ไฟเขียวเว้นเก็บภาษียุค‘อานันท์’-เปิด 4 ข้อสังเกต รมต.สำนักนายกฯปมสร้างโฮปเวลล์?
“…คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีมติมอบให้กระทรวงคมนาคมรับข้อสังเกตของนายไพจิตร ไปพิจารณาดำเนินการให้รอบคอบและรัดกุม เพื่อให้โครงการดำเนินการไปด้วยดี โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากที่สุด…”
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 เม.ย. 2562 ที่จะถึงนี้ มีวาระร้อนที่ต้องจับตาอย่างยิ่ง คือกรณีกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมชงข้อมูลเสนอที่ประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้ชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญาก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมวงเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอแล้วว่า โครงการนี้ถูกริเริ่มขึ้นในปี 2532 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี มีนายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม เป็นหัวหอก กระทั่งปี 2533 เจรจากับ Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong) โดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ยื่นซองรายเดียว ถึงขอบเขตของงาน และผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ กระทั่งเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 มีการลงนามเซ็นสัญญาสัมปทานดังกล่าวกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีนายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม เป็นตัวแทนรัฐบาล และนายกอร์ดอน หวู่ ตัวแทนบริษัทเครือโฮปเวลล์ เป็นผู้ร่วมลงนาม
ในช่วงเวลาดังกล่าว มีความพยายามจากนายมนตรี พงษ์พานิช ถึง 2 ครั้ง ชงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้งดเว้นการเก็บภาษี ณ ที่จ่ายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดีกระทรวงการคลัง (ขณะนั้น) มีความเห็นตอบกลับ 2 ครั้งเช่นกันว่า ไม่สมควรยกเว้นการเก็บภาษี มิฉะนั้นประเทศจะสูญเสียรายได้ตกปีละ 364 ล้านบาท จะมีผลเสมือนนำรายได้ภาษีอากรของรัฐไปเพิ่มผลประโยชน์ให้บริษัทเป็นพิเศษ ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่ง กระทั่งนายมนตรีต้องถอนเรื่องดังกล่าวออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไป (อ่านประกอบ : ความพยายาม‘มนตรี’ขอเว้นเก็บภาษี บ.โฮปเวลล์ฯ ‘คลัง’เบรก-‘ชาติชาย’ถอยหวั่นรัฐสูญ 364 ล.)
แม้ว่า โครงการนี้จะลงนามกันเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็น รมว.คมนาคม ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ธ.ค. 2534 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย โดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) มีการตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม เข้ามาสางปัญหาในโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ หรือที่เรียกกันติดปากโดยทั่วไปแล้วว่า ‘โครงการโฮปเวลล์’
ในช่วงรัฐบาลนายอานันท์ ที่มีนายนุกูล เป็น รมว.คมนาคม ได้เริ่มทำการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ดังกล่าว
โดยคณะรัฐมนตรีนายอานันท์นี่เอง ที่เห็นชอบให้กระทรวงการคลังรับเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้ยกเว้นการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมของเงินกู้ระยะยาวที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จะต้องชำระให้แก่สถาบันการเงินในต่างประเทศไปพิจารณา ตามที่ รมว.คลัง เสนอ และให้กระทรวงคมนาคม ในฐานะคู่สัญญาแจ้งให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ทราบความเห็นของ รฟท.
อย่างไรก็ดีในช่วงปลายรัฐบาล คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงคมนาคม รับข้อสังเกตของ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายไพจิตร เอื้อทวีกุล) เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปพิจารณาให้รอบคอบและรัดกุม เพื่อให้โครงการดำเนินการไปด้วยดี โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุดตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
ข้อเสนอของนายไพจิตร เอื้อทวีกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีอะไรบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นมาให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2534 นายกรัฐมนตรี (นายอานันท์) เสนอว่า ในวันเดียวกันนี้ ได้รับจดหมายจากบริษัท โฮปเวลล์ฯ แจ้งว่า พร้อมที่จะลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการทางรถไฟยกระดับ ในเรื่องนี้ นายไพจิตร ได้มีข้อสังเกตไว้รวม 4 ข้อ จึงขอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาข้อสังเกตดังกล่าว
1.ปัญหาด้านกายภาพ การแก้ไขจุดตัดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณยมราช-สามเหลี่ยมจิตรลดา และบริเวณข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งปัญหาค่าใช้จ่ายที่จะต้องสูงขึ้นจากการยกระดับหรือลงใต้ดิน
2.ปัญหาด้านกฎหมาย แก้ไขปัญหาการให้สัมปทานและเส้นทางซ้ำซ้อน
3.ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างร้านค้าใต้ทางด่วน (เนื้อที่ประมาณ 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร ความยาวรวม 40 กิโลเมตร) และการพัฒนาที่ดินของ รฟท. อีก 8.7 ล้านตารางเมตร ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับนโยบายกระจายประชากรออกจากเขต กทม.
4.ปัญหาด้านการจราจร แก้ปัญหาปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาที่ดิน และโครงข่ายการจราจร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างทางด่วนยกระดับของโครงการ และโครงข่ายถนนที่มีอยู่แล้ว
คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีมติมอบให้กระทรวงคมนาคมรับข้อสังเกตของนายไพจิตร ไปพิจารณาดำเนินการให้รอบคอบและรัดกุม เพื่อให้โครงการดำเนินการไปด้วยดี โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากที่สุด (ดูเอกสารประกอบ)
นี่คือบทบาทหลักของรัฐบาลนายอานันท์ และนายนุกูล ในฐานะ รมว.คมนาคม เกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างในโครงการโฮปเวลล์ขณะนั้น กระทั่งมีการลงนามเซ็นสัญญากันในเวลาต่อมา
ส่วนใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ ‘ค่าโง่’ ดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลโดยเร็ว!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
โชว์เอกสารประวัติศาสตร์! ‘มนตรี’ ชง ‘ชาติชาย’ สร้างทางรถไฟยกระดับ-‘โฮปเวลล์’ยื่นซองรายเดียว
ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์
9 ปี 6 รบ.!คุ้ยมติ ครม.ใครเป็นใคร?สร้าง-เลิก‘โฮปเวลล์’ชนวน รฟท.เสียค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
เช็คสถานะล่าสุด บ.โฮปเวลล์ฯ ผู้ชนะคดี รฟท. 1.2 หมื่นล.-ใครต้องรับผิดชอบ?
ย้อนมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลฯ สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.