x-files (24): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต แก้ไขเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง
“...นาย ก. พนักงานการเลือกตั้ง เป็นผู้เก็บรหัสผ่านเข้าถึงข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองในฐานข้อมูลนายทะเบียนพรรคการเมืองแต่เพียงผู้เดียว และมีหน้าที่บันทึก แก้ไข เปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในรอบปีที่ผ่านมา นาย ข. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและกรรมการบริหารพรรค A ได้ร่วมกันทุจริตดำเนินการลบชื่อสมาชิกพรรคการเมืองอื่นบางคนออกจากบัญชีรายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อใส่ชื่อบุคคลที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปภายใต้เลขสมาชิกเดิม ซึ่งเรียกว่า “วิธีตัดต่อพันธุกรรม” เพื่อแก้ปัญหาในเขตที่มีผู้สมัครของพรรค A ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครนั้นได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...”
x-files :พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 24 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในสัปดาห์นี้ ยังคงเป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวด การพิจารณาหรือดำเนินการขัดต่อระเบียบกฎหมาย ผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชนจะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
@ ร่วมกันพิจารณาการโอนหุ้นบริษัทให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้โดยมิชอบ
ข้อเท็จจริง นาง A ประสงค์จะยกหุ้นให้เพื่อเป็นการตอบแทนนาย B ในฐานะพี่ชายบุญธรรมซึ่งได้ทุ่มเทช่วยเหลือกิจการของครอบครัวมาโดยตลอดและเพื่อให้พี่น้องมีฐานะเท่าเทียมกันและประกอบกับนายบีได้แต่งงานเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2539 และมีบุตรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2539 จึงยกหุ้นให้เป็นของขวัญเพื่อเป็นทรัพย์สินของครอบครัวและบุตรชาย ซึ่งสำนักตรวจสอบภาษีมีความเห็นว่ากรณีการยกหุ้นดังกล่าวจะถือว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หาหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย เห็นควรส่งให้สำนักกฎหมายพิจารณา โดยมีนาย 1 ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย นาง 2 นิติกร 8 ว. เป็นผู้รับผิดชอบ และนาง 3 นิติกร 7 ว. เป็นเจ้าของเรื่อง
นาย 1 นาง 2 นาง 3 และนาง 4 นิติกร 9 ชช. ได้มีความเห็นร่วมกันเสนอรองอธิบดีซึ่งรับผิดชอบสำนักกฎหมายว่าเป็นการได้รับหุ้นจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา และการให้โดยเสน่ห์เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีได้รับการยกเว้นภาษี ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร โดยรองอธิบดีได้ตั้งข้อสังเกตให้สำนักกฎหมายทำการพิจารณาเรื่องเงื่อนเวลา ซึ่งต่างกัน 1 ปีเศษ จากวันแต่งงานถึงวันที่ให้หุ้น
ต่อมานาย 1 นาง 2 นาง 3 และนาง 4 มีความเห็นร่วมกันเสนอรองอธิบดีว่ามิใช่เรื่องที่จะต้องให้ตรงตามวันหรือระยะเวลาแต่ประการใด แต่ต้องให้เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 1793/2518
รองอธิบดีได้ตั้งข้อสังเกตให้สำนักตรวจสอบภาษีพิจารณาว่า นาย B ได้ค่าตอบแทนในการทำงานเป็นปกติหรือไม่ และนาง A ได้โอนหุ้นให้พี่น้องคนอื่นหรือไม่
นาย 1 นาง 2 นาง 3 และนาง 4 มีความเห็นร่วมกันเสนอรองอธิบดีว่านาย B ได้รับค่าตอบแทนในระดับผู้บริหารของบริษัท ส่วนการโอนหุ้นให้พี่น้องคนอื่นหรือไม่นั้น สำนักตรวจสอบภาษีไม่ได้หารือมา ดังนั้น จึงไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณา และได้สรุปว่าการรับโอนหุ้นกรณีนี้ เป็นการได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี และเข้าลักษณะเป็นการได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาได้รับการยกเว้นภาษี แต่เนื่องจากรองอธิบดีซึ่งรับผิดชอบสำนักกฎหมายคนดังกล่าว ได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นเหตุให้เรื่องการพิจารณาโอนหุ้นนี้มีการนำเสนอต่อนาย 5 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากรโดยนาย 5 เห็นชอบด้วยกับความเห็นของสำนักกฎหมาย ให้แจ้งสำนักตรวจสอบภาษีทราบต่อไป ภายหลังผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีจึงอนุมัติให้ยุติการตรวจสอบตามที่เสนอ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า
1) การรับหุ้นของนาย B จากนาง A ดังกล่าว ไม่เป็นเงินได้ที่รับโดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่จะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะ (1) ระยะเวลาการให้ห่างจากวันสมรสเกือบ 2 ปี และห่างจากวันที่บุตรเกิดเกือบ 1 ปี ทั้งยังไม่ถึงวันที่บุตรจะมีอายุครบ 1 ปี (2) การโอนหุ้นให้กันเป็นการทำนิติกรรมอำพราง (ซื้อ ขายหุ้นในชื่อของบุคคลอื่น) (3) ผู้โอนและผู้รับโอนมีเจตนาไม่สุจริตตั้งแต่แรก ไม่ต้องการให้ผู้อื่นล่วงรู้และรู้ว่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นภาษี (4) ผิดปกติวิสัยวิญญูชนทั่วไป หากทราบว่ากรณีดังกล่าวเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เหตุใดไม่ทำแบบตรงไปตรงมา และการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นเงินถึง 7.3 ล้านบาท
2) การใช้ดุลยพินิจของนาย 1 นาง 2 นาง 3 และนาง 4 เป็นการวินิจฉัยโดยมิได้คำนึงถึงเหตุผลความเป็นจริง ผลประโยชน์ของรัฐและสาธารณชนเป็นสำคัญ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายอย่างแท้จริง มีพฤติการณ์เป็นการแสดงเจตนาที่พยามยามดึงดันการพิจารณาให้การโอนหุ้นกรณีดังกล่าวเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีให้ได้ เป็นการพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายแนวทางปฏิบัติในอันที่จะรักษาประโยชน์ทางราชการและสาธารณชน ซึ่งในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ดังกล่าวพึงมีและต้องคำนึงถึง แต่กลับกระทำการดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง หลักเหตุผล หลักกฎหมายผลประโยชน์ของทางราชการ และผลประโยชน์ของสาธารณชน เพราะ (1) ด้วยทรัพย์สินมีมูลค่าสูง และผู้เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในขณะนั้น และสาธารณชนสนใจ แต่ไม่หาข้อเท็จจริงและพิจารณาหลักฐานตามที่เป็นจริงให้เป็นที่ยุติ (2) มิได้พยายามหาข้อเท็จจริงหรือพิจารณาหาพยานหลักฐานตามที่เป็นจริง กลับพิจารณารับฟังเฉพาะคำให้การของนาง A และนาย B เท่านั้น (3) พยานหลักฐานเกี่ยวกับการโอนหุ้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยวินิจฉัยว่าเป็นการโอนหลักทรัพย์ โดยอำพรางเพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ (4) ไม่พิจารณาเสนออธิบดีหรือรองอธิบดีที่ได้รับมอบหมายให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเพราะเป็นเรื่องสำคัญ มูลค่าภาษีจำนวนมาก และสาธารณชนให้ความสนใจ รวมทั้งยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ตรงกับข้อเท็จจริงเรื่องนี้ (5) หยิบยกคำพิพากษาเทียบเคียงเฉพาะส่วนที่เห็นว่าตรงกับความเห็นที่ตามเสนอ (6) ร่วมกันเสนอความเห็นว่ามิใช่เรื่องที่จะต้องให้ตรงวันหรือระยะเวลาแต่ประการใด และต้องแยกพิจารณาประเด็นค่าตอบแทนในการทำงานและการรับโอนหุ้นออกจากกัน และไม่ได้หาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการโอนหุ้นให้พี่น้องคนอื่นหรือไม่ ตามที่มีข้อสังเกตจากรองอธิบดีฯ (7) มิได้หาแนวทางปฏิบัติและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อนำมาพิจารณาหรือนำมาประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจวินิจฉัย (8) ไม่ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของรองอธิบดีฯ และกลับทำความเห็นเสนอโดยเร็ว (9) กรณีการโอนหุ้นให้นาย B ไม่ถูกนำไปลงเผยแพร่ให้ถือปฏิบัติแต่อย่างใดในระบบ TAXT RETRIEVAL 1
3) กรณีนาย 5 ได้พิจารณาเห็นชอบกับความเห็นของเจ้าหน้าที่และให้แจ้งสำนักตรวจสอบภาษีทราบ ทั้งๆ ที่เพิ่งจะมีการเสนอเรื่องนี้ให้พิจารณาในวันศุกร์ เวลา 17.00 น. และในวันจันทร์ก็ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยกับความเห็นของเจ้าหน้าที่และให้แจ้งให้สำนักตรวจสอบภาษี ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับเงินภาษีจำนวนมาก อีกทั้ง กรณีดังกล่าวยังมีปัญหาข้อโต้แย้งและผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถวินิจฉับให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ อันเป็นการใช้ดุลยพินิจตัดสินใจซึ่งผิดปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไปและในฐานะรองอธิบดีฯ ที่พึงปฏิบัติ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย 1 นาง 2 นาง 3 นาง 4 และนาย 5 เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรนั้นมิต้องเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 และมาตรา 157
@ ร่วมกันกับพวกจัดทำรายงานการประชุมสภาเทศบาลตำบลเป็นเท็จ จัดทำเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณไม่ชอบด้วยกฎหมาย การนำเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2543 มาใช้ในการดำเนินการปฏิบัติงานของเทศบาลตำบล เป็นการใช้เอกสารปลอมเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย
ข้อเท็จจริง ได้มีการเรียกประชุมสภาเทศบาลตำบล ส. เพื่อพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นาย 1 นาย 2 นาย 3 นาย 4 นาย 5 นาย 6 นาย 7 ในฐานะเลขานุการสภาเทศบาล และนาย ก. ได้เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะเจ้าหน้าที่จัดการประชุม ปรากฏว่ามีการอภิปรายร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ขัดแย้งกันจนหาข้อยุติไม่ได้ จึงได้มีการเลิกประชุมโดยไม่มีการลงมติรับหลักการร่างเทศบัญญัติดังกล่าวและมิได้กำหนดนัดประชุมแต่อย่างใด
แต่นาย 7 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้มาประชุมและผู้จัดทำบันทึกรายงานการประชุมสภาเทศบาลอันเป็นความเท็จว่า “ที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้รับหลักการร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ในวาระที่ 1 และมีมติให้ประชุมสภาเทศบาลตำบล ส. เพื่อแปรญัตติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เพื่อให้ความเห็นชอบให้ตราเป็นเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2543 หรือไม่ในวันที่ 24 กันยายน 2542 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบล ส.” และปรากฏว่าในวันที่ 24 กันยายน 2542 ไม่ปรากฏว่ามีการประชุม เพื่อพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 แต่อย่างใด แต่ปรากฏว่านาย 7 ร่วมกับนาย 1 นาย 2 นาย 3 นาย 4 นาย 5 และนาย 6 จัดทำรายงานการประชุมสภาเทศบาลตำบล ส. อันเป็นความเท็จว่า “ได้ตรวจสอบรายชื่อสมาชิกสภาเทศบาลเรียบร้อยแล้ว มีสมาชิกสภาเทศบาลมาลงชื่อเข้าประชุมและอยู่ร่วมประชุมครบ 12 คน ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุมสภาเทศบาลตำบล ส. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2542 นาย ล. ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการสามัญประจำสภาในการตรวจร่างเทศบัญญัติพิจารณาแปรญัตติว่า ไม่ได้รับคำขอแปรญัตติจากสมาชิกสภาเทศบาลจึงเห็นสมควรเสนอร่างเทศบัญญัติดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาเทศบาลตำบล ส. และที่ประชุมสภาเทศบาลตำบล ส. มีมติเป็นเอกฉันท์ยกมือทุกคนให้การรับรองร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เป็นเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ...” โดยนาย 1 นาย 2 นาย 3 นาย 4 และนาย 5 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้มาประชุมในรายงานการประชุมอันเป็นความเท็จดังกล่าว และนาย 6 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้มาประชุมและในฐานะกรรมการสามัญประจำสภาเทศบาลตำบล ส. ผู้ตรวจรายงานการประชุมอันเป็นความเท็จ จากนั้น นาย 7 ได้ดำเนินการจัดทำรูปเล่มเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีสำเนารายงานการประชุมประกอบ
ต่อมานาย 8 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลแทนนาย 7 ได้ทำหนังสือส่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีพร้อมสำเนารายงานการประชุมถึงนายอำเภอเพื่อพิจารณาดำเนินการในหน้าที่ โดยนาย 1 ลงนามในหนังสือในฐานะนายกเทศมนตรีตำบล ส. ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดได้อนุมัติร่างเทศบัญญัติดังกล่าวโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญว่าร่างเทศบัญญัติฯ ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของเทศบาลโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงได้ลงนามอนุมัติให้ประกาศ
ภายหลังได้มีการประชุมสภาเทศบาลตำบล ส. สมาชิกสภาเทศบาลตำบลรวม 6 คน จึงได้โต้แย้ง และร้องเรียนกล่าวหาคณะกรรมการบริหารเทศบาลตำบล ส. ร่วมกันกับปลัดเทศบาลตำบลทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย 1 นาย 3 นาย 4 นาย 5 และนาย 6 เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91 และความผิดวินัย
สำหรับการกระทำของนาย 2 เนื่องจากได้เสียชีวิตแล้วในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงไม่สามารถดำเนินคดีอาญาต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 57 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39
การกระทำของนาย 7 เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง ประกอบพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. 2519 มาตรา 5 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91
การกระทำของ นาย 8 เป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 84 วรรคแรก และมาตรา 85 วรรคแรก ประกอบพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. 2519 มาตรา 5
@ จัดสัมมนาโครงการอันเป็นเท็จ
ข้อเท็จจริง หน่วยงาน A โดยนาง ก. ผู้บริหารสูงสุด ได้มีหนังสือถึงกรมการศาสนาเพื่อขอรับผ้ากฐินประจำปี ไปถวายพระสงฆ์ในจังหวัดหนึ่งและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการมีนางสาว ข. เป็นประธานและนาย ค. เป็นรองประธาน ซึ่งทั้งสองมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของหน่วยงาน A โดยให้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานต่างๆ เพื่อให้ดำเนินงานกฐินดังกล่าวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อมานาย ค. ได้ขออนุมัติจัดโครงการสัมมนา โดยนาง ก. เป็นผู้ลงนามอนุมัติ และมีการหารือกันเกี่ยวกับการจัดสัมมนาระหว่าง นาง ก. ผู้บริหารสูงสุดนางสาว ข. นาย ค. และนาย ง. ซึ่งทั้ง 3 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในหน่วยงาน A ได้พิจารณาร่วมกันแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน
เมื่อถึงวันกำหนดการ ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมสัมมนาและผู้สังเกตการณ์ได้เดินทางเข้าร่วมงานถวายผ้ากฐินตามกำหนดการ พิธีแล้วเสร็จประมาณ 16.00 น. จากนั้นได้เดินทางไปยังสถานที่จัดสัมมนาซึ่งมีการตกแต่งสถานที่รองรับผู้เข้าร่วมสัมมนา มีการจัดเวที เขียนป้ายบนเวทีที่มิได้มีข้อความระบุว่ามีการสัมมนา แต่กลับมีข้อความเกี่ยวกับการต้อนรับ นาง ก. และคณะ มีการจัดโต๊ะกลมแบบโต๊ะจีนหันหน้าเข้าหากันแต่ละโต๊ะนั่งประมาณ 9 – 10 คนเมื่อผู้เข้ารับการสัมมนามาถึงสถานที่จัดสัมมนา จะมีการลงทะเบียนตามรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อตามกำหนดการ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน A ที่รับลงทะเบียนหน้าสถานที่จัดงานไม่มีการแจกเอกสารในการสัมมนาหรือกำหนดกลุ่มให้ระดมความคิดเห็นแต่ประการใด
จากการไต่สวนฟังได้ว่า การจัดสัมมนาในหัวข้อตามกำหนดการ ไม่มีการสรุปผลการสัมมนาเป็นเอกสารแต่อย่างใด โดยปกติการจัดสัมมนา หากมีการเปลี่ยนแปลงวิทยากร เทคนิคการนำเสนอ และสถานที่รวมทั้งงบประมาณจะต้องทำการเสนอขออนุมัติการเปลี่ยนแปลงกับผู้มีอำนาจ ซึ่งการที่หน่วยงาน A ขอรับผ้ากฐินนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา แต่ยังมีการจัดสัมมนาในวันเวลาเดียวกัน มีกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมงานกฐินเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับกลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วมสัมมนา ย่อมเล็งเห็นได้ว่าไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานได้ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนานำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานไปถวายผ้ากฐินโดยจัดโครงการสัมมนาเพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากทางราชการได้โดยมิชอบ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
1) กรณีการกระทำของนาง ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
2) กรณีการกระทำของนาย ค. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมีมูลความผิดทางวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
3) กรณีการกระทำของ นางสาว ข. และนาย ง. เมื่อครั้งที่ทั้งคู่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไม่มีหน้าที่ในการจัดสัมมนาดังกล่าว พฤติการณ์และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ยังฟังไม่ได้ว่าได้ร่วมกระทำผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ การทุจริตแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลพรรคการเมืองในฐานข้อมูลนายทะเบียนพรรคการเมือง
ข้อเท็จจริง นาย ก. พนักงานการเลือกตั้ง เป็นผู้เก็บรหัสผ่านเข้าถึงข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองในฐานข้อมูลนายทะเบียนพรรคการเมืองแต่เพียงผู้เดียว และมีหน้าที่บันทึก แก้ไข เปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในรอบปีที่ผ่านมา นาย ข. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและกรรมการบริหารพรรค A ได้ร่วมกันทุจริตดำเนินการลบชื่อสมาชิกพรรคการเมืองอื่นบางคนออกจากบัญชีรายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อใส่ชื่อบุคคลที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปภายใต้เลขสมาชิกเดิม ซึ่งเรียกว่า “วิธีตัดต่อพันธุกรรม” เพื่อแก้ปัญหาในเขตที่มีผู้สมัครของพรรค A ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครนั้นได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของ นาย ก. เป็นความทางผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2547 และเป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 การกระทำของนาย ข. เป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 มาตรา 84 หรือมาตรา 86 แล้วแต่กรณี
อ่านประกอบ :
x-files (1) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต รมต.-ผอ.รพ.รัฐ เอื้อปยจัดซื้อจ้างบ.พวกพ้อง
x-files (2) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บทลงโทษ พลเอก 'ก.' เลี่ยงระเบียบซื้อที่ดิน32ล.
x-files (3): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต คดีใหญ่รถดับเพลิง-นายกอบจ.งาบมุ้งไข้เลือดออก
x-files (4):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตที่ปรึกษารมต.จัดซื้อยา-เชือดอธิบดีงาบเรือขุด
x-files (5):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อบต.ตรวจงานเท็จ -ประปาร้อยเอ็ดเรียกเงินผู้รับจ้าง
x-files (6):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ.ยักยอกATM ผู้ต้องหาคดียาบ้ากดเงินใช้ 7 แสน
x-files (7):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พันเอก พ. อมค่าโฆษณาวิทยุกองทัพภาคที่ 2
x-files (8): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต สจ. 'ข.' เอารถหลวงจำนำร้านคาราโอเกะ
x-files (9): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พ.ต.ต. แก้ใบเสร็จยักยอกเงินซื้อรองเท้า 3แสน
x-files (10): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ดาบตำรวจ ‘ก.’ เรียกรับเงินงบซ่อมถนน 7 แสน
x-files (11): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บิ๊กตำรวจ ‘ก.’ รับเคลียร์หนี้พนันละเว้นจับกุม
x-files (13): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต จ.ส.ต. ‘ส.’ รับสินบนละเว้นตรวจหนังสือเดินทางปลอม
x-files (14): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต เจ้าพนักงานเรียกรับเงิน ช่วยลดโทษผู้ต้องหายาเสพติด
x-files (15): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ. ‘ก’ แจ้งข้อกล่าวหาคดีเช็คไม่ครบถ้วน
x-files (16): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาง ‘จ’ จนท.ปกครอง ช่วยคนไร้สัญชาติทำบัตรประชาชนเท็จ
x-files (17): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นายอำเภอ-ปลัด ปลอมใบเกิดช่วยต่างด้าวได้สัญชาติไทย
x-files (18): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาย ‘ก’ จนท.ทะเบียน เรียกเงินช่วยเปลี่ยนชื่อ-สวมเลขปชช.
x-files (19): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต การสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรม กรรมการ-ผู้สอบ รวม122คน
x-files (20): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต 3 จนท.กองสลาก ร่วมโกงล็อครางวัลที่1
x-files (23): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ตร.อารักขานักการเมือง จับกุมผู้ชุมนุมโดยมิชอบ