x-files (14): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต เจ้าพนักงานเรียกรับเงิน ช่วยลดโทษผู้ต้องหายาเสพติด
“...นาย ก. ได้กระทำการทุจริตโดยเรียกและรับเงินจากภรรยาและมารดาของนาย เอ จำนวน 30,000 บาทเป็นค่าตอบแทนในการให้ความช่วยเหลือนาย เอ ให้รับโทษน้อยลง และนาย ก. ยังได้ให้นาย ข. นาย ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมนาย เอ เขียนบันทึกการจับกุมนาย เอ. ขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับแทนบันทึกการจับกุมฉบับแรก และให้นาย ง. ปฏิบัติหน้าที่เสมียนประจำคดี มีหน้าที่บันทึกรายละเอียดในสมุดประจำวันตามที่พนักงานสอบสวนสั่งการ ซึ่งรับทราบข้อเท็จจริงอยู่ก่อนแล้วว่านาย เอ ถูกจับกุมและมียาบ้าของกลางจำนวน 213 เม็ด ลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีนี้ตามบันทึกการจับกุมที่เขียนขึ้นใหม่ โดยระบุว่ายาบ้าของกลางมีจำนวน 8 เม็ด เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมาย...”
x-files :พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 14 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในสัปดาห์นี้ยังคง เป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวดการทุจริตช่วยเหลือผู้กระทำความผิดจะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
@ ช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีมียาเสพติด ไว้ในครอบครองให้ได้รับโทษน้อยลง
ข้อเท็จจริง นาย ก. เป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีที่นาย เอ ผู้ต้องหาถูกจับกุมในข้อหามียาเสพติให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครอง จำนวน 213 เม็ด นาย ก. ได้กระทำการทุจริตโดยเรียกและรับเงินจากภรรยาและมารดาของนาย เอ จำนวน 30,000 บาทเป็นค่าตอบแทนในการให้ความช่วยเหลือนาย เอ ให้รับโทษน้อยลง และนาย ก. ยังได้ให้นาย ข. นาย ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมนาย เอ เขียนบันทึกการจับกุมนาย เอ. ขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับแทนบันทึกการจับกุมฉบับแรก และให้นาย ง. ปฏิบัติหน้าที่เสมียนประจำคดี มีหน้าที่บันทึกรายละเอียดในสมุดประจำวันตามที่พนักงานสอบสวนสั่งการ ซึ่งรับทราบข้อเท็จจริงอยู่ก่อนแล้วว่านาย เอ ถูกจับกุมและมียาบ้าของกลางจำนวน 213 เม็ด ลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีนี้ตามบันทึกการจับกุมที่เขียนขึ้นใหม่ โดยระบุว่ายาบ้าของกลางมีจำนวน 8 เม็ด เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นหลักฐานในการลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี และเป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีแก่นาย เอ ในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จากจำนวน 213 เม็ด เป็นจำนวน 8 เม็ด
จากการแก้ไขจำนวนยาบ้าดังกล่าวเป็นเหตุให้พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องนาย เอ และศาลอาญาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกนาย เอ 1 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวเป็นประโยชน์สำหรับนาย เอ ที่ได้รับโทษสถานเบา เนื่องจากยาบ้าของกลางในคดีมีจำนวนเพียง 8 เม็ด จากการช่วยเหลือของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 123 และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญากระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง และฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 157 มาตรา 200 วรรคหนึ่ง และมาตรา 201 ประกอบมาตรา 83
ส่วนการกระทำของนาย ข. และนาย ค. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 123 และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83
@ ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด
ข้อเท็จจริง เกิดเหตุทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น ณ สวนสาธารณะ ทำให้มีการกล่าวหาว่า สิบตำรวจเอก อ. ทำร้ายร่างกายบุตรชายของนาย ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต่อมานาย ส. และบุตรชายพร้อมพวกได้เดินทางไปสถานีตำรวจเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง โดยมีพันตำรวจเอก ก. ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร พันตำรวจตรี ข สารวัตรป้องกันปราบปราม โดยมีพันตำรวจตรี ค. เข้าเวรเป็นพนักงานสอบสวนคดีอาญา และสิบตำรวจเอก อ. ในระหว่างที่มีการเจรจาพนักงานขับรถของนาย ส. ได้เข้ามาทำร้ายร่างกายสิบตำรวจเอก อ. โดยพันตำรวจตรี ข และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วิ่งไล่ตามแต่ไม่สามารถติดตามได้ และนับตั้งแต่เหตุการณ์ที่สิบตำรวจเอก อ. ถูกทำร้ายปรากฏไม่มีผู้ใดร้องทุกข์หรือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่ทำร้ายร่างกายตำรวจแต่อย่างใด จนกระทั่งสิบตำรวจ อ. ได้ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายร่างกาย และต่อมาผู้ต้องหาทั้งสองได้มอบตัว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า พันตำรวจเอก ก. มีอำนาจหน้าที่สืบสวนและสอบสวนคดีอาญาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธร แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ทำร้ายสิบตำรวจเอก อ. พันตำรวจเอก ก. กลับไม่มีการดำเนินการหรือสั่งการให้มีการติดตามจับกุมผู้ทำร้ายสิบตำรวจเอก อ. ทั้งที่พันตำรวจตรี ข. ได้รายงานเหตุการณ์และระบุตัวบุคคลที่ทำร้ายสิบตำรวจเอก อ. ให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว พันตำรวจเอก ค มีหน้าที่สืบสวนและสอบสวนคดีอาญา แต่ได้ปล่อยปละละเลยให้เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปหลายวันโดยที่มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามอำนาจหน้าที่
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันตำรวจ ก. เป็นความผิดวินัยร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 การกระทำของพันตำรวจตรี ข. และ พันตำรวจตรี ค. เป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (9)
@ ดำเนินการขอปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยมีเจตนาช่วยเหลือ
ข้อเท็จจริง นาย ก. ขณะมียศพันตำรวจโท ก. กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอปล่อยผู้ต้องหา โดยอ้างว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและคดีอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ซึ่งเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้ศาลอาญาออกหมายปล่อย และนาย ก. ได้นำหมายปล่อยดังกล่าวไปขอรับตัวผู้ต้องหาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหา ขณะที่นาย ข. ในฐานะเจ้าหน้าที่รับสำนวนของสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดียาเสพติด 3 ได้ส่งคืนสำนวนการสอบสวนคดีให้กับนาย ก. ซึ่งตามหน้าที่ของนาย ข. จะต้องส่งสำนวนคดีอาญาที่ตรวจสอบเบื้องต้นเสนอหัวหน้าฝ่ายธุรการลงสารบบประเภทคดี แต่กลับไม่ยอมนำสำนวนการสอบสวนดังกล่าวเสนอเป็นเหตุให้นาย ก. นำสำนวนการสอบสวนคดีอาญากลับไป จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง มาตรา 90 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และมาตรา 61 พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2547 มาตรา 5 (12) และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 162 (1) (4) และมาตรา 200
การกระทำของนาย ข. เป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคหนึ่ง
------------
สัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของตัวอย่างคดีสำคัญในหมวดเกี่ยวกับการทุจริตช่วยเหลือผู้กระทำความผิด จะมีคดีสำคัญอะไรบ้าง โปรดติดตามเช่นเดิม
อ่านประกอบ :
x-files (1) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต รมต.-ผอ.รพ.รัฐ เอื้อปยจัดซื้อจ้างบ.พวกพ้อง
x-files (2) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บทลงโทษ พลเอก 'ก.' เลี่ยงระเบียบซื้อที่ดิน32ล.
x-files (3): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต คดีใหญ่รถดับเพลิง-นายกอบจ.งาบมุ้งไข้เลือดออก
x-files (4):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตที่ปรึกษารมต.จัดซื้อยา-เชือดอธิบดีงาบเรือขุด
x-files (5):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อบต.ตรวจงานเท็จ -ประปาร้อยเอ็ดเรียกเงินผู้รับจ้าง
x-files (6):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ.ยักยอกATM ผู้ต้องหาคดียาบ้ากดเงินใช้ 7 แสน
x-files (7):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พันเอก พ. อมค่าโฆษณาวิทยุกองทัพภาคที่ 2
x-files (8): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต สจ. 'ข.' เอารถหลวงจำนำร้านคาราโอเกะ
x-files (9): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พ.ต.ต. แก้ใบเสร็จยักยอกเงินซื้อรองเท้า 3แสน
x-files (10): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ดาบตำรวจ ‘ก.’ เรียกรับเงินงบซ่อมถนน 7 แสน
x-files (11): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บิ๊กตำรวจ ‘ก.’ รับเคลียร์หนี้พนันละเว้นจับกุม
x-files (13): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต จ.ส.ต. ‘ส.’ รับสินบนละเว้นตรวจหนังสือเดินทางปลอม