ล้วงแผนการเงิน‘โฮปเวลล์’-ไทม์ไลน์สร้างทางรถไฟยกระดับ 5 ปีคืบ 12% ชนวนถูกเลิกสัญญา?
“...ความคืบหน้าโครงการนั้น รายงาน 3 ช่วง คือ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2538 คืบหน้าทั้งหมด 4.42% วันที่ 31 ธ.ค. 2539 คืบหน้าทั้งหมด 11.59% และวันที่ 30 เม.ย. 2540 คืบหน้าทั้งหมด 12.89% กระทรวงคมนาคมระบุว่า ผลคืบหน้าการก่อสร้างโครงการยังล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้…”
“ได้รายงานให้ ครม.รับทราบ เรื่องคำพิพากษาคดีบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งกรณีดังกล่าวผ่านมา 9 รัฐบาล หรือ 30 ปีมาแล้ว โดยการดำเนินการล่าสุดกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะดำเนินการตาม 5 ขั้นตอน โดยเริ่มจากคำนวณวงเงินที่ต้องจ่ายตามคำพิพากษา และเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ รวมถึงกำหนดแนวทางและแหล่งเงินที่เหมาะสม ได้แก่ 1.ให้คำนวณวงเงินค่าเสียหายทั้งหมดที่ต้องจ่ายตามคำพิพากษารวมอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน 2.เจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 3.กำหนดแนวทางการดำเนินการและแหล่งเงินที่เหมาะสม เพื่อนำมาชำระเงินค่าชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์ 4.ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายละเอียดแนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. อัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ 5.ให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการเอาผิดทางละเมิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง”
“นอกจากนี้ยังแต่งตั้งคณะทำงานรับผิดทางละเมิดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับ โดยต้องตรวจสอบว่ามีข้อผิดพลาดตั้งแต่เมื่อใด และหาผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตั้งแต่การเสนอโครงการโดยยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ”
เป็นคำยืนยันอย่างเป็นทางการจากปากของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เกี่ยวกับความคืบหน้าในการหาทาชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญาให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ ภายหลังแพ้คดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี (อ่านประกอบ : คมนาคมตั้ง กก.รับผิดทางละเมิดหาตัวคนชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล.)
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยรายงานแล้วว่า การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา 1.ช่วงริเริ่มโครงการ-เซ็นสัญญา เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็น รมว.คมนาคม 2.ช่วงก่อสร้าง เกิดขึ้น 4 รัฐบาลยุคนายอานันท์ ปันยารชุน มีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม นายชวน หลีกภัย (1) มี พ.อ.สมพงษ์ วินัย เป็น รมว.คมนาคม ยุคนายบรรหาร ศิลปอาชา มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น รมว.คมนาคม ยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.คมนาคม 3.ช่วงเลิกสัญญาสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2) มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น รมว.คมนาคม (อ่านประกอบ : 9 ปี 6 รบ.!คุ้ยมติ ครม.ใครเป็นใคร?สร้าง-เลิก‘โฮปเวลล์’ชนวน รฟท.เสียค่าโง่ 1.2 หมื่นล.)
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.คมนาคม มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับดังกล่าวจำนวนหลายข้อ มีการตั้งคณะกรรมการประสานเพื่อกำกับ ดูแล และติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ตามข้อ 5.1 ของสัญญาสัมปทานดังกล่าว โดยมีการยกข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย รฟท. สรุปได้ว่า เกิดความล่าช้าขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย (อ่านประกอบ : เปิดมติ ครม.ยุค‘ชวลิต’ รฟท. vs โฮปเวลล์ฯ ไขปมก่อสร้างล่าช้า-ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ?)
ช่วงเวลาเดียวกัน รฟท. ได้เข้าไปตรวจสอบแผนงบการเงินของบริษัท โฮปเวลล์ฯ รวมถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างด้วย หลังผ่านมาราว 5 ปีเศษ หลังลงนามเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2534
รายละเอียดเป็นอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำบางส่วนของรายงานจากกระทรวงคมนาคมมานำเสนอ ดังนี้
กระทรวงคมนาคมตรวจสอบพบว่า แผนการเงินของบริษัท โฮปเวลล์ฯ ปัจจุบันยังไม่ได้เสนอเอกสารสัญญาการได้แหล่งเงินกู้เพื่อนำมาลงทุนก่อสร้างโครงการที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด มีข้อเท็จจริงเบื้องต้นคือ บริษัทได้รายงานแผนการระดมทุนเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2539 พบว่า
มีต้นทุนโครงการก่อสร้าง เป็นค่าดำเนินการและค่าใช้จ่าย 4,727 ล้านบาท ค่าก่อสร้างสถานีและบ้านพักพนักงาน รฟท. 5,100 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 32,165 ล้านบาท ค่าก่อสร้างจัดซื้อระบบรถไฟ 35,932 ล้านบาท รวมทั้งหมด 77,924 ล้านบาท
ขณะที่โครงสร้างทางการเงินของบริษัท โฮปเวลล์ ระบุว่า มีทุนจดทะเบียนของผู้ถือหุ้นรวม 15,000 ล้านบาท (เท่ากับในปัจจุบันเมื่อปี 2560) มีการเงินโครงการ ธนาคารต่างประเทศ 15,000 ล้านบาท ธนาคารในประเทศ 7,500 ล้านบาท เงินกู้เพื่อการส่งออกระบบรถไฟฟ้า 30,000 ล้านบาท ส่วนของเงินกู้จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือเสนอขายหุ้นแก่สาธารณชน 7,500 ล้านบาท เงินกู้หมุนเวียน 3,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 78,000 ล้านบาท (ดูเอกสารประกอบ)
ส่วนความคืบหน้าโครงการนั้น รายงาน 3 ช่วง คือ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2538 คืบหน้าทั้งหมด 4.42% วันที่ 31 ธ.ค. 2539 คืบหน้าทั้งหมด 11.59% และวันที่ 30 เม.ย. 2540 คืบหน้าทั้งหมด 12.89%
กระทรวงคมนาคมระบุว่า ผลคืบหน้าการก่อสร้างโครงการยังล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ (ดูเอกสารประกอบ)
นี่คือข้อเท็จจริงบางห้วงบางตอนจากกระทรวงคมนาคมที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าโครงการดังกล่าว
ก่อนที่รัฐบาลถัดไปจะใช้เป็นเหตุผลในการยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการนี้อย่างเป็นทางการ ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
คมนาคมตั้ง กก.รับผิดทางละเมิดหาตัวคนชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล.
เปิดมติ ครม.ยุค‘ชวลิต’ รฟท. vs โฮปเวลล์ฯ ไขปมก่อสร้างล่าช้า-ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ?
ไฟเขียวเว้นเก็บภาษียุค‘อานันท์’-เปิด 4 ข้อสังเกต รมต.สำนักนายกฯปมสร้างโฮปเวลล์?
ความพยายาม‘มนตรี’ขอเว้นเก็บภาษี บ.โฮปเวลล์ฯ ‘คลัง’เบรก-‘ชาติชาย’ถอยหวั่นรัฐสูญ 364 ล.
โชว์เอกสารประวัติศาสตร์! ‘มนตรี’ ชง ‘ชาติชาย’ สร้างทางรถไฟยกระดับ-‘โฮปเวลล์’ยื่นซองรายเดียว
ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์
9 ปี 6 รบ.!คุ้ยมติ ครม.ใครเป็นใคร?สร้าง-เลิก‘โฮปเวลล์’ชนวน รฟท.เสียค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
เช็คสถานะล่าสุด บ.โฮปเวลล์ฯ ผู้ชนะคดี รฟท. 1.2 หมื่นล.-ใครต้องรับผิดชอบ?
ย้อนมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลฯ สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบโครงการโฮปเวลล์จาก Post today