x-files (26): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อดีตรองปธ.รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรธน.โดยมิชอบ
“...นาย ค. สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ขอให้ปิดอภิปราย ทั้งที่มีผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ หรือ ผู้สงวนความเห็นไว้โดยการใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมให้มีการลงคะแนนเสียง เพื่อรวบรัดปิดการอภิปรายและปิดประชุม อันเป็นการตัดสิทธิการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา และละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย เป็นการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรมอันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม และมีผลให้ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มิได้กระทำการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291...”
x-files :พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 26 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของตัวอย่างคดีทุจริตในหมวด การพิจารณาหรือดำเนินการขัดต่อระเบียบกฎหมาย ผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชนจะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
@ การดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริง
1. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระที่ 2 ในสมัยสามัญทั่วไป เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา นาย ค. ในฐานะรองประธานรัฐสภาผู้ทำหน้าที่แทนประธานในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม นาย ค. ได้ขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาว่าเห็นชอบด้วยกับญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเสนอให้ปิดอภิปรายหรือไม่ เป็นเหตุให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติให้ปิดอภิปรายในแต่ละมาตราดังกล่าว เห็นว่า การกระทำของนาย ค. รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมในส่วนนี้ที่รับญัตติให้ปิดอภิปรายทั้งที่มีผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นรออภิปรายอยู่จำนวนมาก เป็นการตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น ในการทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาโดยการได้ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมปิดการอภิปราย และแม้การปิดการอภิปรายเป็นดุลพินิจของประธาน แต่การใช้ดุลพินิจดังกล่าว จะต้องไม่กระทบต่อหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้พิจารณาเป็นรายมาตรา การตัดสิทธิการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาโดยการปิดอภิปราย หรือละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่รวบรัด เพื่อให้มีการลงคะแนนเสียง เป็นการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมคือนอกจากใช้อำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทกฎหมายแล้ว ยังจะต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย (ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 15 – 18/2556 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556)
กรณีนาย ค. อ้างว่าเมื่อมีผู้เสนอญัตติให้ปิดอภิปราย ประธานในที่ประชุมจะดำเนินการเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องขอมติจากที่ประชุมนั้น เห็นว่าการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาต้องมีความรอบคอบ และมีหน้าที่ต้องควบคุมให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับของการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หากเห็นว่าญัตติที่เสนอไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุผล ย่อมสามารถที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้หลายวิธี ดังนั้น ข้ออ้างที่นาย ค. หยิบยกขึ้นกล่าวอ้างจึงรับฟังไม่ได้
2. กรณีร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม นั้นจะสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือการที่นาย ค. ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องของการร่วมมือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือที่เรียกว่า “ผลัดกันเกาหลัง” ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งบางคนก็ตาม แต่การดำเนินการดังกล่าวสามารถกระทำได้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 291 ที่กำหนดให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่ง ในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ดังนั้น ลำพังเพียงการลงชื่อในญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ประกอบคำร้องและคำให้การของผู้กล่าวหาในเรื่องนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า การกระทำของนาย ค. เป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือเป็นการวางตนที่ไม่เป็นกลางตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 89 วรรคสี่ และมาตรา 122 แต่อย่างใด ข้อกล่าวหาในส่วนนี้ไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาในส่วนนี้เป็นอันตกไป
3. ผู้ร้องอ้างว่าการให้สัมภาษณ์สื่อของนาย ค. หลายครั้งเป็นการแสดงความเห็นต่อสื่อสาธารณะ ส่อในเชิงให้ร้ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา โดยแบ่งแยกสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหาออกจากสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่ตนเองเป็นประธานแห่งสภานั้นอยู่ แสดงให้เห็นจิตใจที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นกลางทางการเมือง และให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยได้แสดงความเห็นในเชิงลบต่อกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาว่าไม่ตรงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่สุจริตและให้ข้อมูลในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหาไม่ตรงกับความจริงและมีอคติ ทั้งยังแสดงความเห็นด้วย และสนับสนุนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่งในฐานะรองประธานรัฐสภา แต่การแสดงความคิดเห็นของนาย ค. ดังกล่าวก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตน พฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่มีมูลเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่านาย ค. วางตนไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่และมีการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 122 ข้อกล่าวหาในส่วนนี้ไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาในส่วนนี้เป็นอันตกไป
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. นาย ค. สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ขอให้ปิดอภิปราย ทั้งที่มีผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ หรือ ผู้สงวนความเห็นไว้โดยการใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมให้มีการลงคะแนนเสียง เพื่อรวบรัดปิดการอภิปรายและปิดประชุม อันเป็นการตัดสิทธิการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา และละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย เป็นการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรมอันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม และมีผลให้ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มิได้กระทำการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 การกระทำของนาย ค. จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 ประกอบมาตรา 272 วรรคสี่
สำหรับข้อกล่าวหาว่านาย ค. วางตัวไม่เป็นตัวกลาง ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... และให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน โดยแสดงความเห็นในเชิงลบต่อกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่านาย ค. มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริง
นาย ส. ในฐานะประธานรัฐสภาได้รับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และได้นำส่งสำเนาให้สมาชิกรัฐสภาเพื่อประกอบการประชุมพิจารณา มิใช่ร่างเดิมที่นาย อ. เป็นผู้เสนอ แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ มีการเร่งรัดให้มีการพิจารณาอย่างรวบรัดโดยจงใจปิดการอภิปรายและไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาที่แปรญัตติไว้ได้อภิปราย ในฐานะทำหน้าที่ประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดวันแปรญัตติโดยที่ไม่มีการลงมติ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ มีการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการแตกต่างไปจากที่รัฐสภาเคยรับหลักการไว้ และมิได้ให้มีการอภิปรายรายมาตรา ทั้งที่มีสมาชิกที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิอภิปรายจำนวนมาก
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำและพฤติการณ์ของนาย ส. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช2550 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 270 และมาตรา274 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62
@ ไม่ระงับยับยั้งการทุจริตและระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ
ข้อเท็จจริง นางสาว ช. นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายโดยทั่วไปของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการบริหารราชการแผ่นดินมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เป็นกฎหมายหลัก โดยในมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่นชี้แจงแสดงความคิดเห็นทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีก็ได้ มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการต่างๆ มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารในทุกตำแหน่ง รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย
นางสาว ช. ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาว่าในระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ข้อ 1.3 ว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลที่เป็นสากล
ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ซึ่งนางสาว ช. ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายรับจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนี้
1) สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังนางสาว ช. เพื่อให้พิจารณาถึงสองครั้ง ในการยืนยันข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตจากการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลด้วยวิธีการรับจำนำ และส่งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือก
2) นอกจากนี้นางสาว ช. ยังทราบเรื่องการทุจริตในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน
3) อีกทั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้แต่งตั้งขึ้น ก็ได้รายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลและแจ้งนางสาว ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติทราบ 3 ครั้ง โดยมีการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลผลิตต่อมา
4) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบโครงการ โดยมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาทบทวนและยุติการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป และกรณีการจ่ายเงินจำนำตามโครงการล่าช้าก็ควรมีมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายให้แก่เกษตรกรด้วย
ดังกล่าวข้างต้น นาวสาว ช. กลับยืนยันที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจากชาวนาต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในชั้นพยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตด้วยก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดิน
ให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยพิจารณายุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาล เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เกิดการทุจริต และระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสภาพความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) ที่จะสั่งยับยั้งโครงการรัยจำนำข้าวและการระบายข้าวนั้นได้
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. พฤติการณ์ของนางสาว ช. นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตและระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาล จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 58
และกระทำของนางสาว ช. นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1
@ ไม่รักษาความสงบเรียบร้อย ช่วยระงับเหตุและสืบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่
ข้อเท็จจริง พันตำรวจโท ก. ได้ไปเที่ยวคลับแห่งหนึ่งพร้อมด้วยกลุ่มของผู้กระทำผิด และอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม การที่พันตำรวจโท ก. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งสารวัตรป้องกันและปราบปราม มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต้องเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อย ช่วยระงับเหตุและสืบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง แต่กลับละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งยังได้ความอีกว่าพันตำรวจโท ก. ได้ร่วมเดินทางกลับออกไปกับกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมทำร้ายร่างกายและอาจเป็นผู้ที่ยิงตำรวจกองปราบปรามถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดหลบหนีไปได้และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันตำรวจโท ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) และเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
@ ไม่นำหนังสือแจ้งการรับโอนสิทธิเรียกร้องเสนอผู้บังคับบัญชา
ข้อเท็จจริง พันตำรวจโท ก. มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อผ้าตัดเย็บเครื่องแบบระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ซื้อ กับ บริษัท จ. ผู้ขาย และดำเนินการเสนอขออนุมัติเบิกจ่ายตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งการดำเนินการตามสัญญามีดาบตำรวจ .ข เป็นผู้ปฏิบัติงานเบื้องต้น ต่อมาบริษัท ส. ได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับทราบ โดยพันตำรวจโท ก. เป็นผู้รับหนังสือไว้ด้วยตนเองและมอบหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ดาบตำรวจ ข. โดยไม่เสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต่อมาปรากฏว่ามีการเสนอเรื่องขออนุมัติเบิกจ่ายเงินตามสัญญาชื้อขายงวดที่ 1 ให้แก่บริษัท จ. รับไปโดยไม่มีสิทธิ เนื่องจากโอนสิทธิเรียกร้องไปให้ผู้อื่นแล้ว เป็นเหตุให้บริษัท ส เป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว การกระทำของพันตำรวจโท ก. และดาบตำรวจ ข. จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ผู้อื่นและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันตำรวจโท ก. และดาบตำรวจ ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (2) และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
------------
สัปดาห์หน้าจะเป็นการเริ่มต้นคดีการทุจริตเกี่ยวกับที่ดิน จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
x-files (1) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต รมต.-ผอ.รพ.รัฐ เอื้อปยจัดซื้อจ้างบ.พวกพ้อง
x-files (2) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บทลงโทษ พลเอก 'ก.' เลี่ยงระเบียบซื้อที่ดิน32ล.
x-files (3): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต คดีใหญ่รถดับเพลิง-นายกอบจ.งาบมุ้งไข้เลือดออก
x-files (4):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตที่ปรึกษารมต.จัดซื้อยา-เชือดอธิบดีงาบเรือขุด
x-files (5):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อบต.ตรวจงานเท็จ -ประปาร้อยเอ็ดเรียกเงินผู้รับจ้าง
x-files (6):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ.ยักยอกATM ผู้ต้องหาคดียาบ้ากดเงินใช้ 7 แสน
x-files (7):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พันเอก พ. อมค่าโฆษณาวิทยุกองทัพภาคที่ 2
x-files (8): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต สจ. 'ข.' เอารถหลวงจำนำร้านคาราโอเกะ
x-files (9): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พ.ต.ต. แก้ใบเสร็จยักยอกเงินซื้อรองเท้า 3แสน
x-files (10): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ดาบตำรวจ ‘ก.’ เรียกรับเงินงบซ่อมถนน 7 แสน
x-files (11): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บิ๊กตำรวจ ‘ก.’ รับเคลียร์หนี้พนันละเว้นจับกุม
x-files (13): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต จ.ส.ต. ‘ส.’ รับสินบนละเว้นตรวจหนังสือเดินทางปลอม
x-files (14): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต เจ้าพนักงานเรียกรับเงิน ช่วยลดโทษผู้ต้องหายาเสพติด
x-files (15): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ. ‘ก’ แจ้งข้อกล่าวหาคดีเช็คไม่ครบถ้วน
x-files (16): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาง ‘จ’ จนท.ปกครอง ช่วยคนไร้สัญชาติทำบัตรประชาชนเท็จ
x-files (17): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นายอำเภอ-ปลัด ปลอมใบเกิดช่วยต่างด้าวได้สัญชาติไทย
x-files (18): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาย ‘ก’ จนท.ทะเบียน เรียกเงินช่วยเปลี่ยนชื่อ-สวมเลขปชช.
x-files (19): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต การสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรม กรรมการ-ผู้สอบ รวม122คน
x-files (20): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต 3 จนท.กองสลาก ร่วมโกงล็อครางวัลที่1
x-files (23): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ตร.อารักขานักการเมือง จับกุมผู้ชุมนุมโดยมิชอบ
x-files (24): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต แก้ไขเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง
x-files (25): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต จนท.บริษัทของรัฐ ช่วยเอกชนไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณาเกินเวลา