- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- จับเข่าคุย 'ธงทอง จันทรางศุ' ไขปมร้อนปัญหาชื่อผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯลูกเสือ 720ราย
จับเข่าคุย 'ธงทอง จันทรางศุ' ไขปมร้อนปัญหาชื่อผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯลูกเสือ 720ราย
"...ปัญหาที่พบส่วนมากจะเป็นเรื่องเอกสารไม่ครบ ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ จำนวนครั้งที่อบรม จำนวนครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่ถูกต้อง ไม่สามารถยืนยันได้ตามหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะในเรื่องเอกสารที่ยืนยันว่าเขาได้รับการอบรมเท่านั้นเท่านี้ เช่นตามหลักเกณฑ์ระบุว่าเขาต้องผ่านการอบรมเป็นจำนวน 50 ครั้งถึงจะมีความเหมาะสม แต่เขามีเอกสารยืนยันไม่ครบตรงนี้ ซึ่งส่วนตัวก็เข้าใจว่าผู้ที่ยื่นนั้นอาจจะไม่ได้เก็บเอกสารที่ได้รับมาทุกชิ้น..."
เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรก ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี อย่างเป็นทางการ
หลังจากที่ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการพิจารณารายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 มาตลอด นับตั้งแต่ปรากฎข่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา มีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 ซึ่งผลปรากฎว่า ผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 จำนวนรายชื่อที่มาเสนอมา 894 ราย ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ส่วนผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 ทั้งสิ้น 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 รายชื่อ รวมจำนวนรายชื่อผู้ไม่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 720 ราย โดยการพิจารณาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 มีมติเห็นชอบให้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ที่ 25/2560 ลงวันที่ 1 พ.ย.2560
แต่ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการว่า รายชื่อผู้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ทั้ง 720 ราย ไม่ผ่านการพิจารณา เป็นเพราะสาเหตุใด
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ คำให้สัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด
@ ที่ไปที่มาของปัญหาทั้งหมดเกิดจากอะไร
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ : "ตอนที่ หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนั้นท่านให้ผมเข้าไปทำหน้าที่นี้ หลังจากรับทราบข้อมูลว่าการขอพระราชเหรียญลูกเสือสดุดีซึ่งควรจะรับพระราชทานเป็นรายปี แต่กลับมีเรื่องค้างอยู่ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2559 ทำให้มีจำนวนของผู้ที่รอรับพิจารณานั้นมีการค้างอยู่นานมากเป็นจำนวนนับหลายร้อยคน"
"รัฐมนตรีช่วยปนัดดาในเวลานั้น บอกว่าต้องการให้มีคนมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าระบบการคัดเลือกเดิมเขาเป็นอย่างไร เพราะมันเกิดขึ้นก่อนผมมา ทีนี้ท่านรัฐมนตรีก็เลยตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อกลั่นกรองโดยให้ผมเป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิของลูกเสือเข้ามาเป็นกรรมการ จำนวนประมาณ 7-8 คน เท่าที่จำได้ และก็มีการทำงานมาโดยตลอดแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม และหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของคณะกรรมการก็คือนอกจากหน้าที่ในการกรองบัญชีรายชื่อแล้ว ถ้าเห็นว่าสมควรจะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาใหม่ก็ให้เสนอหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ด้วย สรุปก็คือหน้าที่ของเรามี 2 เรื่องคือคัดกรองรายชื่อและปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ให้เหมาะสม"
@หลักเกณฑ์ที่ว่านี้ยึดโยงกับ พ.ร.บ.ลูกเสือใช่หรือไม่
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ : " ใช่ ตัว พ.ร.บ.ลูกเสือเราไม่ได้ไปแก้ไขอะไร ใน พ.ร.บ.ลูกเสือในปี 2551 นั้นมีการกำหนดรายละเอียดเรื่องการให้เหรียญสดุดีเอาไว้น้อยมาก อาทิ ระบุว่าการมอบเหรียญสดุดีชั้น 1 นั้นจะต้องมอบให้กับผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกิจการลูกเสือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด ในตัวกฎหมายที่กำหนดขึ้นมานั้นมีการกำหนดรายละเอียดสั้นแค่นี้ ดังนั้นจึงต้องมีการตราหลักเกณฑ์ขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกลั่นกรองนั้นกลับเป็นหลักเกณฑ์เดิมที่ตราตาม พ.ร.บ.ลูกเสือตัวเก่า ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วระบุว่าถ้ายังไม่มีการบัญญัติหลักเกณฑ์ใหม่ขึ้นมา ก็ให้ใช้หลักเกณฑ์เก่าแทน สรุปก็คือตั้งแต่มี พ.ร.บ.ลูกเสือในปี 2551 กลับยังไม่มีการตราหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกลั่นกรองลูกเสือขึ้นมาภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวเลย"
"ทางเราพอเข้าไปทำงานก็เลยยึดหลักเกณฑ์เดิมว่าด้วยการกลั่นกรองผู้สมควรจะได้รับเหรียญสดุดีฯ 2531มาพิจารณาผู้มีความเหมาะสม ก็เลยพิจารณากันอยู่นานพอสมควร จนได้รายชื่อที่เสนอไปยังคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งตอนแรกมีการเสนอเข้ามาจำนวน 800 กว่ารายชื่อ ก็เหลือผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวน 200 กว่ารายชื่อ ส่วนอีกเรื่องก็คือการจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ให้อ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้น คนเดิมที่กำหนดหลักเกณฑ์เดิมเขาไม่ใช่นักกฎหมาย พออ่านหลักเกณฑ์แล้วมันก็งง ไม่มีความชัดเจนเลย เลยต้องมีการยกร่างใหม่เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ก็หวังว่าการขอเหรียญลูกเสือสดุดีที่จะดำเนินการต่อไปในปี 2561 ที่จะพิจารณาความดีความชอบของผู้ที่ขอเหรียญลูกเสือในปี 2560 นั้นจะมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ"
@รายชื่อที่ถูกคัดออกเป็นจำนวนมากนั้น มีปัญหาอะไร
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ : "ปัญหาที่พบส่วนมากจะเป็นเรื่องเอกสารไม่ครบ ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ จำนวนครั้งที่อบรม จำนวนครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่ถูกต้อง ไม่สามารถยืนยันได้ตามหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะในเรื่องเอกสารที่ยืนยันว่าเขาได้รับการอบรมเท่านั้นเท่านี้ เช่นตามหลักเกณฑ์ระบุว่าเขาต้องผ่านการอบรมเป็นจำนวน 50 ครั้งถึงจะมีความเหมาะสม แต่เขามีเอกสารยืนยันไม่ครบตรงนี้ ซึ่งส่วนตัวก็เข้าใจว่าผู้ที่ยื่นนั้นอาจจะไม่ได้เก็บเอกสารที่ได้รับมาทุกชิ้น"
"อีกปัญหาหนึ่งก็อาจจะเป็นได้ว่าตัว พ.ร.บ.ลูกเสือนั้นมีการกำหนดรายละเอียดไม่กี่อย่าง และหลักเกณฑ์การพิจารณามอบเหรียญสดุดีฯซึ่งเป็นเหมือนตัวกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ลูกเสือ อีกทีหนึ่ง ก็ไม่มีความชัดเจนอีก คนอ่านเขาอาจจะเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง คนขอเหรียญไปอ่านกฎหมายก็อาจจะมีความเข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับที่คณะกรรมการกลั่นกรอง ตรงนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกัน"
@ที่ผ่านมามีข้อสงสัยเรื่องการเสนอเรื่องรายชื่อหลายประเด็น โดยเฉพาะจำนวนที่เสนอมาที่จำนวนมากเป็นพันคน
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ : "ผมไม่ได้เข้ามาทำงานตอนนั้น เลยไม่รู้ว่าวิธีการกลั่นกรองในอดีตเขามีความชัดเจนกันอย่างไร จะมีการตั้งกรรมการกลั่นกรองหรือไม่นั้น ตรงนี้ผมไม่มีข้อมูลจริงๆ"
"การเข้ามาทำหน้าที่ของผมในฐานะประธานคณะกรรมการคือการพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสม โดยยึดเอาหลักเกณฑ์เดิมที่ประกาศใช้ในปี 2531มาพิจารณา ขอย้ำว่ายังไม่ได้สร้างหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อพิจารณาในวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาแต่อย่างใด โดยหลักเกณฑ์ที่สร้างใหม่นั้นจะเอาไว้ใช้สำหรับอนาคต สำหรับการพิจารณาในครั้งต่อๆไป ดังนั้นถ้าหากอยากจะทราบข้อมูลมากขึ้นในกรณีนี้ ก็คงต้องไปถามผู้ที่มีความรู้ในประวัติศาสตร์การพิจารณาเหรียญสดุดีที่มากกว่าผม"
"แต่ว่าความเข้าใจโดยรวมนั้นก็คือว่าสำนักงานลูกเสือแห่งชาติอาจจะไม่สันทัดในเรื่องกฎหมาย การเขียนกติกา พิจารณาให้เป็นตามหลักกฎหมายนั้น เขาไม่มีประสบการณ์ตรงนี้ ที่ผ่านมาผู้คัดกรอง ผู้ขอรับเหรียญก็เป็น ครู อาจารย์ เสียส่วนมาก จึงทำให้ไม่ทราบในรายละเอียดด้านข้อกฎหมายเหล่านี้"
" จริงๆผมคิดอีกแบบหนึ่ง เรื่องนี้อาจจะมีทุจริตหรือไม่มีก็ได้ แต่ปัญหาหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีความสะเพร่าในกระบวนการพิจารณาเหรียญ ที่ผ่านมา อาจจะเป็นเป็นเหตุผลก็ได้ว่าทำไมถึงเกิดปัญหานี้ขึ้นมา แต่ผมขอย้ำว่าอาจจะนะ เพราะผมก็ไม่คิดจะไปกล่าวหาใครว่าเขาสะเพร่าในกระบวนการทำงาน เพราะเราก็ไม่มีหลักฐานโดยชัดเจน"
@ที่บอกว่าให้ไปถามข้อมูลจากผู้ที่มีความรู้ในประวัติศาสตร์การพิจารณาเหรียญสดุดีที่มากกว่า หมายถึงเลขาธิการลูกเสือคนก่อนหน้าใช่หรือไม่
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ : " ก็คงต้องไปถามเลขาธิการคนก่อนหน้านั้นว่าที่เขาอาจจะมีข้อมูลในเรื่องการพิจารณารายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะรับพระราชทานเหรียญสดุดีในอดีตว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ตามกฎหมายเขาระบุว่าให้รองปลัดดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมานั้นก็มีการเปลี่ยนตัวรองปลัดกันหลายคน ก็เลยไม่รู้ว่าใครได้เป็นเลขาธิการลูกเสือที่เห็นการพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสมในช่วงที่ผ่านๆมาบ้าง"
"ความจริงแล้วผมคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะว่าตัวเลขาธิการลูกเสือนั้นความจริงควรจะทำงานให้มีวาระงานกำหนดชัดเจนไปเลย แบบที่เขากำหนดให้มีวาระงานกันไว้ว่าให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 4 ปี เป็นต้น และก็ไม่ควรจะมาดำรงตำแหน่งควบ 2 ตำแหน่งระหว่างรองปลัดกับเลขาธิการลูกเสือด้วย เพราะคนทำหน้าที่รองปลัดกระทรวง เขาก็มีภาระอื่นๆในกระทรวงที่ต้องดูแลอยู่แล้ว จะเอาเวลามาทำงานให้กับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเต็มที่เลยก็คงจะไม่ได้ อีกทั้งตัวรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ทำงานก็อยู่ตรงวังจันทรเกษม ขณะที่ที่ทำงานสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อยู่ที่ปทุมวัน ก็ไม่ทราบว่าปีๆหนึ่ง เขาจะได้เข้าทำงานที่สำนักงานลูกเสือกันกี่ครั้ง"
@มีข้อมูลว่ามีกระแสข่าวว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะส่งเรื่องนี้ให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการพิจารณาผู้มีความเหมาะสม
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ : "ผมไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ ไม่ได้ไปดูว่ามีใครสุจริตหรือทุจริตแต่อย่างใด แค่ดูตามเกณฑ์เอกสารเท่านั้น ส่วนท่านธีระเกียรติจะมีข้อมูลจากแหล่งอื่นหรือไม่อย่างไร ข้อรายงานของผมไม่ได้พูดถึงประเด็นทุจริตเอาไว้"
อ่านประกอบ :
เปิดหลักเกณฑ์ขอพระราชทานเครื่องราชฯลูกเสือใหม่-หาทุนสนับสนุน1ล.รับเหรียญสดุดีชั้นที่ 1
พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล
กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย
เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน
ชื่อไหนมีปัญหา'ธงทอง'รู้ดีที่สุด! เลขาฯ ลูกเสือ รับขั้นตอนขอเหรียญสดุดีไม่กลั่นกรองก่อน
เช็คยอดผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ จาก 'ทักษิณ-บิ๊กตู่' ยุคไหนเสนอชื่อมากสุด?
เปิดหมดชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือชั้นพิเศษ+1-3 จำนวน 246 ราย
ผ่าปมปัญหาขั้นตอนขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ-สะพัดชื่อไม่เหมาะสมปะปนเพียบ?
ผอ.สนง.ลูกเสือฯ แจงเหตุคนตกอนุมัติรับพระราชทานเครื่องราชฯ720ราย-ส่งเอกสารตามเกณฑ์ใหม่ไม่ทัน
เจาะแบบฟอร์มขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีปี 56-59 ก่อน คกก. ชุด ธงทอง คัดชื่อทิ้ง720 ราย