x-files (3):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต คดีใหญ่รถดับเพลิง-นายกอบจ.งาบมุ้งไข้เลือดออก
"...ในการดำเนินการทางการค้าต่างตอบแทนปรากฏว่า บริษัทผู้แทนดำเนินการตามข้อตกลงว่าด้วยการค้าเป็นเครือญาติของนาย ช. ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยนาย ช. ได้หลีกเลี่ยงกับบริษัทไม่ทำการค้าต่างตอบแทนตามเงื่อนไข และได้ยกเลิกกฎหมายเดิมผลักดันกฎหมายใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า..."
ในสัปดาห์นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ยังคงนำข้อมูลตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆในหมวดการจัดซื้อจัดจ้าง ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้ความผิด นับตั้งแต่ปี 2543 -2557 และมีการจัดทำรายงานผลการศึกษาเป็นทางการ มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบเพิ่มเติมตามนัดหมาย เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล) (อ่านประกอบ: x-files (1) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต รมต.-ผอ.รพ.รัฐ เอื้อปยจัดซื้อจ้างบ.พวกพ้อง, x-files (2) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บทลงโทษ พลเอก 'ก.' เลี่ยงระเบียบซื้อที่ดิน32ล.)
โดยข้อมูลตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญในหมวดการจัดซื้อจัดจ้าง ที่นำมาเสนอในสัปดาห์นี้ ขอเริ่มต้นด้วยคดีใหญ่จัดซื้อรถดับเพลิง กทม. ซึ่งถูกระบุว่ามีลักษณะเป็นการทุจริตไม่ให้มีการแข่งขันราคาและการไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ข้อเท็จจริง บริษัท A ของประเทศหนึ่ง ได้เสนอโครงการขายรถดับเพลิงผ่านทูตของประเทศตนที่ประจำอยู่ประเทศไทย และสถานทูตได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยื่นข้อเสนอโครงการและให้ดำเนินการในลักษณะรัฐต่อรัฐ พร้อมจัดหาแหล่งเงินทุนและรับพันธะการค้าต่างตอบแทน ต่อมานาย ค. ในฐานะผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ทำหนังสือขออนุมัติการจัดซื้อรถดับเพลิงต่อนาย ง. ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยระบุรายระเอียดความเป็นมา ความจำเป็นในการจัดซื้อ พร้อมครุภัณฑ์ซึ่งตรงกับใบเสนอราคาของบริษัท A นาย ง. ได้อนุมัติและได้ลงนามบันทึกเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา โดยบันทึกดังกล่าวผ่านไปยัง นาย จ. ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยในบันทึกกำหนดการชำระเงินเป็นงบประมาณจากกรุงเทพฯ กับเงินอุดหนุนรัฐบาลในอัตรา 30:70 นาย ก. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ปรับอัตราส่วนเป็น 40: 60 ต่อมานาย ก. และนาย จ. ได้ร่วมลงนามในหนังสือขออนุมัติจัดซื้อรถดับเพลิงต่อคณะรัฐมนตรี ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ให้กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสำรวจถึงความจำเป็นและจำนวนให้ชัดเจนและถูกต้องอีกครั้ง โดยให้นำเข้าเฉพาะส่วนที่จำเป็นและที่ไม่มีหรือที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยเท่านั้น
ต่อมาทูตพาณิชย์ประเทศต้นสังกัดของบริษัท A ได้ยื่นร่างข้อตกลงความเข้าใจ (A.O.U.) เรื่องการจัดหารถดับเพลิง นาย ค. ได้นำ A.O.U. เสนอคณะกรรมการบริหารการจัดซื้อรถดับเพลิง เพื่อร่วมกันพิจารณา ซึ่งมีนาย ค. เป็นประธานกรรมการอยู่ โดยที่ประชุมมีผู้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปิด Letter of Credit (L/C) และในข้อตกลงดังกล่าวไม่มีการกล่าวอ้างถึงการทำการค้าต่างตอบแทน สุดท้ายที่ประชุมได้มีความเห็นรับทราบข้อตกลงดังกล่าว นาย ง. ได้มีบันทึกเสนอนาย ก. ว่าบันทึกข้อตกลงมีความชัดเจน จึงมีความเห็นของข้อเสนอทูตพาณิชย์และเสนอให้นาย ก. พิจารณาลงนามกับทูตประเทศต้นสังกัดของบริษัท A จากนั้นนาย ก. ได้ลงนามใน A.O.U กับทูตประเทศต้นสังกัดของบริษัท A ต่อมานาย ค. ได้เสนอบันทึกถึงนาง ฉ. ในฐานะปลัดกรุงเทพมหานคร ขอยกเว้นการปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ นาง ฉ. ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ โดยตนเองเป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติการจัดซื้อรถดับเพลิงสามารถดำเนินการได้โดยวิธีพิเศษและอนุมัติการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพัสดุในกรณีที่ดำเนินการตามข้อตกลงความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล และนาง ฉ. ได้เสนอให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุรับรองรายงานการประชุมในคราวเดียวกันโดยอ้างว่าหน่วยงานต้องรีบไปดำเนินการ ต่อมานาย ง. ได้ให้ความเห็นชอบในร่างคุณลักษณะเฉพาะของรถดับเพลิง ทั้งที่การจัดทำคุณลักษณะเฉพาะดังกล่าวควรแล้วเสร็จก่อนลงนามใน A.O.U. อีกทั้งไม่ปรากฏว่านำร่างคุณลักษณะไปใช้ประโยชน์แต่อย่างใด
ต่อมานาย จ ได้มีหนังสือขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณในการจัดซื้อรถดับเพลิง และนาย ค. ได้มีบันทึกเสนอขอความเห็นชอบและขออนุมัติต่อนาย ง. ผ่านนาง ฉ. ขอจัดซื้อรถดับเพลิงโดยวิธีพิเศษ รวมทั้งขออนุมัติเปิด L/C ชนิดเพิกถอนไม่ได้ในนามของผู้ขายผ่านธนาคารของไทยให้แก่ธนาคารในประเทศของบริษัท A โดยนาง ฉ. ได้ลงนามผ่านเรื่อง และนาย ง. ได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติตามเสนอ และในวันเดียวกันนาย ค. ในฐานะประธานกรรมการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษได้มีหนังสือถึงทูตของบริษัท A ที่ประจำอยู่ประเทศไทย ขอความอนุเคราะห์แจ้งไปยังบริษัท A เพื่อให้ยื่นเสนอราคา และได้มีการยื่นเสนอราคาในวันเดียวกัน และในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงมหาดไทยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ และอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมในการเปิด L/C ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดเกี่ยวกับการค้าต่างตอบแทนตามมติคณะรัฐมนตรี ต่อมานาย ค. ได้รายงานผลการจัดซื้อรถดับเพลิงโดยวิธีพิเศษถึงนาย ง. ผ่านนาง ฉ. เสนอความเห็นควรจัดซื้อรถดับเพลิง และในวันเดียวกันนาง ฉ. ได้ลงนามผ่านเรื่อง แต่นาย ง. ยังไม่ลงนามอนุมัติเนื่องจากรายละเอียดยังไม่สมบูรณ์ คือไม่มีการระบุเรื่องการทำสัญญาการค้าต่างตอบแทนและยังไม่มีข้อยุติว่าต้องส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาร่างข้อตกลงซื้อขายก่อนหรือไม่ จึงได้มีการทำหนังสือลงเลขที่และวันที่เดียวกันขึ้นอีกหนึ่งฉบับ โดยฉบับหลังมีใจความว่า “กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามการค้าต่างตอบแทนแล้ว และร่างข้อตกลงไม่ต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา” โดยนาย ง. ได้ลงนามในบันทึกฉบับหลัง ทั้งที่ขณะนั้นกระทรวงพาณิชย์ยังมิได้ลงนามในสัญญาการค้าต่างตอบแทน และยังไม่ได้ข้อยุติว่าต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาหรือไม่ และในวันเดียวกันนาย ง ได้มีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศให้ดำเนินการทำสัญญาการค้าต่างตอบแทนกับบริษัท A โดยเร็ว และได้มีหนังสือถึงนาย ก. เพื่อรายงานความเห็นของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และนาย ก. ได้ลงนามอนุมัติ
และในวันเดียวกันนาย ค. ได้มีบันทึกถึงนาง ฉ. ให้ลงนามในหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอถอนคืนร่างข้อตกลงซื้อขายที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด เนื่องจากมีการเทียบเคียงกับข้อตกลงความเข้าใจในกรณีที่ใกล้เคียงกันที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และได้เสนอนาย ง. พิจารณาอนุมัติ ซึ่งนาย ง. ได้อนุมัติในวันเดียวกัน และนาง ฉ. ได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดขอถอนคืนร่างข้อตกลงซื้อขายที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และในวันเดียวกันได้มีการลงนามในข้อตกลงชื้อขายประกอบบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง 2 ประเทศ
ทั้งนี้ ในการดำเนินการทางการค้าต่างตอบแทนปรากฏว่า บริษัทผู้แทนดำเนินการตามข้อตกลงว่าด้วยการค้าเป็นเครือญาติของนาย ช. ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยนาย ช. ได้หลีกเลี่ยงกับบริษัทไม่ทำการค้าต่างตอบแทนตามเงื่อนไข และได้ยกเลิกกฎหมายเดิมผลักดันกฎหมายใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า
ต่อมามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยนาย ข. ได้รับเลือกตั้ง โดยนาย ค. ได้มีหนังสือถึงนาย ง. ขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการเปิด L/C ซึ่งต่อมาผู้นาย ง. ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการธนาคาร เพื่อขอเปิด L/C ครั้งที่ 1 ให้กับบริษัท A ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม และมอบอำนาจให้นาย ค เป็นผู้ดำเนินการขอเปิด L/C นาย ข. ได้สั่งการให้นาย ค. ตรวจสอบราคารถดับเพลิงเปรียบเทียบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ธนาคารได้อนุมัติวงเงิน L/C ขอให้กรุงเทพมหานครยืนยันการจ่ายดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายที่ธนาคารจ่ายไปก่อน ในวันเดียวกันนาย ข. ได้สั่งให้ปลัดกรุงเทพมหานครสั่งการให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอขยายการเปิด L/C ออกไปอีก 1 เดือน เพื่อให้รองผู้ว่าราชการพิจารณาก่อน ซึ่งนาย ค. มีหนังสือถึงปลัดกรุงเทพมหานครว่าไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ขยายเวลาการเปิด L/C ออกไปอีก 1 เดือน เนื่องจากสัญญาที่ทำกับบริษัท A ผู้ชื้อต้องเปิด L/C ให้ผู้ขายภายใน 30 วัน และในวันเดียวกันนาย ค. ได้มีหนังสือเร่งให้ธนาคารกรุงไทยเร่งดำเนินการออก L/C โดยด่วน ในวันรุ่งขึ้นนาย ข. ได้มีหนังสือให้ธนาคารกรุงไทยระงับการเปิด L/C เนื่องจากมีความจำเป็นบางอย่างเกี่ยวกับข้อตกลงการซื้อขายและยกเลิกการมอบอำนาจให้นาย ค ดำเนินการเปิด L/C ต่อมานาย ข. ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ขอทราบว่าบริษัท A ได้ทำสัญญาต่างตอบแทนหรือไม่ กรมการค้าต่างประเทศแจ้งว่าบริษัท A ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายตอบแทนกับกรมการค้าต่างประเทศแล้ว และได้ขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครแจ้งผลการลงนามสัญญาหลักให้กรมการค้าต่างประเทศทราบด้วย ทั้งที่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครโดยนาย ง. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงซื้อขายกับบริษัท A ไปก่อนที่กรมการค้าต่างประเทศได้ลงนามในสัญญาซื้อขายตอบแทนกับบริษัท A ซึ่งตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ข้อ 6 จะต้องทำสัญญาซื้อขายตอบแทนก่อนที่จะลงนามในสัญญาหลัก
ต่อมานาย ข. ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้พิจารณาการจัดซื้อรถดับเพลิง โดยให้เหตุผลว่า การทำสัญญาการค้าต่างตอบแทนกับกรมการค้าต่างประเทศยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์และตามข้อกำหนดของ A.O.U. ไม่เปิดช่องให้กรุงเทพมหานครสามารถทบทวนเปรียบเทียบราคารถดับเพลิงตามสัญญาจัดซื้อที่ได้ลงนามแล้วกับราคาสินค้าประเภทเดียวกันจากแหล่งผลิตอื่น ๆ ได้ แต่กระทรวงมหาดไทยได้มีบันทึกแจ้งนาย ข. ว่า นาย จ. ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และได้มีการลงนามใน A.O.U. และสัญญาจัดซื้อแล้ว รวมทั้งบริษัท A ได้ลงนามสัญญาการซื้อต่างตอบแทนกับกรมการค้าต่างประเทศแล้ว จึงเห็นควรเร่งดำเนินการเปิด L/C เพื่อให้เป็นไปตาม A.O.U. เมื่อนาย ข. ได้รับหนังสือแจ้งจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว ในวันเดียวกันได้มีหนังสือถึงธนาคารกรุงไทยให้อนุมัติวงเงิน L/C (ครั้งที่ 2) ตามสัญญาซื้อขายแก่กรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคนใหม่แทนนาย ค. ที่เกษียณอายุราชการ เป็นผู้ดำเนินการเปิด ต่อมามีผู้ยื่นหนังสือถึงนาย ข. ให้ระงับการเปิด L/C เพื่อเปรียบเทียบราคากับประเทศอื่น และได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. นาย ข. ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้มีการทบทวนสัญญาซื้อต่างตอบแทน และในวันเดียวกันนาย ข. ได้มีหนังสือถึงบริษัท A แจ้งว่ายังมีปัญหาในกระบวนการจัดซื้อจึงต้องพิจารณาข้อตกลงซื้อขายก่อน และได้มีหนังสือแจ้งธนาคารให้ระงับการอนุมัติวงเงิน L/C เฉพาะคราวไปพรางก่อน ต่อมานาย ก. ได้มีหนังสือถึงนาย ข. ว่ากระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการดำเนินการค้าต่างตอบแทนว่าไม่นำความข้อ 6 ของประกาศกระทรวงพาณิชย์มาใช้บังคับ จากนั้นนาย ข. ได้มีหนังสือถึงธนาคารขอเปิด L/C และได้ดำเนินการเปิด L/C อันเกิดผลสมบูรณ์ระหว่างธนาคารกรุงไทยกับธนาคารผู้ขายในต่างประเทศ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของ นาย จ. ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นาย ค. ในฐานะผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นาย ง. ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนาย ก. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาย ช. ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อช่วยเหลือบริษัท A ให้ได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าเสนอราคากับหน่วยงานรัฐอย่างเป็นธรรม และการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างขัดกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 เรื่องหลักเกณฑ์การส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2535 วันที่ 1 ตุลาคม 2545 วันที่ 7 มกราคม 2546 และวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เรื่องการติดต่อทำความตกลงกับต่างประเทศ การทำอนุสัญญาและสนธิสัญญาต่าง ๆ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 วันที่ 7 มกราคม 2546 และวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ขัดต่อข้อบังคับกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ พ.ศ. 2538 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7, 11, 12 และมาตรา 13 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำของนาย ค. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538 มาตรา 8 และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7, 11 และมาตรา 12 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
บริษัท A เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 และมาตรา 11,12 และมาตรา 13 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
นาย ข. ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
นาง ฉ. ในฐานะปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 84 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538 มาตรา 8
ส่วนคดีตัวอย่างอื่นๆ ที่น่าสนใจมีดังนี้
@ คดีการทุจริตจัดซื้อวัสดุป้องกันโรคไข้เลือดออก
ข้อเท็จจริง นาย ก. ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งเสนอญัตติจ่ายขาดเงินสะสมในการจัดซื้อวัสดุป้องกันโรคไข้เลือดออกต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเมื่อได้รับอนุมัติจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว นาย ก. ได้ร่วมกับนาย ข. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดซื้อมุ้งขนาด 2x2 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่มีจำหน่ายในร้านค้าทั่วไปจากนั้นนาย ก. ได้ติดต่อร้านค้าที่รับผลิตและจำหน่ายมุ้งแห่งหนึ่งให้ผลิตมุ้งขนาด 2x2 เมตร และให้พรรคพวกของตนไปดำเนินการจดทะเบียนร้านค้าเพื่อนำหลักฐานไปใช้ในการยื่นซองสอบราคาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด และได้แอบอ้างใช้ชื่อและเอกสารของร้านอื่น ๆ อีก 2 ร้าน ไปร่วมยื่นเสนอราคาด้วย ซึ่งปรากฏว่าร้านค้าของนาย ก. กับพวกได้รับการพิจารณาในการเสนอราคา และได้ทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยนาย ก. กับพวก ได้รับประโยชน์กับราคาส่วนต่างของมุ้งที่ตนกับพวกได้ดำเนินการจ้างผลิตไว้ล่วงหน้าแล้ว เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อมุ้งในราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 และนาย ข. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
@ การทุจริตแก้ไขราคากลาง
ข้อเท็จจริง รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ได้ประกาศประกวดราคาจ้างเหมา โดยนาย ก. ในฐานะผู้บริหารระดับสูง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเป็นประโยชน์
คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมาได้เสนอรายงานการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมาต่อนาย ก. โดยรายงานว่าได้พิจารณาผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่ยังสูงกว่าราคากลาง ต่อมานาย ก. สั่งการให้ต่อรองราคา ผลการต่อรองราคาปรากฏว่าบริษัทผู้เสนอได้ลดราคาลงแต่ยังสูงกว่าราคากลาง นาย ก. สั่งการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขราคากลางในบันทึกรายงานผลการประกวดราคาของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมาให้สูงกว่าราคาที่บริษัทเสนอ แล้วนำไปสับเปลี่ยนเอกสารเดิม จากนั้นจึงนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นเหตุให้คณะกรรมการบริษัทฯ หลงเชื่อว่า ผู้เสนอราคาได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง จึงอนุมัติให้จ้างบริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และ 11 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265 และ 268
@ ปลอมแปลงเอกสารผลการพิจารณาการประกวดราคา
ข้อเท็จจริง กรมประชาสัมพันธ์ได้ประกาศประกวดราคาเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบ จำนวน 229 เครื่อง คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้เสนอความเห็นให้มีการจัดเช่าจากบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกในการเสนอราคา อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้อนุมัติตามเสนอ แต่บริษัทที่ไม่ได้รับการคัดเลือกมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและขอตรวจสอบเอกสารของบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จึงได้สั่งการให้ชะลอเรื่องที่ได้อนุมัติไว้ก่อน และให้คณะกรรมการและผู้อำนวยการกองกฎหมายร่วมกันพิจารณาเอกสาร
ต่อมา คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้สรุปผลการพิจารณาเสนออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โดยเห็นควรให้มีการยกเลิกการประกวดราคาและจัดให้มีการประกวดราคาใหม่ โดยเสนอผ่านกองคลัง ซึ่ง นาย ก. รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้ลงนามเห็นชอบเพื่อเสนออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์พิจารณา แต่ปรากฏว่ามิได้มีการนำเสนออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์พิจารณา เนื่องจากกรรมการรายหนึ่ง ได้นัดหมายให้กรรมการทุกคนเข้าร่วมประชุมกับนาย ก. เพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติให้มีการประกวดราคาต่อไป แต่มีกรรมการรายหนึ่งไม่ยินยอม จากนั้น นาย ข. ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการประชาสัมพันธ์ ประธานกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ได้นำบันทึกผลการพิจารณาผลการประกวดราคาไปดำเนินการปรับเปลี่ยนข้อความใหม่ โดยใช้ลายมือชื่อของกรรมการทุกคนในบันทึกฉบับเดิมแทนการลงลายมือชื่อใหม่ ซึ่งนาย ก. เห็นชอบด้วยและสั่งการให้นาย ข. รับไปดำเนินการ
จากนั้น นาย ข. ได้สั่งการให้มีการพิมพ์ข้อความโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ จากเดิมที่เสนอให้ยกเลิกการประกวดราคามาเป็นขออนุมัติให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนควบจากบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกในการเสนอราคาและใช้ลายมือชื่อของคณะกรรมการทั้งห้าคน จากนั้น นาย ข. ได้นำบันทึกฉบับที่แก้ไขใหม่เสนอ นาย ก. โดยไม่ผ่านกองคลังตามระเบียบ หลังจากนาย ก. ได้รับบันทึกแล้วจึงได้เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วยลายมือตนเองว่าการอนุมัติควรเป็นไปตามเดิม อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จึงได้ลงนามอนุมัติให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนควบจากบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกในการเสนอราคา ต่อมาหัวหน้าฝ่ายพัสดุฯ ได้จัดทำบันทึกรายงานข้อเท็จจริงเสนอให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์พิจารณา และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้สั่งการอนุมัติให้ยกเลิกการอนุมัติ รวมทั้งให้ยกเลิกการประกวดราคาตามที่กองคลังเสนอ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และนาย ข. มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (1)(4) ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 90
-------
ทั้งหมด คือ ตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดจัดซื้อจัดจ้างที่นำมาเสนอในสัปดาห์นี้ ซึ่งบางคดีศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดไปแล้ว