เบื้องหลัง! ‘สุเทพ’ชง รบ.ชวนเลิกสัญญาโฮปเวลล์ ทุ่ม 1.3 พันล.สร้าง Local Roads แทน?
“…1.ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญา 2.อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามแผนระยะสั้น (ก่อสร้างถนน Local Roads) โดยให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ และจัดให้มีการก่อสร้างอย่างเร่งด่วน สำหรับค่าก่อสร้างจำนวน 1,349 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป…”
“เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2540 ภายหลังรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2) ได้เป็นรัฐบาล มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น รมว.คมนาคม คณะรัฐมนตรีขณะนั้นได้มีมติอนุมัติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ บอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
นอกจากนี้สำหรับการก่อสร้างถนน Local Roads ตามแนวเส้นทางรถไฟจากรังสิต-หัวหมาก ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนตามแผนระยะสั้นของกระทรวงคมนาคมนั้น ให้สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) รับไปพิจารณา แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยด่วน”
คือใจความสำคัญของมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น รมว.คมนาคม พิจารณาเห็นชอบให้มีการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘โครงการโฮปเวลล์’ (อ่านประกอบ : โชว์มติ ครม.ประวัติศาสตร์! ‘สุเทพ’ชง-รบ.ชวนเคาะเลิกสัญญาโฮปเวลล์ฯสร้าง Local Roads)
แนวโน้มการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.คมนาคม ได้ตั้งคณะกรรมการฯขึ้นพิจารณาข้อดีข้อเสียโครงการดังกล่าวไว้แล้ว รวมถึงสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) โดย อสส. ตอบข้อหารือว่า สามารถยกเลิกสัญญาได้ หากฝ่ายเอกชนเป็นส่วนผิด และขอให้ตรวจสอบพยานหลักฐานอย่างเคร่งครัด (อ่านประกอบ : โชว์คำวินิจฉัย อสส.ยุค‘คณิต’ ชี้เลิกสัญญาโฮปเวลล์ฯได้ ถ้าฝ่ายรัฐไม่มีส่วนผิด?)
เหตุผลสำคัญในการชงยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวในสมัยนายสุเทพ เป็น รมว.คมนาคม คืออะไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี ในส่วนของหนังสือกระทรวงคมนาคม พบรายละเอียด ดังนี้
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2540 นายสุเทพ รมว.คมนาคม มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยอ้างอิงถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2540 (รัฐบาล พล.อ.ชวลิต) ที่เห็นชอบให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการสร้างทางรถไฟยกระดับ กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาข้อที่ 27 โดยคณะรัฐมนตรีขณะนั้นมีข้อสังเกตว่า ควรปรับลดขนาโครงการให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการจราจรเป็นหลัก
กระทรวงคมนาคมมีหนังสือ ลงวันที่ 13 ต.ค. 2540 (รัฐบาล พล.อ.ชวลิต) แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน รวม 12 คน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการหาแนวทางบอกเลิกสัญญา
คณะกรรมการฯพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ ประกอบกับเพื่อให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ และหรือทางราชการสามารถเข้าไปดำเนินการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแผนรองรับในพื้นที่ที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ก่อสร้างค้างไว้ได้ทันท่วงที จะเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณ ถ.วิภาวดีรังสิตให้เบาบางลงด้วย สมควรให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐมีหนังสือบอกเลิกสัญญาสัมปทาน แจ้งไปยังบริษัท โฮปเวลล์ฯ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้แล้วดังกล่าวข้างต้นต่อไป โดยเมื่อมีการแจ้งบอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาฝ่ายรัฐจะพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป
สำหรับแผนรองรับหากมีการบอกเลิกสัญญานั้น กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการตามแผนรองรับเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา 7 คน มีนายศรีสุข จันทราศุ อธิบดีกรมทางหลวง (ขณะนั้น) เป็นประธาน และผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศปัจจุบัน การพิจารณาดำเนินการตามทางเลือกต่าง ๆ รวม 5 ทางเลือกที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรี (ยุค พล.อ.ชวลิต) จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร จึงเสอนแผนรองรับเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน เป็น 2 ระยะ คือ
1.แผนระยะสั้น การก่อสร้างถนน Local Roads ตามแนวเส้นทางรถไฟจากรังสิต-หัวหมาก ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 1,349 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วน แก้ไขปัญหาการจราจรใน กทม.
2.แผนระยะยาว จะดำเนินการตามแนวทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 ทางเลือกที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว จะต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาพอสมควร อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมจะได้ดำเนินการต่อไปโดยเร็ว
กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯทั้ง 2 ชุดดังกล่าว จึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา ดังนี้
1.ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญา
2.อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามแผนระยะสั้น (ก่อสร้างถนน Local Roads) โดยให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ และจัดให้มีการก่อสร้างอย่างเร่งด่วน สำหรับค่าก่อสร้างจำนวน 1,349 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป
ส่วนผลกระทบของการเป็นมติคณะรัฐมนตรีนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน
1.ผลกระทบต่อนโยบายรัฐบาล สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจราจรใน กทม. และปริมณฑล
2.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ถ้าการดำเนินงานนี้มีความล่าช้าออกไปอีก และไม่สามารถคาดได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด จะมีผลกระทบต่อแผนงานการแก้ไขปัญหาการจราจรของ กทม. อันจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนการก่อสร้างถนน Local Roads จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งมวลชนใน กทม. ลดความสูญเปล่าของทรัพยากรอันเนื่องมาจากการจราจรติดขัด และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น
3.ผลกระทบต่อสังคม เนื่องจากโครงการนี้เป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งประชาชนคาดหวังให้เกิดผลสำเร็จ เพราะเวลาได้ล่วงเลยมาประมาณ 6 ปีแล้ว หากมีการบอกเลิกสัญญาและสามารถดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และวางแนวทางระยะยาวตามทางเลือกที่เหมาะสม จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ โดยการก่อสร้างถนน Local Roads จะช่วยให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะมีส่วนช่วยในการป้องกันการบุกรุกเขตทางของ รฟท.
นี่คือสาระสำคัญในหนังสือของกระทรวงคมนาคมที่อ้างอิงมติคณะรัฐมนตรียุค พล.อ.ชวลิต สมัยนายสุวัจน์ เป็น รมว.คมนาคม มาเป็นแนวทางศึกษา ก่อนสมัยรัฐบาลนายชวน (2) ที่มีนายสุเทพ เป็น รมว.คมนาคม จะเห็นชอบบอกเลิกสัญญาดังกล่าว
อย่างไรก็ดียังมีความเห็นที่มีนัยสำคัญจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับกรณีนี้ด้วย สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในตอนถัดไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
โชว์มติ ครม.ประวัติศาสตร์! ‘สุเทพ’ชง-รบ.ชวนเคาะเลิกสัญญาโฮปเวลล์ฯสร้าง Local Roads
ยุติปัญหายืดเยื้อ? ล้วงเหตุผลสภาพัฒน์ฯยุค‘รบ.ชวลิต’ ชงเลิกสัมปทานโฮปเวลล์ฯ
โชว์คำวินิจฉัย อสส.ยุค‘คณิต’ ชี้เลิกสัญญาโฮปเวลล์ฯได้ ถ้าฝ่ายรัฐไม่มีส่วนผิด?
ล้วงคำทำนาย‘สุวัจน์’! วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียเลิกสร้างโฮปเวลล์-จะมีข้อพิพาทนาน 10 ปี?
คุ้ยเหตุผลคมนาคมยุค‘สุวัจน์’ เบื้องหลัง! ชนวนเลิกสัญญาก่อสร้าง‘โฮปเวลล์ฯ’?
เปิดมติ ครม.ยุค‘ชวลิต’ รฟท. vs โฮปเวลล์ฯ ไขปมก่อสร้างล่าช้า-ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ?
ล้วงแผนการเงิน‘โฮปเวลล์’-ไทม์ไลน์สร้างทางรถไฟยกระดับ 5 ปีคืบ 12% ชนวนถูกเลิกสัญญา?
คมนาคมตั้ง กก.รับผิดทางละเมิดหาตัวคนชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล.
เปิดมติ ครม.ยุค‘ชวลิต’ รฟท. vs โฮปเวลล์ฯ ไขปมก่อสร้างล่าช้า-ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ?
ไฟเขียวเว้นเก็บภาษียุค‘อานันท์’-เปิด 4 ข้อสังเกต รมต.สำนักนายกฯปมสร้างโฮปเวลล์?
ความพยายาม‘มนตรี’ขอเว้นเก็บภาษี บ.โฮปเวลล์ฯ ‘คลัง’เบรก-‘ชาติชาย’ถอยหวั่นรัฐสูญ 364 ล.
โชว์เอกสารประวัติศาสตร์! ‘มนตรี’ ชง ‘ชาติชาย’ สร้างทางรถไฟยกระดับ-‘โฮปเวลล์’ยื่นซองรายเดียว
ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์
9 ปี 6 รบ.!คุ้ยมติ ครม.ใครเป็นใคร?สร้าง-เลิก‘โฮปเวลล์’ชนวน รฟท.เสียค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
เช็คสถานะล่าสุด บ.โฮปเวลล์ฯ ผู้ชนะคดี รฟท. 1.2 หมื่นล.-ใครต้องรับผิดชอบ?
ย้อนมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลฯ สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.