- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- โชว์คำวินิจฉัย อสส.ยุค‘คณิต’ ชี้เลิกสัญญาโฮปเวลล์ฯได้ ถ้าฝ่ายรัฐไม่มีส่วนผิด?
โชว์คำวินิจฉัย อสส.ยุค‘คณิต’ ชี้เลิกสัญญาโฮปเวลล์ฯได้ ถ้าฝ่ายรัฐไม่มีส่วนผิด?
“…คู่สัญญาฝ่ายรัฐย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา โดยดำเนินการตามขั้นตอนในสัญญาข้อที่ 27.1 และ 27.2 ทั้งยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ตามสัญญาข้อที่ 27.3 และ 27.4 โดยที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่สัญญาฝ่ายรัฐ … อย่างไรก็ตามในการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ควรต้องตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และผลกระทบของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวให้ชัดเจน…”
“เนื่องจากกระบวนการตามขั้นตอนของการบอกเลิกสัญญาจะต้องใช้ระยะเวลาระหว่างคู่สัญญาด้วยกันเองระยะหนึ่ง และการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ อาจเกิดกรณีพิพาทในชั้นศาล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งด้วย คาดว่าขบวนการทั้งหมดนี้ อาจใช้ระยะเวลารวม 10 ปี จึงมีผลทำให้สัญญาสิ้นสุดลง อันจะเป็นผลทำให้ระยะเวลาก่อสร้างโครงการต้องยืดเยื้อออกไป ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้”
คือประเด็นสำคัญในการประเมินผล ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ หากมีการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) เป็นผู้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (อ่านประกอบ : ล้วงคำทำนาย‘สุวัจน์’! วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียเลิกสร้างโฮปเวลล์-จะมีข้อพิพาทนาน 10 ปี?)
เรียกว่าเป็น คำทำนาย ที่เหมือนล่วงรู้อนาคต ? เพราะไม่กี่ปีถัดจากนั้นเกิดข้อพิพาทขึ้น กลายเป็นคดีความในชั้นอนุญาโตตุลาการ กระทั่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือน เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินราว 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 180 วันหลังมีคำพิพากษา
ความคืบหน้าในปัจจุบันกระทรวงคมนาคม มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายละเอียดแนวทางการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยเชิญผู้แทนกระทรวงคมนาคม รฟท. สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะทำงานรับผิดทางละเมิด เพื่อควานหาตัวผู้รับผิดชอบทำให้รัฐต้องเสีย ‘ค่าโง่’ ดังกล่าวด้วย (อ่านประกอบ : คมนาคมตั้ง กก.รับผิดทางละเมิดหาตัวคนชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล.)
ในช่วงรอยต่อระหว่างปลายรัฐบาล พล.อ.ชวลิต และต้นรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2) กระทรวงคมนาคม คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญก่อนมีการบอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ
โดยสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ที่มีนายสุวัจน์ เป็น รมว.คมนาคมนั้น บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเพิ่มเติมรวม 9 ข้อ โดยกระทรวงคมนาคมทำรายงานพร้อมความเห็นวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย พร้อมแนวทางหากมีการบอกเลิกสัญญาสัมปทานให้คณะรัฐมนตรีทราบ ตามที่สำนักข่าวอิศรารายงานไปแล้ว
ในระหว่างนั้น กระทรวงคมนาคม มีข้อหารือไปยังสำนักงาน อสส. ด้วยว่า หากบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ตามข้อกฎหมายจะสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลในหนังสือตอบกลับของสำนักงาน อสส. เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2540 มานำเสนอให้ทราบ ดังนี้
นายคณิต ณ นคร อัยการสูงสุด (ขณะนั้น) มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตอบกลับข้อหารือกระทรวงคมนาคม เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท.
กรณีกระทรวงคมนาคมเสนอเรื่องดังกล่าว โดยขอให้สำนักงาน อสส. เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยด่วนนั้น สำนักงาน อสส. ขอเรียนว่า
1.กรณีการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน สำนักงาน อสส. เคยตอบข้อหารือกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2539 ว่า หากคู่สัญญาฝ่ายรัฐเห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ ละเลย ไม่เร่งดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญา โดยการละเลยนั้นเป็นความผิดของบริษัทฯฝ่ายเดียว โดยคู่สัญญารัฐไม่มีส่วนผิดด้วย และการละเลยนั้นเป็นเหตุให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ จะไม่สามารถก่อสร้างระบบทางรถไฟยกระดับให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ระบุในสัญญา (การก่อสร้างระยะแรกต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 6 ธ.ค. 2539)
คู่สัญญาฝ่ายรัฐย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา โดยดำเนินการตามขั้นตอนในสัญญาข้อที่ 27.1 และ 27.2 ทั้งยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ตามสัญญาข้อที่ 27.3 และ 27.4 โดยที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่สัญญาฝ่ายรัฐ
ดังนั้นหากกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มีพยานหลักฐานยืนยันว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานข้อใด และการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ถือเป็นเหตุอันร้ายแรงจนถึงขั้นที่สมควรเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาแล้ว กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ย่อมสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อที่ 27 โดยดำเนินการตามขั้นตอน
อย่างไรก็ตามในการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ควรต้องตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และผลกระทบของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อจะได้เลือกแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์สูงสุด ทำนองที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
2.กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 2) เนื่องจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว ยังมีเงื่อนไขหลายข้อที่คู่สัญญายังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2540 บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้เสนอเงื่อนไขอื่น ๆ ให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. พิจารณา จนบัดนี้ยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติกันได้ การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทานนั้น สัญญาสัมปทาน ฉบับลงวันที่ 9 พ.ย. 2533 ข้อ 35.3 กำหนดว่า สัญญานี้อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยการทำข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างคู่สัญญานี้ และด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการทำสัญญานี้ ดังนั้นเมื่อการเจรจาตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ยังไม่ยุติเรียบร้อย ในชั้นนี้สำนักงาน อสส. จึงไม่อาจเสนอความเห็นในเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบหรือความรอบคอบความรัดกุมของร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 2) นี้ได้ (ดูเอกสารประกอบ)
นี่คือเหตุผลทางกฎหมายสำคัญจาก นายคณิต ในฐานะ อสส. ขณะนั้น ที่เห็นควรให้ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม และ รฟท. วิเคราะห์ข้อกฎหมาย-พยานหลักฐานให้ชัดเจนว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นผู้ผิดสัญญาเพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ จึงส่งผลให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จทันเวลา
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้บริษัทที่ปรึกษา รฟท. เคยมีความเห็นว่า การก่อสร้างดังกล่าวทั้งฝ่ายบริษัท โฮปเวลล์ฯ และ รฟท. ล้วนดำเนินการมีผลทำให้การก่อสร้างล่าช้าทั้งคู่ ?
ก่อนที่รัฐบาลชุดถัดไปคือนายชวน หลีกภัย (2) โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคม จะพิจารณายกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ล้วงคำทำนาย‘สุวัจน์’! วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียเลิกสร้างโฮปเวลล์-จะมีข้อพิพาทนาน 10 ปี?
คุ้ยเหตุผลคมนาคมยุค‘สุวัจน์’ เบื้องหลัง! ชนวนเลิกสัญญาก่อสร้าง‘โฮปเวลล์ฯ’?
เปิดมติ ครม.ยุค‘ชวลิต’ รฟท. vs โฮปเวลล์ฯ ไขปมก่อสร้างล่าช้า-ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ?
ล้วงแผนการเงิน‘โฮปเวลล์’-ไทม์ไลน์สร้างทางรถไฟยกระดับ 5 ปีคืบ 12% ชนวนถูกเลิกสัญญา?
คมนาคมตั้ง กก.รับผิดทางละเมิดหาตัวคนชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล.
เปิดมติ ครม.ยุค‘ชวลิต’ รฟท. vs โฮปเวลล์ฯ ไขปมก่อสร้างล่าช้า-ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ?
ไฟเขียวเว้นเก็บภาษียุค‘อานันท์’-เปิด 4 ข้อสังเกต รมต.สำนักนายกฯปมสร้างโฮปเวลล์?
ความพยายาม‘มนตรี’ขอเว้นเก็บภาษี บ.โฮปเวลล์ฯ ‘คลัง’เบรก-‘ชาติชาย’ถอยหวั่นรัฐสูญ 364 ล.
โชว์เอกสารประวัติศาสตร์! ‘มนตรี’ ชง ‘ชาติชาย’ สร้างทางรถไฟยกระดับ-‘โฮปเวลล์’ยื่นซองรายเดียว
ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์
9 ปี 6 รบ.!คุ้ยมติ ครม.ใครเป็นใคร?สร้าง-เลิก‘โฮปเวลล์’ชนวน รฟท.เสียค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
เช็คสถานะล่าสุด บ.โฮปเวลล์ฯ ผู้ชนะคดี รฟท. 1.2 หมื่นล.-ใครต้องรับผิดชอบ?
ย้อนมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลฯ สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.