนการทำงานมวลชนแบบใช้อำนาจ อิทธิพล กระบวนการจัดการสารพัดเพื่อเตรียมความพร้อมให้ ท่าเรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเสร็จ ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมการสร้างท่าเรือไว้เเล้ว มีการลอกคลองไว้เเล้ว ดังนั้นการเลื่อน 3 ปีไม่ได้แปลว่าเปลี่ยน แต่เพียงชะลอเพื่อลดกระแส และเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมถ่านหิน"
นพ.สุภัทร กล่าวด้วยว่า ที่รับไม่ได้กับการเลื่อน 3 ปี อย่างน้อย EHIA สองเล่มทั้งเทพาและกระบี่หากยังเดินหน้าต่อไปได้ ยังเป็นชุดวิธีคิดชุดเก่า แท้จริงรัฐควรยกเลิก EHIA ทั้งสองเล่ม แล้ว3ปีค่อยว่ากันไหม แบบนี้ถึงจะคุยกันได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด ณ วันนี้ ต้องการให้มีการเลิกโครงการทั้งสอง เพราะไม่มีความเหมาะสมใดๆ ในที่ตั้งเพราะทั้งกระบี่มีเรื่อง ท่องเที่ยว ส่วนเทพาคือความอุดมสมบูรณ์ ใน4-5 วันนี้ เราจะเห็นความร่วมมือของประชาชน เพราะนี่คือภัยพิบัติ คนภาคใต้ที่ขอกำหนดอนาคตของตนเอง เลื่อนอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบ
ด้านนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า วันนี้หมดยุคเเล้วที่รัฐกับทุนจะกำหนดทิศทางการพัฒนา หมดเวลาที่ประชาชนจะต้องเสียสละ เราต้องมีส่วนร่วมในเรื่องนั้นๆ ชุมชนมีบทเรียน ประสบการณ์มากพอจากทิศทางเป้าหมายพัฒนาที่กำหนดโดยทุนข้างเดียว ประสบการณ์ชุมชนคือ เสียเปรียบ เสียหาย ถอยร่นมาโดยตลอด เราไม่ยอมให้ปราฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ชุมชนเทพา อาจเป็นจุดเล็กๆ ในแผนที่ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นคน มนุษย์เท่าเทียมกัน สิ่งที่เราประกาศต้องเข้าใจว่า มีความจำเป็นต้องหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่เทพาและกระบี่ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ตัดสินใจภายใน 13 ก.พ.61 นี้ ที่ผ่านมาเราดำเนินการวิธีการอารยชน ใช้ความสงบสันติ ขอใช้สถานที่ชุมนุม ยื่นหนังสือทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง หวังว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ก.พ. นี้ จะได้รับคำตอบตามที่ยื่นเรื่องไปแล้ว ถ้ารัฐบาลคิดว่า เรื่องของพี่น้องกระบี่เทพาไม่มีความสำคัญ ไม่สนใจ หรือรัฐบาลยังตกภายใต้ถ่านหิน กลุ่มทุน เราจะยกระดับการชุมนุมเพื่อปกป้องพื้นที่ต่อไป
อ่านประกอบ
เครือข่ายคนสงขลา – ปัตตานีฯ ส่งสารชมปธน.ฝรั่งเศสประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ขอศึกษา นายกฯ ยันตอบไม่ได้สร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
หมอสุภัทร ชี้รัฐเก๋าเกมส์ เลื่อนตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เทพาไป 3 ปี
ชะลอเท่ากับยื้อ รฟฟ.ถ่านหินเทพา ชาวสงขลายันทางออกต้อง ‘ยกเลิก’ เท่านั้น
สลายกลุ่มต้านถ่านหินเทพา รวบ16 แกนนำ หลังเดินเท้าขอยื่นหนังสือถึงนายกฯ ครม.สัญจร
เครือข่ายคนเทพา ร้องนายกฯ สอบที่มารายงาน EHIA รฟฟ.ถ่านหิน หวั่นมีผลประโยชน์ทับซ้อน
จากกระบี่ถึงเทพา...กระแสต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินลามทั่วใต้!