ย้อนมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลฯ สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
ปิดตำนานมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลปค.สูงสุด สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล. ให้เเก่เอกชน บอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
ปิดตำนานคดีมหากาพย์ โครงการโฮปเวลล์!!!
หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นยกฟ้อง นั่นจึงทำให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องคืนเงินชดเชยให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำนวน 11,888 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากการถูกบอกเลิกสัญญา ประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้องคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ
โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่คดีถึงที่สุด
(อ่านประกอบ:ศาล ปค.สูงสุดพิพากษากลับสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.คดีโฮปเวลล์)
หากย้อนกลับไปเมื่อ เดือนพ.ย. 2533 คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีการทำสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายเอกชน ให้ได้รับสัมปทานประกอบกิจการเดินรถไฟบนรางยกระดับ ระบบขนส่งทางถนนยกระดับ และเก็บค่าผ่านทาง รวมระยะทาง 60 กม. และยังมีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ประมาณ 630 ไร่ รวมค่าโครงการ 8 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
หากปรากฎภายหลังโครงการฯ ดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากปัญหาเงินทุน แหล่งเงินกู้ หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา และปัญหาแบบก่อสร้างที่ระยะห่างระหว่างรางรถไฟกับไหล่ทางมีน้อยเกินไป ทำให้ไม่ได้มาตรการความปลอดภัยระดับสากล กลายเป็นปัญหาชะงักงันตามมา
มิหน้ำซ้ำ โครงการฯ ยังมีเรื่องคอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยวพัน โดยรายงานข่าวอ้างว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องจ่ายสินบนให้แก่ผู้มีอำนาจทุกครั้ง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือรมว.คมนาคม เพื่อเปิดทางให้โครงการดำเนินต่อไปได้จนถึงที่สุด
ต่อมารัฐบาลชวน หลีกภัย จึงมีมติให้บอกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าว และวันที่ 20 ม.ค. 2541 บริษัทฯ ถูกบอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ
ปัญหาสำคัญ คือ การตรวจพบหลังจากดำเนินโครงการมา 6 ปี แต่กลับมีความคืบหน้าเพียง ร้อยละ 13.77 ทั้งที่ตามแผนต้องอยู่ที่ร้อยละ 89.75
ต่อมา รฟท. นำโครงสร้างเก่าที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ก่อสร้างไว้ มาใช้ต่อกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต นั่นจึงทำให้เห็นว่า เป็นการยึดหรือเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน จึงได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากกระทรวงคมนาคมและรฟท. 5.9 หมื่นล้านบาท ก่อนจะมีการแก้ไขข้อพิพาทเรียกค่าชดเชย 2.8 หมื่นล้านบาท
8 พ.ย. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการจึงวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จ่ายชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ 11,900 ล้านบาท เนื่องจากบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
ทำให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. ต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยนั้น
(อ่านประกอบ:ศาลปค.เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโต “รฟท.” ไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์หมื่นล.)
กลายเป็นคดีความยืดเยื้อต่อมาเป็นสิบปี จนกระทั่ง 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาตัดสินให้รัฐเสียค่าโง่เกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท เซ่นให้กับโครงการโฮปเวลล์
หมายเหตุ:เขียนเเละเรียบเรียงจากหนังสือ 'เมนูคอร์รัปชันเเละการเเสวงหาผลประโยชน์' โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดาวโหลด:เมนูคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/