x-files (23): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ตร.อารักขานักการเมือง จับกุมผู้ชุมนุมโดยมิชอบ
“...ในขณะที่นาย ค. และนาย ง. ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกำลังยืนตะโกนอยู่นั้น ได้มีบุคคลจำนวนสามคนเข้ามารุมล้อมควบคุมตัว และหนึ่งในจำนวนสามคนได้ใช้มือล็อคคอนาย ง. แล้วกระชากศีรษะบังคับลากคอออกมา และบุคคลที่เหลือก็ได้เข้ามาร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยตบหน้าและชกต่อยที่บริเวณลำตัวของนาย ง. แต่นาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่ในที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิดกลับเพิกเฉยละเลยไม่เข้าระงับเหตุหรือทำการจับกุมบุคคลที่เข้ามาทำร้ายร่างกาย...”
x-files :พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 23 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในสัปดาห์นี้ ยังคงเป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวด การพิจารณาหรือดำเนินการขัดต่อระเบียบกฎหมาย ผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชนจะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
@ เจ้าหน้าที่รัฐสั่งการให้ควบคุมหรือจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริง นาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไปรักษาความปลอดภัยนาย ข. บุคคลสำคัญทางการเมือง และป้องกันเหตุความรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านนาย ข. ในการมาเป็นประธานเปิดงาน
ในระหว่างที่นาย ข. เดินทางออกจากสถานที่เปิดงาน ได้มีกลุ่มประชาชนตะโกนสนับสนุนและต่อต้านนาย ข. โดยในขณะที่นาย ค. และนาย ง. ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกำลังยืนตะโกนอยู่นั้น ได้มีบุคคลจำนวนสามคนเข้ามารุมล้อมควบคุมตัว และหนึ่งในจำนวนสามคนได้ใช้มือล็อคคอนาย ง. แล้วกระชากศีรษะบังคับลากคอออกมา และบุคคลที่เหลือก็ได้เข้ามาร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยตบหน้าและชกต่อยที่บริเวณลำตัวของนาย ง. แต่นาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่ในที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิดกลับเพิกเฉยละเลยไม่เข้าระงับเหตุหรือทำการจับกุมบุคคลที่เข้ามาทำร้ายร่างกายนาย ค. และนาย ง. ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาที่จะต้องดำเนินการระงับเหตุหรือจับกุม แต่นาย ก. กลับเดินติดตามกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำร้ายนาย ค. และนาย ง. และสั่งการให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำนาย ค. และนาย ง. ไปทำประวัติและแจ้งข้อหาที่สถานีตำรวจ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (2) (5) (6) และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200
@ เอื้อประโยชน์ในการจำหน่ายสินทรัพย์โดยมิชอบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
ข้อเท็จจริง นาย ก. ผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ได้มีหนังสือขยายกำหนดระยะเวลาให้บริษัท A ผู้ชนะการประมูล แจ้งรายชื่อให้ผู้อื่นลงนามในสัญญาขายมาตรฐานแทน โดยไม่นำเสนอต่อคณะกรรมการและไม่เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งยินยอมให้กองทุน B เป็นผู้รับโอนสิทธิจากบริษัท A โดยให้กองทุน B ลงนามในสัญญาขายสินทรัพย์แทน ทั้งที่ทราบว่าบริษัท A แจ้งรายชื่อกองทุน B เป็นผู้ทำสัญญาแทนเกินกำหนด 5 วันทำการ นับจากวันประมูล และทราบว่าในวันแจ้งรายชื่อผู้ลงนามในสัญญาขายมาตรฐานแทน บริษัท A ไม่ได้ยื่นสำเนาหนังสือรับรองการจัดตั้งกองทุนและจดหมายอนุมัติการจัดตั้งกองทุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหลักฐานประกอบตามที่กำหนดในข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ทั้งนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท A หลุดพ้นภาระทางภาษี เนื่องจากบริษัท A หากเข้าทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับหน่วยงานโดยตรงแล้ว ต่อมาขายสินทรัพย์นั้นต่อไปให้บริษัทอื่น บริษัท A จะต้องเสียภาษีทุกประเภทที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย จึงยินยอมให้บริษัท A ไปจัดตั้งกองทุน B ให้เสร็จสิ้นและเข้าทำสัญญาแทน ทันตามเว
ลาที่กำหนด เนื่องจากกองทุน B ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีอากร
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ข. มีมูลเป็นความผิดทางวินัย ตามข้อบังคับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2540 หมวด 4 ข้อ 17 และข้อ 23 และมีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
@ การพิจารณาส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อประโยชน์ของเอกชน
ข้อเท็จจริง บริษัท A ได้ทำเรื่องขออนุญาตเพื่อขอให้ส่งสัตว์ป่าซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองไปยังสวนสัตว์สาธารณะในต่างประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อกิจการเพาะพันธุ์หรือกิจการสวนสัตว์สาธารณะ และขอให้กระทำในนามของกรมป่าไม้ ต่อมานาย ก. ในฐานะอธิบดีกรมป่าไม้ และนาย ข. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ได้ร่วมกันพิจารณาอนุญาตตามที่บริษัท A ร้องขอ โดยนาย ก. ได้ลงนามอนุญาต
การกระทำดังกล่าวเป็นการขออนุญาตส่งออกเพื่อประโยชน์ในกิจการสวนสัตว์สาธารณะของบริษัทเอกชนมิใช่เป็นการเพาะพันธุ์หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะซึ่งกระทำโดยทางราชการ จึงเป็นการกระทำที่เอื้อให้กับบริษัท A ได้รับประโยชน์จากการส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง อันเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 23 และมาตรา 26 เนื่องจากได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษา และวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และนาย ข. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
@ ร่วมกันออกระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการและค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคลโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 - 14 ได้ร่วมกันประชุมพิจารณาเรื่องข้อหารือเกี่ยวกับกรณีที่ต้องการให้กรรมการได้รับเงินในลักษณะเป็นค่าตอบแทนในรูปแบบที่มิใช่เงินเดือน โดยมีมติให้นำข้อสังเกตที่ประชุมไปพิจารณาและแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินงาน คือ การแต่งตั้งคณะกรรรมการส่งเสริมและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ และคณะอนุกรรมการปรับปรุงค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์
ในการประชุมการปรับค่าตอบแทนขององค์กรอิสระที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีข้อยุติว่าการปรับปรุงเงินเดือนของคณะกรรมการในองค์กรอิสระต้องเสนอเป็นกฎหมายในลักษณะพระราชบัญญัติ ที่ต้องผ่านกระบวนการของคณะรัฐมนตรีเข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมาย
ต่อมาร่างระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการและค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคลได้รับความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยในข้อ 12 ของระเบียบที่เป็นปัญหาได้บัญญัติไว้ว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่ของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหรือระเบียบศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นของศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่เป็นรายเดือนในลักษณะเหมาะจ่ายอัตราเดือนละสองหมื่นบาท” ซึ่งค่าตอบแทนในข้อ 12 มิใช่เบี้ยประชุมและมีความแตกต่างกับการจ่ายเบี้ยประชุมของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ที่กำหนดให้ได้รับเงินสมนาคุณเป็นรายเดือนเฉพาะเดือนที่เข้าประชุม โดยเดือนใดไม่มีการประชุมหรือมีการประชุมแต่ไม่เข้าประชุมให้งดจ่าย อันเป็นการแตกต่างจากสาระสำคัญอย่างชัดเจน
ภายหลังผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 14 ได้เบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนรวมแล้ว 3 เดือน และได้เบิกเบี้ยประชุมในการประชุมแต่ละครั้งที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่ตนมิใช่ข้าราชการอีกอัตราครั้งละ 2,000 บาท ต่อคนต่อวัน จากนั้นในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 14 คน ได้มีมติให้งดการบังคับใช้ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการและค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ. 2547 เฉพาะข้อ 12 ไว้ก่อน และหลังจากนั้นจึงได้มีมติยกเลิกระเบียบดังกล่าวทั้งฉบับ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 14 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามรัฐธรรมนูญ โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน จึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 14 ได้ร่วมกันออกระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการและค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ. 2547 โดยอ้างว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 โดยรู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วในขณะออกระเบียบดังกล่าวว่า บทบัญญัติมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการรับค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นการรับเงินเพิ่มพิเศษตามลักษณะงานควบกับเงินเดือนซึ่งจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 253 และพระราชบัญญัติเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 โดยผ่านกระบวนการจากคณะรัฐมนตรีเข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายใช้บังคับ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหายังได้เบิกเบี้ยประชุมตามข้อ 7 แห่งระเบียบดังกล่าวในฐานะที่ตนมิใช้ข้าราชการอีกในการประชุมแต่ละครั้งที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 14 รับเงินค่าตอบแทนโดยอาศัยระเบียบดังกล่าว จึงเป็นค่าตอบแทนที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กระทรวงการคลัง และประชาชน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 14 เป็นความผิดอาญามาตรา 157
------------
สัปดาห์หน้าจะมีคดีสำคัญๆ เกี่ยวกับการพิจารณาหรือดำเนินการขัดต่อระเบียบกฎหมาย ผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชนอะไรอีกบ้าง โปรดติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
x-files (1) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต รมต.-ผอ.รพ.รัฐ เอื้อปยจัดซื้อจ้างบ.พวกพ้อง
x-files (2) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บทลงโทษ พลเอก 'ก.' เลี่ยงระเบียบซื้อที่ดิน32ล.
x-files (3): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต คดีใหญ่รถดับเพลิง-นายกอบจ.งาบมุ้งไข้เลือดออก
x-files (4):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตที่ปรึกษารมต.จัดซื้อยา-เชือดอธิบดีงาบเรือขุด
x-files (5):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อบต.ตรวจงานเท็จ -ประปาร้อยเอ็ดเรียกเงินผู้รับจ้าง
x-files (6):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ.ยักยอกATM ผู้ต้องหาคดียาบ้ากดเงินใช้ 7 แสน
x-files (7):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พันเอก พ. อมค่าโฆษณาวิทยุกองทัพภาคที่ 2
x-files (8): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต สจ. 'ข.' เอารถหลวงจำนำร้านคาราโอเกะ
x-files (9): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พ.ต.ต. แก้ใบเสร็จยักยอกเงินซื้อรองเท้า 3แสน
x-files (10): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ดาบตำรวจ ‘ก.’ เรียกรับเงินงบซ่อมถนน 7 แสน
x-files (11): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บิ๊กตำรวจ ‘ก.’ รับเคลียร์หนี้พนันละเว้นจับกุม
x-files (13): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต จ.ส.ต. ‘ส.’ รับสินบนละเว้นตรวจหนังสือเดินทางปลอม
x-files (14): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต เจ้าพนักงานเรียกรับเงิน ช่วยลดโทษผู้ต้องหายาเสพติด
x-files (15): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ. ‘ก’ แจ้งข้อกล่าวหาคดีเช็คไม่ครบถ้วน
x-files (16): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาง ‘จ’ จนท.ปกครอง ช่วยคนไร้สัญชาติทำบัตรประชาชนเท็จ
x-files (17): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นายอำเภอ-ปลัด ปลอมใบเกิดช่วยต่างด้าวได้สัญชาติไทย
x-files (18): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาย ‘ก’ จนท.ทะเบียน เรียกเงินช่วยเปลี่ยนชื่อ-สวมเลขปชช.
x-files (19): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต การสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรม กรรมการ-ผู้สอบ รวม122คน
x-files (20): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต 3 จนท.กองสลาก ร่วมโกงล็อครางวัลที่1