กระทุ้ง “พล.ต.อ.อดุลย์” ตัดข้อ 13 (4) ปิดช่องโอกาส เป็น “จป.วิชาชีพ” จบสาขาใดก็ได้
กระทุ้ง “อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ตัดสินใจ ตัดข้อ 13 (4) ปิดช่องโอกาส จบสาขาใดก็ได้เป็น “จป.วิชาชีพ” หลังประชุม 3 ฝ่าย ยังไร้ข้อสรุป อธิบดี กสร. งดจ้อสื่อ มหาวิทยาลัยชี้ หากเดินหน้ากม. หวั่นมาตรฐานความปลอดภัยคนทำงานต่ำ
ยังไร้ข้อสรุปที่ชัดเจน!
สำหรับการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย นัดล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับกรณีการทบทวนการออกกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ...
โดยประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันกว้างขวางเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ซึ่งตามร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ข้อ 13 (4) บัญญัติต้อง “สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามข้อ 2 (1) (2) หรือ (3) ไม่น้อยกว่า 5 ปี”
นั่นหมายความว่า เปิดโอกาสให้ผู้จบสาขาใดก็ได้ สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ โดยไม่ต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ขอเพียงมีประสบการณ์ทำงานอะไรก็ได้ 5 ปี และสามารถเข้ารับการอบรม 222 ชั่วโมง หรือ 1 เดือน 7 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลน จป.วิชาชีพ
จึงทำให้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในหลักสูตรอาชีวอนามัยฯ ออกมาคัดค้าน เพราะหวั่นว่า จะไม่ได้มาตรฐาน!
แล้ว จป.วิชาชีพในสถานประกอบการขาดแคลนจริงหรือไม่?
ข้อคิดเห็นของสภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อ้างข้อมูลจาก กสร. เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 ได้แสดงจำนวนสถานประกอบการทุกประเภทกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมี จป.วิชาชีพ มีทั้งสิ้น 15,357 แห่ง แสดงว่า อย่างน้อยความต้องการมี จป.วิชาชีพ คือ 15,357
ในขณะที่ข้อมูลที่รวบรวมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ได้มีบัณฑิตทางด้านนี้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 26 แห่ง โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2561 มีบัณฑิตด้านอาชีวอนามัยฯ ทั้งสิ้น 20,577 คน และเมื่อทำการประมาณการความสามารถในการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัย 28 แห่ง (รวม 2 แห่ง ที่จะมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษา) ในระหว่างปี 2561-2564 (5 ปี) พบว่า จะสามารถผลิตบัณฑิตได้ 10,834 คน หรือคิดเป็นความสามารถในการผลิตบัณฑิตได้ปีละ 2,167 คน
ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยอีก 14 แห่ง จากที่เปิดสอนทั้งหมดรวม 42 แห่ง เปิดสอนจบจนมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาออกมา จะมีบัณฑิตด้านนี้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ สภาคณบดีฯ จึงเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยจะผลิตบัณฑิตอาชีวอนามัยฯ ได้มากกว่าความต้องการที่กฎหมายกำหนด
ส่วนผลกระทบหากยังมีข้อ 13 (4) แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยกังวลเรื่องมาตรฐานต่ำของการคุ้มครองความปลอดภัยของคนทำงานและลูกจ้าง
พร้อมยกตัวอย่างเพื่อเป็นการตั้งคำถาม เช่น คนที่จบนิติศาสตร์ เป็นนิติกรมา 5 ปี เมื่อมาอบรมหลักสูตร จป.วิชาชีพ 1 เดือน 7 วัน จะทำการประเมิน ควบคุม และจัดการความเสี่ยงภัยจากสารเคมีระเบิดได้หรือไม่ หรือคนจบคหกรรมศาสตร์ ทำหน้าที่ฝ่ายขายมา 5 ปี เมื่อมาอบรมหลักสูตร จป.ระดับวิชาชีพ 1 เดือน 7 วัน จะประเมินการสัมผัสสารเคมีและควบคุมระดับการสัมผัสได้หรือไม่
ที่สำคัญมากไปกว่านั้น หากเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถเป็นจป.วิชาชีพได้ จะทำให้บัณฑิตที่จบมาจากสาขาตรงปีละ 3,000 คน จาก 42 สถาบัน ต้องตกงาน!!!
จึงเสนอแนะให้กระทรวงแรงงานต้องรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานการให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ด้วยการคงไว้ซึ่งผู้ที่จะเป็น จป.วิชาชีพ ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ส่วน กสร.ต้องศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงที่สถานประกอบการไม่สามารถว่าจ้างผู้ที่จะเป็น จป.วิชาชีพได้ และสภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ยินดีที่จะร่วมมือกับ กสร. ในการทำโครงการความร่วมมือการผลิตบัณฑิตทางด้านนี้ให้กับสถานประกอบการที่มีปัญหาไม่สามารถหาผู้ที่จะมาเป็นจป.วิชาชีพ และเห็นว่า สถานประกอบการยังมีทางเลือกที่สามารถส่งลูกจ้างเข้าศึกษาต่อวิชาเอกด้านนี้ผ่านระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้
ข้อมูลข้างต้นดังกล่าว สภาคณบดีฯ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ยื่นถึง “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รมว.แรงงาน เพื่อหวังให้นำไปพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งท่านมีข้อสั่งการให้ อธิบดี กสร. นำไปดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์
หากแต่การหารือเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น กลับไม่เป็นผล เพราะฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างต่างหยิบยกข้อมูลขึ้นมาแย้งฝั่งมหาวิทยาลัย จนสุดท้าย ไม่ได้ข้อสรุป
พนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กจบใหม่ที่เข้าไปเป็นจป.วิชาชีพ ไม่ได้รับการยอมรับจากลูกจ้าง เพราะขณะที่เข้าไปนั้นมีอายุเพียง 24-25 ปี เรียกว่า ยังละอ่อนในวงการ ดังนั้นจะไปสั่งให้ลูกน้องที่ทำงานมาแล้ว 15 ปี ปฏิบัติจึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กล่าวหาว่า เด็กจบใหม่ขาดความรู้ แต่ปัญหาคือสั่งไม่ได้ เพราะลูกน้องรู้สึกว่ายังเป็นเด็ก ทั้งที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สามารถแสดงศักยภาพได้ ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงาน ดังนั้น นายจ้างจึงเลือกฝึกเอง
“จป.วิชาชีพที่จบออกมามีจำนวนไม่พอ นายจ้างรอไม่ได้ ขณะที่เมื่อเข้ามาแล้ว ทำงานไม่ได้ ยอมรับว่า นายจ้างไม่มีเวลาฝึก จป.รุ่นใหม่ ให้ชำนาญ เพราะต้องใช้เวลา 4-5 ปี และต้องเสียค่าแรงเดือนละกว่า 1 หมื่นบาท เพื่อจ้าง จป.วิชาชีพแบบนี้มา นายจ้างไม่เอา” ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ ระบุ
ขณะที่นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการเเทนอธิบดี กสร. ปิดปากเงียบ ไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
สุดท้าย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “พล.ต.อ.อดุลย์” ในฐานะหัวเรือใหญ่ของกระทรวงแรงงาน ว่าจะตัดข้อ 13 (4) ซึ่งเป็นปัญหาของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เพื่อจะได้บังคับใช้กฎหมายเสียที แต่หากตัดสินใจผิดพลาด นั่นหมายความว่า มาตรฐานการคุ้มครองความปลอดภัยคนทำงานจะตกต่ำทันที .
อ่านประกอบ:ไร้ข้อสรุป! หารือ 3 ฝ่าย ตัดข้อ 13 (4) กฎกระทรวง จป.วิชาชีพ-เตรียมเสนอ 'อดุลย์'
รมว.เเรงงาน รับฟังข้อค้าน ร่างกฎหมาย จป.วิชาชีพ – สั่ง อธิบดี กสร. พิจารณาภายใน 2 สัปดาห์
‘รมว.เเรงงาน’ เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัย หารือร่างกฎกระทรวง จป.วิชาชีพ 18 ต.ค.
กาง กม. ไฉนสถาบันอุดมศึกษา ผนึกค้าน ร่างกฎกระทรวง ‘จป.วิชาชีพ’ จุดไหนเป็นปัญหา
นศ.อาชีวอนามัย ม.วลัยลักษณ์ แสดงพลังชูจุดยืนค้านร่าง กม.จป.วิชาชีพ ปลดล็อคทุกสาขาทำได้
แค่ชั่วคราว 5 ปี! กสร. เล็งเเก้ กม. ปลดล็อคจบสาขาอื่นเป็น จป.วิชาชีพ หลังขาดแคลน
คุยกับรอง ปธ.สภาคณบดีสาธารณสุขฯ ค้านแก้ กม. ‘จป.วิชาชีพ’ เปิดทางจบอะไรมาก็ทำได้
ปธ.สภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ หนุน กสร. ปลดล็อคไม่ต้องจบอาชีวอนามัยฯ เป็น จป.วิชาชีพ
มหาวิทยาลัยจุดยืนไม่เอากม.ใหม่ ปลดล็อคปริญญาตรีทุกสาขาเป็น จป.วิชาชีพ
ภาพประกอบ:http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256121683