ย้อนบันทึกคกก.ลูกเสือ ยุค'ปนัดดา' ดูปมปัญหาเหรียญเครื่องราชฯ-ก่อนอิศรายื่นขอเปิด 720 ชื่อ
"...กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติรายหนึ่ง ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาเหรียญลูกเสือสดุดี แบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้ง มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร ซึ่งคณะกรรมการได้ตรวจสอบเอกสารตั้งแต่ปี 2556-2559 เสร็จทั้งหมด ซึ่งมีเอกสารที่ต้องตรวจสอบเยอะมาก แต่มีข้อบกพร่องในบางจุดที่คณะกรรมการตรวจสอบเอกสารไม่ได้บันทึกคะแนนเป็นหลักฐานไว้ เพียงพิจารณาแค่ผ่านและไม่ผ่านเกณฑ์เท่านั้น.."
ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสนใจติดตามนำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่อง!
สำหรับกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 มีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 ซึ่งผลปรากฎว่า ผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 จำนวนรายชื่อที่มาเสนอมา 894 ราย ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ส่วนผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 ทั้งสิ้น 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 รายชื่อ รวมจำนวนรายชื่อผู้ไม่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 720 ราย
โดยการพิจารณาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 มีมติเห็นชอบให้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ที่ 25/2560 ลงวันที่ 1 พ.ย.2560 (อ่านประกอบ : จับเข่าคุย 'ธงทอง จันทรางศุ' ไขปมร้อนปัญหาชื่อผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯลูกเสือ 720ราย, พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนไปตรวจสอบข้อมูลมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกรณีนี้ พบว่า ในการประชุมครั้งนั้น ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ที่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ และประธานที่ประชุม ได้แจ้งสอบถามต่อที่ประชุมว่า การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ที่ค้างการพิจารณาล่าช้าอยู่นั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เนื่องจากมีรายชื่อบุคคลค้างรอการพิจารณาจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เกือบ 2,000 ราย สะสมมาเป็นระยะเวลาหลายปี
เบื้องต้น กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติรายหนึ่ง ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาเหรียญลูกเสือสดุดี แบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้ง มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร ซึ่งคณะกรรมการได้ตรวจสอบเอกสารตั้งแต่ปี 2556-2559 เสร็จทั้งหมด ซึ่งมีเอกสารที่ต้องตรวจสอบเยอะมาก แต่มีข้อบกพร่องในบางจุดที่คณะกรรมการตรวจสอบเอกสารไม่ได้บันทึกคะแนนเป็นหลักฐานไว้ เพียงพิจารณาแค่ผ่านและไม่ผ่านเกณฑ์เท่านั้น
ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี โดยมีนายกมล รอดคล้าย เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ได้พิจารณาในส่วนตรงนี้แล้ว เนื่องจากหลักฐานการให้คะแนนไม่ชัดเจน คณะอนุกรรมการจึงแจ้งให้กลับไปพิจารณาลงคะแนนใหม่ จึงยังคงมีรายชื่อค้างการพิจารณา ตั้งแต่ปี 2556-2559 สำหรับปี 2560 สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ยังมิได้มีหนังสือส่งไปที่จังหวัดเพื่อให้นำส่งผลงาน ดังนั้น จึงมีรายชื่อผู้ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556-2559 เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี มีการรายงานต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบัน นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติโดยตำแหน่ง ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาแล้ว จึงเสนอที่ประชุมพิจารณาหาแต่งตั้งประธานและคณะอนุกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณา ดังนั้น หากไม่เร่งดำเนินการงานก็จะกองอยู่ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้เร็วจึงขออนุมัติแต่งตั้งประธานในตอนนี้ เพื่อที่ประธานจะได้ดำเนินการหาอนุกรรมการเพื่อพิจารณาได้ต่อไป
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ในฐานะประธานที่ประชุมฯ จึงได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอเสนอให้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่อราชฯ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ในที่ประชุมดังกล่าว และก็เริ่มมีการปฏิบัติหน้าที่นับแต่นั้นเป็นต้นมา
สอดคล้องกับข้อมูลที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ให้สัมภาษณพิเศษยืนยันสำนักข่าวอิศราก่อนหน้านี้ ว่า "ตอนที่ หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนั้นท่านให้ผมเข้าไปทำหน้าที่นี้ หลังจากรับทราบข้อมูลว่าการขอพระราชเหรียญลูกเสือสดุดีซึ่งควรจะรับพระราชทานเป็นรายปี แต่กลับมีเรื่องค้างอยู่ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2559 ทำให้มีจำนวนของผู้ที่รอรับพิจารณานั้นมีการค้างอยู่นานมากเป็นจำนวนนับหลายร้อยคน"
"รัฐมนตรีช่วยปนัดดาในเวลานั้น บอกว่าต้องการให้มีคนมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าระบบการคัดเลือกเดิมเขาเป็นอย่างไร เพราะมันเกิดขึ้นก่อนผมมา ทีนี้ท่านรัฐมนตรีก็เลยตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อกลั่นกรองโดยให้ผมเป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิของลูกเสือเข้ามาเป็นกรรมการ จำนวนประมาณ 7-8 คน เท่าที่จำได้ และก็มีการทำงานมาโดยตลอดแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม และหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของคณะกรรมการก็คือนอกจากหน้าที่ในการกรองบัญชีรายชื่อแล้ว ถ้าเห็นว่าสมควรจะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาใหม่ก็ให้เสนอหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ด้วย สรุปก็คือหน้าที่ของเรามี 2 เรื่องคือคัดกรองรายชื่อและปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ให้เหมาะสม"
เมื่อถึงรายชื่อที่ถูกคัดออกเป็นจำนวนมากนั้น ว่ามีปัญหาอะไร ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ตอบว่า "ปัญหาที่พบส่วนมากจะเป็นเรื่องเอกสารไม่ครบ ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ จำนวนครั้งที่อบรม จำนวนครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่ถูกต้อง ไม่สามารถยืนยันได้ตามหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะในเรื่องเอกสารที่ยืนยันว่าเขาได้รับการอบรมเท่านั้นเท่านี้ เช่นตามหลักเกณฑ์ระบุว่าเขาต้องผ่านการอบรมเป็นจำนวน 50 ครั้งถึงจะมีความเหมาะสม แต่เขามีเอกสารยืนยันไม่ครบตรงนี้ ซึ่งส่วนตัวก็เข้าใจว่าผู้ที่ยื่นนั้นอาจจะไม่ได้เก็บเอกสารที่ได้รับมาทุกชิ้น"
"อีกปัญหาหนึ่งก็อาจจะเป็นได้ว่าตัว พ.ร.บ.ลูกเสือนั้นมีการกำหนดรายละเอียดไม่กี่อย่าง และหลักเกณฑ์การพิจารณามอบเหรียญสดุดีฯซึ่งเป็นเหมือนตัวกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ลูกเสือ อีกทีหนึ่ง ก็ไม่มีความชัดเจนอีก คนอ่านเขาอาจจะเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง คนขอเหรียญไปอ่านกฎหมายก็อาจจะมีความเข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับที่คณะกรรมการกลั่นกรอง ตรงนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกัน"
ส่วนข้อสงสัยเรื่องการเสนอเรื่องรายชื่อหลายประเด็น โดยเฉพาะจำนวนที่เสนอมาที่จำนวนมากเป็นพันคน นั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ตอบว่า "ผมไม่ได้เข้ามาทำงานตอนนั้น เลยไม่รู้ว่าวิธีการกลั่นกรองในอดีตเขามีความชัดเจนกันอย่างไร จะมีการตั้งกรรมการกลั่นกรองหรือไม่นั้น ตรงนี้ผมไม่มีข้อมูลจริงๆ"
"การเข้ามาทำหน้าที่ของผมในฐานะประธานคณะกรรมการคือการพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสม โดยยึดเอาหลักเกณฑ์เดิมที่ประกาศใช้ในปี 2531 มาพิจารณา ขอย้ำว่ายังไม่ได้สร้างหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อพิจารณาในวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาแต่อย่างใด โดยหลักเกณฑ์ที่สร้างใหม่นั้นจะเอาไว้ใช้สำหรับอนาคต สำหรับการพิจารณาในครั้งต่อๆไป ดังนั้นถ้าหากอยากจะทราบข้อมูลมากขึ้นในกรณีนี้ ก็คงต้องไปถามผู้ที่มีความรู้ในประวัติศาสตร์การพิจารณาเหรียญสดุดีที่มากกว่าผม"
"แต่ว่าความเข้าใจโดยรวมนั้นก็คือว่าสำนักงานลูกเสือแห่งชาติอาจจะไม่สันทัดในเรื่องกฎหมาย การเขียนกติกา พิจารณาให้เป็นตามหลักกฎหมายนั้น เขาไม่มีประสบการณ์ตรงนี้ ที่ผ่านมาผู้คัดกรอง ผู้ขอรับเหรียญก็เป็น ครู อาจารย์ เสียส่วนมาก จึงทำให้ไม่ทราบในรายละเอียดด้านข้อกฎหมายเหล่านี้"
" จริง ๆ ผมคิดอีกแบบหนึ่ง เรื่องนี้อาจจะมีทุจริตหรือไม่มีก็ได้ แต่ปัญหาหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีความสะเพร่าในกระบวนการพิจารณาเหรียญ ที่ผ่านมา อาจจะเป็นเป็นเหตุผลก็ได้ว่าทำไมถึงเกิดปัญหานี้ขึ้นมา แต่ผมขอย้ำว่าอาจจะนะ เพราะผมก็ไม่คิดจะไปกล่าวหาใครว่าเขาสะเพร่าในกระบวนการทำงาน เพราะเราก็ไม่มีหลักฐานโดยชัดเจน"
ล่าสุดเพื่อตรวจสอบยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อผู้ไม่ผ่านการพิจารณาขอพระราชทานเครื่องราชฯ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 จำนวน 720 ราย ดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา จึงได้ใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 เพื่อขอให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลรายชือจำนวน 720 รายทั้งหมดแล้ว
ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
เปิดหลักเกณฑ์ขอพระราชทานเครื่องราชฯลูกเสือใหม่-หาทุนสนับสนุน1ล.รับเหรียญสดุดีชั้นที่ 1
พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล
กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย
เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน
ชื่อไหนมีปัญหา'ธงทอง'รู้ดีที่สุด! เลขาฯ ลูกเสือ รับขั้นตอนขอเหรียญสดุดีไม่กลั่นกรองก่อน
เช็คยอดผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ จาก 'ทักษิณ-บิ๊กตู่' ยุคไหนเสนอชื่อมากสุด?
เปิดหมดชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือชั้นพิเศษ+1-3 จำนวน 246 ราย
ผ่าปมปัญหาขั้นตอนขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ-สะพัดชื่อไม่เหมาะสมปะปนเพียบ?
ผอ.สนง.ลูกเสือฯ แจงเหตุคนตกอนุมัติรับพระราชทานเครื่องราชฯ720ราย-ส่งเอกสารตามเกณฑ์ใหม่ไม่ทัน
เจาะแบบฟอร์มขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีปี 56-59 ก่อน คกก. ชุด ธงทอง คัดชื่อทิ้ง720 ราย